“คำแนะนำสำหรับสภาพแวดล้อมของการสอนและผู้เรียนแบบต่างๆ,” การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด: สำหรับทุกคนที่สอนในบ้านและในศาสนจักร (2022)
“คำแนะนำสำหรับสภาพแวดล้อมของการสอนและผู้เรียนแบบต่างๆ,” การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด
คำแนะนำสำหรับสภาพแวดล้อมของการสอนและผู้เรียนแบบต่างๆ
หลักธรรมของการสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอดสามารถประยุกต์ใช้กับทุกโอกาสการสอน—ที่บ้าน ที่โบสถ์ และที่อื่นๆ อย่างไรก็ตาม โอกาสทุกโอกาสมาพร้อมกับสภาวการณ์ที่ไม่เหมือนกัน หมวดนี้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมที่ระบุเฉพาะสำหรับผู้เรียนและสภาพแวดล้อมของการสอนแบบต่างๆ
บ้านและครอบครัว
บ้านเป็นสถานที่ดีที่สุดสำหรับการเรียนการสอนพระกิตติคุณ
ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่าบ้านควรเป็น “ศูนย์การเรียนรู้พระกิตติคุณ“ (“การเป็นวิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่เป็นแบบอย่าง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2018, 113) การสอนที่เกิดขึ้นที่โบสถ์หรือในเซมินารีล้วนมีคุณค่าและจำเป็น แต่นั่นคือการสนับสนุนการสอนที่เกิดขึ้นที่บ้าน สภาพแวดล้อมหลัก—และสภาพแวดล้อมที่ดีที่สุด—สำหรับการเรียนรู้พระกิตติคุณทั้งด้วยตัวเราเองและกับครอบครัวของเรา คือที่บ้าน
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการเรียนรู้พระกิตติคุณที่ดีจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติที่บ้าน เรื่องนี้ต้องใช้ความพยายามที่ตั้งใจใฝ่ดี ประธานเนลสันแนะนำว่าท่านอาจจำเป็นต้อง “เปลี่ยน” หรือ “ปรับเปลี่ยนบ้านของท่าน”—โดยไม่จำเป็นต้องรื้อผนังหรือปูพื้นใหม่แต่อาจทำโดยการประเมินผลเรื่องทางวิญญาณโดยรวม รวมถึงการอุทิศตนให้กับเรื่องทางวิญญาณนั้น (“การเป็นวิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่เป็นแบบอย่าง,” 113) ตัวอย่างเช่น ให้พิจารณาเรื่องดนตรี วีดิทัศน์ และสื่ออื่นๆ ในบ้านของท่าน ภาพบนผนัง และวิธีที่สมาชิกในครอบครัวของท่านพูดจากันและปฏิบัติต่อกัน เรื่องเหล่านี้อัญเชิญอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์หรือไม่? ท่านได้ละเลยเวลาการเรียนรู้พระกิตติคุณทั้งเป็นการส่วนตัวและกับครอบครัวหรือไม่? สมาชิกครอบครัวรู้สึกได้รับความรัก ความปลอดภัย และใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้าขณะอยู่ในบ้านของท่านหรือไม่?
