คลังค้นคว้า
บัพติศมา


“บัพติศมา” หัวข้อและคําถาม (2023)

บัพติศมา

แนวทางศึกษาพระกิตติคุณ

บัพติศมา

“ถ้าใครไม่ได้เกิดจากน้ำและพระวิญญาณ คนนั้นจะเข้าในแผ่นดินของพระเจ้าไม่ได้” (ยอห์น 3:5)

เมื่อใดในชีวิตท่านที่ท่านรู้สึกถึงความเสียใจที่เกิดขึ้นหลังจากทําความผิดร้ายแรงหรือทําบาป? ข่าวสารสําคัญที่สุดของพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูคือโดยผ่านศรัทธาในพระเยซูคริสต์ การกลับใจที่จริงใจ และบัพติศมาโดยลงไปในน้ำทั้งตัวโดยผู้ดํารงสิทธิอํานาจ เราสามารถได้รับการให้อภัยและการปลดบาปของเรา บัพติศมาเป็นสัญลักษณ์ของการเกิดใหม่—การเริ่มต้นชีวิตใหม่ นี่เป็นก้าวแรกบนเส้นทางสู่การเป็นสมาชิกศาสนจักรของพระองค์และเตรียมรับศาสนพิธีและพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ที่พบในพระนิเวศน์ของพระเจ้า เมื่อท่านรับบัพติศมา ท่านเป็นพยานต่อพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาว่าท่าน “เต็มใจรับพระนามของพระคริสต์” (2 นีไฟ 31:13) สัญญาสําคัญนั้นต่อใหม่ทุกครั้งที่ท่านรับส่วนศีลระลึก (ดู หลักคําสอนและพันธสัญญา 20:77)

บัพติศมาคืออะไร?

บัพติศมาโดยลงไปในน้ำทั้งตัวโดยผู้มีสิทธิอํานาจเป็นศาสนพิธีฐานะปุโรหิตแห่งความรอดและความสูงส่งอันดับแรก บัพติศมาจำเป็นสำหรับบุคคลที่จะมาเป็นสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์และเข้าอาณาจักรซีเลสเชียล (ดู ยอห์น 3:5) โดยผ่านบัพติศมาเราเข้าถึงพรที่มีให้เนื่องจากการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

ภาพรวมหัวข้อ: บัพติศมา

แนวทางศึกษาพระกิตติคุณที่เกี่ยวข้อง: ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ การกลับใจ ความรอด ชีวิตนิรันดร์ พันธสัญญาและศาสนพิธี ศาสนพิธีแทนคนตาย

หมวดที่ 1

พระเยซูคริสต์ทรงเชื้อเชิญให้ทุกคนติดตามพระองค์และรับบัพติศมา

ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาให้บัพติศมาพระเยซูคริสต์

แม้ว่าพระเยซูคริสต์ทรงบริสุทธิ์และปราศจากบาป แต่พระองค์เสด็จมาหายอห์นผู้ถวายบัพติศมาและรับบัพติศมาเพื่อ “ทําให้ความชอบธรรมทั้งหมดสมบูรณ์” (ดู มัทธิว 3:13–17; ฮีบรู 4:15; 2 นีไฟ 31:5–7) พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาบุตรธิดาทุกคนของพระองค์ให้ทําตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์และรับบัพติศมาเพื่อพวกเขาจะได้รับการปลดบาปและได้รับชีวิตนิรันดร์เป็นมรดก (ดู 2 นีไฟ 31:13, 17–18) เราเตรียมรับบัพติศมาเมื่อเราใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์และกลับใจจากบาปของเรา ซึ่งการกลับใจแสดงให้ประจักษ์โดยใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สํานึกผิด (ดู โมโรไน 6:1–3; หลักคําสอนและพันธสัญญา 20:37)

พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาให้ทำพิธีบัพติศมาโดยผู้ดํารงสิทธิอํานาจฐานะปุโรหิต (ดู 3 นีไฟ 11:21–28; หลักคําสอนและพันธสัญญา 20:72–74; 22:1–4 รวมทั้งคํานําทางประวัติศาสตร์) ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1829 ศาสนพิธีบัพติศมาและสิทธิอํานาจในการให้บัพติศมาได้รับการฟื้นฟูสู่ท่านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธโดยผู้ส่งสารจากสวรรค์ ยอห์นผู้ถวายบัพติศมา (ดู โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:68–73)

ตลอดประวัติศาสตร์ บุตรธิดาจํานวนมากของพระผู้เป็นเจ้ามีชีวิตและสิ้นชีวิตโดยไม่ได้เรียนพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์หรือรับบัพติศมาที่ทำภายใต้สิทธิอํานาจฐานะปุโรหิตของพระองค์ เพราะทุกจิตวิญญาณมีค่าในสายพระเนตรของพระผู้เป็นเจ้า แผนของพระองค์จึงให้โอกาสผู้วายชนม์เหล่านี้เรียนรู้พระกิตติคุณในโลกวิญญาณ (หลักคําสอนและพันธสัญญา 138:30–37) สมาชิกของศาสนจักรทุกวันนี้พยายามค้นหารายชื่อบรรพชนผู้ล่วงลับผู้ไม่ได้รับศาสนพิธีที่จําเป็นของพระกิตติคุณในชีวิตนี้และรับบัพติศมาแทนพวกเขาในพระวิหารของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย (ดู หลักคําสอนและพันธสัญญา 128:16–18)

