กิจการของอัครทูต 16
“พระเจ้าทรงเรียกเราไปประกาศข่าวประเสริฐ”
ในคำอำลาต่ออัครสาวกของพระองค์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงบัญชาให้พวกเขา “นำชนทุกชาติมาเป็นสาวกของเรา จงบัพติศมาพวกเขาในพระนามของพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์” (มัทธิว 28:19) เปาโลกับเพื่อนๆ ของเขามีความก้าวหน้าที่โดดเด่นในการปฏิบัติตามพระบัญญัตินี้ บทเรียนนี้มีเจตนาจะช่วยให้ท่านตระหนักถึงความช่วยเหลือที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงปรารถนาจะมอบให้ท่านขณะท่านพยายามแบ่งปันพระกิตติคุณของพระองค์กับผู้อื่น
กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้
การแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่น
ท่านอาจจำได้ว่าหลังจากการฟื้นคืนพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอด พระองค์ทรงรวบรวมอัครสาวกของพระองค์และมอบพระบัญญัติต่อไปนี้ให้เขา “จงออกไปและนำชนทุกชาติมาเป็นสาวกของเรา จงบัพติศมาพวกเขาในพระนามของพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์” ( มัทธิว 28:19)
เอ็ลเดอร์ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองแบ่งปันข้อคิดต่อไปนี้เกี่ยวกับพระบัญชาของพระผู้ช่วยให้รอดให้สั่งสอนพระกิตติคุณ .
ข้าพเจ้ามักไตร่ตรองและสวดอ้อนวอนเกี่ยวกับภารกิจอันสำคัญยิ่งของพระผู้ช่วยให้รอดต่อสานุศิษย์ของพระองค์—เรา ลูกของพระองค์—ที่จะ “ออกไปและนำชนทุกชาติมาเป็นสาวกของเรา จงบัพติศมาพวกเขาในพระนามของพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์” [ มัทธิว 28:19 ]
ข้าพเจ้าครุ่นคิดกับคำถาม “เราในฐานะสมาชิกและสานุศิษย์ของพระคริสต์สามารถทำภารกิจอันสำคัญยิ่งให้เกิดสัมฤทธิผลได้อย่างไรในชีวิตประจำวันของเรา”
วันนี้ข้าพเจ้าเชื้อเชิญให้ท่านไตร่ตรองคำถามเดียวกันในความคิดและใจท่าน
(ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “งานเผยแผ่ศาสนา: แบ่งปันสิ่งที่อยู่ในใจท่าน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2019, 15–16)
นอกจากคำถามที่เอ็ลเดอร์อุคท์ดอร์ฟเชื้อเชิญให้ท่านไตร่ตรองแล้ว ให้คิดเกี่ยวกับคำตอบของท่านสำหรับคำถามต่อไปนี้ ท่านอาจบันทึกคำตอบของท่านลงในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน
-
ตามระดับการให้คะแนน 1–5 ท่านมีความปรารถนาจะแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่นมากน้อยเพียงใด? เหตุใดท่านจึงตอบอย่างนี้?
-
ท่านเผชิญกับอุปสรรคใดบ้างในการแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่น?
อัครสาวกเปาโลเป็นผู้สอนศาสนาที่ทรงพลังซึ่งนำจิตวิญญาณหลายดวงมาหาพระเยซูคริสต์ผ่านการสั่งสอนของเขา ในระหว่างสัปดาห์นี้ ท่านจะเรียนรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์บางส่วนที่เกิดขึ้นระหว่างเส้นทางในการเผยแผ่ศาสนาครั้งที่สองและสามของเปาโล (ดู กิจการ 15:36–18:22 และ กิจการ 18:23–21:15)แผนที่ต่อไปนี้แสดงเส้นทางของเปาโลระหว่างการเดินทางเหล่านี้:
ขณะท่านศึกษาประสบการณ์บางส่วนของเปาโลจากงานเผยแผ่ครั้งที่สองของเขาในบทเรียนนี้ ท่านจะเห็นตัวอย่างของความจริงต่อไปนี้ พระเจ้าจะทรงนำเราไปสู่ผู้ที่พระองค์ทรงเตรียมไว้เพื่อรับพระกิตติคุณของพระองค์ ให้ใส่ใจกับการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณที่สามารถช่วยท่านขณะพยายามแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่น
เปาโลและเพื่อนๆ ของเขาสั่งสอนพระกิตติคุณในแคว้นมาซิโดเนีย
อ่าน กิจการ 16:6–15 โดยค้นหาว่าเปาโลและเพื่อนๆ ของเขาประสบกับสิ่งใดในช่วงต้นของเส้นทางในการเผยแผ่ศาสนาครั้งที่สองของเปาโล
-
ท่านจะเรียนรู้อะไรได้บ้างเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์จากเรื่องราวนี้ที่สามารถช่วยท่านค้นหาผู้ที่พระเจ้าทรงเตรียมไว้เพื่อรับพระกิตติคุณของพระองค์?
