“การนมัสการพระผู้เป็นเจ้าพระบิดา” หัวข้อและคําถาม (2023)
แนวทางศึกษาพระกิตติคุณ
การนมัสการพระผู้เป็นเจ้าพระบิดา
การแสดงความรักและความตั้งใจมุ่งมั่นของเราต่อพระผู้เป็นเจ้า
มีผู้ทูลถามพระเยซูว่าพระบัญญัติข้อสำคัญที่สุดคืออะไร พระองค์ตรัสตอบว่า “จงรักองค์พระผู้เป็นเจ้าของท่านด้วยสุดใจของท่าน ด้วยสุดจิตของท่าน และด้วยสุดความคิดของท่าน” (มัทธิว 22:37) พระเยซูทรงแสดงให้เห็นอย่างสมบูรณ์ตลอดพระชนม์ชีพมรรตัยของพระองค์ว่าควรรักพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาอย่างไร พระองค์ทรงทําตาม “พระประสงค์ของพระบิดาในสิ่งทั้งปวงนับจากกาลเริ่มต้น” (3 นีไฟ 11:11) เมื่อท่านใช้เวลาสักครู่เพื่อคิดว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงทําเพื่อท่านมากเพียงใด ท่านจะพบว่าความรักที่ท่านมีต่อพระองค์และความปรารถนาจะเชื่อฟังพระองค์เพิ่มขึ้น (ดู โมไซยาห์ 2:20–24) การนมัสการเป็นวิธีสําคัญที่เราแสดงความสํานึกคุณต่อความรักของพระบิดาและแสดงให้เห็นว่าเราพยายามเข้าใกล้พระองค์
หมวดที่ 1
เรานมัสการพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาในพระนามของพระเยซูคริสต์
พระผู้เป็นเจ้าพระบิดาทรงเป็นพระสัตภาวะสูงสุดของจักรวาล ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงกําหนดแผนเพื่อความรอดและความสูงส่งของบุตรธิดาของพระองค์ พระองค์ทรงส่งพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์มายังแผ่นดินโลกเพื่อพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้เพื่อเราทุกคน เพื่อรับพรจากแผนของพระบิดา เราต้องเชื่อในพระองค์และพยายามทําทุกสิ่งที่พระองค์ทรงบัญชา
โมเสสได้รับบัญชาให้ “นมัสการพระผู้เป็นเจ้า, เพราะพระองค์เท่านั้นที่เจ้าจะรับใช้” (โมเสส 1:15) หลายศตวรรษต่อมา เมื่อมารมาล่อลวงพระเยซูให้นมัสการตน พระเยซูตรัสตอบว่า “จงกราบนมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้า ผู้เป็นพระเจ้าของท่าน และปรนนิบัติพระองค์แต่ผู้เดียว” (ดู มัทธิว 4:8–10) นับจากกาลเริ่มต้น พระผู้เป็นเจ้าพระบิดาทรงบัญชาบุตรธิดาของพระองค์ให้ “ทำทั้งหมดที่ท่านทำในพระนามของพระบุตร” (โมเสส 5:8) ในสมัยของเรา โจเซฟ สมิธได้รับบัญชา “ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เจ้าจงรับใช้ [พระผู้เป็นเจ้า]” (หลักคําสอนและพันธสัญญา 59:5)
