2018
รากฐานทางวิญญาณของการพึ่งพาตนเองด้านการเงินของศาสนจักร
August 2018


รากฐานทางวิญญาณของ การพึ่งพาตนเองด้านการเงินของศาสนจักร

ดัดแปลงจากคำปราศรัยที่การประชุมนานาทัศนะประวัติศาสนจักร 2018 เรื่อง “Financing Faith: The Intersection of Business and Religion” ที่มหาวิทยาลัยบริคัมยังก์ วันที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 2018

ในฐานะผู้นำของศาสนจักร เรารู้สึกเสมอว่าเรามีความรับผิดชอบใหญ่หลวงต่อการใช้ส่วนสิบและเงินบริจาคอันศักดิ์สิทธิ์ในวิธีที่พระเจ้าพอพระทัย

ภาพ
family walking in front of chapel

เมื่อเร็วๆ นี้ข้าพเจ้ามีโอกาสไปเยือนเมืองเคิร์ทแลนด์ รัฐโอไฮโอ ในสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งนี้มีเหตุการณ์น่าทึ่งมากมายของการฟื้นฟูเกิดขึ้น ผู้มาเยือนได้รับการเชื้อเชิญให้ใคร่ครวญถึงศรัทธาและมรดกของชายหญิงที่กล้าหาญผู้วางรากฐานสำหรับงานยุคสุดท้ายอันสำคัญยิ่งนี้ แม้ช่วงเคิร์ทแลนด์เป็นเวลาของการเติบโตและการหลั่งเทพระวิญญาณอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่วิสุทธิชนยุคแรกส่วนใหญ่เหล่านี้ยากจนข้นแค้นและอยู่ในสภาพไม่มั่นคง พวกเขาเสียสละทุกอย่าง—บ่อยครั้งเสียสละฟาร์มที่อุดมสมบูรณ์และอาชีพการงานที่มั่นคงดีแล้ว—เพื่อติดตามพระเยซูคริสต์และโจเซฟ สมิธศาสดาพยากรณ์ของพระองค์

ขณะข้าพเจ้าเดินไปบนผืนดินศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ ข้าพเจ้าอดคิดไม่ได้ถึงความแตกต่างสุดขั้วระหว่างความอัตคัดขัดสนแต่ดั้งเดิมของเมืองเคิร์ทแลนด์กับความรุ่งเรืองของศาสนจักรและสมาชิกหลายรุ่นในปัจจุบัน พระเจ้าทรงอวยพรศาสนจักรของพระองค์และวิสุทธิชนยุคสุดท้ายอย่างเห็นได้ชัด!

ความล้นเหลือของพรทางโลกต่อยอดจากคำสัญญาที่พระผู้เป็นเจ้าตรัสย้ำบ่อยครั้งว่า “ตราบเท่าที่พวกเจ้าจะรักษาบัญญัติของเราพวกเจ้าจะรุ่งเรืองอยู่ในแผ่นดิน”1

คำสัญญาดังกล่าวเป็นศูนย์รวมของเรื่องราวและคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน ซึ่งปรากฏใน 18 ข้อ และในหนังสือเจ็ดเล่มจาก 15 เล่มในพระคัมภีร์มอรมอน แม้พรของความรุ่งเรืองดังที่กล่าวไว้ในข้อพระคัมภีร์เหล่านี้สำคัญอย่างยิ่งต่อสภาพฝ่ายวิญญาณ แต่ผู้คนของพระผู้เป็นเจ้าสามารถเจริญก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจและพึ่งพาตนเองทางโลกได้เช่นกัน

โดดเด่นที่สุดตรงที่ความรุ่งเรืองทางโลกเกิดจากการถือปฏิบัติอย่างซื่อสัตย์ต่อหลักธรรมชี้นำบางประการที่พระเจ้าทรงเปิดเผยผ่านศาสดาพยากรณ์ของพระองค์และได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันและวัฒนธรรมของวิสุทธิชนยุคสุดท้าย หลักธรรมเหล่านี้ได้แก่ กฎส่วนสิบ กฎแห่งการอดอาหาร ตลอดจนความจำเป็นด้านการศึกษา งานอาชีพ และการพึ่งพาตนเอง ศาสนจักรแนะนำให้สมาชิกดำเนินชีวิตตามรายได้ของตน หลีกเลี่ยงหนี้สินที่ไม่จำเป็น และเตรียมรับอนาคตโดยมีเงินสำรอง รวมทั้งอาหารและสินทรัพย์ทางการเงิน