-
ท่านเคยเห็นพระเจ้าทรงเตรียมผู้อื่นให้พร้อมรับพระกิตติคุณของพระองค์อย่างไร? พระองค์ทรงเตรียมอย่างไรหรือพระองค์จะทรงเตรียมท่านให้พบบุคคลที่แสวงหาพระองค์ได้อย่างไร?
เพื่อดูภาพเกี่ยวกับวิธีที่พระเจ้าทรงเตรียมผู้คนให้รับและแบ่งปันพระกิตติคุณของพระองค์ ดูวีดิทัศน์ “คำสวดอ้อนวอน”
เปาโลและสิลาสถูกจับขังคุกและยังคงสั่งสอนต่อไป
หลังจากเปาโลกับเพื่อนๆ ของเขาสอนและให้บัพติศมาลิเดีย เปาโลขับวิญญาณชั่วร้ายออกจากร่างทาสสาวคนหนึ่ง (ดู กิจการ 6:16–18) เขาและสิลาส คู่ของเขาถูกเฆี่ยนและจำคุก (ดู กิจการ 16:19–24) การถูกโยนเข้าเรือนจำเพราะสั่งสอนพระกิตติคุณอาจดูเหมือนเป็นเหตุสมควรให้ยอมแพ้ แต่สำหรับเปาโลและสิลาส กลับเป็นโอกาสช่วยผู้อื่นให้มาหาพระคริสต์
อ่าน กิจการ 16:25–36 เพื่อค้นหาวิธีที่พระเจ้าทรงเปลี่ยนการจำคุกของเปาโลและสิลาสให้เป็นโอกาสที่พวกเขาจะสั่งสอนพระกิตติคุณ
-
คุณลักษณะเหมือนพระคริสต์อะไรบ้างที่เปาโลกับสิลาสแสดงให้เห็นในเรื่องราวนี้?
-
คุณลักษณะเหล่านี้ทำให้พวกเขาสามารถแบ่งปันพระกิตติคุณอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างไร?
-
ท่านเรียนรู้อะไรจากเรื่องราวนี้ที่สามารถช่วยท่านพยายามหาผู้คนที่พระเจ้าทรงเตรียมไว้รับพระกิตติคุณของพระองค์?
การประยุกต์ใช้สิ่งที่ท่านเรียนรู้
โดยผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์ ให้แสวงหาการดลใจจากพระบิดาบนสวรรค์เพื่อระบุบางอย่างที่ท่านสามารถทำได้ในการแบ่งปันพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์กับผู้อื่น เลือกคำเชื้อเชิญหนึ่งข้อต่อไปนี้ที่ท่านรู้สึกจะเป็นประโยชน์กับท่านมากที่สุด:
-
สวดอ้อนวอนทุกวันให้พระเจ้าทรงนำท่านไปพบคนที่พระองค์ทรงเตรียมไว้เพื่อรับพระกิตติคุณ
-
ท่านอาจจดรายชื่อเพื่อนหรือเพื่อนร่วมชั้นเรียนสองชื่อที่โรงเรียนซึ่งอาจเปิดใจรับฟังพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ จากนั้นขอให้พระบิดาบนสวรรค์ทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าท่านจะเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระองค์ได้อย่างไรในการนำพวกเขามาหาพระผู้ช่วยให้รอด
-
โดยได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจากบิดามารดาและผู้นำของท่าน ให้ทำงานร่วมกับผู้สอนศาสนาคู่หนึ่งเป็นเวลาสองสามชั่วโมง แบ่งปันประสบการณ์ของท่านกับชั้นเรียนในภายหลัง
-
นึกถึงแนวคิดของท่านเองเกี่ยวกับสิ่งที่อาจทำได้เพื่อแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่น
บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง
สื่อสังคมออนไลน์จะช่วยให้ฉันแบ่งปันพระกิตติคุณได้อย่างไร?
. . .
หากมีคนปฏิเสธคำเชื้อเชิญของฉันเพื่อเรียนรู้มากขึ้นในขณะนี้เล่า?