การให้พระบิดาบนสวรรค์มีความสําคัญสูงสุดในชีวิตเราช่วยให้เราเข้าใกล้พระองค์ พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาลูกหลานของอิสราเอลว่า “ห้ามมีพระเจ้าอื่นใดนอกเหนือจากเรา” (อพยพ 20:3) การไหว้รูปเคารพที่พูดถึงในพระคัมภีร์เกิดขึ้นในปัจจุบันเมื่อใดก็ตามที่เราให้ความสําคัญกับสิ่งของหรือผู้คนมากกว่าพระผู้เป็นเจ้าและการรักษาพระบัญญัติของพระองค์ (ดู อพยพ 20:4–5; หลักคําสอนและพันธสัญญา 1:15–16) ในทางตรงกันข้าม เมื่อเราแสดงให้พระผู้เป็นเจ้าเห็นว่าเรารักพระองค์สุดหัวใจ ดังที่พระองค์ทรงรักเรา เรารู้สึกใกล้ชิดพระองค์มากขึ้นและเราเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น วิธีสําคัญที่สุดที่เราสามารถนมัสการพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาคือมาหาพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์โดยผ่านศรัทธาและการกลับใจ พยายามเดินบนเส้นทางที่นําไปสู่ชีวิตนิรันดร์ (ดู ยอห์น 17:3) คนที่ให้พระบิดาบนสวรรค์เป็นจุดสนใจแต่เพียงพระองค์เดียวในการนมัสการของพวกเขาสักวันหนึ่งจะเป็นเหมือนพระองค์ได้ (ดู หลักคําสอนและพันธสัญญา 93:19–20)
สิ่งที่ควรคำนึงถึง
-
การเลือกที่จะเชื่อว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงดํารงอยู่และวางใจในพระปรีชาญาณและเดชานุภาพของพระองค์จําเป็นต่อการเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้าด้วยความนอบน้อมถ่อมตนในการนมัสการ อ่าน โมไซยาห์ 4:9–10 ความเชื่อของท่านในพระผู้เป็นเจ้าเคยกระตุ้นเตือนให้ท่านแสวงหาความช่วยเหลือและการให้อภัยจากพระองค์เมื่อใด? เหตุใดการพยายามกลับใจและละทิ้งบาปเป็นประจําจึงเป็นแง่มุมสําคัญของการนมัสการที่แท้จริง?
-
ในช่วงเวลาของพระองค์บนแผ่นดินโลก พระเยซูคริสต์ทรงแสดงให้เราเห็นวิธีนมัสการพระบิดาบนสวรรค์ อ่าน ยอห์น 5:19–20 และพิจารณาว่าข้อความนี้สอนอะไรเกี่ยวกับการนมัสการ มีวิธีใดบ้างที่เราจะเรียนรู้เกี่ยวกับงานของพระบิดาและพระบุตร? การศึกษางานของพระผู้เป็นเจ้าดังที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์จะเตรียมท่านให้พร้อมนมัสการพระองค์อย่างไร?
กิจกรรมสําหรับการเรียนรู้กับผู้อื่น
-
ดูวิดีโอเรื่อง “I Am a Son of God” (6:30) สนทนาว่าทุกคนรู้สึกอย่างไรเมื่อพวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับประสบการณ์ศักดิ์สิทธิ์ของโมเสสกับพระผู้เป็นเจ้า การให้ความสําคัญสูงสุดของเรากับการรักพระผู้เป็นเจ้าจะคุ้มครองเราจากการล่อลวงได้อย่างไร? การพยายามนมัสการพระผู้เป็นเจ้าจะเตรียมเราให้พร้อมเผชิญความยากลําบากได้อย่างไร?
เรียนรู้เพิ่มเติม
-
มัทธิว 6:24; ยอห์น 14:6–9, 23; 2 นีไฟ 9:37; หลักคําสอนและพันธสัญญา 20:17–19, 29
-
ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “ห้ามมีพระผู้เป็นเจ้าอื่น,” เลียโฮนา, พ.ย. 2013, 72-75
-
“อย่ามีพระเจ้าอื่นใดนอกเหนือจากเรา,” คําสอนของประธานศาสนจักร: สเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ (2011), บทที่ 14
หมวดที่ 2
ท่านจะได้รับความเข้มแข็งทางวิญญาณเมื่อท่านร่วมนมัสการพระผู้เป็นเจ้ากับผู้อื่น
สมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายมาชุมนุมกันทุกสัปดาห์ในที่ประชุมในท้องที่เพื่อสวดอ้อนวอน รับส่วนศีลระลึก ร้องเพลงสวด เรียนรู้พระกิตติคุณ และเสริมสร้างมิตรภาพที่มีต่อกัน พระเจ้าทรงบัญชาให้วิสุทธิชน “ไปยังบ้านแห่งการสวดอ้อนวอนและถวายศีลระลึกของเจ้าในวันศักดิ์สิทธิ์ของเรา” (หลักคําสอนและพันธสัญญา 59:9) การประชุมใหญ่สามัญที่จัดปีละสองครั้ง เป็นเหตุการณ์สําคัญที่ผู้นําศาสนจักรให้คําแนะนําที่ได้รับการดลใจสําหรับสมาชิกศาสนจักรทั่วโลก การมีส่วนร่วมในการประชุมศาสนพิธีของศาสนจักรที่จัดตั้งเป็นระเบียบถือเป็นวิธีสําคัญยิ่งในการนมัสการพระผู้เป็นเจ้าพระบิดา
นอกจากการนมัสการในวันสะบาโตแล้ว สมาชิกของศาสนจักรนมัสการในพระวิหารด้วย ในพระนิเวศน์ของพระเจ้า สมาชิกศาสนจักรรับศาสนพิธีฐานะปุโรหิตที่เตรียมพวกเขาให้พร้อมรับชีวิตนิรันดร์ การทําและรักษาพันธสัญญาที่เกี่ยวข้องกับศาสนพิธีเหล่านั้นเตรียมเราให้พร้อมสื่อสารกับพระผู้เป็นเจ้า หมายความว่าเราสามารถรู้สึกถึงพระวิญญาณของพระเจ้าและได้รับสันติสุข ความเข้มแข็ง และแม้แต่การเปิดเผยส่วนตัว
สิ่งที่ควรคำนึงถึง
-
พระคัมภีร์มอรมอนอธิบายว่าสมาชิกศาสนจักรของพระคริสต์มารวมกันเพื่อนมัสการด้วยกันอย่างไร อ่าน โมโรไน 6:5–9 แบบแผนการนมัสการของพวกเขาคล้ายกับแบบที่สมาชิกของศาสนจักรทําในปัจจุบันในทางใดบ้าง? ท่านจะบรรยายถึงพรของการนมัสการในวันสะบาโตให้คนที่ท่านประสงค์จะเชิญมาโบสถ์ว่าอย่างไร?
-
ที่การอุทิศพระวิหารเคิร์ทแลนด์ในปี 1836 ท่านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธสวดอ้อนวอน “เพื่อผู้คนทั้งปวงซึ่งจะเข้าสู่ธรณีประตูพระนิเวศน์ของพระเจ้าจะรู้สึกถึงเดชานุภาพของ [พระผู้เป็นเจ้า]” (หลักคําสอนและพันธสัญญา 109:13) การหาเวลานมัสการในพระวิหารของพระเจ้าเคยช่วยให้ท่านประสบความรู้สึกถึงเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าเมื่อใด?
-
ทบทวนข่าวสาร “พรของการนมัสการ” โดยอธิการดีน เอ็ม. เดวีส, โดยมองหาว่าการนมัสการที่จริงใจจะช่วยให้ท่านเติบโตในฐานะสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร ขณะที่ท่านอ่านคําปราศรัย ท่านมีแนวคิดหรือความประทับใจอะไรบ้างเกี่ยวกับความพยายามในการนมัสการของท่านเอง?
กิจกรรมสําหรับการเรียนรู้กับผู้อื่น
-
พระเยซูคริสต์ทรงสถาปนาศาสนจักรของพระองค์ในสมัยของเราเพื่อเป็นพรแก่ผู้ติดตามพระองค์ ประธานดัลลิน เอช.โอ๊คส์สนทนาถึงความจําเป็นที่ต้องมีศาสนจักรในคําปราศรัยที่ท่านให้ในการประชุมใหญ่สามัญเดือนตุลาคม 2021 ทบทวน “ความจำเป็นที่ต้องมีศาสนจักร” ด้วยกัน โดยมองหาพรบางประการที่มาจากการนมัสการกับผู้เชื่อคนอื่นๆ มีเหตุผลอะไรบ้างที่การมีส่วนร่วมในการประชุมศาสนพิธีนมัสการที่ศาสนจักรจําเป็นต่อการเติบโตและความก้าวหน้าทางวิญญาณของบุคคล?
