ลูกา 22:47–71; ยอห์น 18:1–27
“เราจะไม่ดื่มถ้วยที่พระบิดาประทานแก่เราหรือ?”
พระเยซูคริสต์ทรงมุ่งมั่นอย่างเต็มที่เพื่อทำตามพระประสงค์ของพระบิดาบนสวรรค์ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนเป็นพิเศษในความทุกข์ทรมานของพระองค์ในสวนเกทเสมนี การจับกุมพระองค์หลังจากนั้น และเหตุการณ์ที่นำไปสู่และระหว่างการตรึงกางเขนของพระองค์ บทเรียนนี้จะช่วยให้ท่านทำตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์โดยการเลือกพระประสงค์ของพระบิดาบนสวรรค์ในชีวิตท่าน
กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้
ให้พระประสงค์ของพระบิดาบนสวรรค์อยู่เหนือความประสงค์ของเราเอง
จินตนาการว่าท่านยืนอยู่หน้าประตูสองบาน การเลือกที่จะเข้าประตูแรกท่านจะทำตามพระประสงค์ของพระบิดาบนสวรรค์ แต่ท่านจะต้องเผชิญการทดลองที่ยากลำบาก หากท่านเลือกเดินผ่านประตูที่สอง ท่านจะหนีพ้นจากการทดลองนี้ไป แต่ท่านจะไม่ได้ทำสิ่งที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการสำหรับท่าน
-
เหตุใดบางคนอาจเลือกประตูที่หนึ่ง? ประตูที่สอง?
-
ท่านรู้อะไรเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์ที่อาจช่วยให้ท่านเลือกเข้าประตูแรก?
ใช้เวลาสักครู่เพื่อใคร่ครวญถึงพระชนม์ชีพของพระเยซูคริสต์และการเลือกประตูแรกคล้ายกับวิถีที่พระองค์ทรงเลือกดำเนินพระชนม์ชีพอย่างไร ในบทเรียนวันนี้ ท่านจะมีโอกาสอ่านเกี่ยวกับการเลือกต่างๆ ที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำในช่วงท้ายของพระชนม์ชีพมรรตัย ขณะท่านศึกษา ให้มองหาสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้ท่านเกี่ยวกับการกระทำของพระเยซูคริสต์
พระเยซูคริสต์ทรงถูกทรยศและถูกจับในเกทเสมนี
ในสวนเกทเสมนี พระเยซูคริสต์ทูลขอพระบิดาของพระองค์ “ให้ถ้วยนี้เลื่อนพ้นไปจากข้าพระองค์” แต่พระองค์ทรงแสดงอย่างชัดเจนว่าทรงมุ่งมั่นจะทำตามพระประสงค์ของพระบิดาเมื่อพระองค์ตรัสว่า “แต่อย่างไรก็ดี อย่าให้เป็นไปตามใจข้าพระองค์ แต่ให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์” ( ลูกา 22:42) ถ้วยที่พระเยซูตรัสถึงคือความทุกข์ทรมานและการสิ้นพระชนม์ของพระองค์
อ่าน ยอห์น 18:1–4 และมองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงแสดงความมุ่งมั่นที่จะทำตามพระประสงค์ของพระบิดาบนสวรรค์ต่อไปอย่างไร
ทำรายการสิ่งที่ยากซึ่งพระเยซูทรงรู้ว่าจะ “เกิดขึ้นกับพระองค์” ในช่วงเวลาอันใกล้แต่ทรงยอมรับ ( ข้อ 4)
อ่าน ยอห์น 18:5–11 โดยมองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงตอบอย่างไรแก่ฝูงชนติดอาวุธที่มาจับพระองค์ไป
สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมที่ยอห์นไม่ได้บันทึกไว้ซึ่งแสดงถึงความรักและความมุ่งมั่นอันน่าอัศจรรย์ของพระเยซูคริสต์ ให้อ่าน มัทธิว 26:52–54 และ ลูกา 22:50–51
-
ท่านประทับใจอะไรบ้างที่พระเยซูทรงเผชิญหน้ากับฝูงชนติดอาวุธ?
-
แบบอย่างของพระเยซูคริสต์ช่วยให้ท่านเข้าใจการเผชิญหน้ากับการต่อต้านได้อย่างไร?
