“4–10 กันยายน 1 โครินธ์ 14–16: ‘พระเจ้าไม่ใช่พระเจ้าแห่งความวุ่นวาย แต่ทรงเป็นพระเจ้าแห่งสันติ,’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)
“4–10 กันยายน 1 โครินธ์ 14–16,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2023
4–10 กันยายน
1 โครินธ์ 14–16
“พระเจ้าไม่ใช่พระเจ้าแห่งความวุ่นวาย แต่ทรงเป็นพระเจ้าแห่งสันติ”
ก่อนทบทวนโครงร่างนี้ ให้อ่าน 1 โครินธ์ 14–16 บันทึกความประทับใจแรกของท่านว่าความจริงใดจะช่วยสมาชิกชั้นเรียนของท่าน และแสวงหาการนำทางเพิ่มเติมต่อไปขณะที่ท่านเตรียมสอน
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
ให้เวลาสมาชิกชั้นเรียนสองสามนาทีทบทวน 1 โครินธ์ 14–16 และหาข้อหนึ่งที่พวกเขารู้สึกว่ามีความหมายเป็นพิเศษ เชื้อเชิญให้พวกเขาหาสมาชิกชั้นเรียนคนหนึ่งที่พวกเขาสามารถแบ่งปันข้อนี้และอธิบายว่าเหตุใดจึงเลือกข้อนี้
สอนหลักคำสอน
เมื่อเรามาชุมนุมกัน เราควรพยายามจรรโลงใจกัน
-
ท่านอาจใช้คำสอนของเปาโลใน 1 โครินธ์ 14 เพื่อเตือนสมาชิกชั้นเรียนว่าเราทุกคนสามารถจรรโลงใจ—หรือสนับสนุนหรือหนุนใจ—กันและกันที่โบสถ์ วิธีง่ายๆ ที่จะทบทวนบทนี้อาจเป็นการเขียนคำถามบนกระดาน เช่น อะไรควรเป็นเป้าหมายของเราเมื่อเรามารวมกัน? เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนค้นหาคำตอบที่เป็นไปได้ใน 1 โครินธ์ 14 แนวคิดอื่นๆ มีอยู่ใน โมโรไน 6:4–5 และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:17–23 ขณะสมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาพบ ท่านอาจถามพวกเขาว่าพวกเขารู้สึกว่าชั้นเรียนของท่านเป็นอย่างไรบ้างในการทำให้เป้าหมายเหล่านี้บรรลุผลสำเร็จ พวกเขาอาจแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งพวกเขารู้สึกจรรโลงใจจากบางสิ่งที่สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันด้วย
เพราะพระเยซูคริสต์ฟื้นคืนพระชนม์ เราทุกคนจะฟื้นคืนชีวิตเช่นกัน
-
ท่านจะใช้ประจักษ์พยานของเปาโลใน 1 โครินธ์ 15 เพื่อเสริมสร้างประจักษ์พยานของสมาชิกชั้นเรียนของท่านเกี่ยวกับการฟื้นคืนพระชนม์อย่างไร? วิธีหนึ่งอาจเป็นการแบ่งชั้นเรียนออกเป็นสองกลุ่มและขอให้หนึ่งกลุ่มดู 1 โครินธ์ 15 เพื่อหาผลที่เราต้องเผชิญหากพระเยซูคริสต์ไม่ทรงฟื้นคืนพระชนม์ อีกกลุ่มหนึ่งอาจหาพรที่เราจะได้รับเพราะการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ จากนั้นแต่ละกลุ่มอาจเขียนสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้บนกระดาน พวกเขาอาจเพิ่มอะไรเข้าไปในรายการได้หลังจากอ่านคำกล่าวจากเอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนรู้สึกถึงพระวิญญาณระหว่างการสนทนานี้ ท่านอาจให้ดูภาพพระผู้ช่วยให้รอดผู้ฟื้นคืนพระชนม์ (ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว) หรือเล่นหรือร้องเพลงสวดเกี่ยวกับการฟื้นคืนพระชนม์
-
เนื่องจากเปาโลกำลังตอบคนที่ไม่เชื่อในการฟื้นคืนชีวิต ชั้นเรียนของท่านอาจได้รับประโยชน์จากการแสดงบทบาทสมมติสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน ตัวอย่างเช่น พวกเขาจะเสริมสร้างศรัทธาของบุคคลอันเป็นที่รักในเรื่องการฟื้นคืนพระชนม์ได้อย่างไร? เราพบอะไรใน 1 โครินธ์ 15 ที่จะช่วยเราอธิบายความจำเป็นที่ต้องมีและหลักฐานของการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์? มีข้อพระคัมภีร์อื่นใดที่เราใช้ได้อีก? (ดู ตัวอย่างเช่น ลูกา 24:1–12, 36–46; แอลมา 11:42–45)
-
1 โครินธ์ 15 เป็นหนึ่งในไม่กี่แห่งในพระคัมภีร์ที่กล่าวถึงบัพติศมาแทนคนตาย (ดู ข้อ 29; ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 128:18 ด้วย) บางทีสมาชิกชั้นเรียนอาจแบ่งปันปีติที่พวกเขาพบขณะประกอบพิธีบัพติศมาหรือศาสนพิธีอื่นๆ แทนบรรพชนของพวกเขา เหตุใดเปาโลจึงกล่าวว่าบัพติศมาแทนคนตายเป็นหลักฐานของการฟื้นคืนพระชนม์?
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
ความสำคัญของการฟื้นคืนพระชนม์
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน
“ลองพิจารณาสักครู่ถึงนัยสำคัญของการฟื้นคืนพระชนม์ในการขจัดข้อสงสัยขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับตัวตนที่แท้จริงของพระเยซูแห่งนาซาเร็ธ การโต้แย้งเชิงปรัชญา และคำถามแห่งชีวิต หากพระเยซูฟื้นคืนพระชนม์จริงๆ ย่อมแสดงว่าพระองค์ทรงเป็นสัตภาวะแห่งสวรรค์ ไม่มีมนุษย์คนใดมีพลังอำนาจในตนเองที่จะกลับมามีชีวิตหลังจากตายไปแล้ว เพราะว่าพระองค์ฟื้นคืนพระชนม์ พระเยซูย่อมไม่ได้เป็นเพียงช่างไม้ ครู อาจารย์ หรือศาสดาพยากรณ์อย่างแน่นอน เพราะพระองค์ฟื้นคืนพระชนม์ พระเยซูย่อมต้องเป็นพระผู้เป็นเจ้า แม้พระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดจากพระบิดา
“ฉะนั้น สิ่งที่พระองค์ทรงสอนจึงเป็นความจริง เพราะพระผู้เป็นเจ้าตรัสเท็จไม่ได้
“ฉะนั้น พระองค์จึงทรงเป็นพระผู้สร้างแผ่นดินโลก ดังที่พระองค์ตรัส
“ฉะนั้น สวรรค์และนรกจึงมีจริง ดังที่พระองค์ทรงสอน
“ฉะนั้น มีโลกแห่งวิญญาณซึ่งพระองค์ทรงไปเยือนหลังจากสิ้นพระชนม์
“ฉะนั้น พระองค์จะเสด็จมาอีกครั้ง ดังที่ทวยเทพกล่าว และจะทรง ‘ปกครองแผ่นดินโลกด้วยพระองค์เอง’
“ฉะนั้น จึงมีการฟื้นคืนชีวิตและการพิพากษาครั้งสุดท้ายสำหรับทุกคน” (“การฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 113)