พันธสัญญาเดิม 2022
9–15 พฤษภาคม กันดารวิถี 11–14; 20–24: “ขอเพียงอย่าให้เรากบฏต่อพระยาห์เวห์ อย่ากลัว”


“9–15 พฤษภาคม กันดารวิถี 11–14; 20–24: ‘ขอเพียงอย่าให้เรากบฏต่อพระยาห์เวห์ อย่ากลัว’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาเดิม 2022 (2021)

“9–15 พฤษภาคม กันดารวิถี 11–14; 20–24” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2022

ภาพ
หุบเขาทะเลทราย

9–15 พฤษภาคม

กันดารวิถี 11–14; 20–24

“ขอเพียงอย่าให้เรากบฏต่อพระยาห์เวห์ อย่ากลัว”

หนึ่งในวิธีดีที่สุดที่จะรู้ว่าต้องมุ่งเน้นอะไรระหว่างชั้นเรียนคือถามสมาชิกชั้นเรียนว่าพวกเขาพบอะไรที่มีความหมายขณะศึกษาพระคัมภีร์ วิธีนี้จะเผยให้ทราบว่าอะไรสำคัญต่อพวกเขาและพวกเขาพร้อมเรียนรู้อะไร

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

บางครั้งทั้งหมดที่ต้องทำเพื่อกระตุ้นสมาชิกชั้นเรียนให้แบ่งปันข้อคิดจากการศึกษาของพวกเขาคือถามคำถามง่ายๆ เช่น “พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสอนอะไรท่านขณะอ่านพระคัมภีร์สัปดาห์นี้?” จากนั้นให้เวลาพวกเขาไตร่ตรองและตอบ

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

กันดารวิถี 12

การพูดต่อต้านศาสดาพยากรณ์ของพระเจ้าทำให้พระเจ้าทรงขุ่นเคือง

  • การอ่าน กันดารวิถี 12 จะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเข้าใจความร้ายแรงของการพูดต่อต้านศาสดาพยากรณ์ของพระเจ้า ท่านอาจเชิญสมาชิกชั้นเรียนอ่านบทนี้และพูดคุยกันว่าพระเจ้าทรงรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับผู้รับใช้ของพระองค์ ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 1–2 ท่านคิดว่าการพูดต่อต้านศาสดาพยากรณ์ของพระเจ้าหมายความว่าอย่างไร? อะไรคืออันตรายของการทำเช่นนั้น? เราสามารถเรียนรู้อะไรจากการกระทำของโมเสสและคนอิสราเอลใน ข้อ 13 และ 15?

กันดารวิถี 12:3

“โม‌เสส​เป็น​คนถ่อมใจยิ่ง‍”

  • บางคนอาจประหลาดใจเมื่ออ่านว่าผู้นำที่เกรียงไกรอย่างโมเสส ผู้ยืนต่อหน้าฟาโรห์และทำปาฏิหาริย์อันน่าตื่นตะลึงด้วยเดชานุภาพของพระเจ้าเป็นคน “ถ่อมใจยิ่ง” ด้วย ท่านอาจจะใช้ กันดารวิถี 12:3 เริ่มการสนทนาว่าความอ่อนน้อมถ่อมตนที่แท้จริงคืออะไร ท่านอาจจะให้อ่านนิยามใน “อ่อนน้อม (ความมีใจ), อ่อนน้อม (ความสุภาพ), อ่อนโยน (คน, ความ)” ในคู่มือพระคัมภีร์ (scriptures.ChurchofJesusChrist.org) ท่านอาจจะให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่บ่งบอกความถ่อมตนของโมเสสใน กันดารวิถี 12

  • เราสามารถเรียนรู้จากหลักฐานอะไรอีกบ้างที่ยืนยันความถ่อมตนของโมเสส (ดูตัวอย่างใน อพยพ 18:13–25; กันดารวิถี 11:26–29; ฮีบรู 11:24–27; โมเสส 1:10–11) ท่านอาจจะอ่านและสนทนาด้วยว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงแสดงความอ่อนน้อมอย่างไร (ดู มัทธิว 11:29; 27:11–14; ลูกา 22:41–42; ยอห์น 13:4–5) แบบอย่างของโมเสสและพระผู้ช่วยให้รอด—หรือของคนที่เรารู้จัก—สอนอะไรเราเกี่ยวกับความถ่อมตน? เหตุใดพระผู้เป็นเจ้าทรงต้องการให้เราอ่อนน้อมถ่อมตน?

