เซมินารี
บทที่ 74—หลักคำสอนและพันธสัญญา 60–62: “สดับฟังสุรเสียงของพระองค์ผู้ทรงมีเดชานุภาพทั้งมวล”


“บทที่ 74—หลักคำสอนและพันธสัญญา 60–62: ‘สดับฟังสุรเสียงของพระองค์ผู้ทรงมีเดชานุภาพทั้งมวล’” หลักคำสอนและพันธสัญญา คู่มือครูเซมินารี (2025)

“หลักคำสอนและพันธสัญญา 60–62,” หลักคำสอนและพันธสัญญา คู่มือครูเซมินารี

บทที่ 74: หลักคำสอนและพันธสัญญา 60–62

หลักคำสอนและพันธสัญญา 60–62

“สดับฟังสุรเสียงของพระองค์ผู้ทรงมีเดชานุภาพทั้งมวล”

คุ้งแมคอิลเวนบนแม่น้ำมิสซูรี

ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1831 พระผู้ช่วยให้รอดทรงแนะนำกลุ่มเอ็ลเดอร์ด้วยความรักในช่วงการเดินทางอันยากลำบากจากมิสซูรีไปยังโอไฮโอ คำแนะนำของพระองค์ช่วยให้เอ็ลเดอร์เข้าใจความคาดหวังและความปรารถนาของพระองค์ที่มีต่อพวกท่านขณะเดินทางกลับบ้าน บทเรียนนี้มีเจตนาจะช่วยให้นักเรียนเข้าใจความคาดหวังและความปรารถนาของพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น

กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้

การตัดสินใจ

ในการเริ่มต้นชั้นเรียน ท่านอาจให้ดูสถานการณ์ต่อไปนี้:

จินตนาการว่าเพื่อนสนิทของท่านสองคนกำลังมีปัญหาเกี่ยวกับการตัดสินใจโดยใช้วิธีที่แตกต่างกัน เพื่อนคนหนึ่งไม่ค่อยแสวงหาความช่วยเหลือหรือการนำทางจากพระผู้เป็นเจ้าและพยายามตัดสินใจส่วนใหญ่ด้วยตนเอง เพื่อนอีกคนสวดอ้อนวอนขอการนำทางและลังเลที่จะดำเนินการตัดสินใจใดๆ ต่อไปจนกว่าเธอจะรู้สึกมั่นใจว่าพระเจ้าทรงตอบเธอแล้ว

  • มีเหตุผลอะไรบ้างที่เพื่อนแต่ละคนอาจรู้สึกเช่นนั้น?

  • ท่านเห็นความเข้าใจผิดอะไรบ้างในทั้งสองสถานการณ์?

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงการตัดสินใจที่พวกเขาต้องทำในชีวิต แล้วพิจารณาว่าจะเชื่อมโยงกับสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งเหล่านี้ได้หรือไม่ กระตุ้นให้พวกเขามองหาความจริงในบทเรียนวันนี้ที่จะช่วยในการตัดสินใจ

“เราจะพูดกับเจ้าเกี่ยวกับการเดินทางของเจ้า” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 60:5)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจบริบทของคำสอนที่จะศึกษาในวันนี้ ให้อ่านหรือสรุปข้อมูลในย่อหน้าต่อไปนี้

ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1831 โจเซฟ สมิธและเอ็ลเดอร์หลายคนเริ่มเดินทางกว่า 800 ไมล์ (1,287 กม.) ไปยังบ้านของพวกเขาในเคิร์ทแลนด์ โอไฮโอ พวกเขาใช้เวลาสองสามสัปดาห์ก่อนหน้านี้ในมิสซูรี ที่ซึ่งพระเจ้าทรงแนะนำให้พวกเขาทำงานสร้างนครไซอัน ขณะเดินทางกลับบ้าน คนในกลุ่มมีคำถามเกี่ยวกับวิธีและทิศทางการเดินทาง ในการตัดสินใจบางอย่าง พระเจ้าทรงสนับสนุนให้พวกเขาใช้ดุลพินิจที่ดีที่สุดและเลือกด้วยตนเอง สำหรับการตัดสินใจอื่นๆ พระองค์ประทานคำแนะนำและพระบัญญัติที่เฉพาะเจาะจงเพื่อนำทางพวกเขา

นักเรียนอาจใช้แผนภูมิต่อไปนี้เพื่อศึกษาข้อพระคัมภีร์ที่ระบุไว้ เชื้อเชิญให้นักเรียนคัดลอกแผนภูมิลงในสมุดบันทึกการศึกษา ท่านอาจคัดลอกลงบนกระดานและเชื้อเชิญให้นักเรียนหลายๆ คนเขียนคำตอบหลังจากได้ศึกษาข้อพระคัมภีร์แล้ว ท่านอาจแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มๆ แล้วมอบหมายให้ศึกษาข้อพระคัมภีร์หนึ่งข้อหรือทุกข้อด้วยกัน

สิ่งที่สำคัญสำหรับพระเจ้า

สิ่งที่ไม่สำคัญสำหรับพระเจ้า

หลักคำสอนและพันธสัญญา 60:5–8

หลักคำสอนและพันธสัญญา 61:21–22

หลักคำสอนและพันธสัญญา 62:5–7

  • ท่านสังเกตเห็นความแตกต่างอะไรในข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ระหว่างสิ่งที่สำคัญสำหรับพระเจ้ากับสิ่งที่ไม่สำคัญ?

