เซมินารีและสถาบัน
สอนโดยพระวิญญาณ


“สอนโดยพระวิญญาณ,” การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด: สำหรับทุกคนที่สอนในบ้านและในศาสนจักร (2022)

“สอนโดยพระวิญญาณ,” การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด

4:17

สอนโดยพระวิญญาณ

เมื่อพระผู้ช่วยให้รอดทรงบัญชาให้โจเซฟ สมิธและซิดนีย์ ริกดันไปสั่งสอนพระกิตติคุณ พระองค์ทรงสัญญากับทั้งสองคนว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์จะฉายออกไปในการรับสั่งคำพยานต่อสิ่งทั้งปวงไม่ว่าอะไรก็ตามที่เจ้าจะกล่าว” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 100:8 ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:15–17; 50:17–22 ด้วย) สัญญาเดียวกันนั้นมีผลกับทุกคนที่สอนพระกิตติคุณ รวมทั้งท่าน ขณะสอนพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ท่านสามารถมีพระวิญญาณบริสุทธิ์อยู่ด้วยเพื่อนำทางท่านและเพื่อเป็นพยานถึงความจริงแก่ความคิดและใจของคนที่ท่านสอน (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 8:2) ขณะสอนท่านไม่ได้อยู่เพียงลำพัง เพราะ “ผู้ที่พูดนั้นไม่ใช่ตัวท่านเอง แต่เป็นพระวิญญาณบริสุทธิ์” (มาระโก 13:11)

พระวิญญาณบริสุทธิ์คือครูที่แท้จริง ไม่มีครูมรรตัยคนใด ไม่ว่าจะมีทักษะหรือประสบการณ์อย่างไร จะแทนที่บทบาทของพระองค์ในการเป็นพยานถึงความจริง เป็นพยานถึงพระคริสต์ และเปลี่ยนใจได้ แต่ครูทุกคนสามารถเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้บุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าเรียนรู้โดยพระวิญญาณได้

สอนโดยพระวิญญาณ

  • เตรียมตัวท่านเองทางวิญญาณ

  • พร้อมเสมอที่จะตอบสนองต่อการกระตุ้นเตือนทางวิญญาณเกี่ยวกับความต้องการของผู้เรียน

  • สร้างสภาวะแวดล้อมและโอกาสสำหรับผู้เรียนที่จะรับการสอนจากพระวิญญาณบริสุทธิ์

  • ช่วยให้ผู้เรียนแสวงหา รับรู้ และลงมือทำตามการเปิดเผยส่วนตัว

  • แสดงประจักษ์พยานบ่อยๆ และเชื้อเชิญผู้เรียนแบ่งปันความรู้สึก ประสบการณ์ และประจักษ์พยานของพวกเขา

พระผู้ช่วยให้รอดทรงเตรียมพระองค์เองทางวิญญาณเพื่อสอน

เพื่อเตรียมการปฏิบัติศาสนกิจของพระองค์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงใช้เวลาในแดนทุรกันดาร 40 วัน “เพื่อไปประทับอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า” (งานแปลของโจเซฟ สมิธ, มัทธิว 4:1 [ใน มัทธิว 4:1, เชิงอรรถ b]) แต่การเตรียมพร้อมทางวิญญาณของพระองค์เริ่มก่อนหน้านั้นเป็นเวลานานแล้ว เมื่อถูกซาตานล่อลวง พระองค์ทรงสามารถดึงเอา “ถ้อยคำแห่งชีวิต” ที่ทรงสั่งสมไว้เพื่อ “โมงนั้นเอง” มาใช้เมื่อจำเป็น (หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:85) นึกถึงความพยายามของท่านเองในการเตรียมตนเองทางวิญญาณเพื่อสอน จาก มัทธิว 4:1–11 ท่านเรียนรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับวิธีที่ท่านจะทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดในการเตรียมตัวทางวิญญาณ?

