เอ็ลเดอร์แกรีย์ อี. สตีเวนสัน: ใจที่เข้าใจ
ภาพข่าว เอื้อเฟื้อโดย คริสติน เมอร์ฟีย์, Deseret News; และซาราห์ เจน วีเวอร์, Church News
เมื่อแกรีย์ สตีเวนสันอายุประมาณ 11 ขวบ บิดาท่านพาไปเดินเขา “ข้าพเจ้ากระโดดจากหินก้อนหนึ่งไปอีกก้อนหนึ่งข้างหน้าคุณพ่อ” ท่านจำได้ “ข้าพเจ้าตั้งใจจะปีนขึ้นไปบนหินก้อนใหญ่และมองลงมา เมื่อข้าพเจ้าปีนขึ้นไปจนถึงพื้นผิวด้านบนของหินก้อนนั้น ท่านก็คว้าเข็มขัดข้าพเจ้าไว้และดึงข้าพเจ้าลงมา
“‘มีอะไรหรือครับ ข้าพเจ้าถาม และท่านตอบว่า ‘อย่าปีนขึ้นไปบนหินก้อนนั้น แค่เดินอยู่บนทางเดินก็พอ’ ครู่หนึ่งต่อมาเมื่อเรามองลงมาจากทางขึ้นเนิน เรามองเห็นงูหางกระดิ่งอาบแดดอยู่บนหินก้อนนั้น
“‘นั่นคือสาเหตุที่พ่อดึงลูกกลับ’ คุณพ่ออธิบาย
“ต่อมาขณะที่เราขับรถกลับบ้าน ข้าพเจ้ารู้ว่าท่านกำลังรอข้าพเจ้าถามว่า ‘คุณพ่อรู้ได้อย่างไรครับว่างูอยู่ตรงนั้น’ ท่านตอบว่า ‘พ่อจะสอนลูกเรื่องพระวิญญาณบริสุทธิ์’ เรามีบทเรียนที่เกิดขึ้นขณะนั้นเกี่ยวกับบทบาทของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในชีวิตเรา คือ ผู้คุ้มครอง ผู้ปลอบโยน และผู้ทรงเป็นพยาน ‘ในกรณีนี้’ คุณพ่อแบ่งปัน ‘พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงคุ้มครองลูกผ่านพ่อ พระองค์ทรงเตือนพ่อให้ดึงลูกออกมา’”
ประสบการณ์นี้แม้จะเรียบง่ายแต่ช่วยให้เอ็ลเดอร์สตีเวนสันเข้าใจว่าเมื่อได้รับการกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณ ท่านควรยอมรับและปฏิบัติตาม นี่เป็นหนึ่งในหลายๆ บทเรียนที่ท่านได้จากบิดา
มารดาที่ยอดเยี่ยม ครูพี่เลี้ยงที่ยอดเยี่ยม
ภาพถ่าย เอื้อเฟื้อโดยครอบครัวสตีเวนสัน ยกเว้นที่ระบุ; ซ้าย: ดอกไม้ © tukkata/iStock/Thinkstock; ขวา: ภาพพระวิหารโลแกน ยูทาห์rvie โดย JaDigital
ตามที่เอ็ลเดอร์สตีเวนสันกล่าว มารดาท่านเป็นแบบอย่างของความดีงามอันบริสุทธิ์ “ความคาดหวังของท่านผลักดันข้าพเจ้า การกระทำแทบทุกอย่างของข้าพเจ้าใช้เกณฑ์ความคิดที่ว่า ‘ข้าพเจ้าไม่ต้องการทำให้แม่ผิดหวัง’”
บิดามารดาของท่านร่วมกันเสริมหลักธรรมพระกิตติคุณระหว่างการสังสรรค์ในครอบครัว กิจกรรมและการชุมนุมอื่นๆ ของครอบครัว “พวกท่านยึดครอบครัวไว้ในคำสอนของพระกิตติคุณ พระกิตติคุณเป็นรากฐานของชีวิตเรา” ท่านกล่าว
