“บทเรียนที่ 139—หลักคําสอนและพันธสัญญา 130: การสอนพระกิตติคุณของพระผู้ช่วยให้รอด” หลักคําสอนและพันธสัญญา คู่มือครูเซมินารี (2025)
“หลักคําสอนและพันธสัญญา 130” หลักคําสอนและพันธสัญญา คู่มือครูเซมินารี (2025)
บทเรียนที่ 139: หลักคําสอนและพันธสัญญา 129–132
หลักคําสอนและพันธสัญญา 130
การสอนพระกิตติคุณของพระผู้ช่วยให้รอด
เราสามารถสอนพระกิตติคุณได้อย่างมีประสิทธิภาพในการประชุมใหญ่หรือในการชุมนุมเล็กๆ ที่เป็นส่วนตัว พระผู้ช่วยให้รอดทรงใช้ทั้งสองวิธีระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจของพระองค์ เช่นเดียวกับท่านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ เนื้อหาของ หลักคําสอนและพันธสัญญา 130 มีคําสอนบางอย่างของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธที่ให้แก่วิสุทธิชนที่อาศัยอยู่ในเรมัส รัฐอิลลินอยส์ บทเรียนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยนักเรียนฝึกสอนองค์ประกอบของหลักคําสอนของพระเยซูคริสต์
กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทําได้
กิจกรรมการเรียนรู้ต่อไปนี้ออกแบบไว้เพื่อช่วยให้นักเรียนสอนส่วนต่างๆ ของบทเรียน หากท่านไม่ต้องการให้นักเรียนสอน ให้ดู “กิจกรรมเสริมการเรียนรู้” สําหรับแนวคิดการสอนที่ท่านอาจใช้
พระเยซูคริสต์ พระปรมาจารย์
ในการเริ่มชั้นเรียน ท่านอาจให้ดูภาพพระเยซูคริสต์ซึ่งทรงสอนผู้คนและเชื้อเชิญให้นักเรียนนึกภาพว่าการอยู่ที่นั่นน่าจะเป็นอย่างไร ท่านอาจถามคําถามต่อไปนี้:
-
ท่านอาจคิดหรือรู้สึกอย่างไรหากท่านอยู่ที่นั่นขณะที่พระเยซูทรงสอน?
-
ท่านคิดว่าอะไรทําให้พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นครูที่มีประสิทธิภาพเช่นนั้น?
อธิบายว่าในฐานะสมาชิกศาสนจักรของพระผู้ช่วยให้รอด เรามีโอกาสมากมายที่จะสอนพระกิตติคุณของพระองค์ ท่านอาจให้ดูข่าวสารต่อไปนี้จากฝ่ายประธานสูงสุดเกี่ยวกับการสอนด้วย:
พี่น้องที่รักทั้งหลาย
นับเป็นโอกาสที่น่ายินดีของท่านที่จะสอนพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์! ไม่ว่าท่านจะมีการเรียกพิเศษเฉพาะให้สอนหรือไม่ ท่านก็ เป็น ครูคนหนึ่ง ในฐานะสานุศิษย์ของพระปรมาจารย์ พระเยซูคริสต์ ท่านมีโอกาสแบ่งปันแสงสว่างของพระองค์ในทุกที่ที่ท่านไป—ในบ้าน ที่โบสถ์ ขณะปฏิบัติศาสนกิจแก่ผู้อื่น และในหมู่เพื่อน การสอนพระกิตติคุณเป็นความวางใจอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นส่วนสำคัญยิ่งในงานของพระเจ้า และจะได้ผลดีที่สุดเมื่อเราสอนในวิธีของพระองค์ (การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด: สําหรับทุกคนที่สอนในบ้านและในศาสนจักร [2022], 1)
-
วัยรุ่นมีโอกาสอะไรบ้างที่จะสอนและเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์?