พระวิญญาณคือครูที่แท้จริงและทรงเป็นแหล่งช่วยที่แท้จริงของการเปลี่ยนใจเลื่อมใส การสอนพระกิตติคุณที่เปี่ยมด้วยพลังไม่ได้ต้องการเพียงการเตรียมบทเรียนเท่านั้นแต่ต้องการให้ท่านเตรียมตนเองทางวิญญาณเป็นอย่างดีก่อนเริ่มสอนด้วย ถ้าท่านพร้อมทางวิญญาณ ท่านจะฟังและทำตามการนำทางของพระวิญญาณได้ดีขึ้นขณะสอน วิธีอัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์เข้ามาในการสอนของท่านคือการทูลเชิญพระองค์เข้ามาในชีวิต ทั้งนี้รวมถึงการมุ่งมั่นที่จะทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดและดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระองค์อย่างขยันขันแข็งด้วยสุดใจของท่านด้วย และเนื่องจากไม่มีใครในพวกเราที่ทำสิ่งนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เรื่องนี้จึงหมายถึงการกลับใจทุกวันด้วย

คำถามที่ต้องไตร่ตรอง: สำหรับท่าน การเตรียมตนเองทางวิญญาณเพื่อสอน หมายความว่าอย่างไร? ท่านรู้สึกได้รับการดลใจให้ทำอะไรเพื่อพัฒนาวิธีเตรียมตัวท่านเองทางวิญญาณ? ท่านคิดว่าการเตรียมตัวทางวิญญาณจะทำให้การสอนของท่านแตกต่างจากเดิมได้อย่างไร?

จากพระคัมภีร์: เอสรา 7:10; ลูกา 6:12; แอลมา 17:2–3, 9; หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:21; 42:13–14

พระผู้ช่วยให้รอดทรงพร้อมเสมอที่จะสนองตอบความต้องการของผู้อื่น

ไยรัสนายธรรมศาลา กราบพระบาทพระเยซู ทูลขอให้ทรงช่วยบุตรสาวใกล้ตายของตน พระเยซูทรงหยุดกะทันหัน ขณะพระองค์กับสานุศิษย์กำลังฝ่าฝูงชนบนถนนมุ่งไปยังบ้านของไยรัส “ใครแตะต้องเรา?” พระองค์ตรัสถาม ดูจะเป็นคำถามที่แปลกนัก—ก็ในฝูงชนที่แออัดนั้น ใครเล่าจะ ไม่ แตะต้องพระองค์? แต่พระผู้ช่วยให้รอดทรงรับรู้ว่าในฝูงชนนั้น มีใครบางคนที่เข้ามาหาพระองค์ด้วยเรื่องจำเป็นเฉพาะตนและด้วยศรัทธาที่จะรับการรักษาจากพระองค์ ยังมีเวลาพอที่จะไปเยี่ยมบุตรสาวของไยรัส แต่ก่อนอื่น พระองค์ตรัสกับหญิงที่แตะต้องชายฉลองพระองค์ว่า “ลูกหญิงเอ๋ย ที่หายโรคนั้นก็เพราะลูกเชื่อ จงไปเป็นสุขเถิด” (ดู ลูกา 8:41–48)

ในฐานะครู บางครั้งท่านอาจพบว่าตนเองกำลังรีบสอนเพื่อให้ถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เตรียมมาสอน แม้เรื่องนั้นจะสำคัญ แต่จงแน่ใจว่าในความเร่งรีบของท่าน ท่านไม่ได้รีบจนผ่านความจำเป็นเร่งด่วนของใครบางคนที่ท่านกำลังสอนโดยไม่ได้ตั้งใจ นอกจากแสวงหาการนำทางด้านวิญญาณขณะ เตรียม สอน จงแสวงหาการทรงนำของพระวิญญาณ ขณะกำลัง สอนด้วย พยายามรับรู้เรื่องจำเป็น คำถาม และความสนใจของผู้เรียน พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงช่วยให้ท่านแยกแยะได้ว่าผู้เรียนกำลังรับหรือเข้าใจสิ่งที่ท่านสอนไปแล้วอย่างไร พระองค์อาจกระตุ้นเตือนท่านในเวลานั้นให้ปรับเปลี่ยนแผนการสอน ตัวอย่างเช่น ท่านอาจได้รับการกระตุ้นเตือนให้ใช้เวลามากขึ้นกว่าที่ตั้งใจไว้กับหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งหรือให้เว้นการสนทนาบางเรื่องไว้ทำภายหลังเพื่อให้เวลากับบางเรื่องที่สำคัญต่อผู้เรียนมากกว่าในขณะนั้น

คำถามที่ต้องไตร่ตรอง: เมื่อใดที่ท่านเคยรู้สึกว่าบิดาหรือมารดาหรือครูคนอื่นรับรู้เรื่องจำเป็นของท่านในฐานะผู้เรียน? คนที่ท่านสอนรู้ไหมว่าท่านสนใจการเรียนรู้ของพวกเขามากกว่าการสอนให้จบบทเรียน? ท่านจะสื่อสารความสนใจของท่านให้ดีขึ้นได้อย่างไร?