ท่านอาจไม่รู้สึกว่าท่านควบคุมสภาพแวดล้อมทางวิญญาณในบ้านของท่านไว้ ถ้านั่นเป็นเรื่องจริง จงเป็นอิทธิพลดีที่สุดเท่าที่จะทำได้และขอให้พระเจ้าทรงช่วยเหลือ พระองค์จะทรงให้ความสำคัญต่อความพากเพียรอันชอบธรรมของท่าน เมื่อท่านพยายามสอนและเรียนพระกิตติคุณ แม้ท่านจะไม่เห็นผลลัพธ์ดังปรารถนาโดยทันที แต่ท่าน กำลัง ประสบความสำเร็จ
การเรียนรู้ที่บ้านมีรากฐานอยู่บนความสัมพันธ์
“รักคนที่ท่านสอน” ประยุกต์ใช้ได้กับทุกสภาพแวดล้อมสำหรับการสอนพระกิตติคุณ แต่ในบ้าน ความรักควรมาในวิธีธรรมชาติที่สุดและรู้สึกได้อย่างลึกซื้งที่สุด แม้บ้านท่านจะด้อยกว่าบ้านในอุดมคติ แต่บ้านก็มีความสำคัญในฐานะศูนย์กลางการสอนพระกิตติคุณเพราะที่บ้านคือที่สร้างความสัมพันธ์อันยืนนานที่สุดของเรา ครูนอกบ้านอาจมีประสบการณ์หรือผ่านการฝึกอบรมในฐานะครูมามากกว่า แต่ครูเหล่านั้นไม่มีทางทดแทนศักยภาพสำหรับความสัมพันธ์ชั่วนิรันดร์อันเปี่ยมด้วยความรักที่มีอยู่ในบ้านได้ ดังนั้นจงหล่อเลี้ยงความสัมพันธ์เหล่านั้นไว้ให้ดี ให้เวลาและความพยายามที่จำเป็นต่อการฟังสมาชิกในครอบครัวของท่านและสร้างความวางใจและความเข้าใจกับพวกเขา การทำเช่นนี้จะช่วยสร้างรากฐานอันมั่นคงสำหรับความพยายามของท่านที่จะสอนและเรียนพระกิตติคุณที่บ้าน
เราสามารถวางแผนการเรียนรู้ที่บ้านได้แต่ต้องให้เป็นไปตามธรรมชาติด้วย
ชั้นเรียนของศาสนจักรส่วนใหญ่มีสัปดาห์ละครั้ง มีกำหนดเริ่มและจบ แต่ที่บ้านจะไม่เป็นเช่นนี้เสมอไป ท่านอาจกำหนดเวลาสำหรับชั้่นเรียนยามค่ำที่บ้านหรือการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัว แต่โอกาสสำหรับการสอนในครอบครัวมักเกิดขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ ในช่วงเวลาต่างๆ ของทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นขณะรับประทานอาหาร ทำงานบ้าน เล่นเกม เดินทางไปทำงานหรือไปโรงเรียน อ่านหนังสือ หรือขณะชมภาพยนตร์ด้วยกัน พายุฝนอาจเป็นโอกาสให้พูดถึงวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นที่คุ้มภัยให้เราพ้นจากพายุทางวิญญาณ วัยรุ่นคนหนึ่งที่มีเรื่องยากจะตัดสินใจอาจพร้อมเรียนรู้เกี่ยวกับการเปิดเผยส่วนตัว เด็กที่กำลังตกใจกลัวอาจได้ประโยชน์จากประจักษ์พยานเรื่องพระผู้ปลอบโยนของท่าน เด็กๆ ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมหรือปฏิบัติตัวไม่ถูกต้องต่อกันอาจได้รับการสอนเรื่องการกลับใจและการให้อภัย
เพราะว่าช่วงเวลาเช่นนั้นเกิดขึ้นโดยไม่ได้วางแผน ท่านจึงไม่สามารถเตรียมเหมือนที่เตรียมบทเรียนตามปกติได้ อย่างไรก็ตามท่านสามารถเตรียม ตนเอง โดยการมีความรู้สึกไวต่อพระวิญญาณและมุ่งมั่นที่จะ “พร้อมเสมอ” (1 เปโตร 3:15) ทุกช่วงเวลาอาจกลายเป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนหรือการสอนได้