ครูพี่เลี้ยงคนสำคัญอีกหลายคนนำทางท่านเช่นกัน “ข้าพเจ้าจำได้ในการอบรมช่วงแรกๆ ในฐานะเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์ ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุดเสนอให้เราเขียนรายชื่อคน 20 คนที่ส่งผลทางบวกต่อชีวิตเรา ข้าพเจ้าคิดว่าทุกคนได้ประโยชน์จากการทำเช่นนั้น การนึกถึงชายหญิงที่ดีทุกคนที่คอยช่วยข้าพเจ้า โดยเฉพาะในวัยเยาว์ของข้าพเจ้า สร้างแรงบันดาลใจให้ข้าพเจ้า”
เข้มแข็งเพราะครอบครัวและมิตรสหาย
แกรีย์ อีแวน สตีเวนสันเกิดวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1955 ท่านเติบโตในเมืองโลแกน รัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา อีแวนกับจีน ฮอลล์ สตีเวนสัน บิดามารดาของท่านมีบุตรสี่คน แกรีย์เป็นบุตรคนที่สองและเป็นบุตรชายคนโต
“ข้าพเจ้ามีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับพี่น้อง เดบบี้ พี่สาวข้าพเจ้าคาดหวังให้ข้าพเจ้าทำสิ่งถูกต้อง เมริลีและดักก์ คาดหวังว่าข้าพเจ้าจะเป็นแบบอย่าง เราทุกคนรู้สึกว่าตนมีหน้าที่ต้องดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมและมีส่วนร่วมในกิจกรรมของศาสนจักร” ญาติพี่น้องของท่านมีความคาดหวังสูงเช่นกัน “ตัวอย่างเช่น เมื่อญาติผู้พี่ของข้าพเจ้าไปเป็นผู้สอนศาสนา เขาเซ็นธนบัตร 2 ดอลลาร์ให้ญาติคนถัดไปที่กำลังเตรียมรับใช้ ธนบัตร 2 ดอลลาร์ใบนั้นส่งผ่านลูกพี่ลูกน้อง 16 คนที่รับใช้งานเผยแผ่ทั่วโลกเพื่อเตือนใจแต่ละคนว่าเราเป็นหนึ่งเดียวกันในการรับใช้พระเจ้า”
เพื่อนๆ ฐานะปุโรหิตเป็นอิทธิพลดีต่อท่านเช่นกัน “ข้าพเจ้าเรียนรู้ในชีวิตวัยเยาว์ว่าการสมาคมกับโควรัมมีความหมายอย่างไร ไม่เฉพาะวันอาทิตย์เท่านั้นแต่ในละแวกบ้านและในโรงเรียนด้วย” ท่านกล่าว “นั่นทำให้ข้าพเจ้ารู้ความหมายของอัตลักษณ์ การเป็นพวกเดียวกัน ความเป็นพี่น้อง และการรับใช้” ท่านจำได้เป็นพิเศษคราวไปรวบรวมเงินบริจาคอดอาหารกับสมาชิกโควรัมจากพี่น้องสตรีคนหนึ่งในวอร์ดที่ออกจากบ้านไม่ได้ ตาบอด และมีรายได้ไม่มาก “แม้จะอยู่ในสภาพนั้น แต่เธอมักจะมีเงินห้าเซนต์หรือสิบเซนต์บริจาคอดอาหารเสมอ” ท่านจำได้
ของประทานที่เรียกร้องให้ฝึกฝน
หลังจากเรียนจบมัธยมปลายและเข้าเรียนมหาวิทยาลัยยูทาห์สเตทได้ไม่นาน เอ็ลเดอร์สตีเวนสันได้รับเรียกให้ไปรับใช้ในคณะเผยแผ่ฟุกุโอะกะ ประเทศญี่ปุ่น “ข้าพเจ้ารู้สึกกังวลกับการเรียนภาษาญี่ปุ่น ความกังวลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในศูนย์ฝึกอบรมผู้สอนศาสนา แต่ราวหกสัปดาห์หลังจากนั้น