-
ทำไมท่านจึงคิดว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสามารถรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้ได้ในวิธีที่พระองค์ทรงทำ? สิ่งนี้สอนอะไรท่านเกี่ยวกับพระองค์?
พระเยซูคริสต์ทรงถูกนำมาสอบสวน
หลังจากพระเยซูถูกจับกุม พระองค์ถูกนำมาอยู่ต่อหน้าคายาฟาส มหาปุโรหิต และผู้นำชาวยิวคนอื่นๆ อ่าน ลูกา 22:63–65 เพื่อค้นหาคำตอบเกี่ยวกับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมซึ่งพระเยซูทรงได้รับจากพวกเขา
-
ทำไมท่านจึงคิดว่าพระผู้ช่วยให้รอดเต็มพระทัยที่จะทนรับการปฏิบัติอันรุนแรงและไม่ยุติธรรมเช่นนี้?
ในพระคัมภีร์มอรมอน นีไฟและอาบินาไดสอนว่าเหตุใดพระผู้ช่วยให้รอดจึงเต็มพระทัยยอมรับการปฏิบัติเช่นนี้ อ่าน 1 นีไฟ 19:8–9 และ โมไซยาห์ 15:5–7 เพื่อค้นหาเหตุผลที่พวกเขาระบุไว้
ในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน ให้เขียนบทเรียนต่างๆ ที่ท่านสามารถเรียนรู้จากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับหรือจากพระเยซูคริสต์
ท่านอาจต้องการเขียนเหตุผลสองสามข้อว่าทำไมการเข้าใจบทเรียนเหล่านี้จึงมีคุณค่าหรือมีความหมายต่อท่านเป็นการส่วนตัว
บทเรียนหนึ่งที่สำคัญเพื่อให้เข้าใจจากข้อเหล่านี้คือ พระเยซูคริสต์ทรงยอมต่อพระประสงค์ของพระบิดาของพระองค์ในทุกสิ่ง
-
ท่านคิดว่าพระเยซูเข้าพระทัยอะไรเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์ที่จะทำให้พระองค์เต็มพระทัยยอมต่อพระประสงค์ของพระองค์?
-
ท่านได้รับพรอะไรบ้างจากการเลือกทำตามพระประสงค์ของพระบิดาบนสวรรค์แม้ในช่วงเวลาที่ยาก?
ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันถามคำถามต่างๆ เกี่ยวกับความเต็มใจของเราที่จะยอมต่อพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ใช้เวลาสักครู่ไตร่ตรองว่าท่านจะตอบคำถามเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมาได้อย่างไร นึกถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นเพื่อให้ท่านสามารถตอบว่าใช่ในแต่ละคำถาม
ท่าน เต็มใจให้พระผู้เป็นเจ้าทรงมีชัยในชีวิตท่านหรือไม่? ท่าน เต็มใจให้พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นอิทธิพลสำคัญที่สุดในชีวิตท่านหรือไม่? ท่านจะยอมให้พระวจนะ พระบัญญัติ และพันธสัญญาของพระองค์มีอิทธิพลต่อสิ่งที่ท่านทำในแต่ละวันหรือไม่? ท่านจะยอมให้สุรเสียงของพระองค์มาก่อนเสียงอื่นหรือไม่? ท่าน เต็มใจ ให้สิ่งใดที่พระองค์ทรงประสงค์ให้ท่านทำสำคัญกว่าความทะเยอทะยานอื่นทั้งหมดหรือไม่? ท่าน เต็มใจ ให้ความประสงค์ของท่านถูกกลืนเข้าไปในพระประสงค์ของพระองค์หรือไม่?
(รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ให้พระผู้เป็นเจ้าทรงมีชัย,” เลียโฮนา, พ.ย. 2020, 94)
จากสิ่งที่ท่านเรียนรู้เกี่ยวกับการที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงยอมต่อพระประสงค์ของพระบิดาของพระองค์ ให้เขียนประโยคสองสามประโยคเกี่ยวกับสิ่งที่ท่านต้องการจดจำ ต้องการทำ หรือต้องการเป็น พิจารณาประโยคที่ต้องเติมให้สมบูรณ์ต่อไปนี้เพื่อช่วยให้ท่านบันทึกความคิดและความปรารถนาของท่าน
-
ฉันต้องการจดจำว่าพระผู้ช่วยให้รอด …
-
เหมือนพระเยซูคริสต์ ฉันสามารถทำตามพระประสงค์ของพระบิดาบนสวรรค์โดย …
-
คุณลักษณะหนึ่งอย่างที่ฉันจะพยายามพัฒนาเพื่อเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์มากขึ้นคือ …
บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง
เราจะเรียนรู้อะไรได้บ้างเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดจากความเต็มพระทัยของพระองค์ที่ทรงยอมต่อพระบิดาบนสวรรค์?