จากพระคัมภีร์: 1 เปโตร 3:15; แอลมา 32:1–9; 40:1; 41:1; 42:1

พระผู้ช่วยให้รอดประทานโอกาสให้ผู้คนรับการสอนจากพระวิญญาณบริสุทธิ์

ในสมัยของพระเยซู เป็นเรื่องยากสำหรับผู้คนมากมายที่จะเข้าใจว่าแท้จริงแล้วพระองค์คือใคร แต่ก็มีความเห็นมากมาย “บางคนว่าเป็นยอห์นผู้ให้บัพติศมา” สานุศิษย์รายงาน “บางคนว่าเป็นเอลียาห์ ส่วนคนอื่นๆ ว่าเป็นเยเรมีย์ หรือเป็นคนหนึ่งในบรรดาผู้เผยพระวจนะ” แต่แล้วพระเยซูทรงถามคำถามที่เชื้อเชิญสานุศิษย์ของพระองค์ให้เพิกเฉยต่อความเห็นของคนอื่นๆ แล้วมองลึกลงไปในใจตนเอง: “แล้วพวกท่านว่าเราเป็นใคร?” ทรงต้องการให้พวกเขาหาคำตอบของตนไม่ใช่จาก “เนื้อและเลือด” แต่เป็นคำตอบโดยตรงจาก “พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์” การเป็นพยานแบบนี้เป็น—การเปิดเผยส่วนตัวจากพระวิญญาณบริสุทธิ์—ที่ทำให้เปโตรสามารถประกาศได้ว่า “พระองค์เป็นพระคริสต์พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่” (ดู มัทธิว 16:13-17)

เพื่อความรอดทางวิญญาณในยุคสุดท้ายนี้ ผู้คนที่ท่านสอนจำเป็นต้องได้รับการเป็นพยานทางวิญญาณถึงความจริงข้อนี้ ท่านให้สิ่งนี้แก่พวกเขาไม่ได้ แต่ท่านเชื้อเชิญ กระตุ้น ให้แรงบันดาลใจ และสอนพวกเขาให้แสวงหาเองได้ ด้วยถ้อยคำและการกระทำของท่าน—ท่านทำให้ชัดเจนได้ว่า—พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้พระกิตติคุณอย่างไร ตัวอย่างเช่น ให้พิจารณาเรื่องสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ท่านสร้างและกระตุ้น บางสิ่งที่เรียบง่ายเท่าๆ กับการจัดเก้าอี้ในห้องหรือวิธีที่ท่านทักทายหรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียนเป็นตัวกำหนดแนวโน้มทางวิญญาณสำหรับประสบการณ์ที่ผู้เรียนจะได้รับ นอกจากนี้ ท่านอาจเชื้อเชิญผู้เรียนให้เตรียมตนเองทางวิญญาณเพื่อเรียน เช่นเดียวกับที่ท่านเตรียมทางวิญญาณเพื่อสอนได้ด้วย ขอให้พวกเขารับผิดชอบต่อวิญญาณที่พวกเขานำมา และท่านอาจให้โอกาสพวกเขารู้สึกถึงการเป็นพยานของพระวิญญาณเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์ การเป็นพยานนั้นจะกลายเป็น “ศิลา” สำหรับพวกเขา “​และพลัง​แห่ง​ความ​ตาย​จะ​มี​ชัย​ต่อ​ [พวกเขา] ไม่ได้” (มัทธิว 16:18)

คำถามที่ต้องไตร่ตรอง: สิ่งใดที่ท่านสังเกตเห็นว่าเอื้อประโยชน์ต่อสภาพแวดล้อมทางวิญญาณสำหรับการเรียนพระกิตติคุณ? อะไรทำให้เขวจากสิ่งนั้น? อะไรช่วยให้ผู้คนที่ท่านสอนเรียนรู้จากพระวิญญาณ? จงนึกถึงสภาพแวดล้อมที่ท่านใช้ในการสอนบ่อยที่สุด ท่านรู้สึกอย่างไรเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนั้น? ท่านจะอัญเชิญพระวิญญาณให้สถิตอยู่ในสภาพแวดล้อมนั้นอย่างมีประสิทธิผลมากขึ้นได้อย่างไร?