อธิบายให้นักเรียนฟังว่าพวกเขาจะมีโอกาสเตรียมบทเรียนสั้นๆ จากคําสอนบางข้อใน หลักคําสอนและพันธสัญญา 130 และฝึกสอนบทเรียนให้ผู้อื่น ถ้าท่านวางแผนให้นักเรียนสองสามคนสอนทั้งชั้น นี่จะเป็นเวลาดีที่จะรับรองกับพวกเขาว่าท่านจะไม่ขอให้ใครที่ไม่เต็มใจทําเช่นนั้น
ก่อนนักเรียนเริ่มเตรียมบทเรียน ท่านอาจแบ่งปันข้อมูลเบื้องต้นต่อไปนี้
วันที่ 2 เมษายน ค.ศ. 1843 ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธพบกับวิสุทธิชนในเรมัส รัฐอิลลินอยส์ซึ่งห่างจากนอวูราว 20 ไมล์ โจเซฟสอนความจริงพระกิตติคุณหลายประการ รวมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์ ความสําคัญของการได้รับความรู้ในชีวิตนี้ และวิธีที่เราจะได้รับพรของพระผู้เป็นเจ้า คําสอนเหล่านี้ของศาสดาพยากรณ์บันทึกไว้ใน หลักคําสอนและพันธสัญญา 130
เตรียมสอน
เพื่อช่วยนักเรียนเตรียมสอน ให้แจกเอกสาร “การสอนความจริงจากหลักคําสอนและพันธสัญญา 130” เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนทําตามขั้นตอนการเตรียมบทเรียนเพื่อเป็นแนวทาง เนื่องจาก หลักคําสอนและพันธสัญญา 130:22–23 เป็นข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคําสอน ท่านอาจจําเป็นต้องขอให้นักเรียนสองสามคนทําหัวข้อนั้นเพื่อให้แน่ใจว่าจะมีการสอนข้อพระคัมภีร์เหล่านั้นระหว่างบทเรียน
ขณะนักเรียนเตรียม ให้เดินดูและช่วยเหลือเมื่อจําเป็น ท่านอาจเสนอแนะบางอย่างเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาจะใช้ช่วยให้ผู้อื่นมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน สิ่งเหล่านี้อาจรวมถึงคําถามการสนทนา ภาพ สิ่งของ การแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัว หรือแบบฝึกหัดการเขียน
การสอนความจริงจาก หลักคําสอนและพันธสัญญา 130
การเตรียมบทเรียน:
ขั้นตอนที่ 1: เลือกหัวข้อศึกษาด้านล่างหนึ่งหัวข้อและศึกษาแหล่งช่วยที่ให้ไว้ เอาใจใส่ความคิด แนวคิด และความประทับใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์เกี่ยวกับสิ่งที่ท่านกําลังอ่าน ท่านอาจหาแหล่งช่วยอื่นเพื่อช่วยให้ท่านเข้าใจหัวข้อที่ท่านเลือกลึกซึ้งยิ่งขึ้นเช่นกัน
ขั้นตอนที่ 2: สร้างโครงร่างบทเรียนห้าถึงเจ็ดนาทีสําหรับหัวข้อที่ท่านเลือก อาจจะใช้คําถามบางส่วนต่อไปนี้เพื่อช่วยท่านเตรียม:
-
ความจริงเหล่านี้จะมีผลต่อความสัมพันธ์ของเรากับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์อย่างไร?
-
ฉันจะใช้พระคัมภีร์และถ้อยคําของศาสดาพยากรณ์เพื่อช่วยให้ผู้อื่นเข้าใจหัวข้อนี้ดีขึ้นได้อย่างไร?
-
ฉันจะทําอะไรได้บ้างเพื่อช่วยให้ผู้อื่นมีส่วนร่วมในบทเรียนและเป็นผู้มีส่วนร่วมที่แข็งขัน?
-
ฉันจะแบ่งปันประสบการณ์อะไรได้บ้างหรือฉันจะเป็นพยานถึงอะไรได้บ้าง?
-
ฉันจะทําอะไรได้บ้างเพื่อช่วยให้ผู้อื่นประยุกต์ใช้หัวข้อนี้กับชีวิตพวกเขา?
หัวข้อศึกษาและแหล่งช่วย:
ทางเลือกที่ 1: ความรู้และความรู้แจ้งเกิดขึ้นกับเราในการฟื้นคืนชีวิต
แหล่งช่วยเพื่อศึกษา:
หลักคําสอนและพันธสัญญา 130:18–19; ดู หลักคําสอนและพันธสัญญา 88:118; 93:36 ด้วย
เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์ (1926–2004) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้:
หากเราไตร่ตรองว่าอะไรจะลุกขึ้นพร้อมกับเราในการฟื้นคืนชีวิต ดูเหมือนชัดเจนว่าความรู้แจ้งของเราจะลุกขึ้นพร้อมกับเรา ไม่เพียงหมายถึงไอคิวของเราเท่านั้น แต่หมายถึงความสามารถของเราในการรับและประยุกต์ใช้ความจริงด้วย พรสวรรค์ คุณลักษณะ และทักษะของเราจะลุกขึ้นพร้อมกับเรา ความสามารถของเราในการเรียนรู้ ระดับการมีวินัยในตนเองของเรา และความสามารถในการทํางานของเราด้วย (Neal A. Maxwell, We Will Prove Them Herewith [1982], 12)
ทางเลือกที่ 2: เราได้รับพรจากพระผู้เป็นเจ้าโดยการเชื่อฟังกฎของพระองค์
แหล่งช่วยเพื่อศึกษา:
หลักคําสอนและพันธสัญญา 130:20–21; ดู ยอห์น 7:17; หลักคําสอนและพันธสัญญา 82:10 ด้วย
ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่า:
