2017
สะพานเชื่อมความหวังกับการเยียวยา
เมษายน 2017


สะพานเชื่อม ความหวังกับ การเยียวยา

ด้วยความช่วยเหลือที่เหมาะสม เหยื่อของการกระทำทารุณกรรมทางเพศจะพบการเยียวยาที่พวกเขาปรารถนาอย่างยิ่ง

creating a bridge

ภาพประกอบโดย คริสตินา เบอร์นาซซานี

สมมติว่าท่านยืนอยู่ตรงขอบหน้าผาและต้องการไปให้ถึงหุบผาชันอีกด้านหนึ่ง ซึ่งท่านทราบว่าความสุขใหญ่หลวงรอท่านอยู่ ขณะหาทางข้าม ท่านพบวัสดุกองหนึ่งที่หากนำมาประกอบกันอย่างถูกต้องจะสร้างสะพานข้ามหุบผาชันได้

หากท่านไม่รู้วิธีสร้างสะพาน วัสดุเหล่านั้นก็ไร้ประโยชน์ ท่านจะรู้สึกท้อแท้และสิ้นหวัง แต่หากท่านได้รับความช่วยเหลือจากผู้มีประสบการณ์ในการสร้างสะพาน ความรู้และความเข้าใจของท่านจะเพิ่มขึ้นและงานจะสำเร็จ

ตลอด 18 ปีที่ผ่านมา งานของดิฉันคือจัดหาเครื่องมือและการนำทางไว้ช่วยคนข้ามห้วงแห่งความทุกข์ทางอารมณ์หรือทางใจ ทุกคนที่ดิฉันแนะนำ ไม่มีลูกค้าคนใดบาดเจ็บมากเท่าคนที่เคยเป็นเหยื่อของการกระทำทารุณกรรมทางเพศ ดิฉันเคยเห็นผลกระทบของความท้าทายนี้ต่อความสามารถของแต่ละบุคคลในการอดทนด้วยดีจนกว่าชีวิตจะหาไม่

อย่างไรก็ดี ดิฉันได้รู้เช่นกันว่าการบรรเทาถาวรจากความทุกข์และการต่อสู้ดิ้นรนของเราเกิดขึ้นได้ผ่านพระผู้ช่วยให้รอดของเรา ความรักของพระองค์ยกผู้คนออกจากความมืดเข้าสู่ความสว่าง

เหตุใดการกระทำทารุณกรรมทางเพศจึงทำให้เกิดความเสียหายเช่นนั้น

เหยื่อของการกระทำทารุณกรรมบอกดิฉันว่าชีวิตพวกเขาเต็มไปด้วยความหดหู่สิ้นหวัง ความสงสัยตนเอง และความเจ็บปวดลึกๆ ทางอารมณ์ ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ (1910–2008) ช่วยให้เราเข้าใจว่าเหตุใดการกระทำทารุณกรรมทางเพศจึงทำให้เกิดการบาดเจ็บลึกเช่นนั้น

“มีการปฏิบัติที่ชั่วช้าน่ากลัวของการกระทำทารุณกรรมทางเพศ ซึ่งอยู่นอกเหนือความเข้าใจ เป็นการปรามาสศักดิ์ศรีที่ควรอยู่ในชายหญิงทุกคน เป็น การฝ่าฝืนสิ่งซึ่งศักดิ์สิทธิ์และสูงส่ง บ่อนทำลายชีวิตเด็ก เป็นเรื่องน่าตำหนิและ สมควรรับการตัดสินโทษรุนแรงที่สุด

“ชายหรือหญิงที่กระทำทารุณกรรมทางเพศเด็กช่างน่าละอายยิ่งนัก ในการทำเช่นนั้น ผู้กระทำทารุณกรรมไม่เพียง ทำความเสียหายรุนแรงที่สุด เท่านั้น แต่เขาต้องยืนรับการตัดสินโทษต่อพระพักตร์พระเจ้าด้วย”1