การสวดอ้อนวอนด้วยศรัทธาแรงกล้าและการศึกษาอย่างขยันหมั่นเพียรทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกสงบ ข้าพเจ้าทราบว่าพระเจ้าจะทรงอวยพรให้ข้าพเจ้าเรียนภาษาญี่ปุ่นได้ แต่ใช่ว่าจะไม่ต้องฝึกหนัก เรื่องนี้สอนข้าพเจ้าว่าของประทานแห่งการพูดภาษาก็เหมือนกับศรัทธา การทำงาน และหลักธรรมพระกิตติคุณข้ออื่น หลังจากท่านได้ทำสุดความสามารถแล้ว ท่านจะได้รับพร”
หลังจากงานเผยแผ่ เอ็ลเดอร์สตีเวนสันเกิดความหลงใหลในประวัติศาสนจักร การศึกษาพระคัมภีร์มอรมอน พระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา และเจาะลึกเข้าไปในบันทึกประวัติศาสตร์และประวัติครอบครัว ท่านสนใจเป็นพิเศษเรื่องโจเซฟ สมิธกับครอบครัว ครอบครัววิตเมอร์ ออลิเวอร์ คาวเดอรี และมาร์ติน แฮร์ริส ท่านค้นคว้าเรื่องการแปลและการจัดพิมพ์พระคัมภีร์มอรมอนฉบับต่างๆ
ท่านเรียนรู้อีกครั้งว่าศรัทธาและการทำงานหนักไปด้วยกัน “ทุกคำตอบของคำถามพระกิตติคุณทุกข้อไม่มาทันที” ท่านแนะนำ “พระเจ้าทรงคาดหวังให้เราอ่าน ศึกษา ไตร่ตรอง และสวดอ้อนวอน เมื่อเราทำสิ่งนี้ด้วยศรัทธาและความปรารถนาอันชอบธรรม พยานจะมาเมื่อถึงเวลา”
ท่านรู้สึกได้รับพรเป็นพิเศษตลอดวันเวลาที่ผ่านมาเมื่อได้รับเรียกให้สอนชั้นเรียนเยาวชนโรงเรียนวันอาทิตย์ ชั้นเรียนหลักคำสอนพระกิตติคุณ และชั้นเรียนเยาวชนชาย การเรียกเหล่านี้ช่วยให้ท่านได้เป็นพยานถึงความรู้สึกลึกซึ้งที่มีต่อความจริงของพระคัมภีร์ ความมั่นใจที่เพิ่มขึ้นจากการศึกษาหลายปี
เอ็ลเดอร์สตีเวนสันกลับไปศึกษาด้านการบริหารธุรกิจและการตลาดที่มหาวิทยาลัยยูทาห์สเตท ท่านใช้เวลาหลายชั่วโมงในห้องสมุด “ทุกครั้งที่เข้าไป ข้าพเจ้าจะเจอป้าย … ที่เขียนว่า ‘จุดเริ่มต้นของปัญญาเป็นอย่างนี้คือ จงเอาปัญญา’ [สุภาษิต 4:7]” พระคัมภีร์ข้อนี้จารึกอยู่ในใจท่านและหลายปีต่อมากลายเป็นหัวข้อคำปราศรัยการให้ข้อคิดทางวิญญาณของท่านที่มหาวิทยาลัยบริคัม ยังก์
“ความเข้าใจดังกล่าวมาจาก การผสมผสานการศึกษากับการสวดอ้อนวอน” ท่านอธิบายไว้ในคำปราศรัยครั้งนั้น “เมื่อเราวางใจและพึ่งพาพระเจ้า ความเข้าใจที่มาจากพระองค์จะเข้ามาในใจเรามากขึ้น”1
เรื่องราวความรักที่สถาบันศาสนา
