มัทธิว 14:22–33
“อย่ากลัวเลย”
พระเยซูคริสต์ทรงดำเนินบนน้ำและทรงเชิญให้เปโตรทำเช่นเดียวกัน เมื่อเปโตรเห็นพายุและคลื่นเขาเริ่มจมน้ำและร้องให้พระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยเขา บทเรียนนี้สามารถช่วยให้ท่านทำตามแบบอย่างของเปโตรในการหันไปหาพระผู้ช่วยให้รอดระหว่างสถานการณ์ที่น่าหวาดกลัวหรือน่าหนักใจ
กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้
พระเยซูจะทรงสงบสติเราได้ระหว่างที่มีพายุแห่งชีวิต
ภาพนี้บรรยายถึงช่วงเวลาที่น่าสะพรึงกลัวในชีวิตของอัครสาวกเปโตร มัทธิว 14:30 กล่าวว่า “[เปโตร] … ก็กลัวและเมื่อกำลังจะจมก็ร้องว่า องค์พระผู้เป็นเจ้า ช่วยข้าพระองค์ด้วย”
-
สถานการณ์สมัยปัจจุบันอะไรบ้างที่จะเป็นเหตุให้เยาวชนในวันนี้รู้สึกเหมือนเปโตรได้?
-
มีสิ่งใดในชีวิตท่านหรือไม่ที่ทำให้ท่านรู้สึกกลัวหรือรู้สึกว่ากำลังจมดิ่ง?
ไตร่ตรองสักครู่ว่าโดยปรกติท่านหันไปหาใครหรือที่ใดเพื่อขอความช่วยเหลือและสันติสุขเมื่อท่านรู้สึกเช่นนี้หลังจากเลี้ยงอาหารคนกว่าห้าพันคนอย่างน่าอัศจรรย์ พระเยซูคริสต์ทรงขอให้บรรดาสานุศิษย์ของพระองค์ “ลงเรือและข้ามฟาก” ทะเลกาลิลี “ไปก่อน” ( มัทธิว 14:22)
อ่าน มัทธิว 14:23–33 มองหาความจริงเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดที่สามารถช่วยให้ท่านหันไปหาพระองค์เมื่อท่านรู้สึกกลัวหรือรู้สึกว่ากำลังจมน้ำ ให้ใส่ใจกับความคิดและความรู้สึกที่มาจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระองค์จะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าความจริงเหล่านี้ประยุกต์ใช้กับสิ่งที่ท่านกำลังประสบอยู่ในชีวิตท่านได้อย่างไร เขียนความจริงที่ท่านระบุลงในสมุดบันทึกการศึกษาของท่านหรือในพระคัมภีร์ของท่าน (หมายเหตุ: “เวลาใกล้รุ่งเช้า” เป็นเวลาระหว่าง 3:00 น. และ 6:00 น.)
-
ท่านเรียนรู้ความจริงอะไรบ้างจากเรื่องราวนี้?
-
เปโตรมุ่งความสนใจไปที่อะไรเมื่อเขาอยู่บนน้ำ? อะไรทำให้เขาต้องจมน้ำ?
-
ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ซึ่งอาจช่วยให้ท่านหันไปหาพระองค์เมื่อรู้สึกกลัวหรือหนักใจ?
มุ่งเน้นที่พระผู้ช่วยให้รอด
ตัวอย่างของเปโตรสอนเราถึงสิ่งที่เราควรมุ่งเน้น นึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับเปโตรเมื่อเขามุ่งเน้นไปที่พระเยซูคริสต์และสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเขาเปลี่ยนความสนใจไปที่พายุรอบตัว (ดู ข้อ 28–31) เขียนบางอย่างในชีวิตหรืออนาคตของท่านที่อาจทำให้ท่านรู้สึกหนักใจลงบนกระดาษ วางกระดาษนี้ที่ด้านซ้ายของท่าน ทีนี้ให้วางภาพพระเยซูคริสต์หรือสิ่งอื่นที่ทำให้ท่านนึกถึงพระองค์ที่ด้านขวาของท่าน สลับไปมาระหว่างการมุ่งเน้นความคิดและสายตาของท่านไปที่สถานการณ์ที่หนักใจแล้วไปที่ภาพของพระเยซูคริสต์
-
การมุ่งเน้นไปที่ศรัทธาในพระเยซูคริสต์และพลังอำนาจตลอดจนความรักของพระองค์ที่มีต่อท่านระหว่างสถานการณ์ที่ยากลำบากช่วยท่านได้อย่างไร?
-
มีวิธีใดบ้างที่จะมุ่งเน้นที่พระผู้ช่วยให้รอดระหว่างมีความท้าทาย?