ขณะสอนหลักธรรมทางโลกเหล่านี้แก่สมาชิก ผู้นำศาสนจักรเองก็นำหลักธรรมเหล่านี้ไปปฏิบัติทั่วศาสนจักรเช่นกัน ในนโยบายการเงินและการลงทุนของศาสนจักร ศาสนจักรปฏิบัติตามหลักคำสอนและกฎเกณฑ์ที่สอนสมาชิก ตอนนี้ข้าพเจ้าจะพูดถึงหลักธรรมสี่ข้อนั้น

หลักธรรมข้อแรก: กฎส่วนสิบ

ในการเปิดเผยที่โจเซฟ สมิธได้รับเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1838 พระเจ้าทรงบัญชาว่า “คนเหล่านั้นที่เราเก็บส่วนสิบดังนี้พึงจ่ายหนึ่งในสิบส่วนของผลประโยชน์ทั้งหมดของพวกเขาเป็นรายปี” พระองค์ทรงอธิบายด้วยว่าคำแนะนำที่เฉพาะจงจงนี้มีไว้ให้เป็น “กฎถาวรสำหรับ [วิสุทธิชนทั้งปวง] ตลอดกาล”2

กฎส่วนสิบที่ได้รับวันนั้นเป็นพระบัญญัติจากพระเจ้าและเป็นการสถาปนากฎสวรรค์ซึ่งผู้คนของอิสราเอลถือปฏิบัติในอดีตขึ้นมาใหม่ เป็นเครื่องหมายแห่งพันธสัญญาที่พระเจ้าทรงทำกับผู้คนของพระองค์—ว่าถ้าพวกเขายังคงซื่อสัตย์ต่อกฎนั้น พระองค์จะทรงอวยพรพวกเขาทั้งทางวิญญาณและทางโลก ปัจจุบัน กฎส่วนสิบยังคงเป็นการปฏิบัติที่จำเป็นของวิสุทธิชนยุคสุดท้าย ไม่ว่าพวกเขาอาศัยอยู่ที่ใด สถานภาพทางสังคมของพวกเขาเป็นเช่นไร หรือพวกเขามีทรัพย์สินทางโลกมากน้อยเพียงใดก็ตาม อีกทั้งเป็นฐานความมั่นคงทางการเงินของศาสนจักรเช่นกัน

เนื่องจากการเรียกข้าพเจ้าสู่ฝ่ายอธิการควบคุม ข้าพเจ้าจึงพิศวงไม่เว้นวายกับศรัทธาและความภักดีของสมาชิกศาสนจักรเมื่อพวกเขาดำเนินชีวิตตามกฎนี้ หากปราศจากส่วนสิบ ศาสนจักรคงไม่สามารถดำเนินพันธกิจจากสวรรค์ให้ลุล่วงได้ ในคำปราศรัยการประชุมใหญ่สามัญที่น่าจดจำครั้งหนึ่ง ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ (1910–2008) ประกาศว่า “ข้าพเจ้าสำนึกคุณอย่างสุดซึ้งต่อกฎส่วนสิบ สำหรับข้าพเจ้าแล้วกฎส่วนสิบเป็นปาฏิหาริย์ที่เกิดวนเวียนเรื่อยไป และเกิดขึ้นได้เพราะศรัทธาของผู้คน กฎส่วนสิบเป็นแผนของพระเจ้าเพื่อจัดหาเงินทุนสนับสนุนงานในอาณาจักรของพระองค์”3

วันเดียวกันนั้นในปี 1838 โจเซฟได้รับการเปิดเผยอีกครั้งซึ่งพระเจ้าทรงชี้แจงรูปแบบการอนุมัติและการบริหารการใช้เงินส่วนสิบให้เป็นประโยชน์ พระองค์ทรงประกาศว่า “พึงจัดการกับสิ่งนี้โดยสภา, ซึ่งประกอบด้วยฝ่ายประธานสูงสุดแห่งศาสนจักรของเรา, และด้วยอธิการและสภาของเขา, และโดยสภาสูงของเรา; และโดยเสียงของเราเองถึงพวกเขา, พระเจ้าตรัส”4 ในปัจจุบันเราทราบว่า “อธิการและสภาของเขา” และ “สภาสูงของเรา” ที่การเปิดเผยนี้กล่าวถึงคือฝ่ายอธิการควบคุมและโควรัมอัครสาวกสิบสองตามลำดับ

ในสมัยของเรายังคงนำคำแนะนำเหล่านี้ที่อยู่ในพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาภาค 120 มาใช้อย่างครบถ้วน ทุกวันศุกร์แรกของเดือนธันวาคม ฝ่ายประธานสูงสุด โควรัมอัครสาวกสิบสอง และฝ่ายอธิการควบคุมประชุมกันเพื่อตรวจสอบและอนุมัติการจัดสรรเงินทุนศักดิ์สิทธิ์นี้ของศาสนจักรจากส่วนสิบและเงินบริจาคที่คาดว่าจะได้ในปีถัดไป การจัดสภาดังกล่าวทำให้มั่นใจว่าการตัดสินใจเหล่านั้นทำตามเจตนารมณ์ของการหารือกัน การเปิดเผย และความเป็นเอกฉันท์

ในฐานะผู้นำของศาสนจักร เรารู้สึกเสมอว่าเรามีความรับผิดชอบอันสำคัญยิ่งต่อการใช้ส่วนสิบและเงินบริจาคอันศักดิ์สิทธิ์ในวิธีที่พระเจ้าพอพระทัย ดังที่เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวไว้ชัดเจน “เราตระหนักดีถึงลักษณะอันศักดิ์สิทธิ์แห่งเหรียญทองแดงของหญิงม่าย”5 ประธานฮิงค์ลีย์เสริมว่า

“เงินที่ศาสนจักรได้รับจากสมาชิกที่ซื่อสัตย์เป็นเงินอุทิศถวาย เป็นเงินของพระเจ้า … เงินทุนที่เรารับผิดชอบเกี่ยวข้องกับความไว้วางใจอันศักดิ์สิทธิ์ จึงต้องจัดการด้วยความซื่อสัตย์อย่างแท้จริงและด้วยความมัธยัสถ์อย่างที่สุดตามเจตนารมณ์ของผู้อุทิศถวาย

“เรารู้สึกว่าเรามีความรับผิดชอบมหาศาลต่อท่านผู้ทำการบริจาคเหล่านี้ เรารู้สึกว่าเรามีความรับผิดชอบใหญ่หลวงกว่านั้นต่อพระเจ้าผู้เป็นเจ้าของเงิน”6

เราไม่ใช่สถาบันการเงินหรือบริษัทการค้า เราเป็นศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ และศาสนจักรนี้ไม่มีวัตถุประสงค์อื่นใดนอกจากที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้ด้วยพระองค์เอง—นั่นคือ เพื่อเชื้อเชิญให้คนทั้งปวง “มาหาพระคริสต์, และได้รับการทำให้ดีพร้อมในพระองค์”7 โดย “ช่วยให้สมาชิกดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ รวบรวมอิสราเอลผ่านงานเผยแผ่ศาสนา ดูแลคนยากจนและคนขัดสน ตลอดจนเปิดโอกาสให้คนตายได้รับความรอดโดยการสร้างพระวิหารและประกอบศาสนพิธีแทนคนตาย”8

ตามนโยบาย เงินทุนส่วนสิบที่ศักดิ์สิทธิ์ได้รับอนุมัติและจัดสรรไว้เพื่อสนับสนุนพันธกิจทางวิญญาณและศาสนาของศาสนจักร เงินเหล่านี้ใช้เพื่อสนับสนุนหกด้านหลักๆ ได้แก่ (1) จัดเตรียมและบำรุงรักษาสถานนมัสการ 30,000 กว่าแห่งทั่วโลก (2) บริหารจัดการโปรแกรมสวัสดิการและความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมของศาสนจักร และอีก 2,700 กว่าโครงการในปี 2017 (3) จัดเตรียมโปรแกรมการศึกษา รวมถึงโรงเรียน มหาวิทยาลัย โปรแกรมเซมินารีและสถาบันของศาสนจักร (4) สนับสนุนการดำเนินงานเผยแผ่ศาสนาทั่วโลก รวมถึงคณะเผยแผ่ 420 แห่งและแหล่งช่วยที่ผู้สอนศาสนาประมาณ 70,000 คนต้องใช้ (5) สร้างและเปิดดำเนินการพระวิหารราว 160 แห่งทั่วโลก กับอีกหลายแห่งที่จะตามมา และบริหารจัดการโปรแกรมอนุรักษ์บันทึกและประวัติครอบครัวที่ขยายใหญ่ขึ้น และ (6) สนับสนุนการบริหารงานทั่วไปของศาสนจักร

ข้าพเจ้าสำนึกคุณต่อกฎส่วนสิบ ส่วนสิบเป็นแหล่งของพรทั้งทางโลกและทางวิญญาณสำหรับศาสนจักรและสมาชิกแต่ละคน

