2016
เดชานุภาพของพระคุณ
ธันวาคม 2016


เดชานุภาพของ พระคุณ

จากคำปราศรัยให้ข้อคิดทางวิญญาณระบบการศึกษาของศาสนจักรเรื่อง “พระคุณของพระองค์เพียงพอสำหรับท่าน” ที่มหาวิทยาลัยบริคัม ยังก์–ฮาวาย เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 2014 ดูบทความเต็มเป็นภาษาอังกฤษที่ devotional.byuh.edu

พระคุณมีไว้เพื่อให้เราสามารถรักษาพระบัญญัติได้ครบถ้วนสมบูรณ์มากขึ้นและดำเนินชีวิตเหมือนพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นจนเราบรรลุสภาพอันบริบูรณ์ของพระคริสต์

Christ appears to the Nephites

ส่วนหนึ่งจากภาพ พวกเขานำเด็กเล็กๆ มา โดย วอลเตอร์ เรน ไม่อนุญาตให้ทำสำเนา

ในบรรดาคุณลักษณะทั้งหมดของพระเยซูคริสต์ คุณลักษณะที่น่าจะสำคัญที่สุดคือ พระองค์ทรง “บริบูรณ์ด้วยพระคุณ” (ยอห์น 1:14) ในพระคัมภีร์ คำว่า พระคุณ ส่วนใหญ่หมายถึงแนวโน้มและเดชานุภาพของพระเจ้าในการให้พร มอบของประทาน หรือกระทำประโยชน์ประการอื่นต่อมนุษย์ Bible Dictionary กล่าวดังนี้ “แนวคิดหลักของคำว่า [พระคุณ] คือวิธีช่วยเหลือหรือพลังอำนาจจากเบื้องบน … พระคุณคือพระเดชานุภาพอันกอปรด้วยพระปรีชาสามารถ” (“พระคุณ”) พระคุณทำให้ผู้รับสามารถทำและเป็นอย่างที่เขาไม่สามารถทำได้และไม่สามารถเป็นได้หากปล่อยให้ทำตามวิธีของตนเอง

เราทุกคนต้องการพระเดชานุภาพอันกอปรด้วยพระปรีชาสามารถเช่นนั้น เราเป็นบุตรและธิดาของพระผู้เป็นเจ้า ด้วยเหตุนี้เราจึงมีศักยภาพที่จะเป็นเหมือนพระองค์

การไร้ความสามารถของเราในวิญญาณและร่างกาย

แม้จะคาดหวังให้เราบรรลุ “ความบริบูรณ์ของพระคริสต์” (เอเฟซัส 4:13) แต่เราบรรลุด้วยตนเองไม่ได้ เราแต่ละคนประกอบด้วยสองสิ่ง—วิญญาณนิรันดร์กับร่างกายมรรตัย (ดู อับราฮัม 3:18) วิญญาณนิรันดร์ของเรามาในโลกอันเป็นผลจากการเลือกที่เราทำในโลกก่อนเกิด การเลือกก่อนเกิดเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพ อุปนิสัย และความรู้แจ้งทางวิญญาณของเรา ที่สำคัญคือไม่มีวิญญาณใดเหมือนกัน (ดู อับราฮัม 3:19) วิญญาณแต่ละดวงครอบครองระดับความรู้แจ้งทางวิญญาณหรือความสว่างและความจริงต่างกัน (ดู คพ. 93:36) ตามการเลือกก่อนเกิด แม้วิญญาณของเราแต่ละคนจะสะอาดและบริสุทธิ์ขณะมารับร่างกายมรรตัย ถึงแม้จะสง่าและยิ่งใหญ่ แต่ไม่มีวิญญาณดวงใดพัฒนาอย่างสมบูรณ์จนบรรลุความบริบูรณ์ของพระคริสต์ การทำให้วิญญาณสมบูรณ์แบบดำเนินต่อเนื่องในช่วงศึกษาเรียนรู้ของความเป็นมรรตัยและประสบการณ์เพิ่มเติมของโลกวิญญาณ แต่สุดท้ายแล้วการทำให้วิญญาณสมบูรณ์แบบจะไม่บรรลุผลจนกว่าจะฟื้นคืนชีวิต