  • มีวิธีใดบ้างที่ท่านอาจประยุกต์ใช้คำสอนของพระเจ้าในข้อพระคัมภีร์เหล่านี้กับสถานการณ์ที่ท่านเผชิญในชีวิต?

อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 62:8 โดยมองหาคำแนะนำของพระเจ้าที่ช่วยเราได้เมื่อเราต้องตัดสินใจโดยไม่มีการนำทางที่เฉพาะเจาะจง

เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันความจริงที่เรียนรู้จากคำแนะนำของพระเจ้าในข้อพระคัมภีร์นี้ พวกเขาอาจแสดงหลักธรรมทำนองนี้: พระเจ้าทรงคาดหวังให้เราตัดสินใจหลายอย่างขึ้นอยู่กับการนำทางของพระวิญญาณและดุลพินิจของตนเอง

ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:26–29 โดยมองหาคำสอนที่จะช่วยให้พวกเขาเข้าใจได้ดีขึ้นว่าพระเจ้าทรงคาดหวังให้เราตัดสินใจอย่างไร อาจเชื้อเชิญให้นักเรียนอ้างโยงหรือเชื่อมโยงข้อพระคัมภีร์เหล่านี้กับ หลักคำสอนและพันธสัญญา 62:8

ไอคอนการอบรมมุ่งเน้นหลักธรรมแห่งการเปลี่ยนใจเลื่อมใส: ดูวิธีฝึกปฏิบัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ที่หัวข้อ “มุ่งเน้นความจริงที่นำไปสู่การเปลี่ยนใจเลื่อมใสและสร้างศรัทธาในพระเยซูคริสต์” ใน ทักษะการพัฒนาครู: สอนหลักคำสอน ท่านอาจฝึกทักษะและตั้งคำถามที่ช่วยให้นักเรียนระบุและอธิบายหลักธรรมแห่งการเปลี่ยนใจเลื่อมใส

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพึ่งพาดุลพินิจของเราเช่นเดียวกับการนำทางของพระวิญญาณเมื่อเราตัดสินใจ?

  • ความจริงนี้จะช่วยเราในการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานหรือค่านิยมของเราได้อย่างไร?

ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันประสบการณ์ที่ได้ตัดสินใจตามดุลพินิจของตนเองและการนำทางของพระวิญญาณ เชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันว่าพระเจ้าทรงอวยพรพวกเขาในสถานการณ์เหล่านี้อย่างไร ท่านอาจแบ่งปันประสบการณ์ของท่านเองด้วย

พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนเกี่ยวกับพระองค์เอง

ระหว่างการเดินทางไปโอไฮโอ เอ็ลเดอร์ประสบกับความไม่แน่นอน ความเหนื่อยล้า และบางสถานการณ์ที่น่ากลัว พวกเขายังมีความขัดแย้งและการทะเลาะวิวาทกัน เพื่อช่วยพวกเขา พระผู้ช่วยให้รอดทรงแบ่งปันคำสอนที่สำคัญมากมายเกี่ยวกับพระองค์ คำสอนเหล่านี้จะช่วยให้เราเข้าใจมากขึ้นว่าพระองค์ทรงเป็นใครและพระองค์ทรงทำอะไรเพื่อเรา

เพื่อช่วยให้นักเรียนเตรียมศึกษาข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้ ท่านอาจให้พวกเขาเขียน พระเยซูคริสต์ ตรงกลางหน้าสมุดบันทึกการศึกษา ท่านอาจเขียนสิ่งนี้บนกระดานด้วย ขณะนักเรียนศึกษาข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้ พวกเขาอาจเขียนคำหรือวลีที่อธิบายถึงพระผู้ช่วยให้รอดรอบๆ พระนามของพระองค์

อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 60:1–4; 61:1–2, 36–39; 62:1–3, 9 ให้ความสนใจในสิ่งที่ท่านเรียนรู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์จากข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ บันทึกสิ่งที่ท่านค้นพบลงในสมุดบันทึกการศึกษา

เปิดโอกาสให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้และรู้สึกเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์จากกิจกรรมการศึกษานี้ พวกเขาอาจสนทนาคำถามทำนองนี้ร่วมกันเป็นชั้นเรียน เป็นคู่ หรือเป็นกลุ่มเล็กๆ

  • ท่านพบสิ่งใดบ้างที่อาจเป็นประโยชน์ต่อเอ็ลเดอร์เหล่านี้ระหว่างการเดินทาง?

  • ท่านเรียนรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดที่อาจช่วยท่านหรือผู้อื่นในชีวิต?

สรุปบทเรียนโดยเชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงการกระตุ้นเตือนที่พวกเขาอาจได้รับจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ตามสิ่งที่ได้ศึกษาและสนทนากันในวันนี้ กระตุ้นให้พวกเขาบันทึกความคิดและความประทับใจลงในสมุดบันทึกการศึกษา