ในช่วงชั้นเรียนพันธสัญญาเดิมที่สถาบันศาสนา ท่านพบลีซา จีน ฮิกลีย์ เธอย้ายจากแคลิฟอร์เนียมาอยู่ไอดาโฮและเวลานี้เป็นนักศึกษาที่รัฐยูทาห์ “ครูขอให้ลีซาแสดงบทบาทสมมติเป็นเอวาและให้ข้าพเจ้าแสดงเป็นซาตานล่อลวงเธอ ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงต้องใช้เวลาพักหนึ่งโน้มน้าวให้เธอออกไปกับข้าพเจ้า” ท่านยิ้มเมื่อนึกถึงเรื่องนี้ พวกท่านออกเดทเพียงปีกว่าและแต่งงานกันในพระวิหารไอดาโฮฟอลส์ ไอดาโฮในปี 1979
นัยน์ตาของเอ็ลเดอร์สตีเวนสันเป็นประกายเมื่อท่านพูดถึงลีซา ท่านพูดถึงเธอว่าเธอเป็น “แสงตะวันในชีวิตและของชีวิตข้าพเจ้า”2 ซิสเตอร์สตีเวนสันเรียนจบปริญญาคหกรรมศาสตร์ ช่วงแรกหลังจากแต่งงาน เธอสอนหนังสือ อุทิศเวลาและพรสวรรค์ให้โรงเรียนต่างๆ ให้คณะกรรมการระดับท้องถิ่นและชุมชน องค์กรต่างๆ ตลอดจนงานด้านอื่นๆ เสมอ อย่างไรก็ดี เอ็ลเดอร์สตีเวนสันพิจารณาว่าของประทานการเป็นแม่บ้านเป็นหนึ่งในคุณสมบัติส่วนใหญ่ที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่เธอ “เธอมีความสามารถในการสร้างบ้านที่มีพระกิตติคุณเป็นศูนย์กลาง สร้างสภาพแวดล้อมที่อบอุ่นปลอดภัยให้พระวิญญาณสถิตอยู่” ความสามารถดังกล่าว ควบคู่กับความเข้าใจอย่างลึกซึ้งที่ว่าปีติแท้จริงมาจากการรับใช้ผู้อื่น ได้เป็นพรแก่ชีวิตสามีเธอ ครอบครัวเธอ และคนมากมายรอบข้าง
เอ็ลเดอร์และซิสเตอร์สตีเวนสันเป็นบิดามารดาของบุตรชายสี่คน “เราชอบทำทุกอย่างด้วยกันตลอดหลายปีที่ผ่านมา” ท่านกล่าว “ลูกๆ เล่นบาสเกตบอล ฟุตบอล เบสบอล และเทนนิส เราทุกคนชอบกิจกรรมนอกบ้านเช่น การขับรถโฟร์วีลเลอร์ ขับรถเล็กสำหรับแล่นบนหิมะ เล่นสกี สโนว์บอร์ด และกีฬาทางน้ำหลายประเภท กระนั้นก็ตาม ลีซายังมีอิทธิพลทางวัฒนธรรมต่อบุตรชายของเราในระดับหนึ่งเช่นกันโดยทำให้พวกเขาชื่นชอบดนตรีและศิลปะ และเพื่อขยายของประทานแห่งการรับใช้ไปถึงผู้อื่นผ่านครอบครัวเรา เธอจึงจำเป็นต้องใช้ ‘แรงม้า’ ของลูกๆ”
การสร้างธุรกิจ
อาชีพธุรกิจของเอ็ลเดอร์สตีเวนสันเกิดจากความรักที่มีต่อคนเอเชีย เมื่อท่านกลับจากงานเผยแผ่ ท่านกับเพื่อนบางคนเริ่มนำเข้าของขวัญจำพวกเครื่องประดับจากเอเชีย และค่อยๆ พัฒนาเป็นการขายสินค้าเพื่อสุขภาพ ตลอดสามสิบปีติดต่อกัน ธุรกิจขนาดเล็กของพวกท่านเติบโตเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จจนมีพนักงาน 2,500 กว่าคน
พนักงานคนหนึ่งจำสิ่งที่อยู่ในใจนักธุรกิจอย่างเอ็ลเดอร์สตีเวนสันได้ “เรากำลังสนทนาเรื่องธุรกิจที่ตัดสินใจยากเรื่องหนึ่ง ผมบอกเขาว่าเราต้องแน่ใจว่าเราทำถูกกฎหมาย เขาบอกผมว่าเราต้องไม่เพียงทำถูกกฎหมายเท่านั้นแต่ต้องทำสิ่งที่ถูกต้องด้วย”
