“รักคนที่ท่านสอน,” การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด: สำหรับทุกคนที่สอนในบ้านและในศาสนจักร (2022)
“รักคนที่ท่านสอน,” การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด
รักคนที่ท่านสอน
ทุกสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำตลอดการปฏิบัติศาสนกิจบนแผ่นดินโลกของพระองค์ได้แรงจูงใจจากความรัก ขณะเรามุ่งมั่นที่จะเป็นผู้ติดตามที่แท้จริงของพระคริสต์ เราสามารถเปี่ยมไปด้วยรักแบบเดียวกันนี้ (ดู ยอห์น 13:34–35; โมโรไน 7:47-48; 8:26) เมื่อความรักของพระผู้ช่วยให้รอดอยู่ในใจเรา เราจะแสวงหาทุกหนทางที่ทำได้เพื่อช่วยให้ผู้อื่นเรียนรู้เรื่องพระคริสต์และมาหาพระองค์ ความรักจะเป็นแรงจูงใจสำหรับการสอนของเรา
พระผู้ช่วยให้รอดทรงเห็นศักยภาพแห่งสวรรค์ในทุกคนที่พระองค์ทรงสอน
ผู้คนส่วนใหญ่ในเยรีโคคิดว่าพวกเขารู้ทุกสิ่งที่จำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับศักเคียส เขาเป็นคนเก็บภาษี—แท้จริงแล้วเป็นนายด่านภาษี— และเป็นคนมั่งมี ที่แน่ๆ พวกเขาคิด เขาต้องเป็นคนไม่ซื่อสัตย์และฉ้อราษฎร์บังหลวง แต่พระเยซูทอดพระเนตรจิตใจของศักเคียสและทรงเห็นเขาเป็น “ลูกของอับราฮัม” ผู้ทรงเกียรติ (ดู ลูกา 19:1–10) พระผู้ช่วยให้รอดทรงเห็นผู้คนไม่เพียงอย่างที่ปรากฏให้เห็นเท่านั้นแต่ทรงเห็นอย่างที่เขาเป็นจริง—และดังที่เขาอาจเป็นได้ ในชาวประมงที่ยังไม่ได้ขัดเกลาให้เงางามอย่างซีโมน อันดรูว์ ยากอบ และยอห์น พระองค์ทรงเห็นผู้นำในอนาคตของศาสนจักรของพระองค์ ในเซาโลผู้ข่มเหงที่หวั่นกลัว พระองค์ทรงเห็น “ภาชนะที่เราเลือกสรรไว้” ผู้ที่จะสั่งสอนพระกิตติคุณของพระองค์ต่อหน้าบรรดากษัตริย์และบรรดาประชาชาติ (ดู กิจการ 9:10–15) และในตัวท่านรวมทั้งแต่ละคนที่ท่านสอน พระผู้ช่วยให้รอดทรงเห็นว่าเป็นบุตรหรือธิดาของพระผู้เป็นเจ้าที่มีศักยภาพไร้ขีดจำกัด
ท่ามกลางผู้คนที่ท่านสอน ดูเหมือนว่าท่านจะมีทั้งคนที่ดูซื่อสัตย์และเปลี่ยนใจเลื่อมใสแล้วและคนที่ดูเหมือนจะไม่สนใจหรืออาจถึงกับต่อต้าน จงระวังอย่าด่วนสรุปไปเองโดยเพียงแต่ยึดเอาสิ่งที่ท่านเห็นมาเป็นเกณฑ์ พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงช่วยให้ท่านเห็นบางสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงเห็นในแต่ละบุคคลได้—และช่วยให้ท่านเริ่มรักพวกเขาในวิธีที่พระองค์ทรงรัก
คำถามที่ต้องไตร่ตรอง นึกถึงแต่ละคนที่ท่านสอน แล้วไตร่ตรองว่าพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูทรงรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับแต่ละคน ทั้งสองพระองค์อาจทรงเห็นสิ่งใดในตัวเขา? ความคิดเหล่านี้จะมีผลต่อวิธีที่ท่านสอนบุคคลนั้นอย่างไร?