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่าความอ่อนโยนของพระผู้ช่วยให้รอดคือคุณลักษณะสำคัญที่ทำให้พระองค์ทรงให้พระประสงค์ของพระองค์ยอมต่อพระประสงค์ของพระบิดาบนสวรรค์
ความเสมอต้นเสมอปลายของความว่าง่ายและการยับยั้งชั่งใจตนได้ดีของพระเจ้าสร้างแรงบันดาลใจทั้งยังสอนเราทุกคน เมื่อยามเฝ้าพระวิหารกลุ่มหนึ่งที่มีอาวุธครบมือและทหารโรมันมาถึงเกทเสมนีเพื่อจับกุมพระเยซู เปโตรชักดาบออกมาฟันทาสของมหาปุโรหิตถูกหูขวาขาด [ดู ยอห์น 18:10 ] พระผู้ช่วยให้รอดทรงแตะหูทาสคนนั้นและรักษาเขา [ดู ลูกา 22:51 ] ขอให้สังเกตว่าพระองค์ทรงเอื้อมพระหัตถ์ออกไปให้พรคนที่จะจับพระองค์โดยใช้อำนาจสวรรค์อย่างเดียวกันกับที่สามารถใช้ป้องกันไม่ให้พระองค์ถูกจับและถูกตรึงกางเขน
… ความอ่อนโยนของพระผู้ช่วยให้รอดประจักษ์ชัดในการตอบรับอย่างดีของพระองค์ การยับยั้งชั่งใจได้ดี และการไม่ยอมใช้อำนาจของพระองค์เพื่อประโยชน์ส่วนตน
(เดวิด เอ. เบดนาร์, “อ่อนโยนและใจนอบน้อม,” เลียโฮนา, พ.ค. 2018, 33)
เพราะเหตุใดฉันจึงต้องการให้ความประสงค์ของฉันยอมต่อพระผู้เป็นเจ้า?
เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์ (1926–2004) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า
พวกเราหลายคน … เข้าใจผิดคิดว่าเราสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองเมื่อเราให้ความประสงค์ของเราถูกกลืนเข้าไปในพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า (ดู โมไซยาห์ 15:7) แน่นอนว่าสิ่งที่เรากังวลจริงๆ ไม่ใช่การสละตัวเราแต่คือการสละสิ่งที่เราทำเพื่อตัว—เช่น บทบาทของเรา เวลาของเรา ความมีอำนาจของเรา และทรัพย์สมบัติของเรา ไม่แปลกที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงแนะนำเราให้สละตัวเรา (ดู ลูกา 9:24) พระองค์เพียงขอให้เราทิ้งตัวตนเก่าเพื่อพบตัวตนใหม่ นี่ไม่ใช่เรื่องการสูญเสียอัตลักษณ์ของคนคนหนึ่งแต่เป็นเรื่องของการพบอัตลักษณ์ที่แท้จริงของตน! …
… การยอมตามความประสงค์ของคนคนหนึ่งนั้นจริงๆ แล้วเป็นเรื่องเฉพาะตัวที่เราต้องวางไว้บนแท่นบูชาของพระผู้เป็นเจ้า พี่น้องทั้งหลาย สิ่งอื่นอีกมากมายที่เรา “ถวาย” แท้ที่จริงเป็นสิ่งที่พระองค์ประทานแก่เราแล้วหรือให้เรายืม อย่างไรก็ดี สุดท้ายแล้วเมื่อใดที่ท่านและข้าพเจ้ายอมตน โดยให้ความประสงค์ของเราแต่ละคนถูกกลืนเข้าไปในพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า เมื่อนั้นเรากำลังถวายบางสิ่งแด่พระองค์! ถวายสิ่งที่เราครอบครองซึ่งเป็นของเราจริงๆ!
(นีล เอ. แม็กซ์เวลล์, “Swallowed Up in the Will of the Father,” Liahona, Jan. 1996)