พันธสัญญาเดิม 2022
2–8 พฤษภาคม อพยพ 35–40; เลวีนิติ 1; 16; 19: “บริสุทธิ์แด่พระยาห์เวห์”


“2–8 พฤษภาคม อพยพ 35–40; เลวีนิติ 1; 16; 19: ‘บริสุทธิ์แด่พระยาห์เวห์’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาเดิม 2022 (2021)

“2–8 พฤษภาคม อพยพ 35–40; เลวีนิติ 1; 16; 19” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2022

ภาพ
พระวิหารเซาเปาลู บราซิล

2–8 พฤษภาคม

อพยพ 35–40; เลวีนิติ 1; 16; 19

“บริสุทธิ์​แด่​พระ‍ยาห์‌เวห์”

เมื่อท่านมีประสบการณ์อันเปี่ยมด้วยความหมายขณะศึกษาพระคัมภีร์ ท่านจะสามารถสอนและเป็นพยานเมื่อท่านพบกับสมาชิกชั้นเรียนในวันอาทิตย์ ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อกระตุ้นสมาชิกชั้นเรียนให้ทำแบบเดียวกัน?

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

บทต่างๆ ในการอ่านของสัปดาห์นี้ใช้สัญลักษณ์สอนเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระองค์ ท่านอาจเริ่มชั้นเรียนโดยเชิญสมาชิกชั้นเรียนเขียนบนกระดานหรือวาดบางอย่างที่พวกเขาพบใน อพยพ 35–40 หรือ เลวีนิติ 1; 16; 19 ที่สอนพวกเขาเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด เชิญพวกเขาแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

อพยพ 35–40

พระเจ้าทรงต้องการให้เราบริสุทธิ์เช่นพระองค์

  • เมื่อสมาชิกชั้นเรียนศึกษา อพยพ 35–40 สัปดาห์นี้ พวกเขาอาจไตร่ตรองว่าส่วนประกอบของพลับพลาสมัยโบราณเบนความคิดของพวกเขาไปหาพระเยซูคริสต์อย่างไร ถ้าได้ไตร่ตรอง กระตุ้นให้พวกเขาแบ่งปันความคิดของตน ตารางใน โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว อาจช่วยเรื่องการสนทนานี้ได้ ท่านอาจพูดคุยด้วยว่าสัญลักษณ์เชื่อมโยงกับพลับพลาเหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับการเป็นคนบริสุทธิ์มากขึ้น พระเยซูคริสต์ทรงช่วยให้เราบริสุทธิ์มากขึ้นอย่างไร?

  • สำหรับหลายคน ความคิดเรื่องการเป็นคนบริสุทธิ์มากขึ้นอาจดูเหมือนไม่มีทางบรรลุได้ ท่านจะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเข้าใจอย่างไรว่าการเป็นคนบริสุทธิ์เป็นส่วนหนึ่งในแผนของพระบิดาบนสวรรค์สำหรับเรา? ท่านอาจจะอ่านคำกล่าวของประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” ด้วยกัน การเป็นคนบริสุทธิ์หมายความว่าอย่างไร? พระวิหารยุคสุดท้ายของเราและงานที่เราทำในนั้นช่วยให้เราเป็นคนบริสุทธิ์มากขึ้นอย่างไร? (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:19–24; 109:6–26; 128:15–18ด้วย) จากนั้นท่านอาจขอให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันว่าสิ่งเหล่านี้ได้ช่วยพวกเขา—หรือคนอื่นที่พวกเขารู้จัก—ให้เป็นคนบริสุทธิ์มากขึ้นอย่างไร

  • พลับพลาของคนอิสราเอลในถิ่นทุรกันดารคล้ายคลึงกับพระวิหารยุคสุดท้ายของเราในหลายๆ ด้าน ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนเขียนรายการสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับพลับพลาใน อพยพ 35–40 ที่เตือนให้พวกเขานึกถึงสิ่งที่เราประสบในพระวิหาร หากพวกเขาต้องการความช่วยเหลือ ท่านอาจชี้ให้พวกเขาดูข้อต่างๆ ใน อพยพ 40 ที่กล่าวถึงม่าน แท่นบูชา อาภรณ์ศักดิ์สิทธิ์ การล้าง และการเจิม พระวิหารช่วยให้เรามาหาพระคริสต์อย่างไร? เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้เวลาของเราในพระวิหารจดจ่ออยู่กับพระองค์?