จากข้อพระคัมภีร์: ลูกา 24:31–32; ยอห์น 14:26; 16:13–15; โมโรไน 10:4–5; หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:16–17; 50:13–24

ผู้สอนศาสนากำลังสอนครอบครัว

ขณะสอน เราอาจเชื้อเชิญผู้เรียนให้แสวงหาการเป็นพยานทางวิญญาณของตนเองเกี่ยวกับความจริง

พระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยให้ผู้อื่นแสวงหา รับรู้ และลงมือทำตามการเปิดเผยส่วนตัว

พระเจ้าทรงต้องการสื่อสารกับเรา—และทรงต้องการให้เรารู้ว่าพระองค์กำลังสื่อสารกับเรา ในปี 1829 ครูในโรงเรียนอายุ 22 ปีชื่อ ออลิเวอร์ คาวเดอรีย์เรียนรู้เกี่ยวกับหลักคำสอนที่อาจหาญและน่าตื่นเต้นที่ว่าทุกคนสามารถรับการเปิดเผยส่วนตัวได้ แต่เขามีคำถามคล้ายกับที่เราหลายคนมักจะถาม: “พระเจ้าพยายามตรัสกับฉันจริงๆ หรือ? แล้วฉันจะรู้เรื่องที่พระองค์ตรัสได้อย่างไร?” เพื่อตอบคำถามเหล่านี้ พระเยซูคริสต์ทรงเชื้อเชิญออลิเวอร์ให้นึกถึงช่วงเวลาส่วนตัวของการค้นหาทางวิญญาณ “เรามิได้พูดให้ความสงบแก่จิตใจเจ้าหรือ?” พระองค์ทรงถาม (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 6:21–24) ต่อมา ทรงสอนออลิเวอร์เกี่ยวกับวิธีอื่นๆ ที่พระวิญญาณอาจตรัสกับเขา (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 8:2–3; 9:7–9; ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:12–14 ด้วย)

การดำเนินชีวิตในโลกที่มักไม่สนใจเรื่องทางวิญญาณ เราทุกคนจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเพื่อรู้ว่าสุรเสียงของพระวิญญาณเป็นอย่างไร เราอาจเคยรู้สึกถึงพระวิญญาณโดยไม่ตระหนักว่าเป็นพระองค์ และเราทุกคนสามารถเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับวิธีแสวงหาพระวิญญาณ รับรู้อิทธิพลของพระองค์ และลงมือทำตามการกระตุ้นเตือนที่พระองค์ประทานแก่เราได้ ขณะท่านสอน จงช่วยให้ผู้เรียนค้นพบวิธีที่พระวิญญาณสามารถสื่อสารได้—รวมถึงวิธีที่พระองค์ทรงสื่อสารกับพวกเขา หนึ่งในของขวัญสำคัญที่สุดที่ท่านจะให้ได้ในฐานะครูคือการช่วยคนที่ท่านสอนให้ก้าวหน้าในการติดตามการเปิดเผยส่วนตัวไปจนตลอดชีวิต

คำถามที่ต้องไตร่ตรอง: เหตุใดการเรียนรู้ที่จะรับการเปิดเผยส่วนตัวจึงสำคัญ? เคยมีใครช่วยให้ท่านเข้าใจวิธีแสวงหาและรับรู้ว่าการเปิดเผยคืออะไรหรือไม่? ท่านจะกระตุ้นให้คนที่ท่านสอนแสวงหา รับรู้ และลงมือทำตามการเปิดเผยจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้อย่างไร?