นอกจากความไม่สมบูรณ์แบบของวิญญาณในเวลานี้แล้ว ร่างกายมรรตัยของเราก็ไม่สมบูรณ์แบบเช่นกัน ร่างกายมรรตัยของเราแม้จะน่าพิศวง แต่ก็ต้องประสบความเน่าเปื่อย ความเสื่อมโทรม และความตาย ประสบความปรารถนา ความอยาก และตัณหาที่เราไม่เคยรู้มาก่อน ภายใต้สภาพเช่นนั้น จึงยากมากที่จะให้ร่างกายยอมตามความประสงค์ของวิญญาณ บ่อยเหลือเกินที่วิญญาณจำนนต่อคำสั่งของร่างกาย วิญญาณยิ่งใหญ่ที่สุดบางดวงที่มายังแผ่นดินโลกพยายามมากเพื่อเอาชนะร่างกายของตน “ใจข้าพเจ้าสลดเพราะเนื้อหนังข้าพเจ้า” นีไฟร้องครวญ “ข้าพเจ้าถูกห้อมล้อม, เนื่องจากการล่อลวงและบาปซึ่งได้รุกรานข้าพเจ้าโดยง่าย” (2 นีไฟ 4:17, 18; ดู ข้อ 27ด้วย)

ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งของความเป็นมรรตัยทำให้สงครามระหว่างวิญญาณกับร่างกายยากขึ้น ร่างกายของเราสร้างจากสสารของโลกที่ “ตกแล้ว” ซึ่งให้ “พลังความสามารถ [แก่ซาตาน] ที่จะจับเป็นเชลย” (2 นีไฟ 2:29) ประธานบริคัม ยังก์ (1801–1877) ตั้งข้อสังเกตดังนี้ “อย่าคิดว่าในเนื้อหนังเราจะเป็นอิสระตลอดกาลจากการล่อลวงให้ทำบาป” ท่านกล่าว “บางคนคิดว่าในเนื้อหนังพวกเขาสามารถชำระร่างกายและวิญญาณให้ศักดิ์สิทธิ์ได้และบริสุทธิ์จนพวกเขาจะไม่มีวันรู้สึกถึงผลของพลังอำนาจของปฏิปักษ์แห่งความจริงอีก หากบุคคลหนึ่งบรรลุความสมบูรณ์แบบระดับนี้ได้ในเนื้อหนังเขาจะไม่ตาย และจะไม่อยู่ในโลกที่บาปครอบงำ … ข้าพเจ้าคิดว่าเราจะรู้สึกถึงผลของบาปไม่มากก็น้อยตราบที่เรามีชีวิตอยู่ และต้องผ่านการทดสอบอย่างเข้มงวดของความตายในท้ายที่สุด”1

เดชานุภาพของพระคุณ

เราต้องการเดชานุภาพที่สามารถเปลี่ยนจิตวิญญาณที่มีความอ่อนแอและความบกพร่องสารพัดของเราให้เป็นพระผู้เป็นเจ้าที่มีความเข้มแข็ง ความดีงาม และความสามารถ น่ายินดีที่เดชานุภาพเช่นนั้นมีอยู่จริง นั่นคือพระคุณของพระผู้เป็นเจ้า โดยผ่านของประทานแห่งพระคุณของพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้นที่เรา “ได้รับเพิ่มเติม” (อับราฮัม 3:26) ด้วยเหตุนี้เราจึงบรรลุความบริบูรณ์ของพระคริสต์ในที่สุด โดยแท้แล้วนี่คือวิธีที่พระคริสต์ทรงบรรลุความบริบูรณ์ของพระองค์

ดังที่พระเจ้ารับสั่งกับโจเซฟ สมิธ “คนที่รับความสว่าง, และดำเนินอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าต่อไป, รับความสว่างมากขึ้น; และความสว่างนั้นเจิดจ้ายิ่งขึ้นๆ จนถึงวันที่สมบูรณ์” (คพ. 50:24) แต่ถ้าเราไม่สนใจ เพิกเฉย หรือมองข้ามพรอันเปี่ยมด้วยเมตตาที่เราได้รับจากพระเจ้า เมื่อนั้น “เรื่องที่ยิ่งใหญ่กว่าจึง [จะถูก] กันไว้” จากเรา (3 นีไฟ 26:10) ในสภาวการณ์เช่นนั้น เรารับ “พระคุณของพระเจ้าโดยไม่เกิดประโยชน์” (2 โครินธ์ 6:1) และ “ตกจากพระคุณ” (คพ. 20:32) ไปโดยสิ้นเชิง