จากพระคัมภีร์: 1 ซามูเอล 16:7; สดุดี 8:4–5; โรม 8:16–17; หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:10–14
พระผู้ช่วยให้รอดทรงรู้จักเราและเข้าใจสภาวการณ์ ความต้องการ และความเข้มแข็งของเรา
หญิงชาวสะมาเรียไม่ได้มาที่บ่อน้ำเพื่อฟังข่าวสารพระกิตติคุณ เธอมาตักน้ำ แต่พระผู้ช่วยให้รอดทรงรับรู้ได้ว่าเธอกระหายมากกว่าความกระหายทางร่างกาย ทรงรู้ว่าเธอมีอดีตที่เดือดร้อนเพราะความสัมพันธ์ที่คลอนแคลน ดังนั้นพระเยซูทรงนำสิ่งจำเป็นทางร่างกายที่อยู่ในความสนใจขณะนั้นของเธอ—น้ำค้ำจุนชีวิต—มาเชื่อมโยงกับสิ่งจำเป็นทางวิญญาณที่ลึกซึ้งกว่าของเธอคือ “น้ำดำรงชีวิต” และ “ชีวิตนิรันดร์” เมื่อสิ้นสุดการสนทนากับพระองค์ หญิงนั้นมีพยานส่วนตัวว่าพระเยซูคือพระคริสต์ โดยได้รับการดลใจในส่วนที่พระองค์ทรงรู้จักเธอเป็นอย่างดี “[ทรง] เล่าถึงสิ่งสารพัดที่ฉันเคยทำ” เธอกล่าว “ท่านผู้นี้คือพระคริสต์มิใช่หรือ?” (ดู ยอห์น 4:6–29)
การเป็นครูเหมือนพระคริสต์รวมถึงการรู้จักผู้คนที่ท่านสอนโดยพยายามเข้าใจสิ่งที่อยู่ในใจพวกเขา ท่านสามารถให้ความสนใจชีวิตของพวกเขาและแสดงความเห็นอกเห็นใจ ท่านสามารถมองหาวิธีที่จะเข้าใจภูมิหลัง พรสวรรค์ ความสนใจและความต้องการของพวกเขา ท่านสามารถค้นพบวิธีที่พวกเขาจะเรียนรู้ได้ดีที่สุด ท่านสามารถถามคำถาม ฟังอย่างละเอียด และสังเกตการณ์ เหนือสิ่งอื่นใด ท่านสามารถสวดอ้อนวอนขอความเข้าใจที่พระวิญญาณเท่านั้นทรงให้ได้ ยิ่งท่านรู้จักแต่ละบุคคลดีเท่าใด ท่านก็สามารถช่วยเขาได้ดีขึ้นเท่านั้น ที่จะค้นพบความหมายและพลังส่วนตัวในพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ทันทีที่ท่านเข้าใจความกระหายของแต่ละบุคคล พระวิญญาณจะทรงสอนท่านให้รู้วิธีที่จะช่วยดับกระหายนั้นได้ด้วยน้ำดำรงชีวิตของพระผู้ช่วยให้รอด
คำถามที่ต้องไตร่ตรอง: ท่านรู้อะไรแล้วบ้างเกี่ยวกับผู้คนที่ท่านสอน? อะไรสำคัญต่อพวกเขา? จุดเด่นของพวกเขาคืออะไร? พวกเขามีปัญหากับเรื่องใด? ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเข้าใจพวกเขาดีขึ้น?
จากพระคัมภีร์: สดุดี 139:1–5; มัทธิว 6:25–32; มาระโก 10:17–21; ยอห์น 10:14; 3 นีไฟ 17:1–9
พระผู้ช่วยให้รอดทรงสวดอ้อนวอนให้คนที่พระองค์ทรงสอน
ให้นึกภาพว่าซีโมน เปโตรจะรู้สึกอย่างไรเมื่อได้ยินพระผู้ช่วยให้รอดตรัสกับตนว่า “ซีโมน ซีโมนเอ๋ย นี่แน่ะ ซาตานขอพวกท่านไว้ … แต่เราอธิษฐานเผื่อตัวท่าน เพื่อความเชื่อของท่านจะไม่ได้ขาด” (ลูกา 22:31–32) การรู้ว่าพระเยซูคริสต์ทรงสวดอ้อนวอนพระบิดาเพื่อท่าน จะส่งผลอย่างไรต่อท่านบ้าง? ผู้คนในทวีปอเมริกาโบราณมีประสบการณ์คล้ายกัน และพวกเขาบรรยายไว้ด้วยวิธีนี้: “ไม่มีใครเข้าใจถึงปีติซึ่งเต็มจิตวิญญาณเราในเวลาที่เราได้ยิน [พระเยซู] ทรงสวดอ้อนวอนถึงพระบิดาเพื่อเรา” (3 นีไฟ 17:17)
ท่านอาจนึกถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในตัวท่านเมื่อ ท่าน สวดอ้อนวอนให้ใครบางคนโดยเอ่ยชื่อ—อย่างสม่ำเสมอ การสวดอ้อนวอนของท่านมีผลต่อวิธีที่ท่านรู้สึกเกี่ยวกับบุคคลนั้นอย่างไร? และมีผลต่อการกระทำของท่านอย่างไร? แน่นอนว่าพระบิดาในสวรรค์ของเราทรงได้ยินและทรงตอบคำสวดอ้อนวอนที่จริงใจของครูผู้ปรารถนาจะช่วยผู้เรียน และในหลายกรณี วิธีหนึ่งที่ทรงตอบคำสวดอ้อนวอนเหล่านั้นคือการสัมผัสใจของครูและดลใจให้เขาทำหรือพูดบางสิ่งที่จะช่วยให้ผู้เรียนรู้สึกถึงความรักของพระองค์
คำถามที่ต้องไตร่ตรอง: ขณะนึกถึงผู้คนที่ท่านสอน มีคนไหนบ้างที่ท่านรู้สึกว่าเขามีความจำเป็นเฉพาะตัวที่ท่านต้องสวดอ้อนวอนให้? ท่านรู้สึกได้รับการดลใจให้สวดอ้อนวอนเพื่อเขาในเรื่องใด? จะเกิดพรใดเมื่อท่านเชื้อเชิญให้ผู้เรียนสวดอ้อนวอนให้กัน?