สิ่งที่ควรคำนึงถึง

  • ศาสดาพยากรณ์นีไฟเขียนเกี่ยวกับสาเหตุที่พระเยซูคริสต์ทรงรับบัพติศมา ศึกษา 2 นีไฟ 31:4–13 ข้อพระคัมภีร์เหล่านี้สอนอะไรท่านเกี่ยวกับจุดประสงค์ของการบัพติศมาของพระเจ้า? บัพติศมาของท่านเป็นพยาน “ต่อพระบิดาว่าท่านเต็มใจรับพระนามของพระคริสต์” หมายความว่าอย่างไร? (2 นีไฟ 31:13)

  • อ่าน หลักคําสอนและพันธสัญญา 20:37 โดยมองหาวิธีสําคัญที่บุคคลควรเตรียมรับบัพติศมา ข้อความนี้จะให้การชี้นําแก่สมาชิกของศาสนจักรที่รับบัพติศมาเมื่ออายุน้อยกว่าได้อย่างไร?

กิจกรรมสําหรับการเรียนรู้กับผู้อื่น

  • หลักคําสอนที่ได้รับการฟื้นฟูของบัพติศมาแทนคนตายเป็นพรใหญ่หลวงต่อโจเซฟ สมิธและวิสุทธิชนยุคสุดท้ายในยุคแรกๆ เช่นเดียวกับเราในปัจจุบัน ดูวิดีโอเรื่อง “Glad Tidings: The History of Baptisms for the Dead” (6:55) และพิจารณาว่าท่านอาจจะรู้สึกอย่างไรถ้าเป็นวิสุทธิชนยุคแรกคนหนึ่งผู้เรียนรู้เกี่ยวกับหลักคําสอนเรื่องบัพติศมาแทนคนตาย หลักคําสอนนี้สอนอะไรท่านเกี่ยวกับแผนแห่งความรอดของพระบิดาบนสวรรค์?

เรียนรู้เพิ่มเติม

หมวดที่ 2

บัพติศมาเตรียมท่านให้พร้อมรับชีวิตนิรันดร์

ครอบครัวกำลังกอดกัน

บัพติศมาเป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นพระชนม์ การฝัง และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ ภาพสําคัญนี้ช่วยให้เราเห็นสัญลักษณ์ของการเกิดใหม่ทางวิญญาณของเราเองเมื่อเรารับบัพติศมา เมื่อพระเยซูคริสต์ทรงฟื้นจากความตายสู่ชีวิตใหม่ เราควร “ดําเนินตามชีวิตใหม่” ด้วยเมื่อเราขึ้นมาจากน้ำแห่งบัพติศมา (โรม 6:4; ดู ข้อ 3–11 ด้วย)

พระคัมภีร์เปรียบบัพติศมาและการเปลี่ยนแปลงทางวิญญาณที่มาสู่ผู้ติดตามที่นอบน้อมถ่อมตนของพระเยซูคริสต์ กับการเกิดด้วย (ดู ยอห์น 3:1–8) เฉกเช่นทารกเกิดโดยน้ำ เลือด และวิญญาณ ทุกคนที่รับบัพติศมาและพยายามทำตามพระเยซูคริสต์เกิดใหม่ผ่านน้ำและพระวิญญาณและ “สะอาดโดยพระโลหิต, แม้พระโลหิตของ [พระคริสต์]” (โมเสส 6:59) ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นประโยชน์ที่จะพิจารณาว่าการเกิดใหม่ทางวิญญาณ หรือการ “เกิดใหม่” ให้การเริ่มต้นชีวิตที่สะอาดแก่เราอย่างไร (ดู โมไซยาห์ 5:7; 27:25–26)

พระเจ้าทรงสอนว่าบัพติศมาด้วยน้ำมาก่อนบัพติศมาด้วยไฟ นี่หมายถึงของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ ซึ่งชําระให้สะอาดและบริสุทธิ์เหมือนไฟ (ดู กิจการของอัครทูต 1:5; 2 นีไฟ 31:13) บัพติศมาด้วยไฟทําให้เกิดการปลดบาป (ดู 2 นีไฟ 31:17; 3 นีไฟ 9:19–20; หลักคําสอนและพันธสัญญา 39:6)

สิ่งที่ควรคำนึงถึง

  • เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์สอนดังนี้:

