เตรียมที่ให้ พระเจ้า
ทุกครั้งที่ข้าพเจ้าได้ยินเรื่องราวการประสูติและการปฏิบัติศาสนกิจบนแผ่นดินโลกของพระผู้ช่วยให้รอด ข้าพเจ้าจะนึกถึงความรับผิดชอบของตัวเราในการเตรียมที่ไว้ต้อนรับพระองค์ในวันที่พระองค์เสด็จกลับมา
ปีที่แล้วก่อนคริสต์มาส ข้าพเจ้าร่วมรับประทานอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่ข้าราชการระดับสูงของฝรั่งเศสคนหนึ่งที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของศาสนจักร อาหารค่ำจัดในอาคารรำลึกถึงโจเซฟ สมิธในซอลท์เลคซิตี้ ยูทาห์
ก่อนนั่งรับประทานอาหาร เราพาแขกของเราขึ้นไปบนชั้น 10 ซึ่งเป็นหน้าต่างกระจกให้นักท่องเที่ยวได้ชมทัศนียภาพที่สวยงามของเทมเปิลสแควร์ ทิวทัศน์สวยงามราวกับภาพฝัน มีพระวิหารซอลท์เลคตั้งตระหง่านท่ามกลางแสงไฟระยิบระยับนับไม่ถ้วน เรายืนอยู่ที่นั่นหลายนาที แทบไม่มีใครพูดอะไร
เมื่อกลับมาที่ห้องจัดเลี้ยง ข้าราชการคนนั้นถามคำถามที่เรานึกไม่ถึงว่า “คุณเชื่อเรื่องอวสานของโลกหรือเปล่า” คำถามดังกล่าวนำไปสู่การสนทนาเรื่องการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเจ้าและความสำคัญที่เราทุกคนต้องเตรียมต้อนรับพระองค์ในวันที่พระองค์เสด็จกลับมา
ขณะข้าพเจ้านึกถึงพระวิหารที่เราเพิ่งชื่นชม ความคิดที่ดีมากอย่างหนึ่งเข้ามาในใจข้าพเจ้า “เมื่อพระเยซูเสด็จกลับมา ในที่สุด พระองค์จะทรงมีสถานที่สวยงามให้ประทับในนั้น!”
คู่มือพระคัมภีร์บอกว่าพระวิหาร “ความหมายตรงตัว คือพระนิเวศน์ของพระเจ้า”1 กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ พระวิหารไม่เพียงเป็นสถานที่เชิงสัญลักษณ์เท่านั้น พระวิหารในสมัยการประทานของเราเป็นบ้านที่เตรียมและอุทิศถวายไว้ให้พระองค์เสด็จมาประทับ พระเจ้าตรัสว่าศาสนจักรของพระองค์ควรได้รับการสถาปนา “เพื่อผู้คนแห่งพันธสัญญาของเราจะมารวมไว้เป็นหนึ่งเดียวในวันนั้น เมื่อเราจะมายังวิหารของเรา” (คพ. 42:36; เน้นตัวเอน)
ช่างแตกต่างอย่างชัดเจนกับการเริ่มต้นอันต่ำต้อยของพระผู้ช่วยให้รอดในความเป็นมรรตัย พระองค์ผู้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ของกษัตริย์ทั้งหลายและพระเจ้าของเจ้านายทั้งหลายประสูติในคอกสัตว์และนอนในรางหญ้า “เพราะว่าไม่มีที่ว่างในโรงแรม” (ลูกา 2:7) ในช่วงวัยเด็ก พระเยซูมักไม่ได้อยู่สะดวกสบายในบ้านถาวร เช่นเมื่อครอบครัวของพระองค์หนีไปอียิปต์ให้พ้นความโหดร้ายของผู้ปกครองที่เผด็จการ (ดู มัทธิว 2:13–14)
