พันธสัญญาใหม่ 2023
19–25 มิถุนายน มัทธิว 27; มาระโก 15; ลูกา 23; ยอห์น 19: “สำเร็จแล้ว”


“19–25 มิถุนายน มัทธิว 27; มาระโก 15; ลูกา 23; ยอห์น 19: ‘สำเร็จแล้ว,’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)

“19–25 มิถุนายน มัทธิว 27; มาระโก 15; ลูกา 23; ยอห์น 19,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2023

พระคริสต์ต่อหน้าปีลาต

Ecce Homo (คนนี้ไงล่ะ) โดย อันโตนิโอ ซิเซรี

19–25 มิถุนายน

มัทธิว 27; มาระโก 15; ลูกา 23; ยอห์น 19

“สำเร็จแล้ว”

เริ่มการเตรียมสอนของท่านโดยอ่าน มัทธิว 27; มาระโก 15; ลูกา 23; และ ยอห์น 19 ร่วมกับการสวดอ้อนวอน พยายามดำเนินชีวิตให้คู่ควรกับพระวิญญาณ เพื่อท่านจะสามารถเป็นพยานอันทรงพลังถึงพระผู้ช่วยให้รอดและการชดใช้ของพระองค์

ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแต่ละคนเลือกหนึ่งบทจากการอ่านสัปดาห์นี้และใช้เวลาอ่านเร็วๆ สองสามนาที มองหาคำ วลี หรือรายละเอียดที่สอนบางอย่างซึ่งมีความหมายเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและพระพันธกิจของพระองค์ เปิดโอกาสให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่พบและอธิบายว่าเหตุใดจึงมีความหมายต่อพวกเขา

ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

มัทธิว 27; มาระโก 15; ลูกา 23; ยอห์น 19

ความเต็มพระทัยทนทุกข์ของพระเยซูคริสต์แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงรักพระบิดาและเราทุกคน

  • เพื่อช่วยให้ชั้นเรียนของท่านเข้าใจว่าการทนทุกข์และการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนของพระผู้ช่วยให้รอดแสดงถึงความรักของพระองค์อย่างไร ลองทำกิจกรรมดังนี้: แจกหัวใจกระดาษให้สมาชิกชั้นเรียนแต่ละคน และเชื้อเชิญให้พวกเขาเขียนวลีจาก 1 โครินธ์ 13:4–7 ที่อธิบายจิตกุศลไว้บนหัวใจกระดาษ จากนั้นขอให้พวกเขาค้นคว้า มัทธิว 27; มาระโก 15; ลูกา 23; หรือ ยอห์น 19 เขียนพระคัมภีร์สองสามข้อไว้อีกด้านหนึ่งของหัวใจที่แสดงว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงแสดงความรักดังอธิบายไว้ในวลีที่พวกเขาเลือกอย่างไร ให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่พบ ประสบการณ์ใดช่วยให้เราเข้าใจความรักของพระผู้ช่วยให้รอด?

    มงกุฎหนาม

    พวกทหาร “เอาหนามสานเป็นมงกุฎสวมพระ‍เศียรของพระ‍องค์” (มาระโก 15:17)

  • ศิลปะจะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเห็นภาพบางเหตุการณ์ที่พวกเขาอ่านสัปดาห์นี้ บางทีท่านอาจแบ่งชั้นเรียนออกเป็นกลุ่มๆ และมอบหมายภาพให้แต่ละกลุ่ม (ดู “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” สำหรับรูปภาพที่แนะนำ) สมาชิกชั้นเรียนจะอ่านข้อพระคัมภีร์ที่บรรยายเหตุการณ์ในภาพ จากนั้นพวกเขาสามารถแบ่งปันความคิดและความรู้สึกเกี่ยวกับเหตุการณ์เหล่านี้—รวมถึงว่าภาพดังกล่าวช่วยให้พวกเขาเข้าใจการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดได้ดีขึ้นอย่างไร กระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนแสดงประจักษ์พยานถึงพระผู้ช่วยให้รอดและการชดใช้ของพระองค์