พลังของการให้กำเนิดเป็นพลังศักดิ์สิทธิ์และสูงส่งที่พระบิดาในสวรรค์ของเราประทานแก่บุตรธิดาของพระองค์ เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “พลังของการให้กำเนิดมีความสำคัญทางวิญญาณ … พระบิดาบนสวรรค์ของเราและพระบุตรที่รักของพระองค์ทรงเป็นพระผู้สร้างและได้มอบอำนาจการสร้างส่วนหนึ่งของพระองค์ให้เราแต่ละคน”2 ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่การฝ่าฝืนอำนาจศักดิ์สิทธิ์นี้ “สมควรได้รับการตัดสินโทษรุนแรงที่สุด” และก่อให้เกิด “ความเสียหายรุนแรงที่สุด”

เข้าใจการบาดเจ็บ

looking out a window

ภาพประกอบ © nuvolanevicata/iStock/Getty Images

การกระทำทารุณกรรมทางเพศเป็นการปฏิสัมพันธ์โดยการไม่เห็นด้วยของอีกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมแบบสัมผัสหรือไม่สัมผัสเพื่อใช้บุคคลหนึ่งสนองความพอใจทางเพศของอีกบุคคลหนึ่ง บ่อยกว่านั้นคือเหยื่อของการกระทำทารุณกรรมทางเพศมักถูกทิ้งให้อยู่กับความคิดสับสน ความรู้สึกไร้ค่าและอับอายจนสุดจะทนได้ ความเจ็บปวดและความทุกข์ที่เหยื่อประสบมักจะรุนแรงขึ้นตามความเห็นของผู้อื่นอันเกิดจากความเข้าใจผิดเรื่องการกระทำทารุณกรรมทางเพศและผลของมัน เหยื่อบางรายถูกกล่าวหาว่าโกหกหรือไม่ก็บอกว่าการกระทำทารุณกรรมเป็นความผิดของพวกเขา หลายคนถูกชักนำอย่างผิดๆ ให้เชื่อว่าพวกเขาต้องกลับใจประหนึ่งพวกเขาทำบาปเพราะตกเป็นเหยื่อ

มีคนบอกลูกค้าหลายคนที่ดิฉันทำงานด้วย ผู้ประสบการกระทำทารุณกรรมทางเพศในวัยเด็กหรือวัยเยาว์ว่า “ช่างมันเถอะ” “ปล่อยให้เป็นอดีต” หรือ “แค่ให้อภัยและลืม” คำกล่าวลักษณะนี้—โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมาจากเพื่อนสนิท สมาชิกครอบครัวหรือผู้นำศาสนจักร—สามารถทำให้เหยื่อเก็บเป็นความลับมากขึ้นและอายแทนที่จะรับการเยียวยาและมีสันติสุข คล้ายกับบาดแผลรุนแรงหรือการติดเชื้อทางกาย บาดแผลทางอารมณ์เหล่านี้ไม่ใช่แค่ทำเฉยก็หาย แต่ความสับสนที่เกิดขึ้นระหว่างการกระทำทารุณกรรมเพิ่มขึ้น ร่วมกับอารมณ์ที่เจ็บปวดจากเหตุนั้น อาจทำให้ความคิดของบุคคลแปรเปลี่ยนจนกลายเป็นพฤติกรรมที่เป็นภัย ไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าเหยื่อของการกระทำทารุณกรรมไม่ยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขาเป็นการกระทำทารุณกรรม แต่พวกเขาอาจจะยังมีพฤติกรรมที่เป็นภัยและอารมณ์ที่เจ็บปวด

ฮันนาห์ (นามสมมติ) ประสบการกระทำทารุณกรรมทางเพศในวัยเด็ก เหมือนเหยื่อรายอื่น เธอโตมากับความรู้สึกเหมือนเธอเป็นคนแย่มาก เธอไม่มีค่า เธอใช้ชีวิตส่วนใหญ่พยายามรับใช้ผู้อื่นให้มากพอจะชดเชยความรู้สึกว่าเธอไม่ “ดีพอ” จะให้พระบิดาบนสวรรค์หรือคนอื่นๆ รักในความสัมพันธ์ของเธอ เธอกลัวว่าถ้าใครรู้จักเธอจริง พวกเขาจะคิดว่าเธอแย่มากเท่าๆ ที่เธอเชื่อว่าเธอแย่มาก เธอกลัวการปฏิเสธขั้นรุนแรงจนทำให้เธอไม่กล้าลองสิ่งใหม่ๆ ในชีวิตหรือทำเรื่องง่ายๆ อย่างเช่นโทรศัพท์ไปหาบางคน เธอมีพรสวรรค์ด้านงานศิลปะแต่เลิกพัฒนาเพราะกลัวจะไม่สามารถรับคำวิพากษ์วิจารณ์ได้