    “เราเป็นมนุษย์ที่ไม่ดีพร้อม พยายามดําเนินชีวิตในความเป็นมรรตัยตามแผนอันสมบูรณ์แบบแห่งความก้าวหน้านิรันดร์ของพระบิดาบนสวรรค์ ข้อเรียกร้องในแผนของพระองค์คือรุ่งโรจน์ เปี่ยมด้วยเมตตา และเคร่งครัด เราอาจรู้สึกมุ่งมั่นในบางครั้งและในบางครั้งอาจรู้สึกไม่คู่ควร เราอาจสงสัยว่าเราจะมีสัมฤทธิผลทางวิญญาณตามพระบัญชาของพระองค์ที่ให้เรายืนอยู่อย่างไม่มีมลทินต่อพระพักตร์พระองค์ในวันสุดท้ายหรือไม่

    “ด้วยความช่วยเหลือจากพระเจ้าและผ่านเดชานุภาพจากพระวิญญาณของพระองค์ในการ ‘สอน [เรา] ทุกสิ่ง’ [ยอห์น 14:26] แน่นอนว่าเราสามารถได้รับพรให้ตระหนักถึงความเป็นไปได้ทางวิญญาณของเรา ศาสนพิธีเชื้อเชิญจุดประสงค์และพลังทางวิญญาณมาสู่ชีวิตเราเมื่อเราพยายามบังเกิดใหม่อีกครั้งและเป็นชายหญิงของพระคริสต์ ความอ่อนแอของเราจะได้รับการเสริมสร้างให้เข้มแข็ง และเราจะเอาชนะข้อจํากัดของเราได้”

    อะไรคือบทบาทของเราในการ “เกิดใหม่”? พรใดสามารถมาสู่คนที่พยายาม “เกิดใหม่”?

กิจกรรมสําหรับการเรียนรู้กับผู้อื่น

  • ท่านอาจจะดู “Jesus Teaches of Being Born Again” (6:03) โดยเชิญให้สมาชิกกลุ่มฟังเพื่อหาหลักธรรมที่พระเยซูคริสต์ทรงสอนนิโคเดมัส พระเยซูทรงใช้สัญลักษณ์ของการเกิดทางกายช่วยให้นิโคเดมัสเข้าใจดีขึ้นถึงวิธีเตรียมรับอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร?

เรียนรู้เพิ่มเติม

หมวดที่ 3

เด็กเล็กๆ ไม่ต้องรับบัพติศมา

เด็กกําลังวิ่ง

พระเยซูคริสต์ทรงสอนว่าเด็กเล็กปราศจากบาปต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า (ดู มัทธิว 18:3; มาระโก 2:17; โมโรไน 8:8) เนื่องจากการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ เด็กเล็กๆ ไม่จําเป็นต้องรับบัพติศมา บิดามารดามีหน้าที่รับผิดชอบที่จะสอนลูกๆ ของตนถึงความสำคัญของศรัทธาในพระเยซูคริสต์ การกลับใจ บัพติศมา และของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:25–28) เด็กต้องรับบัพติศมาเมื่ออายุแปดขวบ ซึ่งพระคัมภีร์อธิบายว่าเป็นวัยที่รับผิดชอบได้ (ดู หลักคําสอนและพันธสัญญา 20:71; 29:46–47; 68:27) “เด็กทุกคนผู้ที่ตายก่อนถึงวัยที่รับผิดชอบได้ ล้วนรอดในอาณาจักรซีเลสเชียล” (หลักคำสอนและพันะสัญญา 137:10)

บางคนมีความพิการที่ขัดขวางไม่ให้พวกเขารับผิดชอบได้ พวกเขาไม่จําเป็นต้องกลับใจหรือบัพติศมาแต่รอดในอาณาจักรซีเลสเชียล (ดู โมโรไน 8:22; หลักคําสอนและพันธสัญญา 29:49–50; 137:10) ผู้นําศาสนจักรชี้แจงว่า “ไม่ควรห้าม [ผู้มีความพิการ] รับศาสนพิธีหากบุคคลมีค่าควร ต้องการรับ และแสดงให้เห็นว่ามีความรับผิดชอบและสำนึกรับผิดชอบมากพอ”

สิ่งที่ควรคำนึงถึง

กิจกรรมสําหรับการเรียนรู้กับผู้อื่น

  • ประธานบริคัม ยังก์กล่าว “เด็กทารกเป็นผู้บริสุทธิ์ พวกเขาไม่มีความรู้สึกเศร้าโศกเสียใจ ทั้งไม่มีบาปที่ต้องกลับใจและต้องละทิ้ง เมื่อเป็นดังนั้นพวกเขาจึงไม่อาจรับบัพติศมาเพื่อการปลดบาป” อ่าน โมโรไน 8:4–15, 19–24 กับกลุ่มของท่าน ข้อความนี้จะช่วยให้ท่านอธิบายเหตุผลบางประการที่ทารกไม่ต้องรับบัพติศมาได้อย่างไร?

เรียนรู้เพิ่มเติม