“การให้หลักธรรมดีๆ ซึมซับอยู่ในธุรกิจเป็นเรื่องดีสำหรับธุรกิจ” เอ็ลเดอร์สตีเวนสันกล่าว “ความซื่อสัตย์สุจริต การทำงานหนัก ความเห็นใจ การปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเคารพ—และขณะเดียวกันก็เรียกร้องความรับผิดชอบ—ไม่ใช่กฎเกณฑ์ที่ท่านพูดถึงและปฏิบัติเฉพาะวันอาทิตย์เท่านั้น แต่ต้องปฏิบัติทุกวันของสัปดาห์”
ธุรกิจยิ่งโต ก็ยิ่งเรียกร้องเวลาของท่าน “ข้าพเจ้าเป็นอธิการวัยหนุ่มที่มีลูกเล็กและเดินทางไปเอเชียหลายครั้งในแต่ละปี บิดาข้าพเจ้าเดินมาหาและพูดว่า ‘พ่อสังเกตว่าเวลาลูกอยู่กับครอบครัว ลูกไม่ได้อยู่ กับ พวกเขาจริงๆ พ่อเกรงว่าเวลาลูกอยู่ที่ทำงาน ลูกไม่ได้จดจ่อเต็มที่กับงาน และเวลาลูกทำหน้าที่ในบทบาทของอธิการ ลูกอาจจะกังวลเรื่องงานหรือครอบครัวของลูก ลูกต้องมีสมดุลในชีวิตมากกว่านี้”
คำแนะนำดังกล่าวมีผลลึกซึ้ง เอ็ลเดอร์สตีเวนสันกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเรียนรู้ว่าการรักษาสมดุลระหว่างครอบครัว งานอาชีพ และการเรียกในศาสนจักรเป็นเรื่องสำคัญ และต้องแน่ใจว่าท่านดูแลตนเองด้วย”
ได้รับเรียกให้รับใช้—หลายครั้งหลายครา
ครั้งหนึ่งผู้นำธุรกิจที่มีคนนับหน้าถือตาคนหนึ่งกระตุ้นให้เอ็ลเดอร์สตีเวนสัน “เรียนรู้ หารายได้ และรับใช้” ในปี 2004 เอ็ลเดอร์สตีเวนสันได้รับการทดสอบในส่วนของการ “รับใช้” จากคำแนะนำนั้นเมื่อท่านกับ สก็อต วัตเตอร์สัน หุ้นส่วนธุรกิจได้รับเรียกเป็นประธานคณะเผยแผ่พร้อมกัน พวกท่านรู้สึกว่าต้องอธิบายให้ผู้ถือผลประโยชน์ร่วมและลูกค้าเข้าใจว่าเหตุใดพวกท่านจึงต้องทิ้งบริษัทชั่วคราว พวกท่านไปเยี่ยมพวกเขาทีละคน
“เมื่อเราอธิบายการเรียกของเราและบอกว่าเราจะรับใช้สามปีโดยไม่ได้เงินชดเชยจากศาสนจักร พวกเขาเคารพความดีงามของเรื่องนั้น” ท่านกล่าว พวกท่านปล่อยให้ธุรกิจอยู่ในมือของทีมผู้บริหารที่ท่านไว้ใจ และธุรกิจรุ่งเรือง
เมื่อเป็นประธานคณะเผยแผ่นะโงะยะ ญี่ปุ่น เอ็ลเดอร์สตีเวนสันพบว่าความรักที่ท่านมีต่อเอเชียลึกซึ้งยิ่งขึ้น “ข้าพเจ้าถือว่าเอเชียเป็นบ้านหลังที่สอง” ท่านกล่าว ความรักอันลึกซึ้งที่มีต่อภรรยาของท่านเพิ่มขึ้นเช่นกันเมื่อท่านเห็นเธอน้อมรับวัฒนธรรมท้องถิ่น มีน้ำใจช่วยเหลือคนอื่นๆ รวมถึงผู้สอนศาสนาและสมาชิก และยังคงเลี้ยงดูบุตรชายสองคนที่ไปกับพวกท่านด้วย บัพติศมาผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสหลายคนส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่เธอพยายามเป็นเพื่อนกับคนรอบข้าง