การเรียนรู้ที่บ้านประกอบด้วยความพยายามทีละน้อย เรียบง่าย แต่คงเส้นคงวา
บางครั้งบิดามารดารู้สึกท้อใจเมื่อพยายามสอนพระกิตติคุณที่บ้านแล้วดูเหมือนไม่สำเร็จ การสอนเป็นรายคน ยามค่ำที่บ้านหนึ่งครั้ง ช่วงเวลาศึกษาพระคัมภีร์ หรือการสนทนาพระกิตติคุณอาจดูเหมือนไม่บรรลุผลมากนัก แต่การสะสมความพยายามที่เล็กน้อย เรียบง่าย การทำซ้ำอย่างเสมอต้นเสมอปลายครั้งแล้วครั้งเล่า สามารถมีพลังและเสริมสร้างความเข้มแข็งได้มากกว่าบทเรียนที่น่าจดจำหรือน่าประทับใจที่เกิดขึ้นนานๆ ครั้ง “สิ่งทั้งปวงต้องบังเกิดขึ้นในเวลาของมัน,” พระเจ้าตรัส “ดังนั้น, อย่าเบื่อหน่ายในการทำดี, เพราะเจ้ากำลังวางรากฐานของงานอันสำคัญยิ่ง. และจากสิ่งเล็กน้อยบังเกิดเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:32–33; ดู แอลมา 37:6–7 ด้วย) ดังนั้นอย่ายอมแพ้ และอย่ากังวลเรื่องการบรรลุผลที่ยิ่งใหญ่ทุกครั้ง ขอเพียงให้ท่านพยายามอย่างเสมอต้นเสมอปลาย
ในบ้าน การเรียนรู้และการดำเนินชีวิตไม่อาจแยกออกจากกัน
การเชื่อมโยงพระกิตติคุณเกิดขึ้นได้ทุกขณะในบ้าน ผู้คนที่ท่านกำลังเรียนรู้พระกิตติคุณด้วยมีอยู่ที่นั่นแล้วคือคนที่ท่านจะพักอาศัยอยู่ด้วยกัน—ทุกวัน อันที่จริง ในเวลาส่วนใหญ่ การดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณคือ วิธี ที่เราเรียนรู้พระกิตติคุณ ดังนั้นเมื่อท่านเรียนและสอนพระกิตติคุณที่บ้าน จงมองหาวิธีที่จะเชื่อมโยงสิ่งที่ท่านกำลังเรียนกับสิ่งที่ท่านกำลังทำ ในบ้านของท่าน ให้พระกิตติคุณเป็นสิ่งที่ท่านมุ่งมั่นจะดำเนินชีวิตตาม อย่าให้เป็นเพียงสิ่งที่เอาไว้พูดคุยกันเท่านั้น
การสอนเด็ก
เด็กๆ จำเป็นต้องมีความหลากหลาย
เด็กทุกคนแตกต่างกัน และขณะพวกเขาพัฒนาขึ้น สิ่งจำเป็นของพวกเขาจะเปลี่ยนไป การใช้วิธีสอนที่หลากหลายจะช่วยให้ท่านสนองตอบเรื่องจำเป็นที่แตกต่างกันของเด็กๆ ตัวอย่างเช่น ท่านอาจใช้สิ่งต่างๆ ต่อไปนี้:
-
เรื่องราว เรื่องราวช่วยให้เด็กๆ เห็นวิธีประยุกต์ใช้พระกิตติคุณในชีวิตประจำวัน ใช้เรื่องราวจากพระคัมภีร์ จากชีวิตท่านเอง จากประวัติครอบครัวของท่าน หรือจากนิตยสารศาสนจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด วางแผนเพื่อหาวิธีทำให้เด็กๆ มีส่วนในเรื่องราว—โดยให้ถือภาพ ท่องวลี หรือแสดงท่าทางประกอบบางตอน
-
โสตทัศนูปกรณ์ ภาพ วีดิทัศน์ และอุปกรณ์ต่างๆ ช่วยให้เด็กเข้าใจและจดจำหลักธรรมพระกิตติคุณได้ รูปภาพและวีดิทัศน์มากมายมีอยู่ที่ Media Library ใน ChurchofJesusChrist.org.