บันทึกความประทับใจที่ท่านได้รับเพื่อสรุปบทเรียนนี้ ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และเหตุใดเราควรหันไปหาพระองค์เมื่อเรากำลังจมน้ำ? ท่านจะทำอะไรเพื่อเอื้อมออกไปหาพระองค์?
บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง
ชีวิตของเราเปลี่ยนไปอย่างไรเมื่อเรามุ่งเน้นที่พระเยซูคริสต์?
ประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์ (1907-1995) สอนว่า
ข้าพเจ้ามีความเชื่อมั่นว่าถ้าเราแต่ละคน ครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติจะจับตาแน่วแน่ที่พระเยซูเช่นเดียวกับเปโตร เราจะเดินอย่างมีชัยข้าม “คลื่นที่โหมซัดสาดของความไม่เชื่อ” และยังอยู่ “ท่ามกลางลมกรรโชกของความสงสัยโดยไม่หวาดกลัว” แต่ถ้าเราละสายตาจากพระองค์ผู้ที่เราต้องเชื่อ เราทำเช่นนั้นง่ายมากและโลกถูกล่อลวงมากให้ทำเช่นนั้น ถ้าเราดูที่พลังและความรุนแรงของสภาพอากาศที่น่ากลัวและเป็นอันตรายรอบตัวเราแทนที่จะดูพระองค์ผู้ทรงสามารถช่วยเหลือและช่วยเราให้รอดได้ เมื่อนั้นเราจะจมลงในทะเลแห่งความขัดแย้ง โทมนัส และความผิดหวังอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
(ฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์, “,” , คำสอนของประธานศาสนจักร:ฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์, 58)
มัทธิว 14:27 เราจะ “ทำใจดีดี” ได้อย่างไรเมื่อเราเผชิญกับความยากลำบาก?
เอ็ลเดอร์โรนัลด์ เอ. ราสแบนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่า
เราจะ “ทำใจดีดี” ไม่ได้ [ หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:6 ] ถ้าจมปลักอยู่ในความกลัว ทั้งสอง—ทำใจดีดีและความกลัว—อยู่ร่วมกันไม่ได้ …
ทำใจดีดีคือวางใจ [พระเยซูคริสต์] เมื่อสิ่งต่างๆ ไม่เป็นไปตามที่เราวางแผนไว้ หมายถึงมุ่งมั่นต่อไปเมื่อสถานการณ์ในชีวิตยากและพลิกผันอย่างคาดไม่ถึง เมื่อความโศกสลดและความลำบากทำลายความฝันของเรา แต่พระเจ้าทรงเตือนเราว่า “ในโลกนี้ปีติของเจ้าไม่บริบูรณ์, แต่ในเราปีติของเจ้าบริบูรณ์” [ หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:36 ]
(โรนัลด์ เอ. ราสแบนด์, “พระเยซูคริสต์ทรงเป็นคำตอบ” [ยามค่ำกับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่, 8 ก.พ. 2019], 1–2)
ความกลัวจะเป็นเหตุให้เราสูญเสียพรที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงมอบให้ได้อย่างไร?
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองแบ่งปันข้อความต่อไปนี้
เรื่องราวจากพระคัมภีร์นี้ย้ำเตือนเราว่าก้าวแรกในการมาหาพระคริสต์—หรือการที่พระองค์เสด็จมาหาเรา—อาจทำให้เราเต็มไปด้วยสิ่งที่คล้ายความหวาดกลัวอย่างแท้จริง ไม่ควรเป็นเช่นนั้น แต่บางครั้งเป็น ความย้อนแย้งที่สำคัญมากอย่างหนึ่งของพระกิตติคุณคือในวิสัยทัศน์อันสั้นในความเป็นมนุษย์ของเรา เรามักจะหนีจากแหล่งความช่วยเหลือและความปลอดภัยเดียวกันที่มอบให้เรา ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ข้าพเจ้าเคยเห็นผู้สนใจหนีการบัพติศมา เคยเห็นเอ็ลเดอร์หนีการเรียกเป็นผู้สอนศาสนา เคยเห็นคู่รักหนีการแต่งงาน และข้าพเจ้าเคยเห็นคู่สามีภรรยาหนุ่มสาวหนีจากความกลัวครอบครัวและอนาคต บ่อยเหลือเกินที่เราหนีสิ่งที่จะประทานพรเราและช่วยให้เรารอดและปลอบประโลมเรา บ่อยเหลือเกินที่เราเห็นคำมั่นสัญญาในพระกิตติคุณและพระบัญญัติเป็นอะไรที่น่ากลัวแล้วผละไป
(เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “Come unto Me” [การให้ข้อคิดทางวิญญาณที่มหาวิทยาลัยบริคัมยังก์, 2 มี.ค., 1997], 8, speeches.byu.edu)