กันดารวิถี 13–14

ด้วยศรัทธาในพระเจ้า เราสามารถมีความหวังสำหรับอนาคต

  • ขณะสนทนาเรื่องราวเกี่ยวกับคนอิสราเอล 12 คนไปสอดแนมแผ่นดินที่สัญญาไว้และเสนอรายงานของพวกเขา ท่านอาจถามสมาชิกชั้นเรียนว่าพวกเขารู้สึกว่าเรื่องนี้ประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ที่พวกเขาพบเจอได้อย่างไร เพื่อช่วยตอบคำถาม ท่านอาจเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนเขียนสิ่งต่างๆ จาก กันดารวิถี 13:23–33 ที่อาจเทียบได้กับบางสิ่งในชีวิตเรา ตัวอย่างเช่น แผ่นดินที่สัญญาไว้อาจแทนสิ่งที่พระเจ้าทรงต้องการให้เราทำสำเร็จ พวงองุ่นอาจเป็นพร คนเนฟิลอาจเป็นความท้าทายที่เราพบเจอ เป็นต้น กระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันว่าพวกเขารู้สึกว่าพระเจ้าอาจทรงต้องการให้พวกเขาเรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้

    ภาพ
    พวกผู้ชายให้โมเสสดูผลไม้

    คนสอดแนมชาวอิสราเอลสิบคนกลัว โยชูวากับคาเลบมีศรัทธา © Lifeway Collection/licensed from goodsalt.com

กันดารวิถี 21:4–9

ถ้าเรามองไปที่พระเยซูคริสต์ด้วยศรัทธา พระองค์ทรงสามารถรักษาเราทางวิญญาณได้

  • เพื่อช่วยสมาชิกชั้นเรียนสนทนาเรื่องราวใน กันดารวิถี 21:4–9 และสร้างศรัทธาของพวกเขาในพระผู้ช่วยให้รอด ท่านอาจเขียนคำถามทำนองนี้ไว้บนกระดาน: งูทองสัมฤทธิ์แทนอะไร? งูพิษกัดน่าจะแทนอะไร? เหตุใดบางคนไม่ยอมมองดูงูทองสัมฤทธิ์? เราจะ “มองดู” งูทองสัมฤทธิ์ในปัจจุบันได้อย่างไร? สมาชิกชั้นเรียนอาจจะแบ่งปันคำตอบที่พบขณะอ่าน กันดารวิถี 21:4–9; 1 นีไฟ 17:40–41; แอลมา 33:18–22; และ ฮีลามัน 8:13–15 สิ่งเรียบง่ายอะไรบ้างที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงเชื้อเชิญให้เราทำเพื่อได้รับการรักษาจากพระองค์? เหตุใดบางครั้งการทำสิ่งเรียบง่ายเช่นนั้นจึงยาก? (ดูความคิดบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม”) สมาชิกชั้นเรียนอาจจะแบ่งปันว่าการทำสิ่งเหล่านี้ได้นำเดชานุภาพของพระผู้ช่วยให้รอดเข้ามาในชีวิตพวกเขาอย่างไร

ภาพ
ไอคอนแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

“เรื่องเล็กและเรียบง่าย”

เอ็ลเดอร์แอล. วิทนีย์ เคลย์ตันเล่าเรื่องอธิการคนหนึ่งผู้ให้คำปรึกษาแก่สมาชิกวอร์ดที่กำลังประสบความท้าทายยากๆ หลายอย่างในชีวิตพวกเขา:

“บ่อยครั้งมากที่เขาแนะนำให้สมาชิกวอร์ดกลับสู่การปฏิบัติที่เรียบง่ายของศรัทธา เช่น ศึกษาพระคัมภีร์มอรมอน … จ่ายส่วนสิบ และอุทิศตนรับใช้ในศาสนจักร อย่างไรก็ตามบ่อยครั้งคำตอบของพวกเขาคือความสงสัย ‘… การทำ สิ่งเหล่านั้น เกี่ยวข้องอะไรกับปัญหาที่ ผม กำลังประสบ?’

“… คนที่ตั้งใจทำ ‘เรื่องเล็กและเรียบง่าย’ [แอลมา 37:6]—เชื่อฟังสิ่งที่ดูเหมือนเล็กน้อย—ล้วนได้รับพรให้มีศรัทธาและความเข้มแข็งเกินกว่าการเชื่อฟังที่พวกเขาปฏิบัติจริง และอาจดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกันเลย” (“จงทำตามที่ท่านสั่งเจ้าเถิด,” เลียโฮนา, พ.ค. 2017, 98)

ปรับปรุงการสอนของเรา

จดจ่อกับเรื่องสำคัญที่สุด การสอนครบทุกเรื่องหรือทุกหลักธรรมย่อมเป็นไปไม่ได้ จงทำตามพระวิญญาณ และพิจารณาความต้องการของสมาชิกชั้นเรียนขณะท่านตัดสินว่าจะใช้เวลาในชั้นเรียนอย่างไร จำไว้ว่าบ้านเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้พระกิตติคุณ ไม่ใช่ห้องเรียน

พิมพ์