-
ดนตรี เพลงสวดและเพลงศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ สามารถช่วยให้เด็กรู้สึกถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้า รู้สึกถึงพระวิญญาณ และเรียนรู้ความจริงแห่งพระกิตติคุณ ทำนองเพลง ท่วงทำนอง และการสัมผัสคำที่เรียบง่ายสามารถช่วยให้เด็กจดจำความจริงแห่งพระกิตติคุณได้เป็นเวลานานหลายปี เมื่อท่านร้องเพลงกับเด็กๆ ช่วยให้พวกเขาค้นพบและเข้าใจหลักธรรมที่สอนในเพลง
เด็กๆ ส่วนใหญ่เรียนรู้ได้ดีที่สุดเมื่อใช้ประสาทสัมผัสหลายอย่าง ค้นหาวิธีที่จะช่วยให้เด็กใช้ประสาทสัมผัสแห่งการมองเห็น ได้ยิน และจับต้องเมื่อพวกเขาเรียนรู้ ในบางสถานการณ์ ท่านอาจพบวิธีใช้ประสาทสัมผัสแม้ทางด้านกลิ่นและรสชาติ!
เด็กๆ เป็นนักสร้างสรรค์
เมื่อท่านเชิญให้เด็กๆ วาดภาพ สร้าง ระบายสี หรือเขียนบางอย่างเกี่ยวกับหลักธรรมพระกิตติคุณ ท่านช่วยให้พวกเขาเข้าใจหลักธรรมนั้นดีขึ้น และท่านให้เครื่องเตือนความจำที่เป็นรูปธรรมถึงสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้ นอกจากนี้ พวกเขายังใช้งานที่ตนสร้างสรรค์นั้นแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้กับผู้อื่นได้ด้วย นิตยสาร เพื่อนเด็ก แต่ละฉบับมีกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็ก
เด็กๆ มีความอยากรู้อยากเห็น
เมื่อเด็กๆ ถามคำถาม ให้มองว่าเป็นโอกาส ไม่ใช่สิ่งรบกวน คำถามของเด็กๆ เป็นตัวบ่งชี้ว่าพวกเขาพร้อมที่จะเรียนรู้ และคำถามของพวกเขาทำให้ท่านได้ข้อคิดอันมีค่าแก่การเข้าถึงสิ่งที่พวกเขากำลังคิดและรู้สึก ช่วยให้พวกเขาเห็นว่าคำตอบต่อคำถามทางวิญญาณของพวกเขาจะพบได้ในพระคัมภีร์และถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิต
เด็กๆ จำเป็นต้องได้รับความรักแม้ในขณะพวกเขาก่อกวน
บางครั้งเด็กจะทำสิ่งที่รบกวนการเรียนรู้ของผู้อื่น พฤติกรรมก่อกวนส่วนใหญ่เกิดมาจากไม่ได้รับการสนองตอบในเรื่องจำเป็น เมื่อเกิดสิ่งนี้ขึ้น จงอดทน เต็มไปด้วยความรัก และเข้าใจถึงความท้าทายที่เด็กอาจกำลังเผชิญ เด็กอาจจำเป็นต้องได้รับโอกาสมากขึ้นที่จะมีส่วนร่วมในบทเรียนในวิธีที่เป็นทางบวก—เช่น ถือรูปภาพ วาดภาพ หรืออ่านพระคัมภีร์
ถ้าเด็กยังทำตัวรบกวนอยู่ อาจดีกว่าถ้าจะพูดกับเด็กเป็นการส่วนตัว ในวิญญาณแห่งความรักและความอดทน ให้อธิบายความคาดหวังและความมั่นใจของท่านว่าเขาสามารถทำได้ ชมเชยเด็กเมื่อเขาเลือกได้ดีกว่าเดิม
เด็กมีเรื่องต้องแบ่งปันมากมาย
เป็นธรรมชาติของเด็กที่ต้องการแบ่งปันสิ่งใหม่ๆ ที่ตนเองเรียนรู้แก่ผู้อื่น สนับสนุนความปรารถนานี้โดยให้โอกาสเด็กสอนหลักธรรมพระกิตติคุณแก่กัน แก่สมาชิกครอบครัว และแก่เพื่อนของพวกเขา นอกจากนี้ จงขอให้พวกเขาแบ่งปันกับท่านถึงความคิด ความรู้สึก และประสบการณ์ของพวกเขาซึ่งเกี่ยวข้องกับหลักธรรมที่ท่านกำลังสอน ท่านจะพบว่าพวกเขามีข้อคิดที่เรียบง่าย บริสุทธิ์ และทรงพลัง