พวกท่านอยู่บ้านได้เพียงเจ็ดเดือนหลังจากจบงานเผยแผ่เมื่อเอ็ลเดอร์สตีเวนสันได้รับเรียกให้รับใช้ในโควรัมที่หนึ่งแห่งสาวกเจ็ดสิบเมื่อปี 2008
“ข้าพเจ้าตกตะลึงและรู้สึกเจียมตน ข้าพเจ้าคิดว่า ‘มีอีกหลายคนที่รับใช้ได้ดีกว่าข้าพเจ้ามาก’ แต่ข้าพเจ้าก็นึกถึงครั้งก่อนๆ—สมัยเป็นประธานโควรัมเอ็ลเดอร์ สมาชิกสภาสูง อธิการ และที่ปรึกษาในฝ่ายประธานสเตค—เวลาที่ข้าพเจ้ารู้สึกว่าตนไม่มีประสบการณ์มากพอจะทำสิ่งที่ขอให้ทำ ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ว่าก่อนเราได้รับการเรียก เราอาจจะ ไม่ มีคุณสมบัติ แต่การเรียก เริ่ม ทำให้เรามีคุณสมบัติที่สวรรค์กำหนด
“พระคัมภีร์ที่ข้าพเจ้าชื่นชอบข้อหนึ่งบอกเราถึงสองสิ่งที่เราควรทำเมื่อเราได้รับเรียก หนึ่ง ‘จงซื่อสัตย์’ สอง ยืนอยู่ในหน้าที่ซึ่งกำหนดให้ท่าน (ดู คพ. 81:5) สำหรับข้าพเจ้านี่หมายถึงแสดงศรัทธา เรียนรู้สิ่งที่จำเป็นต้องรู้ และจากนั้นให้ทำสุดความสามารถเพื่อขยายการเรียก หากเราทำเช่นนี้ พระเจ้าจะทรงขยายและทำให้เรามีคุณสมบัติคู่ควรเป็นพรแก่ผู้อื่น”
มาเอเชียอีกครั้ง
เมื่อครั้งเป็นสาวกเจ็ดสิบ เอ็ลเดอร์สตีเวนสันได้รับมอบหมายให้เป็นที่ปรึกษาในฝ่ายประธานภาคและจากนั้นจึงเป็นประธานภาคเอเชียเหนือ
ในเดือนมีนาคม ปี 2011 แผ่นดินไหวและสึนามิทำลายล้างญี่ปุ่น แผ่นดินไหวขนาด 9.0 ก่อให้เกิดคลื่นสึนามิที่คร่าชีวิตผู้คน 20,000 คน ประชาชนอีกหลายพันคนต้องย้ายที่อยู่ และบ้านเรือน 550,000 หลังถูกทำลาย
ท่านไปเยือนเขตภัยพิบัติหลายครั้ง “เมื่อเราพบปะพูดคุยกับผู้คน อารมณ์ความรู้สึกของเราเปลี่ยนจากอารมณ์หนึ่งไปอีกอารมณ์หนึ่ง” ท่านเล่า “เราสังเกตเห็นความเศร้าสลดและการสูญเสียปนกับความหวังและการฟื้นฟู ใจเราตื้นตันหลายต่อหลายครั้งเมื่อเห็นยารักษาจากความรักของพระผู้ช่วยให้รอดของเรา”
นอกจากนี้ ท่านยังได้เห็นกับตาว่าศาสนจักรช่วยเหลือคนเดือดร้อนอย่างไร “ความสามารถในการตอบสนองภัยพิบัติและช่วยทำให้การตอบสนองเป็นรูปธรรม—แสดงให้เห็นชัดว่าศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ทำความรับผิดชอบประการหนึ่งที่พระองค์ทรงกำหนดให้ทำ นั่นคือ ดูแลคนยากจนและคนขัดสน” ท่านถือเป็นสิทธิพิเศษอันศักดิ์สิทธิ์เมื่อได้ดูแลช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยากและเห็นผู้อื่นทำแบบเดียวกัน “เราเรียนรู้เกี่ยวกับความดีงามของมนุษยโลก”