เราไม่รู้รายละเอียดของช่วงเวลาที่ครอบครัวของพระองค์อยู่ในอียิปต์ แต่พระองค์และบิดามารดาของพระองค์ใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในฐานะผู้ลี้ภัย—ชีวิตเทียบได้กับชีวิตของผู้อพยพจำนวนมากในสมัยของเราผู้หนีภัยสงครามและความขัดแย้งในประเทศแอฟริกาและตะวันออกกลาง
แม้ในช่วงเป็นผู้ใหญ่ พระเยซูทรงบอกเป็นนัยว่าพระองค์ไม่มีบ้านอยู่ประจำ วันหนึ่ง ชายคนหนึ่งมาหาพระองค์และทูลว่า “ท่านไปทางไหนข้าพเจ้าจะตามท่านไปทางนั้น” พระผู้ช่วยให้รอดตรัสตอบว่า “หมาจิ้งจอกยังมีโพรงและนกในอากาศก็ยังมีรัง แต่บุตรมนุษย์ไม่มีที่ที่จะวางศีรษะ” (ลูกา 9:57, 58)
พี่น้องทั้งหลาย ทุกครั้งที่ข้าพเจ้าได้ยินเรื่องราวการประสูติและการปฏิบัติศาสนกิจบนแผ่นดินโลกของพระผู้ช่วยให้รอด ข้าพเจ้าจะนึกถึงความรับผิดชอบของตัวเราในการเตรียมสถานที่ไว้ต้อนรับพระองค์ในวันที่พระองค์เสด็จกลับมา เราจะทำอะไรได้บ้าง
ไปพระวิหาร
หนึ่ง ขอให้เราพร้อมต้อนรับพระองค์ในพระนิเวศน์ของพระองค์—พระวิหาร ใครในพวกเราไม่เคยฝันถึงการไปเยือนสถานที่ซึ่งพระผู้ช่วยให้รอดประสูติ ดำเนินพระชนม์ชีพ และทรงปฏิบัติศาสนกิจบนแผ่นดินโลก หลายคนเสียสละมากเพื่อเดินทางไปแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ แต่สำคัญเพียงใดที่เราจะไปเยือนสถานที่ซึ่งวันหนึ่งพระองค์จะเสด็จกลับมาที่นั่น หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดซึ่งเราเหล่าสานุศิษย์ของพระองค์สามารถเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สองได้คือไปพระนิเวศน์ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์เป็นประจำและผูกมัดตัวเรากับพระองค์ผ่านพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์
เตรียมบ้านของท่าน
สอง เราสามารถทำให้บ้านของเราเป็นสถานที่ซึ่งพระเจ้าทรงประสงค์จะประทับ ในพระคัมภีร์ เราอ่านเรื่องราวมากมายของคนที่ต้อนรับและเลี้ยงอาหารพระผู้ช่วยให้รอดในบ้านของพวกเขา ฉะนั้นขอให้เราถามตัวเราดังนี้ บ้านของฉันเป็นที่ยอมรับจากพระเจ้าได้หรือไม่ บ้านของฉันเป็นสถานที่ปลอดภัย สงบสุข และเปี่ยมด้วยพระวิญญาณซึ่งพระองค์จะรู้สึกสบายหรือไม่ บ้านของเราไม่จำเป็นต้องโอ่อ่ากว้างขวาง ที่พักอาศัยธรรมดา ที่มีพระกิตติคุณเป็นศูนย์กลาง เต็มไปด้วยครอบครัวและมิตรสหายที่ห่วงใยกัน จะทำให้พระองค์ทรงมีความสุข
รวบรวมผู้ที่ทรงเลือกไว้