เด็กรู้สึกได้ถึงพระวิญญาณแต่อาจจำเป็นต้องช่วยให้พวกเขารับรู้อิทธิพลของพระองค์
แม้เด็กที่ยังไม่ได้รับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ก็รู้สึกถึงอิทธิพลของพระองค์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขากำลังเรียนรู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์ เมื่อเด็กเลือกอย่างชอบธรรม พวกเขารู้สึกได้ว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงอนุมัติผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์ สอนเด็กเกี่ยวกับวิธีต่างๆ ที่พระวิญญาณทรงสื่อสารกับเรา ช่วยให้พวกเขารับรู้สุรเสียงของพระองค์เมื่อพระองค์ตรัสด้วย สิ่งนี้จะช่วยให้พวกเขาพัฒนานิสัยแสวงหาและลงมือทำตามการเปิดเผยส่วนตัวไปตลอดชีวิต
การสอนเยาวชน
เยาวชนมีศักยภาพที่ยอดเยี่ยม
เยาวชนมีศักยภาพที่จะทำสิ่งที่ยอดเยี่ยมในการรับใช้พระเจ้า ประสบการณ์มากมายที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์แสดงให้เห็นว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงมีความมั่นพระทัยในความสามารถทางวิญญาณของคนหนุ่มสาว ถ้าเยาวชนสัมผัสได้ว่าท่านไว้ใจพวกเขา ความมั่นใจของพวกเขาในศักยภาพแห่งสวรรค์ของตนจะเติบโตและท่านจะประหลาดใจในสิ่งที่พวกเขาสามารถทำให้สำเร็จได้ ช่วยพวกเขาด้วยความรักให้เห็นสิ่งที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงทราบว่าพวกเขาจะเป็นได้ จงทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดโดยการรักและให้กำลังใจพวกเขาต่อไป ทำงานกับพวกเขาด้วยความอดทน และไม่ยอมแพ้ในเรื่องที่เกี่ยวกับพวกเขา
เยาวชนกำลังเรียนรู้เรื่องของตนเอง
เยาวชนที่ท่านสอนกำลังสร้างรากฐานประจักษ์พยานของพวกเขา พวกเขาอยู่ในกระบวนการค้นพบความเชื่อและความเชื่อมั่นของตน พวกเขากำลังตัดสินใจในเรื่องที่จะส่งผลต่อเส้นทางชีวิตของตน เพื่อจะอยู่รอดทางวิญญาณในช่วงเวลาอันตรายเหล่านี้และเพื่อทำพันธกิจของพระเจ้าให้เกิดสัมฤทธิผล เยาวชนที่ท่านสอนจำเป็นต้องรู้วิธีค้นหาความเข้มแข็งในช่วงที่มีการทดลอง คำตอบของคำถาม และความกล้าหาญที่จะ “ยืนเป็นพยานเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า” (โมไซยาห์ 18:9)
เยาวชนมีความปรารถนาที่แรงกล้าขึ้นเรื่อยๆ ในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ โดยการหาเหตุผลและรับประสบการณ์แทนการบอกเล่าถึงสิ่งต่างๆ อย่างเรียบง่าย นี่หมายความว่าการสอนเยาวชนจะต้องมีทักษะการฟังที่ดี เมื่อรู้สึกว่าเข้าใจแล้ว เยาวชนจะรู้สึกเปิดใจต่อคำแนะนำและการแนะแนวมากขึ้น ทำให้พวกเขามั่นใจว่าพระเจ้าทรงรู้จักพวกเขาและจะทรงช่วยเหลือพวกเขาขณะรับมือกับปัญหาและการทดลอง พวกเขาจะใช้ศรัทธาในพระองค์ได้โดยการพัฒนานิสัยการสวดอ้อนวอน การศึกษาพระคัมภีร์ และการรับใช้ผู้อื่นทุกวัน การกระตุ้นให้เยาวชนมีส่วนร่วมในชั้นเรียนของศาสนจักรรวมถึงการกระตุ้นให้ศึกษาด้วยตนเองจะช่วยให้พวกเขามีประสบการณ์ส่วนตัวที่จะเสริมสร้างประจักษ์พยานของพวกเขาเกี่ยวกับมรดกสวรรค์ของตน
เยาวชนจำนวนมากสะดวกกับการใช้เทคโนโลยี
ถ้าเยาวชนที่ท่านสอนมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของตนเอง จำไว้ว่าอุปกรณ์เหล่านี้เป็นเครื่องมือในการปรับปรุงการเรียนรู้ให้ดีขึ้น สอนให้พวกเขารู้วิธีใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของตนค้นหาพระคัมภีร์และแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่มีอยู่ในคลังค้นคว้าพระกิตติคุณ ท่านอาจส่งข้อความและลิงก์ให้เยาวชนเพื่อช่วยพวกเขาเตรียมตัวสำหรับบทเรียนที่จะมาถึง
การสอนผู้ใหญ่
ผู้ใหญ่สามารถมีหน้าที่รับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของตน
ผู้เรียนที่เป็นผู้ใหญ่สามารถลงมือทำด้วยตนเองในสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้พระกิตติคุณ (ดู 2 นีไฟ 2:26) เชิญให้พวกเขาเตรียมสนทนาพระกิตติคุณโดยการศึกษาบางเรื่องไว้ล่วงหน้า และสนับสนุนให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่พวกเขากำลังเรียนรู้โดยพระวิญญาณ นอกจากนี้ ท่านอาจถามพวกเขาว่าอยากใช้เวลาเรียนรู้ด้วยกันเกี่ยวกับหลักธรรมพระกิตติคุณข้อใด
ผู้ใหญ่ดึงประสบการณ์ของตนมาใช้ขณะเรียนรู้
โยบกล่าวว่า “ปัญญาอยู่ในผู้สูงวัย และอายุยืนยาวทำให้เกิดความเข้าใจ” (โยบ 12:12) โดยทั่วไป ปัญญาและความเข้าใจทางวิญญาณเกิดขึ้นหลังมีประสบการณ์หลายปี ขณะท่านสอนผู้ใหญ่ เชิญให้พวกเขาแบ่งปันประสบการณ์ที่เสริมสร้างศรัทธาของพวกเขาในพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ การทำเช่นนี้จะให้โอกาสพวกเขาเป็นพยานถึงวิธีที่พวกเขามาถึงจุดที่รู้ว่าหลักธรรมพระกิตติคุณที่พวกเขากำลังศึกษาเป็นความจริง นอกจากนี้ การแบ่งปันประสบการณ์จะยังช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนที่ท่านสอนด้วย เป็นการช่วยให้ “ทุกคน … ได้รับการจรรโลงใจจากทุกคน” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:122)
ผู้ใหญ่แสวงหาการประยุกต์ใช้ที่ปฏิบัติได้จริง
ผู้ใหญ่ที่ท่านสอนอาจมีบทบาทและหน้าที่รับผิดชอบหลายอย่างในอาชีพ ชุมชน การเรียกของศาสนจักร และครอบครัวของตน ขณะศึกษาพระกิตติคุณ ผู้ใหญ่มักนึกถึงวิธีที่เรื่องซึ่งกำลังเรียนรู้ช่วยพวกเขาในบทบาทเหล่านั้น เชิญให้พวกเขาเห็นว่าพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าเชื่อมโยงกับสภาวการณ์ที่ไม่เหมือนใครของพวกเขาได้อย่างไร ท่านอาจทำสิ่งนี้ได้โดยการถามพวกเขาว่าหลักธรรมพระกิตติคุณมีความหมายและนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตพวกเขาได้อย่างไร
ผู้ใหญ่สามารถนึกคิดในวิธีที่ซับซ้อน
เนื่องจากประสบการณ์และความรู้ของตน ผู้ใหญ่รู้ว่าไม่มีคำตอบที่ง่ายสำหรับคำถามพระกิตติคุณเสมอไป พวกเขาอาจรู้สึกขอบคุณที่ข้อความพระคัมภีร์อาจมีความหมายหลายแบบ และพวกเขาสามารถประยุกต์ใช้หลักธรรมพระกิตติคุณหนึ่งข้อกับหลายสถานการณ์ชีวิต เชิญให้พวกเขาไตร่ตรองถึงวิธีที่หลักธรรมพระกิตติคุณเกี่ยวข้องกันเองอย่างไรและเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตพวกเขาอย่างไร กระตุ้นการมีส่วนร่วมและการสนทนาเพื่อให้พวกเขาสามารถเรียนรู้จากมุมมองที่ไม่ซ้ำแบบใครของกันและกัน
การสอนผู้คนที่ทุพพลภาพ
ช่วยให้แต่ละคนเติบโตและก้าวหน้า
โจเซฟ สมิธสอนว่า “จิตใจและวิญญาณทั้งหมดที่พระผู้เป็นเจ้าส่งมาในโลกล้วนขยายได้” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 225) สรุปว่าบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าทุกคนสามารถเพิ่มพูนความรู้และก้าวหน้าได้ ทูลขอให้พระเจ้าทรงช่วยท่านรู้วิธีช่วยให้แต่ละคน
เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องจำเป็นเฉพาะตัว
พูดคุยกับผู้เรียนหรือบิดามารดาหรือผู้ดูแลของพวกเขา ค้นหาว่าแต่ละคนเรียนรู้ได้ดีที่สุดอย่างไรและวิธีใดช่วยได้มากที่สุด นอกจากนี้ ท่านอาจหารือกับผู้นำและครูคนอื่นๆ ผู้มีประสบการณ์และข้อคิดให้แบ่งปัน ดูข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการสอนที่มีประโยชน์ได้ที่ disabilities.ChurchofJesusChrist.org
สร้างบรรยากาศที่ดี
สร้างบรรยากาศที่ดีให้ทุกคนรู้สึกปลอดภัยและได้รับความรัก ห้ามด่วนสรุปว่าผู้เรียนที่ทุพพลภาพทุกคนเหมือนกัน แต่ให้ปฏิบัติกับแต่ละคนด้วยความรักและให้เกียรติ สนับสนุนคนอื่นๆ ให้มีน้ำใจและยอมรับ
ทำให้แน่ใจว่าทุกคนมีส่วนร่วมได้
ท่านสามารถปรับเปลี่ยนกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้เรียนทุกคนได้เรียนรู้ รวมทั้งคนที่มีขีดจำกัดทางกายหรือความยากลำบากด้านการเรียนรู้ ตัวอย่างเช่น ถ้ากิจกรรมเสนอแนะให้ดูภาพ ท่านอาจจะร้องเพลงที่เกี่ยวข้องแทนเพื่อให้ผู้เรียนที่มีความบกพร่องทางสายตามีส่วนร่วมด้วยได้
กำหนดโครงสร้างและกิจวัตรประจำห้องเรียนที่ใช้อย่างสม่ำเสมอ
วิธีสร้างกิจวัตรวิธีหนึ่งคือทำโปสเตอร์ตาราง ตารางของท่านอาจรวมถึงการสวดอ้อนวอน ช่วงการสอน และช่วงกิจกรรม การทำตามตารางจะช่วยลดความรู้สึกไม่แน่ใจและความวิตกกังวลของผู้เรียนบางคนได้
เข้าใจสาเหตุที่เกิดปัญหาพฤติกรรม
เรียนรู้เกี่ยวกับความพิการหรือสภาวการณ์ที่อาจส่งผลให้บุคคลประพฤติไม่เหมาะสม เอาใจใส่อย่างเต็มที่ต่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเมื่อเกิดปัญหาพฤติกรรม คิดหาวิธีปรับเปลี่ยนสถานการณ์ร่วมกับการสวดอ้อนวอนเพื่อช่วยเหลือผู้เรียนได้ดีขึ้น
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสอนคนพิการได้ที่ disabilities.ChurchofJesusChrist.org
การสอนออนไลน์
สร้างความคุ้นเคยกับเทคโนโลยี
ก่อนเริ่มชั้นเรียนหรือการประชุมของท่าน ให้ใช้เวลาทำความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีที่กำลังจะใช้ สำรวจฟีเจอร์ต่างๆ ของสิ่งที่จะใช้ เช่น วิธีแชร์วีดิทัศน์และรูปภาพ ให้พิจารณาจัดการประชุม “ทดสอบ” กับสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนๆ ของท่าน
วอร์ดและสเตคส่วนใหญ่มีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี นอกจากนี้ ท่านอาจรู้จักคนอื่นๆ ที่มีประสบการณ์ในการประชุมออนไลน์ ขอคำแนะนำหรือแนวทางจากพวกเขา
ขจัดสิ่งรบกวนใดๆ ที่อาจมี
หากเป็นไปได้ จงหาสถานที่เงียบสงบเพื่อใช้ในการจัดการประชุมของท่าน เสียงรบกวนโดยรอบอาจทำให้เบี่ยงเบนความสนใจได้ กระตุ้นให้ผู้เรียนทำเช่นเดียวกันหรือปิดเสียงไมโครโฟนหากไม่ต้องการพูดอะไร
ใช้กล้อง
หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ให้เปิดกล้องของท่านไว้เพื่อให้ผู้เรียนสามารถมองเห็นใบหน้าของท่าน เชื้อเชิญ (แต่ไม่บังคับ) ให้ผู้เรียนเปิดกล้องด้วย สิ่งนี้จะช่วยสร้างความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันและการช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้
การใช้ฟีเจอร์ส่งข้อความออนไลน์
โปรแกรมการประชุมออนไลน์จำนวนมากให้โอกาสผู้เข้าร่วมพิมพ์คำถามหรือข้อคิดเห็นในหน้าต่างข้อความได้ บางโปรแกรมมีฟีเจอร์ให้ผู้เข้าร่วมยกมือทางออนไลน์ได้ด้วย แจ้งให้ผู้เรียนทราบเกี่ยวกับฟีเจอร์เหล่านี้ ท่านอาจต้องการมอบหมายให้มีคนคอยดูการยกมือหรือความคิดเห็นในช่องส่งข้อความเพื่อให้ท่านสามารถมุ่งความสนใจอยู่กับการนำการสนทนา
หาวิธีให้ผู้เรียนมีส่วนเกี่ยวข้อง
บางครั้งสภาพแวดล้อมของการเรียนทางออนไลน์ทำให้ยากต่อผู้คนที่จะเห็นและได้ยิน พยายามตั้งใจทำให้คนที่ต้องการมีส่วนเกี่ยวข้องได้มีส่วนเกี่ยวข้อง บางครั้งการทำเช่นนี้หมายถึงการสร้างกลุ่มย่อย (ตัวอย่างเช่น การแบ่งกลุ่มย่อยของชั้นเรียนโรงเรียนวันอาทิตย์ที่มีกลุ่มใหญ่มาก) บางครั้งหมายถึงการขอให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในวิธีที่พิเศษเฉพาะไว้ล่วงหน้า อย่าให้ข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีทำให้ท่านลืมหรือมองข้ามผู้คนที่กระตือรือร้นและเต็มใจที่จะเรียน