มรดกของอธิการ
ความเข้าใจของท่านเรื่องความเห็นใจเข้ามาในใจท่านลึกซึ้งขึ้นเมื่อท่านได้รับเรียกเป็นอธิการควบคุมในปี 2012 ในตำแหน่งดังกล่าว ท่านบริหารเครือข่ายวงกว้างของศาสนจักรที่ให้ความช่วยเหลือด้านสวัสดิการและการตอบสนองภาวะฉุกเฉินต่อวิสุทธิชนยุคสุดท้ายและคนอื่นๆ พร้อมด้วยความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมต่อบุตรธิดาของพระบิดาบนสวรรค์ใน “จุดที่ยากที่สุดบางแห่ง จุดยากไร้ที่สุดบางแห่ง และจุดที่ถูกกดขี่ข่มเหงมากที่สุดบางแห่งทั่วโลก”3
บทบาทของอธิการมีความสำคัญเป็นพิเศษต่อเอ็ลเดอร์สตีเวนสัน “เมื่อข้าพเจ้าอายุ 12 ขวบ คุณพ่อได้รับเรียกเป็นอธิการ” ท่านเล่า “วอร์ดมีสตรีม่ายหลายคน และคุณพ่อมักจะพาข้าพเจ้าไปด้วยเมื่อท่านไปดูแลช่วยเหลือพวกเธอ ท่านจะให้ข้าพเจ้าดูแลถังขยะ ทำความสะอาดบางอย่างในบ้าน หรือพาเพื่อนๆ ของข้าพเจ้าไปช่วยกวาดใบไม้หรือตักหิมะ เมื่อเราออกจากบ้านหลังนั้น ข้าพเจ้ามักจะรู้สึกดีในใจเสมอ การเยี่ยมเยียนหญิงม่ายช่วยให้ข้าพเจ้าตระหนักว่าส่วนหนึ่งที่อธิการต้องทำคือดูแลช่วยเหลือทีละคน “อธิการของศาสนจักรเป็นวีรบุรุษตัวจริงของข้าพเจ้า” ท่านกล่าว
คำสัญญาจากศาสดาพยากรณ์
วันอาทิตย์ก่อนการประชุมใหญ่สามัญเดือนตุลาคม ปี 2015 อธิการสตีเวนสันได้รับโทรศัพท์ขอให้ท่านไปพบประธานโธมัส เอส. มอนสันและที่ปรึกษา
“ประธานมอนสัน [ให้] การเรียกข้าพเจ้าสู่โควรัมอัครสาวกสิบสอง ท่านถามว่าข้าพเจ้าจะยอมรับหรือไม่ … ข้าพเจ้าตอบรับ และจากนั้น … ประธานมอนสันเอื้อมมือมาแตะข้าพเจ้าอย่างอ่อนโยน ท่านอธิบายว่าหลายปีก่อน [เมื่อ] ท่านได้รับเรียกเป็นอัครสาวก … ท่านรู้สึกไม่คู่ควรเช่นกัน ท่านแนะนำข้าพเจ้าอย่างสงบว่า ‘อธิการสตีเวนสัน พระเจ้าจะทรงทำให้คนที่พระองค์ทรงเรียกมีคุณสมบัติคู่ควร’ ถ้อยคำปลอบโยนเหล่านี้ของศาสดาพยากรณ์เป็นบ่อเกิดของสันติสุข [นับแต่นั้น]”4
เอ็ลเดอร์แกรีย์ อี. สตีเวนสันเป็นคนไม่มีมารยาอย่างแท้จริง ในฐานะอัครสาวกท่านจะยังคงยื่นมือช่วยเหลือคนยากจนและคนขัดสนเช่นที่เคยทำเมื่อครั้งเป็นอธิการควบคุมและสาวกเจ็ดสิบ และเช่นที่ท่านทำมาตลอดชีวิต ท่านจะทำหน้าที่รับผิดชอบตามที่พระคัมภีร์บอก คือ “ช่วยเหลือคนอ่อนแอ, ยกมือที่อ่อนแรง, และให้กำลังเข่าที่อ่อนล้า” (คพ. 81:5) นี่เป็นการเรียกที่ท้าทาย แต่เป็นการเรียกที่เหมาะกับท่านเพราะใจที่เข้าใจของท่าน