จากพระคัมภีร์: กาลาเทีย 5:22–23; แอลมา 5:45–47; หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:61; 121:33; โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:8–20

พระผู้ช่วยให้รอดทรงแสดงประจักษ์พยานแก่คนที่พระองค์ทรงสอน

ในช่วงเวลาของการสอนและปฏิบัติศาสนกิจที่ละเอียดอ่อนเป็นพิเศษ พระเยซูทรงพยายามปลอบโยนมารธาเพื่อนของพระองค์ ที่น้องชายของเธอตาย ทรงแบ่งปันประจักษ์พยานที่เรียบง่ายเกี่ยวกับความจริงนิรันดร์ข้อหนึ่งแแก่เธอ: “ลาซารัสจะเป็นขึ้นมาอีก” (ยอห์น 11:23) การเป็นพยานของพระองค์กระตุ้นเตือนให้มาร‌ธาแบ่งปันประจักษ์พยานของเธอเอง: “ข้า‍พระ‍องค์ทราบว่าเขาจะเป็นขึ้นในวัน‍สุด‍ท้ายเมื่อคนทั้ง‍ปวงจะเป็นขึ้นมา” (ยอห์น 11:24)“ ให้สังเกตว่ารูปแบบนี้เกิดซ้ำอย่างไรใน ยอห์น 11:25–27 ท่านประทับใจอะไรเกี่ยวกับการเป็นแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอด? เหตุใดการแบ่งปันประจักษ์พยานเกี่ยวกับความจริงพระกิตติคุณจึงเป็นส่วนสำคัญยิ่งของการสอน?

ประจักษ์พยานของท่านสามารถมีอิทธิพลแรงกล้าต่อคนที่ท่านสอน ประจักษ์พยานของท่านไม่จำเป็นต้องมีวาทศิลป์หรือยืดยาว และไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นด้วย “ฉันอยากจะแสดงประจักษ์พยานของฉัน” เพียงแบ่งปันอย่างเรียบง่ายในสิ่งที่ท่านรู้โดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ประจักษ์พยานแห่งความจริงจะทรงพลังที่สุดเมื่อตรงไปตรงมาและสัมผัสได้ด้วยใจ แสดงประจักษ์พยานถึงพระผู้ช่วยให้รอด พระกิตติคุณและเดชานุภาพของพระองค์ในชีวิตของเราบ่อยๆ และกระตุ้นคนที่เราสอนให้ทำเช่นเดียวกัน พึงจำไว้ว่าบางครั้งการเป็นพยานที่ทรงพลังที่สุดอาจไม่ได้มาจากครูแต่มาจากเพื่อนผู้เรียนด้วยกัน

คำถามที่ต้องไตร่ตรอง: มองหาแบบอย่างในพระคัมภีร์ที่แสดงให้เห็นภาพของอิทธิพลอันแรงกล้าอันเกิดจากการแสดงประจักษ์พยานของบางคน ท่านเรียนรู้อะไรจากแบบอย่างเหล่านั้น? ท่านได้รับพรจากประจักษ์พยานของบางคนเมื่อใด? การแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านมีอิทธิพลต่อคนที่ท่านสอนอย่างไร? และมีอิทธิพลต่อตัวท่านเองอย่างไร?

จากข้อพระคัมภีร์: กิจการ 2:32–38; โมไซยาห์ 5:1–3; แอลมา 5:45–48; 18:24–42; 22:12–18; หลักคำสอนและพันธสัญญา 46:13–14; 62:3

วิธีประยุกต์ใช้สิ่งที่ท่านกำลังเรียนรู้

  • ขอให้ผู้เรียนแบ่งปันสิ่งที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสอนพวกเขาขณะศึกษาพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า

  • เตรียมตัวล่วงหน้าเพื่อรับการกระตุ้นเตือนทางวิญญาณขณะสอน

  • จดความประทับใจทางวิญญาณที่เข้ามาขณะท่านเตรียม

  • บางครั้งจงให้โอกาสสมาชิกชั้นเรียนไตร่ตรองเงียบๆ ถึงสิ่งที่พระวิญญาณกำลังสอนพวกเขา

  • ใช้ดนตรีศักดิ์สิทธิ์และภาพเพื่ออัญเชิญอิทธิพลของพระวิญญาณ

  • ฟังการกระตุ้นเตือนขณะวางแผนและสอน และเต็มใจปรับเปลี่ยนแผนของท่าน

  • ให้โอกาสผู้เรียนทุกคนแสดงประจักษ์พยานเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขากำลังเรียนรู้

  • ช่วยให้คนอื่นๆ รับรู้เมื่อพระวิญญาณสถิตอยู่

  • จงดำเนินชีวิตตามความจริงที่ท่านสอนเพื่อที่ท่านจะเป็นพยานถึงความจริงเหล่านั้นได้

  • ทำตามการกระตุ้นเตือนให้สอนในช่วงเวลาที่เป็นธรรมชาติและเป็นกันเอง