3:19
4:49

มัทธิว 27:11–60

ศาสดาพยากรณ์สมัยโบราณเห็นความทุกขเวทนาและการตรึงกางเขนของพระผู้ช่วยให้รอดล่วงหน้า

  • ศาสดาพยากรณ์สมัยโบราณทำนายเหตุการณ์มากมายเกี่ยวกับช่วงเวลาสุดท้ายของพระผู้ช่วยให้รอด วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเห็นสิ่งนี้คือให้พระคัมภีร์ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” คนละหนึ่งข้อหรือมากกว่านั้นและขอให้พวกเขาหาข้อพระคัมภีร์ใน มัทธิว 27 ที่แสดงให้เห็นว่าพระคัมภีร์เกิดสัมฤทธิผลอย่างไร ท่านอาจจะทำแผนภูมิจับคู่คำพยากรณ์กับสัมฤทธิผลของคำพยากรณ์นั้น คำพยากรณ์เหล่านี้เสริมสร้างศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์อย่างไร?

มัทธิว 27:27–49; มาระโก 15:16–32; ลูกา 23:11, 35–39; ยอห์น 19:1–5

การต่อต้านไม่สามารถหยุดยั้งงานของพระผู้เป็นเจ้าได้

  • เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเผชิญการต่อต้านอย่างซื่อสัตย์ขณะพวกเขาดำเนินชีวิตอย่างแน่วแน่ต่อศรัทธาของพวกเขา ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้พวกเขาอ่านข้อที่บรรยายเรื่องการข่มเหงที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงเผชิญ (ดู มัทธิว 27:27–49; มาระโก 15:16–32; ลูกา 23:11, 35–39; ยอห์น 19:1–5) เราเรียนรู้อะไรจากการตอบสนองของพระผู้ช่วยให้รอดที่สามารถช่วยเราเผชิญการต่อต้านได้? มีตัวอย่างอื่นๆ อะไรอีกของการเผชิญการต่อต้านที่สามารถช่วยเราได้? (ดูตัวอย่างเช่น โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:24–25)

ลูกา 23:34–43

พระผู้ช่วยให้รอดทรงมอบความหวังและการให้อภัย

  • แม้ในช่วงเวลาสุดท้ายของพระองค์ พระผู้ช่วยให้รอดก็ยังคงประทานความหวังและการให้อภัย ลองหาวิธีสร้างแรงบันดาลใจให้สมาชิกชั้นเรียนทำตามแบบอย่างของพระองค์ ตัวอย่างเช่น ท่านอาจขอให้นักเรียนครึ่งชั้นอ่าน ลูกา 23:34–38 (รวมทั้ง ข้อ 34 ด้วยซึ่งให้ข้อคิดจากงานแปลของโจเซฟ สมิธ) และให้อีกครึ่งชั้นอ่าน ลูกา 23:39–43 สมาชิกชั้นเรียนสามารถแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดจากข้อที่ได้รับมอบหมาย เราจะทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดได้อย่างไร?

ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

ภาพของการข่มเหง ความทุกขเวทนา และการสิ้นพระชนม์ของพระเยซู

พระคัมภีร์ที่พยากรณ์ถึงการทดลองและการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสต์

ปรับปรุงการสอนของเรา

ดึงพลังจากพระผู้ช่วยให้รอด “ในความพยายามของท่านที่จะดำเนินชีวิตและสอนดังเช่นพระผู้ช่วยให้รอดมากยิ่งขึ้น บางครั้งท่านจะไม่ได้ทำตามที่คาดหวังไว้ได้เสมอไป จงอย่าหมดกำลังใจ แต่ให้ความผิดพลาดและความอ่อนแอพาท่านหันไปหาพระบิดาบนสวรรค์และพระผู้ช่วยให้รอด” (การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 14)