จากพระคัมภีร์: ยอห์น 17; แอลมา 31:24–36; 3 นีไฟ 18:15–24; 19:19–23, 27–34
พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำให้แน่ใจว่าทุกคนรู้สึกถึงการให้เกียรติและการให้คุณค่า
เจตคติทั่วไปในหมู่ผู้นำทางศาสนาในยุคของพระเยซูคือคนบาปเป็นที่น่ารังเกียจ ด้วยเหตุดังกล่าว ผู้นำเหล่านี้จึงตกใจเมื่อเห็นพระเยซูทรงปฏิสัมพันธ์กับคนบาป คนที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้คนแบบนั้นจะเป็นครูทางวิญญาณได้อย่างไร?
แน่นอนว่า พระเยซูทรงมีวิธีที่แตกต่าง ทรงแสวงหาที่จะเยียวยาผู้เจ็บป่วยทางวิญญาณเหล่านั้น (ดู มาระโก 2:15–17; ลูกา 4:17–18) พระองค์ทรงเอื้อมออกไปยังผู้คนที่แตกต่างจากคนรอบข้างหรือผู้มีอดีตอันเป็นปัญหา และทรงปฏิสัมพันธ์กับผู้คนที่มีบาป ทรงยกย่องศรัทธาของทหารโรมัน (ดู มัทธิว 8:5-13) ทรงเรียกคนเก็บภาษีที่ไม่น่าวางใจให้เป็นสานุศิษย์ที่วางใจได้ของพระองค์ (ดู มาระโก 2:14) เมื่อหญิงคนหนึ่งถูกกล่าวหาว่าผิดประเวณี ทรงทำให้เธอรู้สึกปลอดภัยและทรงกระตุ้นให้เธอกลับใจและดำเนินชีวิตให้ดีขึ้น (ดู ยอห์น 8:1–11)
แต่พระเยซูทรงทำมากกว่านั้น ทรงบ่มเพาะเจตคติแห่งการยอมรับและรักเช่นเดียวกันนี้ท่ามกลางผู้ติดตามของพระองค์ แบบอย่างของพระองค์มั่นคงอยู่ในใจอัครสาวกเมื่อถึงเวลาที่พวกเขาจะนำพระกิตติคุณไปสู่ผู้คนทั้งปวง ซึ่งสะท้อนให้เห็นในถ้อยคำของเปโตร: “ข้าพเจ้าเห็นจริงแล้วว่าพระเจ้าไม่ทรงลำเอียง” (กิจการ 10:34)
เป็นโอกาสที่ดีมากที่เกือบทุกคนที่ท่านได้รับเรียกให้สอนกำลังต่อสู้ในบางวิธีเพื่อจะรู้สึกว่าได้รับเกียรติและมีคนเห็นคุณค่า ด้วยวิธีที่ท่านรักและให้เกียรติพวกเขา ท่านสามารถสื่อสารได้ว่าพวกเขาไม่เพียงได้รับการต้อนรับแต่ เป็นที่ต้องการ ด้วย ท่านสามารถเอื้อมออกไปหาผู้ที่ไม่มาเข้าร่วม ผู้ที่ยากลำบาก หรือผู้ที่ดูเหมือนไม่สนใจ จงอดทนหากดูเหมือนว่าความก้าวหน้าจะมาช้าไป ท่านสามารถช่วยให้ทุกคนรู้สึกปลอดภัยและสบายใจที่จะบอกข้อกังวลต่อเพื่อนพี่น้องผู้มีความเชื่อเดียวกัน และท่านทำได้มากกว่านั้น ท่านสามารถกระตุ้นให้ผู้เรียนทุกคนช่วยท่านสร้างสภาพแวดล้อมที่จะสอนหลักคำสอนได้ในวิญญาณแห่งการให้เกียรติ นับเป็นพวกพ้อง และรัก
คำถามที่ต้องไตร่ตรอง: สิ่งใดช่วยให้บุคคลรู้สึกได้รับเกียรติและมีคนเห็นคุณค่า? สิ่งใดกระตุ้นให้บุคคลให้เกียรติและเห็นคุณค่าผู้อื่น? ขณะนึกถึงบุคคลที่ท่านสอนร่วมกับการสวดอ้อนวอน ท่านได้รับการกระตุ้นให้ทำสิ่งใดเพื่อพวกเขาสามารถรู้สึกได้รับการต้อนรับและเป็นที่ต้องการ?