เป็นเวลากว่า 50 ปีที่ความรู้สึกไร้ประโยชน์ ความไม่สามารถ ความกลัว ความโกรธ ความสับสน ความอาย ความอ้างว้าง และความโดดเดี่ยวชี้นำการตัดสินใจประจำวันของเธอ

แทนที่ความเจ็บปวดด้วยสันติสุข

พระผู้ช่วยให้รอดทรงประสบ “ความเจ็บปวดและความทุกข์และการล่อลวงทุกอย่าง” พระองค์ทรงประสบเช่นนี้เพื่อพระองค์จะทรง “รู้ตามเนื้อหนังว่าจะทรงช่วยผู้คนของพระองค์ได้อย่างไร” (แอลมา 7:11–12) ความทุกขเวทนาของพระองค์ไม่เพียงเพื่อบาปของเราเท่านั้นแต่เพื่อเยียวยาเราด้วยเมื่อบาปของผู้อื่นทำให้เรามีความทุกข์

หากพระองค์ทรงอยู่ที่นี่วันนี้ ดิฉันคิดว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะทรงกันแสงและทรงอวยพรคนที่ถูกกระทำทารุณกรรมทางเพศ เช่นเดียวกับที่ทรงกันแสงและทรงอวยพรชาวนีไฟ (ดู 3 นีไฟ 17) แม้พระองค์ไม่ทรงอยู่ที่นี่ทางกาย แต่พระวิญญาณของพระองค์สามารถอยู่กับเราได้ และพระองค์ทรงเตรียมทางให้เราได้รับการเยียวยา รู้สึกสงบ และให้อภัย

reaching through a ladder

สำหรับหลายคนที่บาดเจ็บพวกเขาแทบไม่เชื่อว่าพวกเขาสามารถแทนที่ความเจ็บปวดนั้นด้วยสันติสุข บ่อยครั้งคนอื่นไม่ทันสังเกตบาดแผลของผู้ถูกกระทำทารุณกรรมและมองไม่ออกเป็นเวลาหลายปี การบาดเจ็บถูกปกปิดไว้ด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม ความเต็มใจช่วยเหลือผู้อื่น และการดำเนินชีวิตประหนึ่งไม่มีอะไรผิด ทว่าความเจ็บปวดยังอยู่ที่นั่นเสมอ

ขอให้เราเปรียบเทียบกระบวนการเยียวยาทางอารมณ์กับการดูแลรักษาอาการบาดเจ็บทางกาย สมมติว่าสมัยที่ท่านเป็นเด็ก ขาของท่านหัก แทนที่จะไปให้แพทย์รักษา ท่านกลับเดินกระโผลกกระเผลกจนกว่าจะหายเจ็บไปเอง แต่ท่านมักจะเจ็บนิดๆ ทุกก้าวที่เดิน หลายปีต่อมาท่านต้องการให้ความเจ็บปวดนั้นหายไป ท่านจึงไปพบแพทย์ แพทย์ต้องจัดกระดูกใหม่ ขจัดหินปูนที่ก่อตัว ใส่เฝือก และส่งท่านไปทำกายภาพบำบัดเพื่อให้ขาแข็งแรงขึ้น

กระบวนการรักษาการกระทำทารุณกรรมก็คล้ายกันคือเหยื่อต้องยอมรับก่อนว่าความเจ็บปวดมีจริงและสามารถทำบางสิ่งได้ กระบวนการนี้รวมถึงการยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นและยอมให้ตนเองรู้สึก รับรู้ และเห็นค่าของความรู้สึกทุกข์ใจ ความหวาดกลัว และความเสียใจ บ่อยครั้งจะช่วยได้ถ้าทำงานกับผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในกระบวนการเยียวยานี้ (ตรวจสอบกับผู้นำฐานะปุโรหิตของท่านเพื่อให้รู้ว่ามีศูนย์ให้คำปรึกษาครอบครัวแอลดีเอสในเขตของท่านหรือไม่)