ถ้าท่านต้องการพรบางอย่างจริงๆ ท่านจะรู้ว่ากฎใดที่ใช้บังคับกับพรนั้นแล้วพยายามเชื่อฟังกฎเหล่านั้น (Russell M. Nelson, “The Mission and Ministry of the Savior: A Discussion with Elder Russell M. Nelson” Ensign, June 2005, 19)
ทางเลือกที่ 3: พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรงมีพระวรกายเป็นเนื้อหนังและกระดูก พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นรูปกายที่เป็นวิญญาณ
แหล่งช่วยเพื่อศึกษา:
หลักคําสอนและพันธสัญญา 130:22–23; ดู มัทธิว 3:13–17; กิจการของอัครทูต 7:55–56 ด้วย
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า:
เราเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าทั้งสามนี้ประกอบเป็นพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์รวมกันและเป็นหนึ่งเดียวกันในจุดประสงค์ พระลักษณะ ประจักษ์พยาน และพันธกิจ เราเชื่อว่าทั้งสามพระองค์ทรงเปี่ยมด้วยความรู้สึกเดียวกันของพระผู้เป็นเจ้าในพระเมตตาและความรัก ความเที่ยงธรรมและพระคุณ ความอดทน การให้อภัย และการไถ่ ข้าพเจ้าคิดว่าถูกต้องแล้วที่จะกล่าวว่าเราเชื่อว่าพระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียวกันในทุกแง่มุมที่สําคัญและเป็นนิรันดร์ในมโนภาพของเรา ยกเว้น การเชื่อว่าพระองค์ทรงเป็นสามพระบุคคลที่รวมกันเป็นหนึ่งแก่นสาร … เราประกาศว่าพระคัมภีร์เป็นหลักฐานในตัวเองว่าพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นคนละองค์แยกจากกัน เป็นสามพระองค์ (เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ “พระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียวและพระเยซูคริสต์ที่พระองค์ทรงใช้มา” เลียโฮนา, พ.ย. 2007, 49)
ประสบการณ์การสอน
ถ่ายทอดให้ผู้เรียนฟังว่าการอุทิศตนของพวกเขามีค่า: ขณะที่นักเรียนแบ่งปันบทเรียนที่พวกเขาเตรียม จงช่วยให้พวกเขารู้ว่าการแบ่งปันบทเรียนของพวกเขามีค่าและน่าชื่นชม ดูการฝึกปฏิบัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ในการอบรม “สื่อสารว่าท่านเห็นคุณค่าของนักเรียนก่อนพวกเขาแสดงความคิดเห็นหรือเมื่อพวกเขายกมือ” ใน ทักษะการพัฒนาครู: รักคนที่ท่านสอน
หลังจากท่านให้เวลานักเรียนเตรียมโครงร่างบทเรียนแล้ว ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนสองสามคนสอนบทเรียนของพวกเขาที่หน้าชั้นเรียน ท่านอาจจัดนักเรียนเป็นกลุ่มเล็กๆ และให้พวกเขาผลัดกันสอนด้วย ระหว่างการนําเสนอของนักเรียน กระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนแสดงความเคารพและมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในกระบวนการเรียนรู้ ถ้านักเรียนคนใดไม่สบายใจในการสอนในเซมินารีหรือหากหมดเวลาก่อนทุกคนมีโอกาส กระตุ้นให้พวกเขาพยายามสอนบทเรียนที่บ้าน ในโบสถ์ หรือกับเพื่อน เพื่อสรุป ท่านอาจตั้งคําถามเช่นคําถามต่อไปนี้:
-
ท่านได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ที่สามารถช่วยท่านในสถานการณ์ปัจจุบันของท่าน?
-
วันนี้ท่านได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการสอนพระกิตติคุณของพระผู้ช่วยให้รอด?
-
การใช้โอกาสสอนพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์จะเป็นประโยชน์ต่อท่านเวลานี้และในอนาคตได้อย่างไร?
หลักคําสอนและพันธสัญญา 130:22–23 เป็นข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคําสอน ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนทำเครื่องหมายข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอนด้วยวิธีที่แตกต่างกันเพื่อที่จะค้นหาได้ง่าย
ท่องจํา
ท่านอาจต้องการช่วยให้นักเรียนท่องจําข้ออ้างอิงและวลีสําคัญในพระคัมภีร์จาก หลักคําสอนและพันธสัญญา 130:22–23 และทบทวนในบทเรียนต่อไป วลีสําคัญในพระคัมภีร์สําหรับบทความนี้คือ “พระบิดาทรงมีพระวรกายเป็นเนื้อหนังและกระดูก …; พระบุตรก็เช่นกัน; แต่พระวิญญาณบริสุทธิ์ … เป็นรูปกายที่เป็นวิญญาณ” แนวคิดสำหรับกิจกรรมการท่องจำอยู่ในเอกสารภาคผนวกใต้ “กิจกรรมทบทวนผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอน”