การประชุมใหญ่สามัญ
ถวายความบริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์แด่พระเจ้า
การประชุมใหญ่สามัญเดือนตุลาคม 2021


ถวายความบริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์แด่พระเจ้า

การพลีบูชา/การเสียสละแทบจะไม่เกี่ยวกับ “การยอมสละ” แต่เกี่ยวกับ “การถวายแด่” พระเจ้ามากกว่า

ปีที่แล้ว ขณะรับใช้ในฝ่ายประธานภาคเอเชียเหนือ ข้าพเจ้าได้รับโทรศัพท์จากประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันเชิญให้ข้าพเจ้ามารับใช้เป็นที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายอธิการควบคุม ท่านได้กรุณาเชิญลอรี่ภรรยาข้าพเจ้าร่วมสนทนาด้วย หลังจบการสนทนา เรายังอยู่ในสภาพที่ไม่อยากเชื่อเมื่อภรรยาข้าพเจ้าถามว่า “แล้วฝ่ายอธิการควบคุมทำอะไรกันบ้าง?” หลังจากใคร่ครวญสักครู่ ข้าพเจ้าตอบไปว่า “ผมก็ไม่แน่ใจ!”

หนึ่งปีต่อมา—หลังจากรู้สึกนอบน้อมและสำนึกคุณอย่างลึกซึ้ง—ข้าพเจ้าตอบคำถามของภรรยาได้ด้วยความเข้าใจมากยิ่งขึ้น ในบรรดาสิ่งอื่นๆ มากมาย ฝ่ายอธิการควบคุมสอดส่องดูแลงานด้านสวัสดิการและมนุษยธรรมของศาสนจักร ปัจจุบันงานนี้ครอบคลุมทั่วโลกและเป็นพรแก่บุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้ามากกว่าแต่ก่อน

ในฐานะฝ่ายอธิการควบคุม เราได้รับความช่วยเหลือจากพนักงานศาสนจักรที่ยอดเยี่ยมและคนอื่นๆ รวมถึงฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญซึ่งรับใช้กับเราในคณะกรรมการบริหารสวัสดิการและการพึ่งพาตนเองของศาสนจักร ด้วยบทบาทในฐานะสมาชิกคณะกรรมการชุดนี้ ฝ่ายประธานสูงสุดขอให้ข้าพเจ้า—กับซิสเตอร์แชรอน ยูแบงค์ซึ่งพูดกับเราเมื่อค่ำวานนี้—มาแบ่งปันข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับงานด้านมนุษยธรรมของศาสนจักร ทั้งยังขอเป็นพิเศษให้เราแสดงความสำนึกคุณอย่างยิ่งจากฝ่ายประธานสูงสุด—เพราะพี่น้องทั้งหลาย พวกท่านคือผู้ที่ทำให้งานด้านมนุษยธรรมเหล่านี้เป็นไปได้

ภาพ
การบริจาคด้านมนุษยธรรม
ภาพ
การบริจาคด้านมนุษยธรรมเพิ่มเติม

ขณะเฝ้าสังเกตการณ์ด้วยความห่วงใยถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจช่วงแรกจากวิกฤตโควิด-19 ทั่วโลก ง่ายที่เราจะคาดการณ์ว่าวิสุทธิชนจะสามารถบริจาคเงินได้น้อยลง เหนือสิ่งใด สมาชิกเราเองก็ไม่ได้มีภูมิคุ้มกันต่อภาวะถดถอยจากโรคระบาดนี้ ลองนึกถึงความรู้สึกเมื่อเราพบว่าเรื่องกลับเป็นตรงกันข้าม! เงินบริจาคเพื่อมนุษยธรรมในปี 2020 มียอดสูงสุดกว่าที่เคยมีมา—และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอีกในปีนี้ ผลจากความเอื้อเฟื้อของท่าน ศาสนจักรสามารถตอบสนองได้มากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มตั้งกองทุนเพื่อมนุษยธรรมมา ด้วยโครงการบรรเทาทุกข์โควิดกว่า 1,500 โครงการในมากกว่า 150 ประเทศ เงินบริจาคซึ่งท่านถวายแด่พระเจ้าอย่างไม่คำนึงถึงตนเองเหล่านี้ได้เปลี่ยนเป็นอาหารประทังชีวิต ออกซิเจน วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ และการฉีดวัคซีนให้แก่คนที่อาจไม่ได้รับหากไม่มีเงินบริจาคนี้

ภาพ
ผู้ลี้ภัย
ภาพ
ผู้ลี้ภัย
ภาพ
ผู้ลี้ภัย

ที่สำคัญไม่น้อยกว่าการบริจาคสิ่งของคือการทุ่มเทเวลาและพลังงานอย่างมหาศาลของสมาชิกศาสนจักรที่อุทิศแด่อุดมการณ์เพื่อมนุษยธรรม แม้ขณะที่การระบาดกำลังรุนแรง ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความขัดแย้งทางการเมือง และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจก็ยังไม่ผ่อนคลายลงและขับผู้คนหลายล้านคนให้จากบ้านอยู่เรื่อยๆ สหประชาชาติรายงานว่าปัจจุบันในโลกนี้มีมากกว่า 82 ล้านคนที่จำต้องย้ายถิ่นฐาน1 นอกจากนี้ยังมีอีกหลายล้านคนที่เลือกหนีจากความยากจนหรือการกดขี่เพื่อค้นหาชีวิตที่ดีกว่าให้ตนเองหรือลูกหลาน และท่านคงพอจะเริ่มเห็นภาพความหนักหนาของสถานการณ์ในโลกนี้ได้

ข้าพเจ้ายินดีที่จะรายงานว่าเนื่องจากเวลาและพรสวรรค์ของอาสาสมัครมากมาย ศาสนจักรจึงสามารถเปิดศูนย์ต้อนรับผู้ลี้ภัยและผู้อพยพหลายแห่งในสหรัฐและยุโรป และเนื่องจากการบริจาคของท่าน เราจึงสามารถจัดหาอาหาร เงินทุน และอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือโปรแกรมคล้ายๆ กันซึ่งดำเนินงานโดยองค์กรอื่นทั่วโลก

ขอแสดงความสำนึกคุณจากใจต่อวิสุทธิชนที่ยื่นมือออกมาให้อาหาร เสื้อผ้า และความเป็นมิตรแก่ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ ตลอดจนช่วยพวกเขาให้สามารถลงหลักปักฐานและพึ่งตนเองได้

ค่ำวานนี้ ซิสเตอร์ยูแบงค์แบ่งปันกับท่านเกี่ยวกับงานอันล้ำเลิศของวิสุทธิชนในเรื่องนี้ไปบ้างแล้ว เมื่อใคร่ครวญถึงงานเหล่านี้ ข้าพเจ้ามักนึกถึงหลักธรรมเรื่องการพลีบูชา/การเสียสละและการเชื่อมโยงโดยตรงของหลักธรรมนี้กับพระบัญญัติสำคัญสองข้อของการรักพระผู้เป็นเจ้าและการรักเพื่อนบ้าน

สมัยปัจจุบันการใช้คำว่า การพลีบูชา/การเสียสละ (sacrifice) แฝงความหมายแนวคิดเรื่อง “การยอมสละ” สิ่งต่างๆ เพื่อพระเจ้าและอาณาจักรของพระองค์ แต่ในสมัยโบราณ ความหมายของคำว่า การพลีบูชา/การเสียสละ (sacrifice) จะยึดโยงกับรากศัพท์ภาษาละตินสองคำมากกว่า: sacer หมายถึง “ศักดิ์สิทธิ์” หรือ “บริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์” และ facere หมายถึง “การทำให้”2 ดังนั้น การพลีบูชา/การเสียสละ (sacrifice) ในสมัยโบราณจึงมีความหมายตามรากศัพท์ว่า “การทำให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือคนใดคนหนึ่งบริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์”3 เมื่อมองอย่างนั้น การพลีบูชา/การเสียสละจึงเป็นกระบวนการมาสู่ความบริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์และการมารู้จักพระผู้เป็นเจ้า ไม่ใช่เหตุการณ์หรือพิธีกรรม “การยอมสละ” สิ่งใดเพื่อพระเจ้า

พระเจ้าตรัสว่า “เพราะเราประสงค์ความเมตตา ไม่ประสงค์เครื่องสัตวบูชา เราประสงค์ให้รู้จักพระเจ้า ยิ่งกว่าประสงค์เครื่องบูชาเผาทั้งตัว”4 พระเจ้าทรงต้องการให้เราบริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์5 เป็นผู้ครอบครองจิตกุศล6 และมารู้จักพระองค์7 ดังที่อัครสาวกเปาโลสอน “แม้ข้าพเจ้าจะบริจาคสิ่งของของข้าพเจ้าทุกอย่างหรือยอมให้เอาตัวไปเผาไฟ แต่ไม่มีความรัก ก็จะไม่เป็นประโยชน์กับข้าพเจ้า”8 สุดท้าย พระเจ้าทรงต้องการใจของเรา พระองค์ทรงต้องการให้เรากลายเป็นคนใหม่ในพระคริสต์9 ดังที่พระองค์ทรงสอนชาวนีไฟ “เจ้าจะถวายใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด แก่ เราเป็นเครื่องพลีบูชา”10

ภาพ
ศักดิ์สิทธิ์แด่พระเจ้า

การพลีบูชา/การเสียสละแทบจะไม่เกี่ยวกับ “การยอม สละ” แต่เกี่ยวกับ “การถวาย แด่” พระเจ้ามากกว่า บนประตูเข้าพระวิหารของเราแต่ละแห่งมีคำว่า “ศักดิ์สิทธิ์แด่​พระเจ้า พระนิเวศน์ของพระเจ้า” สลักเอาไว้ ขณะรักษาพันธสัญญาด้วยการพลีบูชา เราได้รับการทำให้บริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ผ่านพระคุณของพระเยซูคริสต์ และที่แท่นบูชาของพระวิหารศักดิ์สิทธิ์ ด้วยใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด เราถวายความบริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ของเราแด่พระเจ้า เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์สอนว่า “การยอมมอบความประสงค์ [หรือใจ11] ของตนเอง จริงๆ แล้วเป็นของส่วนตัวที่เรามีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่จะวางบนแท่นบูชาของพระผู้เป็นเจ้า … แต่สุดท้ายเมื่อท่านและข้าพเจ้ายอมตนโดยให้ความประสงค์ของเราแต่ละคนถูกกลืนเข้าไปในพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า เมื่อนั้นเราถึงกำลังถวายบางสิ่ง แด่ พระองค์จริงๆ!”12

เมื่อการเสียสละเพื่อคนอื่นถูกมองด้วยมุมมองของ “การยอมสละ” เราอาจเห็นสิ่งเหล่านั้นเป็นภาระและจะท้อถอยเมื่อการเสียสละของเราไม่ได้รับการยกย่องหรือได้รับรางวัล แต่เมื่อมองจากมุมมองของ “การถวายแด่” พระเจ้า การเสียสละเพื่อคนอื่นจะกลายเป็นของขวัญ และปีติจากการให้ด้วยความเอื้อเฟื้อจะเป็นรางวัลในตัวมันเอง เมื่อหลุดพ้นจากความต้องการความรัก ความเห็นชอบ หรือความซาบซึ้งจากคนอื่น การเสียสละของเราจะกลายเป็นการแสดงออกที่บริสุทธิ์ที่สุดและลึกซึ้งที่สุดถึงความสำนึกคุณและความรักที่เรามีต่อพระผู้ช่วยให้รอดและเพื่อนมนุษย์ ความรู้สึกหยิ่งยโสของการสละตนเองจะหลีกทางให้ความรู้สึกสำนึกคุณ ความเอื้อเฟื้อ ความอิ่มเอมใจ และปีติ13

สิ่งใดสิ่งหนึ่ง—ไม่ว่าจะเป็นชีวิต ทรัพย์สิน เวลา หรือพรสวรรค์ของเรา—ไม่อาจทำให้บริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ได้ด้วยการยอมสละเท่านั้น แต่ด้วยการอุทิศถวาย14แด่พระเจ้า งานเพื่อมนุษยธรรมของศาสนจักรเป็นของขวัญเช่นนั้น งานนี้เกิดจากเงินบริจาคที่วิสุทธิชนอุทิศถวายรวมกัน เป็นการแสดงให้ประจักษ์ถึงความรักที่เรามีต่อพระผู้เป็นเจ้าและบุตรธิดาของพระองค์15

ภาพ
ซิสเตอร์แคนฟีลด์กับคนที่เธอรับใช้

สตีฟและอนีตา แคนฟีลด์เป็นตัวแทนวิสุทธิชนยุคสุดท้ายทั่วโลกที่ประสบด้วยตนเองถึงพรแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้จากการถวายแด่พระเจ้า ในฐานะผู้สอนศาสนาด้านสวัสดิการและการพึ่งพาตนเอง ทั้งคู่ถูกขอให้ไปช่วยค่ายผู้ลี้ภัยและศูนย์ผู้อพยพทั่วยุโรป ในชีวิตงานอาชีพ ซิสเตอร์แคนฟิลด์เป็นนักออกแบบตกแต่งภายในระดับโลก ได้รับว่าจ้างจากลูกค้าผู้มั่งคั่งให้ตกแต่งบ้านเลิศหรูของพวกเขา จู่ๆ เธอก็พบว่าตนเองถูกผลักเข้าไปในโลกที่ตรงกันข้ามกันโดยสิ้นเชิงเมื่อเธอต้องรับใช้ในหมู่ผู้คนที่สูญเสียเกือบทุกสิ่งในแง่ของทรัพย์สินทางโลก เธอบอกว่า เธอแลก “ทางเดินหินอ่อนกับพื้นดิน” และในการทำเช่นนั้นเธอบรรลุความปรารถนาในระดับที่ไม่อาจวัดได้ขณะเธอกับสามีเริ่มผูกมิตร—และในไม่ช้าก็รักและโอบอุ้ม—คนที่ต้องได้รับการดูแลจากเธอกับสามี

คู่สามีภรรยาแคนฟิลด์ตั้งข้อสังเกตว่า “เราไม่ได้รู้สึกเหมือนเราได้ ‘ยอมสละ’ อะไรเพื่อรับใช้พระเจ้า เราปรารถนาเพียงจะ ‘ถวาย’ เวลาและพลังงานของเราแด่พระองค์เพื่อเป็นพรแก่บุตรธิดาของพระองค์ในวิธีใดก็ได้ที่ทรงเห็นว่าควรจะใช้เรา ขณะทำงานเคียงข้างพี่น้องชายหญิงของเรา ไม่ว่าจะมีรูปลักษณ์ภายนอกอย่างไร—ไม่ว่าจะมีภูมิหลังหรือทรัพย์สมบัติแตกต่างกันอย่างไร—ล้วนไร้ความหมายสำหรับเรา เรามองเห็นเพียงหัวใจของกันและกัน ไม่มีความสำเร็จจากงานอาชีพหรือผลประโยชน์ทางวัตถุระดับใดจะเทียบเท่าได้กับวิธีที่ประสบการณ์การรับใช้ท่ามกลางบุตรธิดาผู้ต่ำต้อยที่สุดของพระผู้เป็นเจ้าได้เพิ่มคุณค่าให้เรา”

เรื่องราวของคู่สามีภรรยาแคนฟิลด์และอีกหลายคนที่คล้ายกันช่วยให้ข้าพเจ้าซาบซึ้งในเนื้อร้องเพลงปฐมวัยที่แม้เรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง:

ลำธารเล็กเล็กพูดว่า [“จงให้”]

ให้เหมือนไหลลงจากเนินเขา

“ฉันรู้ฉันเล็ก แต่เมื่อไหลไปที่ใด

ทุ่งหญ้าเขียวขจี”

ใช่ เราแต่ละคนเป็นส่วนเล็กๆ แต่เมื่อมารวมกันขณะเร่งงานถวายแด่พระผู้เป็นเจ้าและเพื่อนมนุษย์ ไม่ว่าเราจะไปที่ใดหลายชีวิตจะดีขึ้นและได้รับพร

เนื้อร้องข้อสามของเพลงนี้เป็นที่รู้จักน้อยแต่สรุปคำเชิญด้วยความรักดังนี้:

พระเยซูตรัสไว้ว่า

มีสิ่งที่ทุกคนให้ได้

ทำดังเช่นลำธารดอกไม้ตระการ:

ที่ให้แก่ทุกๆ คน16

พี่น้องที่รักทั้งหลาย ขณะเราดำเนินชีวิตเพื่อพระผู้เป็นเจ้าและคนอื่นๆ โดยการให้ทรัพย์สิน เวลา และแม้แต่ตัวเราเอง เรากำลังทำให้โลกเขียวขึ้นอีกนิด ทำให้บุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้ามีความสุขขึ้นอีกหน่อย และในกระบวนการดังกล่าวเราก็บริสุทธิ์ขึ้นอีกเล็กน้อย

ขอพระเจ้าทรงอวยพรท่านมากมายสำหรับการเสียสละที่ท่านถวาย แด่ พระองค์อย่างเต็มที่เหลือเกิน

ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงพระชนม์ “มหาบุรุษแห่งความบริสุทธิ์คือพระนามของพระองค์”17 พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระบุตรของพระองค์ ทรงเป็นผู้ประทานของประทานที่ดีทุกอย่าง18 ขอให้เราบริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์และถวายความรักและความบริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์มากขึ้นแด่พระเจ้าตลอดไปโดยผ่านพระคุณของพระองค์และการรักษาพันธสัญญาของเราโดยการเสียสละ19 ในพระนามอันบริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูคริสต์ เอเมน

พิมพ์