เลวีนิติ 1:1–9; 16

โดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ เราจะได้รับการให้อภัย

  • แม้ความคิดเรื่องสัตวบูชาอาจดูแปลกๆ สำหรับเราในปัจจุบัน แต่มีมากมายที่เราเรียนรู้ได้จากการปฏิบัตินี้เกี่ยวกับการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ เพื่อเริ่มการสนทนา ท่านอาจให้ดูภาพพระผู้ช่วยให้รอดในเกทเสมนีและบนกางเขน (ดู หนังสือภาพพระกิตติคุณ, ภาพที่ 56, 57) สมาชิกชั้นเรียนอาจบอกคำที่พวกเขารู้สึกเชื่อมโยงกับการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ จากนั้นให้สมาชิกชั้นเรียนทบทวน เลวีนิติ 1:1–9 หรือ เลวีนิติ 16 ซึ่งพูดถึงสัตวบูชา และหาคำที่พวกเขารู้สึกเชื่อมโยงกับการพลีพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอดด้วย การถวายเครื่องพลีบูชาในสมัยโบราณเหล่านี้จะช่วยให้เราเข้าใจการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ดีขึ้นได้อย่างไร? สมาชิกชั้นเรียนอาจร้องเพลงสวดเพลงหนึ่งเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและแบ่งปันความรู้สึกของพวกเขาเกี่ยวกับพระองค์

    ภาพ
    คนสมัยโบราณนำของถวายมาสร้างพลับพลา

    ลูกหลานอิสราเอลนำของมาถวายสำหรับพลับพลาด้วยความ “สมัครใจ” (อพยพ 35:5) ภาพประกอบโดย คอร์เบิร์ต กูเธียร์ © Lifeway Collection/licensed จาก goodsalt.com

  • อาจเป็นประโยชน์ถ้าสมาชิกชั้นเรียนเปรียบเทียบเครื่องพลีบูชาที่พระเจ้าทรงเรียกร้องในสมัยพันธสัญญาเดิมกับการเสียสละที่พระองค์ทรงขอจากเราในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น พวกเขาอาจเขียนวิธีที่เราเสียสละเพื่อพระเจ้าและงานของพระองค์ออกมาเป็นข้อๆ เช่น รับใช้ในการเรียก จ่ายเงินบริจาคอดอาหาร ทำงานประวัติครอบครัว หรือปฏิบัติศาสนกิจต่อกัน จากนั้นท่านอาจจะอ่าน เลวีนิติ 1:1–9 ด้วยกัน และเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนมองหาส่วนประกอบของเครื่องบูชาดังบรรยายไว้ในข้อเหล่านี้ที่อาจเชื่อมโยงกับเครื่องบูชาที่พระเจ้าทรงขอจากเราในปัจจุบัน (ดู 3 นีไฟ 9:19–20; หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:34) เราสามารถเรียนรู้อะไรจาก โมเสส 5:7 เกี่ยวกับวิธีที่เราควรมองการเสียสละของเราเพื่องานของพระเจ้า?

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

พระผู้เป็นเจ้าทรงสามารถทำให้เราบริสุทธิ์

ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์สอนดังนี้

“ความสุขมากขึ้นมาจากความบริสุทธิ์ส่วนตัวที่มากขึ้น … พระคัมภีร์สอนว่านอกจากอย่างอื่นแล้ว เรายังสามารถรับการชำระให้บริสุทธิ์หรือเป็นคนบริสุทธิ์มากขึ้นเมื่อเราใช้ศรัทธาในพระคริสต์ แสดงการเชื่อฟังของเรา กลับใจ เสียสละเพื่อพระองค์ รับศาสนพิธีศักดิ์สิทธิ์ และรักษาพันธสัญญาที่ทำไว้กับพระองค์ …

“เพลงสวด ‘เพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ให้ฉัน’ [เพลงสวด, บทเพลงที่ 56] แนะนำวิธีสวดอ้อนวอนขอความช่วยเหลือในการเป็นคนบริสุทธิ์มากขึ้น ผู้ประพันธ์แนะนำอย่างฉลาดว่าความบริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ที่เราแสวงหาเป็นของประทานจากพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเปี่ยมด้วยความรัก ซึ่งค่อยๆ ประทานให้ตามกาลเวลา หลังจากที่เราทำทุกสิ่งจนสุดความสามารถแล้ว” (“ความบริสุทธิ์และแผนแห่งความสุข,” เลียโฮนา, พ.ย. 2019, 100–101, 103)

ปรับปรุงการสอนของเรา

ใช้เพลงศักดิ์สิทธิ์ ข่าวสารในเพลงสวดสามารถเสริมหลักคำสอนในพระคัมภีร์ อาทิ การร้องเพลงสวดเช่น “เพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ให้ฉัน” หรือ “ฉันเฝ้าพิศวง” (เพลงสวด บทเพลงที่ 56, 89) อาจจะเสริมข่าวสารบางเรื่องที่สอนใน เลวีนิติ 16 และ 19

พิมพ์