ทั้งหมดนี้แนะว่าเราต้องเรียนรู้ความอดทนกับตัวเราเองและผู้อื่นในความอ่อนแอและความไม่สมบูรณ์แบบของเราในปัจจุบัน เราต้องเรียนรู้ความมานะบากบั่นในกระบวนการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปจนบรรลุความสมบูรณ์แบบ

ศรัทธาในพระเยซูคริสต์

การเข้าใจว่าเราได้พระคุณอย่างไรช่วยให้เราเข้าใจว่าหลักธรรมบางข้อเปิดทางให้พระคุณเติมเต็มเรา ศรัทธาในพระเยซูคริสต์เป็นหลักธรรมข้อแรกที่นำเราให้ได้รับพระคุณ (ดู โรม 5:1–2) ความจริง ความหวัง การปฏิบัติ และพยานยืนยันเป็นองค์ประกอบจำเป็นของศรัทธาและเป็นหนทางได้รับพระคุณของพระเจ้า

ตัวอย่างเช่น ลองพิจารณาประสบการณ์ของเปโตรขณะเดินบนน้ำไปหาพระเจ้า เฉกเช่นเราบางครั้ง เปโตรกับเหล่าสาวกอยู่กลางทะเลที่ปั่นป่วน พระเยซูเสด็จมาหาพวกเขา ทรงดำเนินบนน้ำและทรงเรียกพวกเขาให้มาหาพระองค์ เปโตรออกจากเรือเดินลงทะเลอันบ้าคลั่งไปหาพระเจ้าด้วยความหวัง ความหวังของเขาในพระคริสต์ ควบคู่กับการตั้งใจปฏิบัติ ยินยอมให้เขาได้รับพลังของการเดินบนน้ำ แต่เมื่อเห็นลมพัดแรง เปโตรสงสัยและเริ่มจม “องค์พระผู้เป็นเจ้า ช่วยข้าพระองค์ด้วย” เขาร้อง พระคัมภีร์บันทึกว่า “พระเยซูจึงเอื้อมพระหัตถ์จับเขาไว้ทันที” (มัทธิว 14:30–31) เมื่อเปโตรจับสายตาอยู่ที่พระเจ้าและปฏิบัติด้วยศรัทธา เขามีพลังทำสิ่งที่เขาไม่สามารถทำเองได้—นั่นคือเดินบนน้ำ

The Savior Walked on Water

ส่วนหนึ่งจากภาพ พระผู้ช่วยให้รอดทรงดำเนินบนน้ำ โดย วอลเตอร์ เรน ไม่อนุญาตให้ทำสำเนา

เมื่อเปโตรละสายตาจากพระเจ้าและสงสัย เปโตรตัดตนเองจากพลังอำนาจนั้น ถูกทิ้งไว้กับตนเอง และเริ่มจม ลองสังเกตการตอบสนองของพระเจ้าต่อการร้องขอความช่วยเหลือของเปโตร พระเจ้าเอื้อมพระหัตถ์ไปช่วยเขา “ทันที” พระคุณของพระเจ้ามีให้เราเช่นนั้นในยามที่เราต้องการ

การกลับใจ

การกลับใจเป็นหลักธรรมข้อสองที่เปิดทางให้พระคุณอุดช่องว่างให้เราได้ มอรมอนสอนว่า “คนทั้งหลายที่จะกลับใจและสดับฟังสุรเสียงของพระเจ้าพระผู้เป็นเจ้าของพวกเขาเป็นสุข; เพราะคนเหล่านี้คือคนที่จะได้รับการช่วยให้รอด. และขอพระผู้เป็นเจ้าโปรดประทาน, ในความบริบูรณ์อันหาที่สุดมิได้ของพระองค์, เพื่อจะนำมนุษย์มาสู่การกลับใจและงานดี, เพื่อจะนำพวกเขากลับสู่พระคุณแทนพระคุณ, ตามงานของพวกเขา” (ฮีลามัน 12:23–24) จากพระคัมภีร์ข้อนี้ เห็นชัดว่าใจที่กลับใจและงานดีเข้ากันได้ดีกับพระคุณ

ลองพิจารณาตัวอย่างของแอลมาผู้บุตร เขากับพวกบุตรของโมไซยาห์ “เป็นคนบาปที่ชั่วช้าที่สุดจริงๆ” (โมไซยาห์ 28:4) เมื่อเทพของพระเจ้าปรากฏต่อแอลมา เขาเผชิญกับบาปและความชั่วช้าสามานย์ทั้งหมดของชีวิตเขา ในขณะนั้นเขา “ถูกทรมานอยู่ด้วยความทรมานนิรันดร์” (แอลมา 36:12) “ความคิดที่จะเข้าไปในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าของพ่อ” เขากล่าว “ทรมานจิตวิญญาณพ่อด้วยความสะพรึงกลัวอันเกินกว่าจะพรรณนาได้” (แอลมา 36:14) แต่แอลมาจำที่บิดาของเขาพูดไว้ได้เกี่ยวกับการเสด็จมาของพระเยซูคริสต์เพื่อชดใช้บาปของโลก ความจำดังกล่าวทำให้เขาร้องอยู่ภายในใจว่า “ข้าแต่พระเยซู, พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า, ขอพระองค์ทรงเมตตาข้าพระองค์” (แอลมา 36:18) ฉับพลันนั้นเขา “จำความเจ็บปวด [ของเขา] ไม่ได้อีก” และ “ไม่ปวดร้าวด้วยความทรงจำถึงบาป [ของเขา] อีก” (แอลมา 36:19)

angel appears to Alma the Younger

ส่วนหนึ่งจากภาพ แอลมาลุกขึ้น โดย วอลเตอร์ เรน ไม่อนุญาตให้ทำสำเนา

การกลับใจที่บีบคั้นจิตวิญญาณของแอลมาทำให้เขาได้รับพลังที่ชำระเขาให้สะอาดและเปลี่ยนเขาเป็นคนใหม่ เขาไม่หาทางทำลายศาสนจักรของพระผู้เป็นเจ้าอีกต่อไป แต่แอลมาทำงานตลอดชีวิตที่เหลือเพื่อเสริมสร้างศาสนจักรโดยทำงานเพื่อช่วยให้คนอื่นๆ กลับใจและได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ การเปลี่ยนใจเลื่อมใสของแอลมาผู้บุตรจากคนบาปที่ชั่วช้าที่สุดเป็นศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้านับเป็นตัวอย่างที่น่าประทับใจของเดชานุภาพแห่งพระคุณของพระเจ้าทั้งในการแก้ต่างและชำระเราทุกคนให้บริสุทธิ์

ความอ่อนน้อมถ่อมตน

หลักธรรมข้อสามคือความอ่อนน้อมถ่อมตน พระเจ้าทรงสอนโมโรไนว่า “พระคุณของเราเพียงพอสำหรับคนทั้งปวงที่นอบน้อมถ่อมตนต่อหน้าเรา; เพราะหากพวกเขานอบน้อมถ่อมตนต่อหน้าเรา, และมีศรัทธาในเรา, เมื่อนั้นเราจะทำให้สิ่งที่อ่อนแอกลับเข้มแข็งสำหรับพวกเขา” (อีเธอร์ 12:27) การทำให้สิ่งที่อ่อนแอกลับเข้มแข็งเป็นงานของพระคุณ

ถ้าความอ่อนน้อมถ่อมตนจำเป็น เราอาจถามว่าความอ่อนน้อมถ่อมตนคืออะไร กล่าวโดยสังเขป ความอ่อนน้อมถ่อมตนคือการยอมให้ความประสงค์ของตนเองขึ้นอยู่กับพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าและถวายเกียรติพระองค์สำหรับสิ่งที่ทำสำเร็จ ในประเด็นนี้ พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างที่ประเสริฐสุดของเรา ความอ่อนน้อมถ่อมตนและความว่าง่ายของพระองค์ประจักษ์ชัดในช่วงการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระองค์ “โอพระบิดาของข้าพระองค์” พระเยซูทรงสวดอ้อนวอน “ถ้าเป็นได้ขอให้ถ้วยนี้เลื่อนพ้นไปจากข้าพระองค์เถิด แต่อย่างไรก็ดี อย่าให้เป็นไปตามใจปรารถนาของข้าพระองค์ แต่ให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์” (มัทธิว 26:39) ความบริบูรณ์แห่งพระคุณของพระผู้เป็นเจ้าท่วมท้นพระคริสต์ในครั้งนี้

ความขยันหมั่นเพียร

หลักธรรมข้อสี่คือความขยันหมั่นเพียร ตามที่นีไฟสอนผู้คนของเขา “โดยพระคุณนั่นเองที่เราได้รับการช่วยให้รอด, หลังจากเราทำทุกสิ่งจนสุดความสามารถแล้ว” (2 นีไฟ 25:23) บางคนอาจจะอ่านพระคัมภีร์ข้อนี้เพื่อหมายความว่าพระคุณของพระผู้เป็นเจ้าถูกกันไว้จนกว่าเราได้พยายามสุดความสามารถแล้ว ข้าพเจ้าไม่ได้อ่านแบบนั้น มีตัวอย่างมากมายเหลือเกินของการเผื่อแผ่พระคุณของพระผู้เป็นเจ้ามาถึงมนุษย์โดยที่เขาคนนั้นไม่ได้ทำอะไรเลย ตัวอย่างเช่น พลังอำนาจของการฟื้นคืนชีวิตมีให้ทุกคนโดยพระคุณของพระผู้เป็นเจ้า โดยไม่คำนึงถึงความพยายามของแต่ละบุคคล ข้าพเจ้าเข้าใจว่า “ทำทุกสิ่งจนสุดความสามารถ” ของนีไฟหมายความว่าพระคุณของพระผู้เป็นเจ้าเผื่อแผ่มาถึงเราเมื่อเราขยันหมั่นเพียร ดังที่เอ็ลเดอร์บรูซ ซี. ฮาเฟน อดีตสมาชิกแห่งสาวกเจ็ดสิบเขียนไว้ “ของประทานแห่งพระคุณของพระผู้ช่วยให้รอดที่มอบให้เราไม่จำเป็นต้องจำกัดในเวลา ‘หลังจาก’ เราทำทุกสิ่งจนสุดความสามารถแล้ว เราอาจได้รับพระคุณก่อน ระหว่าง และหลังจากเวลาที่เราได้พยายามแล้ว”2

ลองพิจารณาตัวอย่างของพี่ชายเจเร็ด เขาได้รับบัญชาให้ต่อเรือและใช้เรือเหล่านั้นข้ามมหาสมุทร พี่ชายของเจเร็ดขยันหมั่นเพียรทีละขั้นทีละตอนในการทำตามพระบัญชาของพระเจ้า เมื่อต่อเรือเสร็จ พี่ชายของเจเร็ดกังวลเรื่องความมืดในเรือและทูลขอให้พระเจ้าประทานแสงสว่าง แม้พระเจ้าจะประทานวิธีแก้ไขให้พี่ชายของเจเร็ดได้อยู่แล้ว แต่พระองค์กลับตรัสถามว่า “เจ้าอยากให้เราทำอะไรเพื่อเจ้าจะมีแสงสว่างในพาหนะของเจ้า?” (อีเธอร์ 2:23) เพื่อตอบพระดำรัสนั้น พี่ชายของเจเร็ดจึงเตรียมหิน 16 ก้อนอย่างขยันหมั่นเพียร นำไปถวายพระเจ้า และทูลขอให้พระองค์ทรงสัมผัสก้อนหินเหล่านั้น “เพื่อมันจะส่องแสงออกมาในความมืด” (ดู อีเธอร์ 3:1–4)

