“11–17 กันยายน 2 โครินธ์ 1–7: ‘ให้คืนดีกับพระเจ้า,’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)
“11–17 กันยายน 2 โครินธ์ 1–7,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2023
11–17 กันยายน
2 โครินธ์ 1–7
“ให้คืนดีกับพระเจ้า”
เมื่อท่านอ่าน 2 โครินธ์ 1–7 สัปดาห์นี้ ให้นึกถึงสมาชิกชั้นเรียนบางคน—คนที่มาชั้นเรียนและคนที่ไม่มา หลักธรรมในบทเหล่านี้จะเป็นพรแก่พวกเขาอย่างไร?
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
สมาชิกชั้นเรียนจะได้ประโยชน์จากการฟังแนวคิดจากกันและกันเกี่ยวกับวิธีทำให้การศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขามีประสิทธิภาพมากขึ้น ให้เวลาสองสามนาทีเพื่อทำเช่นนี้เป็นครั้งคราว
สอนหลักคำสอน
2 โครินธ์ 1:3–7; 4:6–10, 17–18; 7:4–7
การทดลองของเราจะเป็นพรได้
-
ประสบการณ์ที่เปาโลบรรยายและคำแนะนำที่เขาให้ไว้ใน 2 โครินธ์ จะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนนึกถึงพรที่จะมาจากการทดลองของพวกเขา เพื่อเริ่มการสนทนานี้ ท่านอาจขอให้สมาชิกชั้นเรียนเตรียมมาพูดว่าการทดลองเป็นพรแก่ชีวิตเขาอย่างไรหรือสิ่งที่เขาเรียนรู้จากคนอื่นที่อดทนต่อการทดลอง จากนั้นท่านอาจให้เวลาสมาชิกชั้นเรียนสองสามนาทีเพื่อทบทวน 2 โครินธ์ 1:3–7; 4:6–10, 17–18; และ 7:4–7 โดยมองหาสิ่งที่เปาโลสอนเกี่ยวกับจุดประสงค์และพรของการทดลอง ขอให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาพบ ท่านอาจแนะนำให้พวกเขาอ่านออกเสียงข้อที่พวกเขาพบการสอนบางอย่างและจากนั้นแบ่งปันประสบการณ์หรือประจักษ์พยานที่เกี่ยวข้องกับคำสอนนั้น
-
เพื่อเสริมการสนทนาของท่าน ท่านอาจร้องเพลงสวดซึ่งเป็นที่ชื่นชอบร่วมกับสมาชิกชั้นเรียนโดยเป็นพยานถึงการปลอบโยนและพรที่พระบิดาบนสวรรค์และพระผู้ช่วยให้รอดประทานแก่เราในช่วงเวลาของการทดลอง—เช่น “ฐานมั่นคงหนักหนา” (เพลงสวด บทเพลงที่ 33) หลังจากร้องเพลงด้วยกัน ท่านอาจเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนมองหาวลีใน 2 โครินธ์ 1 และ 4 ที่พวกเขารู้สึกว่าสอดคล้องกับข่าวสารในเพลงสวด
การให้อภัยเป็นพรที่เราทั้งให้และรับ
-
เราทุกคนล้วนเคยมีประสบการณ์ที่บางคน “ทำให้เกิดความทุกข์โศก” กับเราและครอบครัว (ข้อ 5) บางทีสมาชิกชั้นเรียนอาจค้นหาใน 2 โครินธ์ 2:5–11 โดยมองหาคำแนะนำจากเปาโลเกี่ยวกับวิธีที่เราควรปฏิบัติกับคนที่ทำให้เราขุ่นเคืองใจ ท่านอาจเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนทบทวน มัทธิว 5:43–48 และ ลูกา 15:11–32 เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีที่เราควรปฏิบัติต่อผู้ที่ทำให้เราขุ่นเคืองใจ เราทำร้ายตนเองและผู้อื่นอย่างไรเมื่อเราเลือกที่จะไม่ให้อภัย?
โดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ เราคืนดีกับพระผู้เป็นเจ้าได้
-
หลายคนมาโบสถ์พร้อมกับความปรารถนาที่จะรู้สึกเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นและการสนทนาเกี่ยวกับ 2 โครินธ์ 5:14–21 จะช่วยพวกเขา เพื่อเริ่มชั้นเรียน สมาชิกชั้นเรียนอาจสำรวจความหมายของคำว่า คืนดี อาจเริ่มโดยการมองหาคำนั้นในพจนานุกรม สิ่งนี้ให้ข้อคิดอะไรเกี่ยวกับการคืนดีกับพระผู้เป็นเจ้า? เราได้ข้อคิดเพิ่มเติมอะไรบ้างจากคำว่า “การชดใช้” ในคู่มือพระคัมภีร์? ข้อคิดเหล่านี้ช่วยให้เราเข้าใจ 2 โครินธ์ 5:14–21 อย่างไร? ท่านอาจเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันความรู้สึกของพวกเขาเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดผู้ซึ่งการชดใช้ของพระองค์ทำให้เรากลับคืนไปหาพระผู้เป็นเจ้าได้
ความเสียใจตามพระประสงค์ของพระเจ้านำไปสู่การกลับใจ
-
2 โครินธ์ 7:8–11 ให้คำอธิบายที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับความเสียใจตามพระประสงค์ของพระเจ้าและบทบาทของสิ่งนี้ในการกลับใจ เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับความเสียใจตามพระประสงค์ของพระเจ้าจาก 2 โครินธ์ 7:8–11 และคำพูดของประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม”? เหตุใดความเสียใจตามพระประสงค์ของพระเจ้าจึงจำเป็นต่อการกลับใจ?
-
ท่านอาจรู้สึกถึงความประทับใจให้กระตุ้นการสนทนาที่กว้างขึ้นเกี่ยวกับการกลับใจ หากเป็นเช่นนั้น ท่านอาจลองทำบางสิ่งต่อไปนี้ เช่น เขียนบนกระดานว่า การกลับใจคือ ขอให้สมาชิกชั้นเรียนหาวิธีเติมประโยคนี้ให้ครบถ้วนโดยการใช้สิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จาก 2 โครินธ์ 7:8–11 เราจะใช้คำสอนเหล่านี้เพื่อช่วยให้บางคนเข้าใจวิธีกลับใจอย่างจริงใจได้อย่างไร?
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
ความเสียใจตามพระประสงค์ของพระเจ้าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและความหวัง
ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟอธิบายว่า
“ความเสียใจตามพระประสงค์ของพระเจ้า ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและความหวังผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ ความเสียใจอย่างโลก ดึงเราลง ทำลายความหวัง และชักจูงให้เรายอมแพ้ต่อการล่อลวงที่จะเข้ามา
“ความเสียใจตามพระประสงค์ของพระเจ้า นำไปสู่การเปลี่ยนใจเลื่อมใส และการเปลี่ยนแปลงของใจ สิ่งนี้ทำให้เราเกลียดชังบาปและรักความดี อีกทั้งกระตุ้นให้เรายืนขึ้นและเดินในแสงสว่างแห่งความรักของพระคริสต์ การกลับใจที่แท้จริงเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงไม่ไช่ความเจ็บปวดและความทรมาน” (“ท่านสามารถทำได้!,” เลียโฮนา, พ.ย. 2013, 56)