สาม เราสามารถช่วยรวบรวมผู้ที่พระองค์ทรงเลือกไว้จากทั่วโลก—แม้นั่นหมายถึงการจากบ้านไปชั่วระยะเวลาหนึ่งเพื่อช่วยสร้างอาณาจักรของพระองค์บนแผ่นดินโลก ประวัติศาสตร์ของผู้คนของพระผู้เป็นเจ้าเป็นประวัติศาสตร์ของวิสุทธิชนผู้พร้อมเสมอและเต็มใจไปที่ใดก็ตามที่พระเจ้าทรงต้องการให้พวกเขาไป ข้าพเจ้านึกถึงศาสดาพยากรณ์สมัยโบราณ เช่น อับราฮัม อิสอัค ยาโคบ โยเซฟ โมเสส ลีไฮ และอีกหลายท่าน ข้าพเจ้านึกถึงเหล่าอัครสาวกของพระเจ้าในความเรืองโรจน์แห่งเวลาผู้เผยแพร่พระกิตติคุณทั่วเมดิเตอร์เรเนียนอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย
ศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกยุคสุดท้าย พร้อมกับผู้สอนศาสนาหลายพันคน ได้นำและยังคงนำข่าวสารของพระคริสต์ไปสี่มุมโลก พวกเขาเต็มใจทิ้งความสะดวกสบายของบ้านไปรับใช้ในสวนองุ่นของพระเจ้า
ช่วยคนตกทุกข์ได้ยาก
สุดท้าย วิธีที่ดีมากในการเตรียมสถานที่ให้พระเจ้าคือช่วยเพื่อนบ้านที่ไม่มีบ้าน ยุคแรกของการฟื้นฟูรวมไปถึงช่วงเวลาที่วิสุทธิชนไม่มีที่พักอาศัย ในการแสวงหาไซอัน ความใจแคบและความชั่วร้ายของศัตรูมักบีบให้พวกเขาต้องออกจากบ้าน
ประธานบริคัม ยังก์ (1801–1877) ใช้ถ้อยคำกินใจเหล่านี้บรรยายสภาพตกอับของพวกเขา “เราถูกไล่ออกจากบ้านที่สงบสุขของเราครั้งแล้วครั้งเล่า พวกผู้หญิงและลูกๆ ของเราจำต้องใช้ชีวิตบนที่ราบกว้างใหญ่ ในป่า บนถนน และในกระโจมในช่วงหนาวสุดของฤดูหนาว ประสบความยากลำบากทุกรูปแบบ แม้กระทั่งความตาย”2
เหตุการณ์สะเทือนใจที่สุดเหตุการณ์หนึ่งจากยุคนี้เกิดขึ้นที่หมู่บ้านเล็กๆ ของเมืองควินซี รัฐอิลลินอยส์ในช่วงฤดูหนาวปี ค.ศ. 1839 เวลานั้น ผู้ตั้งถิ่นฐานและเกษตรกรกลุ่มนี้ประมาณ 1,500 คนมีชีวิตอยู่อย่างลุ่มๆ ดอนๆ ริมฝั่งแม่น้ำมิสซิสซิปปี ในช่วงฤดูหนาวที่ไร้ความปรานี พวกเขาพบสมาชิกศาสนจักรอย่างคาดไม่ถึงประมาณ 5,000 คนที่มาถึงจากการหลบหนีคำสั่งขุดรากถอนโคนของผู้ว่าการรัฐมิสซูรี วิสุทธิชนอยู่ในสภาพยากจนข้นแค้นและทุกข์ใจ พวกเขาเดินข้ามแม่น้ำมิสซิสซิปปีที่เย็นจัดจนเป็นน้ำแข็ง ชาวเมืองควินซีโอบอ้อมอารีมาก พวกเขาอ้าแขนต้อนรับคนเหล่านั้นโดยเปิดบ้านให้พักและแบ่งปันเสบียงอาหารที่มีน้อยนิด
คนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในเมืองควินซีพูดถึงผู้ลี้ภัยเหล่านี้ว่า “วิสุทธิชนจำนวนมากดีใจที่ได้หลบพายุในบ้านของผมจนกว่าพวกเขาจะหาที่อยู่ได้ หลายคืนมากที่พื้นชั้นบนและชั้นล่างเต็มไปด้วยเตียงวางชิดกันจนเป็นไปไม่ได้ที่ไม่ต้องเดินบนเตียง”3