ไม่ว่าเหยื่อจะเข้าถึงความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญหรือไม่ก็ตาม การสวดอ้อนวอน การศึกษาพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอดและการชดใช้ของพระองค์ ตลอดจนการพูดคุยกับผู้นำฐานะปุโรหิตเป็นประจำถือว่าดีที่สุด เขาสามารถช่วยแบ่งเบาภาระและรับการดลใจให้ช่วยเหยื่อเข้าใจคุณค่าอันสูงส่งของตนและความสัมพันธ์ของพวกเขากับพระบิดาในสวรรค์และพระผู้ช่วยให้รอด ดังที่ซิสเตอร์แคโรล เอ็ม. สตีเฟนส์ ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญสอนเมื่อเร็วๆ นี้ว่า “การเยียวยาอาจเป็นกระบวนการที่ยาวนาน จะเรียกร้องให้ท่านแสวงหาการนำทางและความช่วยเหลือที่เหมาะสมร่วมกับการสวดอ้อนวอน รวมถึงการปรึกษากับผู้ดำรงฐานะปุโรหิตที่ได้รับแต่งตั้งอย่างเหมาะสม ขณะท่านเรียนรู้ที่จะสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา จงกำหนดขอบเขตที่เหมาะสม และอาจจะต้องขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ การรักษาสุขภาพทางวิญญาณตลอดกระบวนการถือว่าสำคัญอย่างยิ่ง!”3

สำหรับฮันนาห์ ชีวิตเธออึดอัดจนเธอแสวงหาความช่วยเหลือ เธอรู้จากประจักษ์พยานของเธอว่าเธอสามารถรู้สึกถึงสันติสุขและความพอใจในชีวิตได้แต่ไม่รู้สึกตลอดเวลา โดยผ่านการสวดอ้อนวอนและพูดคุยกับอธิการ เธอได้รับการนำทางให้ขอคำปรึกษาเพื่อเธอจะได้เครื่องมือที่ต้องใช้นำความจริงออกจากความมืดและร่วมกันแบกภาระอันน่ากลัวที่เธอแบกตามลำพังเรื่อยมา ในการทำเช่นนั้น เธอสามารถบรรเทาความเจ็บปวดและพบสันติสุขที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสัญญา (ดู ยอห์น 14:27) ความปรารถนาและความสามารถในการให้อภัยมาพร้อมสันติสุขและการปลอบโยนดังกล่าว

จำเป็นต้องให้อภัย

แนวคิดเรื่องการให้อภัยมักจะเป็นเรื่องที่เหยื่อของการกระทำทารุณกรรมไม่อยากได้ยินและมักจะเข้าใจผิด หากพวกเขาคิดว่าการให้อภัยคือการปล่อยให้ผู้กระทำทารุณกรรมลอยนวลหรือพูดว่าสิ่งที่เขาทำไม่สำคัญอีกแล้ว เหยื่อจะรู้สึกว่าไม่สมเหตุสมผล แม้เราได้รับบัญชาว่าต้องให้อภัย (ดู คพ. 64:10) แต่ในสถานการณ์ที่ความเสียหายฝังลึก การเยียวยาต้องเริ่มก่อน เหยื่อจึงจะสามารถให้อภัยผู้กระทำทารุณกรรมได้หมดใจ

คนที่กำลังประสบความเจ็บปวดอันเกิดจากการกระทำทารุณกรรมจะพบการปลอบโยนในคำแนะนำนี้จากพระคัมภีร์มอรมอน “ข้าพเจ้า, เจคอบ, จะกล่าวแก่ท่านที่ใจบริสุทธิ์ จงมองพระผู้เป็นเจ้าด้วยจิตใจมั่นคง, และสวดอ้อนวอนพระองค์ด้วยศรัทธายิ่ง, และพระองค์จะทรงปลอบประโลมท่านในความทุกข์ของท่าน, และพระองค์จะทรงวิงวอนแก้ต่างให้ท่าน, และทรงส่งความยุติธรรมลงมาถึงคนที่แสวงหาความพินาศให้ท่าน” (เจคอบ 3:1) เราสามารถคืนความยุติธรรมที่เราต้องการและสิทธิ์ในการชดใช้ให้พระเจ้าเพื่อพระองค์จะทรงสามารถแทนที่ความทุกข์ของเราด้วยสันติสุข