จากพระคัมภีร์: ยอห์น 4; 2 นีไฟ 26:27–28, 33; แอลมา 1:26; 3 นีไฟ 18:22–25
พระผู้ช่วยให้รอดทรงแสดงให้เห็นว่าทรงรักคนที่พระองค์ทรงสอน
เมื่อสิ้นสุดวันที่ยอดเยี่ยมและยกระดับจิตวิญญาณของการสอนและการปฏิบัติศาสนกิจท่ามกลางชาวนีไฟ พระเยซูทรงสังเกตว่าถึงเวลาที่ต้องจากไป ยังทรงมีคนอื่นๆ ที่ต้องไปเยี่ยม “เจ้าจงไปบ้านของเจ้า,” พระองค์ตรัส “และจงเตรียมจิตใจไว้สำหรับวันพรุ่ง” แต่ผู้คนยังคงนั่งอยู่ที่นั่น “น้ำตาไหล” ได้ “เพ่งดูพระองค์ราวกับว่าจะทูลขอให้พระองค์คงอยู่กับพวกเขาอีกสักเล็กน้อย” โดยทรงรับรู้ความต้องการที่ไม่ได้เอ่ยของพวกเขาและ “เต็มไปด้วยความสงสาร” พระเยซูทรงอยู่ต่ออีกเล็กน้อย (3 นีไฟ 17:3, 5–6) ทรงอวยพรคนเจ็บป่วยและคนเป็นทุกข์ ทรงคุกเข่าสวดอ้อนวอนกับคนเหล่านั้น ทรงกันแสงกับพวกเขาและทรงปีติยินดีกับพวกเขา
พิจารณาการศึกษาพระวจนะและการกระทำของพระผู้ช่วยให้รอดใน 3 นีไฟ 17ร่วมกับการสวดอ้อนวอน ไตร่ตรองความรักที่ทรงแสดงออกต่อคนที่พระองค์ทรงสอน ค้นหาการแสดงออกซึ่งความรักของพระองค์ในที่อื่นๆ ในพระคัมภีร์ จากนั้นให้นึกถึงผู้คนที่ท่านสอน ท่านจะแสดงความรักที่มีต่อพวกเขาออกมาอย่างเหมาะสมได้อย่างไร? จงให้พระวิญญาณนำทางท่าน หากท่านพบว่าเป็นการยากที่จะรู้สึกรักหรือแสดงออกถึงความรักที่มีต่อคนที่ท่านสอน ให้เริ่มโดยเป็นพยานถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้า จากนั้น “จงสวดอ้อนวอนพระบิดาจนสุดพลังของใจ, เพื่อท่านจะเปี่ยมด้วย [ความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์], ซึ่งพระองค์ประทานให้ทุกคนซึ่งเป็นผู้ติดตามที่แท้จริงของพระบุตรของพระองค์, พระเยซูคริสต์” (โมโรไน 7:48) และจงจำไว้ว่าข้อกังวลของท่านเรื่องการสอนบทเรียนไม่ควรเข้ามาแทรกแซงให้ท่านเขวออกจากการแสดงออกถึงความรักผ่านถ้อยคำและการกระทำของท่าน บ่อยครั้งที่วิธีที่ท่านปฏิบัติต่อผู้คนมีความสำคัญเท่ากับสิ่งที่ท่านสอนพวกเขา
คำถามที่ต้องไตร่ตรอง: พระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยให้ท่านรู้ถึงความรักของพระองค์ที่ทรงมีต่อท่านอย่างไร? บิดามารดาหรือครูคนอื่นๆ ช่วยให้ท่านรู้สึกถึงความรักของพระองค์อย่างไร? ผู้คนที่ท่านสอนรู้หรือไม่ว่าท่านรักพวกเขา? พวกเขารู้หรือไม่ว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงรักพวกเขา?
จากพระคัมภีร์: มาระโก 6:31–42; ยอห์น 13:3–16, 34–35; 15:12–13; 1 โครินธ์ 13:1–7; 1 ยอห์น 4:7–11