เรียนรู้เพิ่มเติม
-
1 โครินธ์ 11:25–28; 12:20–27; เอเฟซัส 2:19–22; 4:11–13; หลักคําสอนและพันธสัญญา 25:11–12; 43:8–10; 88:77–78
-
Russell M. Nelson, “Worshiping at Sacrament Meeting,” Liahona, Aug. 2004, 11-14
-
ริชาร์ด จี. สก๊อตต์, “การนมัสการที่พระวิหาร: ที่มาของความเข้มแข็งและพลังในยามจำเป็น,” เลียโฮนา, พ.ค. 2009, 52–55
-
Dallin H. Oaks, “Worship through Music,” Ensign, Nov. 1994, 9–12
-
“Sacrament Worship” (วิดีโอ), ChurchofJesusChrist.org
หมวดที่ 3
การนมัสการพระผู้เป็นเจ้าจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจําวันของท่านได้
แอลมาศาสดาพยากรณ์ในพระคัมภีร์มอรมอนสั่งสอนพระกิตติคุณในบรรดาชนชั้นที่ยากจน ผู้ถูกขับออกจากการประชุมศาสนพิธีนมัสการในที่สาธารณะ “เพราะเสื้อผ้าเนื้อหยาบของตน” (แอลมา 32:2; ดู ข้อ 1–12 ด้วย) เขาอธิบายว่าการนมัสการเป็นยิ่งกว่าการเข้าร่วมการประชุม: “ดูเถิด, ท่านกล่าวว่าท่านนมัสการพระผู้เป็นเจ้าของท่านไม่ได้เพราะท่านถูกขับออกจากบรรดาธรรมศาลาของท่าน … หากท่านคิดว่าท่านนมัสการพระผู้เป็นเจ้าไม่ได้, ท่านก็ผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง” (แอลมา 33:2) นอกจากการนมัสการเป็นประจําระหว่างการประชุมศาสนพิธีของศาสนจักรในวันสะบาโตแล้ว ท่านยังสามารถประสบความรู้สึกนมัสการพระผู้เป็นเจ้าในทุกสิ่งที่ท่านทําด้วย ท่านสามารถบํารุงเลี้ยงเจตคติแห่งการนมัสการเมื่อท่านหันไปหาพระบิดาบนสวรรค์ในการสวดอ้อนวอน (ดู แอลมา 32:3–11; 37:36) และเมื่อท่านแสดงความสํานึกคุณต่อพรของท่าน (ดู แอลมา 34:38) การฟังเพลงที่จรรโลงใจสามารถเตรียมท่านให้พร้อมสื่อสารกับพระผู้เป็นเจ้า (ดู หลักคําสอนและพันธสัญญา 25:12)
สิ่งที่ควรคำนึงถึง
-
หญิงชาวสะมาเรียที่บ่อน้ำคิดว่าการนมัสการจะทําได้เฉพาะในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น อ่าน ยอห์น 4:19–26 พระเยซูทรงสอนอะไรหญิงคนนี้เกี่ยวกับการนมัสการที่แท้จริง? มีวิธีใดบ้างที่ท่านจะบํารุงเลี้ยงความรู้สึกของการนมัสการพระผู้เป็นเจ้าในชีวิตท่านได้?
-
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแบ่งปันว่า “สิ่งที่มีความสำคัญยิ่งต่อข้าพเจ้าคือข้าพเจ้าสามารถเข้าถึงบัลลังก์แห่งพระคุณได้ทุกขณะและทุกสภาวการณ์ด้วยการสวดอ้อนวอน พระบิดาบนสวรรค์จะทรงได้ยินคำวิงวอนของข้าพเจ้า และพระผู้วิงวอนแทนข้าพเจ้า พระองค์ผู้ไม่ทรงทำบาป ผู้ทรงหลั่งพระโลหิต จะทรงวิงวอนแทนข้าพเจ้า” การหันไปหาพระผู้ช่วยให้รอดส่งผลต่อความปรารถนาของท่านในการนมัสการพระบิดาบนสวรรค์อย่างไร?
กิจกรรมสําหรับการเรียนรู้กับผู้อื่น
-
การฟังเพลงที่ดีสามารถช่วยให้เราพัฒนาความปรารถนาที่จะนมัสการพระผู้เป็นเจ้า เนื้อร้องที่จรรโลงใจจะเปลี่ยนความคิดเราไปหาพระบิดาบนสวรรค์และพรที่พระองค์ทรงมีพระเมตตาจัดเตรียมไว้ได้ เขียนรายชื่อเพลงที่ช่วยให้ท่านรู้สึกถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้า สนทนาด้วยกันถึงเหตุผลที่เป็นได้บางประการที่พระผู้เป็นเจ้าทรงถือว่า “เพลงจากคนชอบธรรม” เป็นเหมือนการสวดอ้อนวอน (หลักคําสอนและพันธสัญญา 25:12)
เรียนรู้เพิ่มเติม
-
ดู “องค์ประกอบของการนมัสการ,” คำสอนของประธานศาสนจักร: เดวิด โอ. แมคเคย์ (2011), บทที่ 4