ในที่สุดฮันนาห์ก็พบว่าเธอสามารถคืนความยุติธรรมที่เธอต้องการให้พระผู้ช่วยให้รอดและพบความรู้สึกสันติสุขในชีวิตอย่างที่เธอไม่เคยรู้สึกมาก่อน ก่อนหน้านี้เธอไม่กล้าร่วมงานชุมนุมครอบครัวที่ผู้กระทำทารุณกรรมจะปรากฏตัว แต่เวลานี้ เพราะเธอยินดีเผชิญบาดแผลทางอารมณ์ระหว่างการเยียวยา เธอจึงไม่กลัวการอยู่ต่อหน้าเขาอีกเลยและถึงกับมีเมตตาสงสารเขาเมื่อเขาอยู่ในวัยชรา

ปลอดภาระที่ไม่จำเป็น

reaching up

เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์ (1928–2015) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า “การเยียวยาจนหายขาดจะเกิดขึ้นผ่านศรัทธาของท่านในพระเยซูคริสต์และเดชานุภาพและพระปรีชาสามารถของพระองค์ ผ่านการชดใช้ของพระองค์ เพื่อรักษารอยแผลเป็นซึ่งไม่ยุติธรรมและไม่ควรเกิดขึ้น …

“พระองค์ทรงรักท่าน พระองค์พลีพระชนม์ชีพเพื่อท่านจะปลอดภาระที่ไม่จำเป็น พระองค์จะทรงช่วยท่านทำเช่นนั้น ข้าพเจ้าทราบว่าพระองค์ทรงมีพลังเยียวยาท่าน”4

ปฏิปักษ์ต้องการให้ผู้คนผูกติดอยู่กับความเจ็บปวดและความทุกข์เพราะเขาเศร้าหมอง (ดู 2 นีไฟ 2:27) ด้วยความช่วยเหลือจากพระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์ สันติสุขจะแทนที่ความเจ็บปวดได้จริงก็ต่อเมื่อพระผู้ช่วยให้รอดประทานและเราสามารถดำเนินชีวิตด้วยปีติ “อาดัมตกเพื่อมนุษย์จะเป็นอยู่; และมนุษย์เป็นอยู่, เพื่อพวกเขาจะมีปีติ” (2 นีไฟ 2:25) การดำเนินชีวิตด้วยปีติจะช่วยให้เราอดทนต่อช่วงเวลาของการทดลองได้มากขึ้นและสามารถเรียนรู้ เติบโต และเป็นเหมือนพระบิดาในสวรรค์มากขึ้น

ดิฉันเจียมตนกับพรที่ได้รับในชีวิตเมื่อนั่งกับผู้เสียหายจากการกระทำทารุณกรรมและเห็นปาฏิหาริย์แห่งการเยียวยาที่เกิดขึ้นจริงผ่านพระผู้ช่วยให้รอดเท่านั้น ถ้าท่านมีความทุกข์ โปรดหันไปขอความช่วยเหลือร่วมกับการสวดอ้อนวอน ท่านไม่ต้องแบกภาระหนักตามลำพัง ดิฉันทราบว่าพระองค์ทรงเยียวยา เพราะดิฉันเห็นมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

อ้างอิง

  1. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “Save the Children,” Ensign, Nov. 1994, 54; เน้นตัวเอน

  2. เดวิด เอ. เบดนาร์, “เราเชื่อในการเป็นคนบริสุทธิ์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 42.

  3. แคร์โรล เอ็ม. สตีเฟนส์, “พระอาจารย์พระผู้เยียวยา,” เลียโฮนา, พ,ย, 2016, 11.

  4. ริชาร์ด จี. สก๊อตต์, “การเป็นอิสระจากภาระหนัก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2002, 110.