เซมินารี
มัทธิว 6:1–18


มัทธิว 6:1–18

พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์ให้ทำงานที่ชอบธรรม

ภาพ
พระเยซูคริสต์ทรงสั่งสอนผู้คนมากมาย พระคริสต์ประทับบนโขดหิน ทรงฉลองพระองค์สีแดงและสีน้ำเงิน ทรงยกพระกรข้างหนึ่ง บางคนทำมือประสานกันด้วยความเลื่อมใสศรัทธา

พระเยซูทรงเทศนาบนภูเขาต่อไปโดยทรงสอนว่าเราควรทำงานดีเพื่อให้พระบิดาบนสวรรค์ของเราพอพระทัย ไม่ใช่เพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้อื่น ในบทเรียนนี้ท่านจะมีโอกาสประเมินแรงจูงใจในการทำงานดีของท่านและตัดสินใจว่าท่านจะปรับปรุงอย่างไร

การรู้และเข้าใจหลักคำสอนของพระคริสต์ช่วยให้นักเรียน “รู้และเข้าใจ” หลักคำสอนของพระคริสต์ การรู้และเข้าใจ “คือความรู้ในจิตและในใจ” เมื่อพระวิญญาณทรงเป็นพยานถึงความจริงของหลักธรรมหนึ่งของพระกิตติคุณ นักเรียนมีแนวโน้มที่จะ “รู้สึกถึงความจริงของหลักธรรมนั้นและเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นปรารถนาลึกซึ้งขึ้น แล้วจึงเข้าใจการทำงานของหลักธรรมนั้นในชีวิตพวกเขาถ่องแท้มากขึ้น” (คิม บี. คลาร์ก, “Deep Learning and Joy in the Lord” [คำปราศรัยที่ให้ไว้ในการถ่ายทอดการอบรมประจำปีของเซมินารีและสถาบันศาสนา, 13 มิถุนายน 2017])

การเตรียมของนักเรียน: เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงแรงจูงใจในการกระทำของพวกเขาในช่วง 24 ชั่วโมงก่อนเข้าชั้นเรียน

กิจกรรมการเรียนรู้ที่ทำได้

หมายเหตุ: คำสวดอ้อนวอนของพระเจ้าและข้อความที่เกี่ยวข้อง ( มัทธิว 6:9–15) จะสอนในบทเรียนที่เน้น ลูกา 11

แรงจูงใจของเรา

ลองพิจารณาข้อความต่อไปนี้: กัสตาโวซ่อมรั้วของเพื่อนบ้าน

ท่านอาจวาดภาพลายเส้นรูปคนถือค้อนไว้บนกระดาน เขียนข้อความนั้นไว้ใกล้รูปคน

ภาพ
รูปคนถือค้อน
  • ท่านคิดอย่างไรกับกัสตาโว?

เขียนคำว่า เพราะ … ต่อท้ายข้อความ ขอให้นักเรียนเติมข้อความนี้ให้ครบถ้วนโดยเพิ่มเหตุผมว่าทำไมกัสตาโวซ่อมรั้ว คำตอบอาจได้แก่ “เขาใจดี” “เขาเข้าร่วมโครงการบำเพ็ญประโยชน์ที่แม่เขาให้เข้าร่วม” “เขาอยากทำให้ลูกสาวของเพื่อนบ้านประทับใจ” “เขาไม่อยากให้สุนัขของเพื่อนบ้านเข้ามาในสนามของเขา” และ “เขาพังรั้วเพราะโมโห พ่อก็เลยให้เขาซ่อมรั้ว”

  • เหตุใดแรงจูงใจของเราจึงสำคัญ?