พี่ชายของเจเร็ดไม่ได้ทำทั้งหมดที่พระเจ้าทรงให้ทำ แต่พระเจ้าทรงแสดงเดชานุภาพของพระองค์เพื่อเห็นแก่พี่ชายของเจเร็ด โดยทรงสัมผัสหินแต่ละก้อนและทำให้เกิดแสงสว่างที่จำเป็นต่อการเดินทางที่คาดไว้ ในการทำเช่นนั้น พระเจ้าทรงแสดงให้เห็นว่าพระองค์เต็มพระทัยและพร้อมจะแสดงเดชานุภาพของพระองค์ต่อเราเมื่อเราทำสุดความสามารถอย่างขยันหมั่นเพียร

การเชื่อฟัง

หลักธรรมข้อห้าคือการเชื่อฟัง “หากเจ้ารักษาบัญญัติของเรา” พระเจ้าตรัส “เจ้าจะได้รับพระคุณแทนพระคุณ” (คพ. 93:20) โมโรไนกล่าวดังนี้ “หากท่านจะปฏิเสธตนจากความไม่เป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้าทุกอย่าง, และรักพระผู้เป็นเจ้าด้วยสุดพลัง, ความนึกคิด, และพละกำลังของท่าน, เมื่อนั้นพระคุณของพระองค์จึงเพียงพอสำหรับท่าน, เพื่อโดยพระคุณของพระองค์ท่านจะดีพร้อมในพระคริสต์” (โมโรไน 10:32)

เราควรเข้าใจโดยไม่ลดค่าพระบัญชาของพระเจ้าให้รักษาพระบัญญัติหรือลดค่าโอวาทของโมโรไนให้ปฏิเสธตนจากความไม่เป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้าทุกอย่างว่าพระคุณไม่ขึ้นอยู่กับการทำตามโดยครบถ้วนของเรา ถ้าพระคุณขึ้นอยู่กับการรักษาพระบัญญัติโดยครบถ้วนหรือการปฏิเสธตนโดยสิ้นเชิงจากความไม่เป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้าทุกอย่าง ความไม่ดีพร้อมที่เรามีอยู่ในความเป็นมรรตัยคงจะขัดขวางไม่ให้เราได้รับพระคุณตลอดกาลแน่นอน แต่พระคุณมีไว้เพื่อให้เราสามารถรักษาพระบัญญัติได้สมบูรณ์ครบถ้วนมากขึ้นและดำเนินชีวิตเหมือนพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นจนเราบรรลุสภาพอันบริบูรณ์ของพระคริสต์ 

เราต้องเข้าใจพระบัญชาของพระเจ้าให้รักษาพระบัญญัติและโอวาทของโมโรไนให้ปฏิเสธตนจากความไม่เป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้าทุกอย่างขณะทำสิ่งเหล่านี้จนสุดความสามารถ แม้การกระทำของเราจะสำคัญ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือเจตนาของใจเรา

การรับพระวิญญาณบริสุทธิ์และแสวงหาของประทานแห่งพระวิญญาณ

หลักธรรมข้อสุดท้ายคือการรับพระวิญญาณบริสุทธิ์และแสวงหาของประทานแห่งพระวิญญาณ (ดู โมไซยาห์ 18:16) โดยแท้แล้ว เราเปี่ยมด้วยพระคุณของพระผู้เป็นเจ้าเมื่อเรารับพระวิญญาณบริสุทธิ์ เพราะพระวิญญาณบริสุทธิ์คือผู้แจกจ่ายและนำเดชานุภาพอันกอปรด้วยพระปรีชาสามารถของพระผู้เป็นเจ้าในการชำระเราให้บริสุทธิ์และดีพร้อมมาให้เรา

ในประเด็นนี้ เอ็ลเดอร์พาร์ลีย์ พี. แพรทท์ (1807–1857) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้ “ของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ … ฟื้นความสามารถด้านสติปัญญาทั้งหมด เพิ่ม เสริม ขยาย และทำให้ความหลงใหลและความเสน่หาตามธรรมชาติทั้งหมดบริสุทธิ์ และปรับให้ใช้ได้อย่างถูกต้องโดยของประทานแห่งปัญญา ของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ดลบันดาล พัฒนา ปลูกฝัง และทำให้ความเห็นอกเห็นใจ ปีติ รสนิยมที่ดีงามทั้งหลาย ความรู้สึกฉันญาติ และความเสน่หาตามธรรมชาติของเราเติบโต ของประทานดังกล่าวดลบันดาลความบริสุทธิ์ ความกรุณา ความดีงาม ความอ่อนโยน ความสุภาพ และจิตกุศล พัฒนาความงามของบุคคล รูปลักษณ์ และคุณสมบัติ โน้มนำให้เกิดสุขภาพดี กำลังวังชา ความมีชีวิตชีวา และความรู้สึกทางสังคม ปลุกพลังความสามารถทั้งหมดของร่างกายและสติปัญญาของมนุษย์ เสริมสร้างและทำให้เส้นประสาทแข็งแรง สรุปคือ ของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้ไขแก่กระดูก ให้ปีติแก่ใจ ให้แสงสว่างแก่ดวงตา ให้เสียงเพลงแก่หู และให้ชีวิตแก่การดำรงอยู่ทั้งหมด”3

พรเช่นนั้นมาถึงเราเมื่อเรารับพระวิญญาณบริสุทธิ์หลังจากรับบัพติศมาและการยืนยัน เอ็ลเดอร์ออร์สัน แพรทท์ (1811–1881) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “เมื่อใดก็ตามที่พระวิญญาณบริสุทธิ์สถิตในบุคคลใด พระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่เพียงชำระเขาให้สะอาด ศักดิ์สิทธิ์ และบริสุทธิ์ตามระดับที่เขายอมต่ออิทธิพลของพระองค์เท่านั้น แต่ทรงมอบของประทานบางอย่างให้เขาด้วยเพื่อประโยชน์ของตัวเขาและผู้อื่น … ของประทานฝ่ายวิญญาณเหล่านี้กระจายอยูในหมู่สมาชิกของศาสนจักร ตามความซื่อสัตย์ สภาวการณ์ ความสามารถตามธรรมชาติ หน้าที่ และการเรียกของพวกเขา เพื่อทุกคนจะได้รับการสอนอย่างถูกต้อง การยืนยัน การทำให้ดีพร้อม และรอด”4

ความเพียงพอของพระคุณของพระผู้เป็นเจ้า

พระเยซูคริสต์ทรงเปี่ยมด้วยพระคุณ พระคริสต์ทรงได้พระคุณมากมายจากพระบิดาและทรงได้ “พระคุณแทนพระคุณ” (คพ. 93:12) เราได้รับพระคุณแทนพระคุณในทำนองเดียวกัน เราจะได้รับคุณลักษณะและคุณสมบัติทุกอย่างของพระผู้เป็นเจ้า สุดท้าย พลังที่ทำให้สามารถและดีพร้อมของพระคุณมีให้ผ่านหลักธรรมแห่งศรัทธา การกลับใจ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความขยันหมั่นเพียร การเชื่อฟัง การแสวงหาพระวิญญาณและของประทานแห่งพระวิญญาณ

empty tomb

พระองค์ไม่ทรงอยู่ที่นี่ โดย วอลเตอร์ เรน ไม่อนุญาตให้ทำสำเนา

พระคุณของพระเจ้าเพียงพอจะยกท่านขึ้นจากความตายและบาป และประทานพรท่านด้วยชีวิตนิรันดร์ เพียงพอที่จะเปลี่ยนท่าน แก้ไขท่าน และทำให้ท่านดีพร้อม เพียงพอที่จะทำให้ท่านสามารถตระหนักในศักยภาพอันสูงส่งของท่านในฐานะบุตรหรือธิดาของพระผู้เป็นเจ้า

อ้างอิง

  1. Brigham Young, ใน Deseret News, June 3, 1863.

  2. Bruce C. Hafen, The Broken Heart: Applying the Atonement to Life’s Experiences (1989), 155–56.

  3. Parley P. Pratt, Key to the Science of Theology: A Voice of Warning (1978), 61.

  4. Orson Pratt, ใน Masterful Discourses and Writings of Orson Pratt, comp. N. Lundwall (1962), 570, 571.