เอ็ลเดอร์ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า
พระผู้เป็นเจ้าไม่จำเป็นต้องให้ท่าน “ขาย” พระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูหรือศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ พระองค์ทรงเพียงคาดหวังว่าท่านจะไม่ซ่อนสิ่งนี้ไว้ใต้ถัง และถ้าผู้คนตัดสินใจว่าศาสนจักรไม่ใช่สำหรับพวกเขา นั่นเป็นการตัดสินใจของพวกเขา ไม่ได้หมายความว่าท่านล้มเหลว ท่านยังคงปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยความอ่อนโยนต่อไป ไม่มีการปิดกั้นให้ท่านเชื้อเชิญพวกเขาอีก ความแตกต่างระหว่างการพบปะแบบฉาบฉวยกับการเป็นสานุศิษย์ที่กล้าหาญและมีเมตตากรุณาคือ—การเชื้อเชิญ!
(ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “การผจญภัยครั้งสำคัญของท่าน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2019, 88)
เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า
ถึงแม้จะมีความปรารถนาจะแบ่งปันพระกิตติคุณอย่างมาก แต่ท่านอาจไม่มีความสุขนักกับความสำเร็จที่มาจากความพยายามในอดีต ท่านอาจรู้สึกเหมือนเพื่อนที่พูดว่า “ผมเคยพูดกับครอบครัวและเพื่อนๆ เกี่ยวกับศาสนจักร แต่ไม่ค่อยมีคนสนใจ ทุกครั้งที่พวกเขาปฏิเสธ ผมจะลังเลมากขึ้น ผมรู้ว่าผมควรทำมากขึ้น แต่ผมจนหนทาง และผมรู้สึกผิดมาก” …
ข้าพเจ้าขอแนะนำให้ท่านหยุดรู้สึกผิดกับความคิดที่ว่าท่านยังแบ่งปันพระกิตติคุณได้ไม่ดีพอ แต่จงสวดอ้อนวอนดังที่แอลมาสอนเพื่อขอให้ได้โอกาส “ยืนเป็น [พยาน] เกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าทุกเวลาและในทุกสิ่ง, และในทุกแห่ง … เพื่อ [คนอื่น] จะได้รับการไถ่จากพระผู้เป็นเจ้า, และนับอยู่กับบรรดาคนของการฟื้นคืนชีวิตครั้งแรก, [และ] มีชีวิตนิรันดร์” [โมไซยาห์ 18:9] นี่เป็นแรงจูงใจได้มากกว่าความรู้สึกผิด
(นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น, “พยานเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 36–37)
ฉันจะหาคนเพื่อสอนได้อย่างไร?
ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ในฝ่ายประธานสูงสุดสอนว่า
เราต้องสวดอ้อนวอนขอความช่วยเหลือและการนำทางจากพระเจ้าเพื่อเราจะเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระองค์สำหรับคนที่พร้อมเวลานี้—คนที่พระองค์ทรงประสงค์ให้เราช่วยวันนี้ และเราต้องไวที่จะฟังและเอาใจใส่การกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณว่าเราจะดำเนินการอย่างไร
การกระตุ้นเตือนเหล่านั้นจะมาถึง เรารู้จากประจักษ์พยานส่วนตัวอันนับไม่ถ้วนว่าในวิธีและในเวลาของพระองค์พระเจ้ากำลังเตรียมผู้ที่จะยอมรับพระกิตติคุณ บุคคลดังกล่าวกำลังแสวงหา และเมื่อเราพยายามหาเขาให้พบ พระเจ้าจะทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของเขาโดยตอบคำสวดอ้อนวอนของเรา พระองค์จะทรงกระตุ้นเตือนและนำทางคนที่ปรารถนาและแสวงหาการนำทางอย่างจริงใจว่าจะแบ่งปันพระกิตติคุณอย่างไร ที่ไหน เมื่อไร และกับใคร
(ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “การแบ่งปันพระกิตติคุณ,” เลียโฮนา, ม.ค. 2002, 9)
กิจกรรมการเรียนรู้เพิ่มเติม
เชิญผู้พูดรับเชิญมาชั้นเรียน
เชิญผู้พูดรับเชิญมาแบ่งปันช่วงครึ่งหลังของชั้นเรียนถึงวิธีที่สมาชิกศาสนจักรสามารถทำงานเผยแผ่ศาสนา อย่าลืมขออนุญาตจากผู้ประสานงานฝ่าย S&I ในท้องที่และผู้นำฐานะปุโรหิตในท้องที่ของผู้พูดก่อนเชิญผู้พูด
ท่านอาจขอให้ผู้พูดคนนี้พูดถึงหลักธรรมเกี่ยวกับงานเผยแผ่ศาสนาที่มีเปาโลและเพื่อนๆ ของเขาเป็นแบบอย่างใน กิจการ 16