เราอ่านใน มัทธิว 6 ว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงเทศนาบนภูเขาต่อไปและทรงสอนเรื่องแรงจูงใจในการทำงานดี เพื่อช่วยท่านคิดเหตุผลที่ท่านทำงานดี เช่น ปฏิบัติศาสนกิจ รับใช้ผู้อื่น สวดอ้อนวอน และเรียนเซมินารี ให้ทำกิจกรรมต่อไปนี้

สร้างแผนภูมิที่มีสามคอลัมน์ในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน เขียนข้อมูลไว้บนสุดของแผนภูมิดังนี้:

ติดแผนภูมิต่อไปนี้บนกระดาน ให้นักเรียนเขียนคำตอบของคำถามที่อยู่บนสุดของแผนภูมิลงในแผนภูมิของพวกเขา

พวกเขาได้ทำงานดีสามอย่างอะไรบ้างในสัปดาห์ที่ผ่านมา? (เขียนบรรทัดละหนึ่งอย่าง)

ท่านมีเหตุผลอะไรในการทำสิ่งเหล่านั้น?

ท่านรู้สึกอย่างไรหลังจากทำงานดีเหล่านี้แล้ว?

ภาพ
เอกสารแรงจูงใจส่วนตัว

อ่าน มัทธิว 6:1–6, 16–18 โดยดูว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนอะไรเกี่ยวกับแรงจูงใจในการทำความชอบธรรมของเรา คำว่า ทำทาน หมายถึง “การกระทำอันบ่งบอกถึงความเลื่อมใสทางศาสนา” เช่น การให้แก่คนยากจน คำว่า หน้าซื่อใจคด หมายถึง “คนเสแสร้งแกล้งทำ”

  • ท่านจะสรุปสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนอย่างไร?

ให้นักเรียนสรุปสิ่งที่พวกเขาอ่านและถามคำถามที่พวกเขาอาจมี ขณะนักเรียนสรุป พวกเขาอาจกล่าวถึงหลักธรรมทำนองนี้: ถ้าเราทำความชอบธรรมเพื่อให้พระบิดาบนสวรรค์พอพระทัย พระองค์จะประทานรางวัลแก่เราอย่างเปิดเผย ถ้าเราทำความชอบธรรมเพื่อให้คนอื่นเห็น เราจะไม่ได้รับพรจากสวรรค์สำหรับความพยายามของเรา เชิญนักเรียนที่เต็มใจออกมาเขียนหลักธรรมที่พวกเขาค้นพบบนกระดาน

สำคัญที่ต้องเข้าใจว่าการสวดอ้อนวอนในที่สาธารณะไม่ผิดเพียงเพราะไม่ได้ทำ “ในที่ลี้ลับ” ( มัทธิว 6:6) การสวดอ้อนวอนและการปฏิบัติศาสนาอื่นๆ สามารถทำในที่สาธารณะได้ หากทำด้วยความจริงใจ ความเลื่อมใสศรัทธา และความปรารถนาจะสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า เป็นเช่นนั้นด้วยในการอดอาหาร วลี “หน้าเศร้าหมอง” และ “พวกเขาทำหน้าให้มอมแมม” ใน มัทธิว 6:16 หมายถึงคนในสมัยพระเยซูที่แสดงออกภายนอกว่าพวกเขาอดอาหารเพื่อดึงความสนใจมาที่ตนเอง

  • ท่านคิดว่าเหตุใดพระเจ้าสนพระทัยแรงจูงใจของเรามากแม้เมื่อเราทำสิ่งชอบธรรม?

ย้อนกลับไปดูแผนภูมิของท่านและเปรียบเทียบเหตุผลที่ท่านทำงานดีกับสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนดังบันทึกไว้ใน มัทธิว 6

  • ท่านคิดว่าเหตุใดท่านควร “พยายามรับใช้ด้วยเหตุผลที่สูงส่งที่สุดและดีที่สุด”? (ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “Why Do We Serve?Ensign, พ.ย. 1984, 13)

  • หากมีคนไม่อยากทำด้วยเหตุผลที่ถูกต้อง ท่านจะแนะนำให้พวกเขาทำอย่างไร?

ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟสอนเมื่อครั้งอยู่ในฝ่ายประธานสูงสุดเกี่ยวกับแรงจูงใจของพระผู้ช่วยให้รอดในการทรงงานของพระองค์ ดูวีดิทัศน์ “On Being Genuine” ตั้งแต่รหัสเวลา 15:34 ถึง 16:29 หรืออ่านข้อความต่อไปนี้

ภาพ
ภาพครึ่งตัวอย่างเป็นทางการของเอ็ลเดอร์ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง, 2006 ได้รับเรียกเป็นที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานสูงสุดเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2008 ภาพครึ่งตัวอย่างเป็นทางการที่ถ่ายในปี 2008 ใช้แทนภาพที่ถ่ายในปี 2004

คนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด สามารถมากที่สุด และประสบความสำเร็จสูงสุดผู้เคยดำเนินบนโลกนี้เป็นคนอ่อนน้อมที่สุดเช่นกัน พระองค์ทรงปฏิบัติการรับใช้อันน่าประทับใจที่สุดในช่วงเวลาที่มีไม่กี่คนสังเกตเห็น พระองค์ผู้ทรงขอว่า “ไม่ให้บอกใคร” ว่าทรงทำอะไร [ดู ลูกา 8:56 ] เมื่อมีคนเรียกพระองค์ว่า “ผู้ประเสริฐ” พระองค์ทรงหันเหความสนใจทันทีโดยทรงยืนกรานว่าพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวเท่านั้นที่ประเสริฐอย่างแท้จริง [ดู มาระโก 10:17–18 ] เห็นได้ชัดว่าคำสรรเสริญของโลกไม่มีความหมายอะไรต่อพระองค์ จุดประสงค์เดียวของพระองค์คือรับใช้พระบิดาและ “ทำตามชอบพระทัยพระองค์เสมอ” [ ยอห์น 8:29 ] เราจงทำตามแบบอย่างของพระอาจารย์

(ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “การเป็นคนจริงใจ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 83)

นึกถึงตัวอย่างที่แสดงให้เห็นแรงจูงใจของพระผู้ช่วยให้รอดในการทรงงานของพระองค์

  • ท่านประทับใจอะไรเกี่ยวกับตัวอย่างเหล่านี้?

  • ตัวอย่างเหล่านี้เพิ่มความเข้าใจของท่านอย่างไรในเรื่องความรักของพระผู้ช่วยให้รอดและสาเหตุที่ทรงชดใช้บาปของเรา?

ติดคำถามต่อไปนี้และให้นักเรียนตอบลงในสมุดบันทึกการศึกษา

  • ท่านรู้สึกอย่างไรกับแรงจูงใจในการทำงานดีของท่าน?

  • แรงจูงใจในการทำงานดีของท่านมีผลด้านใดต่อความสัมพันธ์ของท่านกับพระบิดาบนสวรรค์?

  • หนึ่งอย่างที่ท่านทำได้เพื่อทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดในการทำงานดีคืออะไร?

เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันบางสิ่งที่พวกเขาเขียนหรือรู้สึก บอกนักเรียนว่าพวกเขาจะมีโอกาสประเมินในบทเรียนครั้งต่อไปว่าแรงจูงใจในการทำงานดีของพวกเขาเปลี่ยนไปอย่างไรตั้งแต่ศึกษาบทเรียนนี้ ท่านอาจแสดงประจักษ์พยานถึงหลักธรรมที่สอนในบทนี้

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

อะไรคือเหตุผลที่ถูกต้องสำหรับเราในการรับใช้?

ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดสอนเกี่ยวกับเหตุผลที่ถูกต้องในการรับใช้:

ภาพ
ภาพครึ่งตัวอย่างเป็นทางการของประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ ถ่ายเมื่อเดือนมีนาคม 2018

ศาสดาพยากรณ์โมโรไนสอนว่าถ้าจะให้งานของเราดี เราต้องทำงานเหล่านั้นด้วยเหตุผลที่ถูกต้อง ถ้าชายคนหนึ่ง “ถวายของขวัญหรือสวดอ้อนวอนพระผู้เป็นเจ้า สิ่งดังกล่าวจะไม่เป็นประโยชน์กับเขาเลย เว้นแต่เขาจะทำด้วยเจตนาอันแท้จริง

“เพราะดูเถิด, จะไม่นับว่าเป็นความชอบธรรมสำหรับเขา” ( โมโรไน 7:6–7 ) …

… การรับใช้ของเราควรเป็นเพราะเรารักพระผู้เป็นเจ้าและรักเพื่อนมนุษย์ไม่ใช่เพราะผลประโยชน์ส่วนตัวหรือแรงจูงใจอื่นที่น้อยกว่า

(ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “Why Do We Serve?Ensign, พ.ย. 1984, 12, 14)

ประจักษ์พยานถึงพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์จะสร้างแรงจูงใจให้เราทำงานดีได้อย่างไร?

เอ็ลเดอร์ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนเกี่ยวกับ “แรงจูงใจอันทรงพลังที่สุดในชีวิตเรา”:

ภาพ
ภาพครึ่งตัวอย่างเป็นทางการของเอ็ลเดอร์ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง, 2006 ได้รับเรียกเป็นที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานสูงสุดเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2008 ภาพครึ่งตัวอย่างเป็นทางการที่ถ่ายในปี 2008 ใช้แทนภาพที่ถ่ายในปี 2004

ท้ายที่สุดแล้วแรงจูงใจและความคิดของเราจะส่งผลต่อการกระทำของเรา ประจักษ์พยานถึงความจริงของพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์เป็นแรงจูงใจอันทรงพลังที่สุดในชีวิตเรา พระเยซูทรงเน้นย้ำถึงพลังของความคิดที่ดีและแรงจูงใจที่ถูกต้อง: “จงดูที่เราในความนึกคิดทุกอย่าง; อย่าสงสัย อย่ากลัว” ( ค&พ. 6:36)

… ประจักษ์พยานของเราจูงใจเราให้ดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม และการดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมจะทำให้ประจักษ์พยานของเราเข้มแข็งมากขึ้น …

… ประจักษ์พยานจูงใจเราให้เลือกสิ่งถูกตลอดเวลาในทุกสภาวการณ์ จูงใจเราให้เข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นโดยยอมให้พระองค์เข้าใกล้เรามากขึ้น (ดู ยากอบ 4:8)

(ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “The Power of a Personal Testimony,” Ensign , พ.ย. 2006, 37, 39)

กิจกรรมเสริมการเรียนรู้

การเริ่มต้นบทเรียนสำรอง

ก่อนนักเรียนจะเข้าห้องเรียน ท่านอาจเขียนคำถามนี้บนกระดาน “คนเรารับใช้ผู้อื่นด้วยเหตุผลอะไรบ้าง?” เชิญนักเรียนเขียนคำตอบบนกระดาน จากนั้นให้พวกเขาเรียงเหตุผลในการรับใช้ผู้อื่นตั้งแต่ดีที่สุดไปจนถึงแย่ที่สุด ท่านอาจถามคำถามเหล่านี้: “เมื่อเร็วๆ นี้คุณทำสิ่งดีอะไรบ้าง? อะไรเป็นแรงจูงใจให้ทำอย่างนั้น?”

การเพิ่มรายการคุณลักษณะอันสูงส่ง

ในบทเรียนก่อนหน้านี้ นักเรียนอาจเริ่มข้อมูลบันทึกที่เริ่มต้นด้วย “ มัทธิว 5–7 : ฉันสามารถเป็นเหมือนพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์มากขึ้นโดย …” ท่านอาจเชื้อเชิญให้พวกเขาเพิ่มข้อคิดที่ได้จากบทเรียนวันนี้ลงในข้อมูลบันทึกดังกล่าว

พิมพ์