สำหรับพวกเราที่ได้รับพรให้อยู่ในสภาพสงบร่มเย็นและรุ่งเรืองกว่า เรื่องราวเหล่านี้มีความสำคัญมาก เรื่องราวเหล่านี้สอนให้เราเป็นคนที่พร้อมจะยื่นมือช่วยเหลือคนไม่มีบ้านและคนยากจนข้นแค้นเสมอ ไม่ว่าเราจะอยู่ในบริเวณที่มีผู้ลี้ภัยหลั่งไหลเข้ามามากหรือในชุมชนเล็กๆ ที่อยู่โดดเดี่ยว มีมากมายหลายวิธีให้เราสามารถรับใช้คนที่ดิ้นรนให้ได้สิ่งจำเป็นขั้นต่ำสุดของชีวิต เราสามารถบริจาคเข้ากองทุนเพื่อมนุษยธรรมของศาสนจักรได้ เราสามารถทำงานกับคนอื่นๆ ในชุมชนของเราผู้รับใช้คนตกทุกข์ได้ยากด้วยความรัก เราสามารถแสดงไมตรีจิตต่อคนที่ต้องพลัดพรากจากถิ่นที่อยู่เมื่อพวกเขาเข้ามาในชุมชนของเรา เราสามารถต้อนรับคนแปลกหน้าที่มาเยี่ยมวอร์ดและสาขาของเรา
เพลงสวดไพเราะที่สุดเพลงหนึ่งของเราเล่าเรื่องราวของคนแปลกหน้าผู้ได้หลบภัยอยู่กับคนที่มีจิตกุศลมากคนหนึ่ง
น้ำท่วมไหลบ่าในราตรีกาล
พายุลมหนาวนั้นพัดจัดจ้า
ฉันยินเสียงท่านแล้ววิ่งไปหา
เชิญท่านเข้ามาพักในเรือนฉัน
ให้ความอบอุ่นหนุนในอาภรณ์
ให้ท่านนอนบนเตียงฉันนิทรา
ส่วนฉันนอนลงบนพื้นโลกา
ในฝันเหมือนว่าในสวนอีเดน …
บัดดลนั้นฉันได้เห็นด้วยตา
ชายแปลกหน้าเริ่มเผยตัวให้ดู
รอยบนฝ่ามือของท่านฉันรู้
พระผู้ช่วยยืนอยู่เบื้องหน้าฉัน
ตรัสและเรียกนามฉันอันยากไร้
“เจ้าไม่ได้ละอายในตัวเรา
การนี้เป็นอนุสรณ์ของเจ้า
อย่ากลัวเจ้าทำสิ่งนี้ต่อเรา”4
ข้าพเจ้าภูมิใจกับการเป็นสมาชิกของศาสนจักรที่ไม่เคยหยุดยื่นมือช่วยเหลือคนยากไร้และคนขัดสนของแผ่นดินโลก ข้าพเจ้าเจียมตนกับการแสดงความรักและจิตกุศลนับไม่ถ้วนทั้งใหญ่น้อยทุกวันของศาสนจักรและสมาชิก การกระทำเหล่านี้จะเป็นส่วนจำเป็นในพันธกิจของศาสนจักรเสมอเพราะนี่คือศาสนจักรของพระเยซูคริสต์และเราพยายามทำตามแบบอย่างของพระองค์
พระเยซูทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดและพระผู้ไถ่ของเรา ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าพระองค์ประสูติในความเรืองโรจน์แห่งเวลา พระองค์ทรงพระชนม์ และวันหนึ่งพระองค์จะเสด็จกลับมาในรัศมีภาพเพื่อปกครองอาณาจักรของพระองค์บนแผ่นดินโลก
ข้าพเจ้าเชื้อเชิญให้ท่านเตรียมไปพระนิเวศน์ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์บ่อยขึ้น สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย มีความรัก และความสงบสุขในบ้านของท่าน และมีส่วนร่วมในการรวบรวมผู้ที่พระองค์ทรงเลือกไว้จากสี่มุมของแผ่นดินโลก ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนเช่นกันว่าขอให้ท่านรู้สึกปรารถนาเป็นพิเศษที่จะแสดงน้ำใจด้วยความรักความห่วงใยช่วยเหลือคนที่ยากจนข้นแค้นและไร้ที่พักพิงเหล่านั้นที่อยู่ท่ามกลางเรา การทำเช่นนั้นเท่ากับท่านเตรียมที่ในใจและในบ้านท่านให้พร้อมต้อนรับพระผู้ช่วยให้รอด และการเสด็จกลับมาของพระองค์จะเป็นวันยิ่งใหญ่และน่าอัศจรรย์อย่างแท้จริง