ภาพ
wheelchairs donated in India

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2016 องค์กรการกุศลแอลดีเอสบริจาคเก้าอี้เข็น 280 คันและจักรยานสามล้อแบบใช้มือขับเคลื่อนในกะริมนคร อินเดีย ตั้งแต่ ค.ศ. 2001 องค์กรการกุศลแอลดีเอสบริจาคเก้าอี้เข็นกว่า 500,000 คันใน 133 ประเทศ

หลักธรรมที่สอง: การพึ่งพาตนเองและการไม่พึ่งพาใคร

สิทธิ์เสรีส่วนตัวเป็นของประทานสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของพระผู้เป็นเจ้า สำคัญอย่างยิ่งต่อความก้าวหน้าทางโลกและความรอดนิรันดร์ของเรา บุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าก้าวหน้าในความสามารถเลือกด้วยตนเองและดังนั้นจึงเติมเต็มระดับการสร้างของตนโดยการพึ่งพาตนเองทางโลกและทางวิญญาณ

ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่ศาสดาพยากรณ์ในสมัยการประทานของเราเชื้อเชิญอย่างไม่สิ้นสุดให้สมาชิกศาสนจักรพยายามพึ่งพาตนเอง คำพูดของประธานฮิงค์ลีย์โน้มน้าวจิตใจอย่างยิ่ง

“ข้าพเจ้าขอให้ท่าน … ตรวจสอบสภาพการเงินของท่าน ข้าพเจ้าขอให้ท่านใช้จ่ายอย่างประหยัด สร้างวินัยในการใช้จ่ายเพื่อหลีกเลี่ยงหนี้สินจนถึงที่สุด จงชำระหนี้ให้เร็วที่สุด และปลดเปลื้องตัวท่านจากพันธะ

“นี่เป็นส่วนหนึ่งของพระกิตติคุณฝ่ายโลกที่เราเชื่อ ขอพระเจ้าทรงอวยพรท่าน … ในการจัดบ้านท่านให้อยู่ในระเบียบ หากท่านชำระหนี้แล้วและมีเงินสำรอง แม้เพียงเล็กน้อย เมื่อพายุพัดผ่านศีรษะท่าน ท่านจะมีที่พักพิงให้กับ [ครอบครัว] ของท่านและจะมีสันติสุขในใจท่าน”9

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันเน้นพรของการพึ่งพาตนเองเช่นกันเมื่อท่านกล่าวว่า “วิสุทธิชนเกิดความเข้าใจใหม่ว่าตนเป็นใครและสำนึกคุณต่อคุณค่านิรันดร์ของตนเมื่อพวกเขาตั้งใจทำงาน ความชอบธรรม การไม่พึ่งพาใคร ความมัธยัสถ์ ความวิริยะอุตสาหะ และการพึ่งพาตนเองกลายเป็นเป้าหมายส่วนตัว คุณสมบัติเหล่านี้เปลี่ยนแปลงชีวิต”10

การจัดสรรงบประมาณอย่างฉลาดที่บ้านทำให้สมาชิกแต่ละคนและครอบครัวไม่ต้องพึ่งพาใครฉันใด การบริหารเงินก็เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้ศาสนจักรสามารถดำเนินงานได้อย่างอิสระฉันนั้น ตามด้วยโอวาทที่ประทานผ่านโจเซฟ สมิธว่า “ด้วยการอารักขา [ของพระเจ้า], … ศาสนจักรจะยืนหยัดเป็นอิสระเหนือชาวโลกอื่น ๆ ทั้งปวงภายใต้โลกซีเลสเชียล”11

การอารักขาดังกล่าวประจักษ์ชัดอย่างยิ่งในสมัยของเรา เราปลาบปลื้มกับข้อเท็จจริงที่ว่าศาสนจักรพึ่งพาตนเองด้านการเงินได้อย่างสมบูรณ์และสามารถทำพันธกิจให้ลุล่วงได้โดยไม่มีหนี้ ดังที่ประธานฮิงค์ลีย์กล่าว “ถ้าเราไม่สามารถทำงานให้ลุล่วงได้ เราจะตัดทอนโปรแกรมของเรา … เราจะไม่กู้ยืม”12

ผู้นำศาสนจักรกำหนดนโยบายด้านการบริหารเงินและนำนโยบายเหล่านั้นมาใช้อย่างระมัดระวังในการตั้งงบประมาณประจำปีและจัดสรรค่าใช้จ่าย นโยบายเหล่านี้ประกอบด้วยหลักธรรมที่เรียบง่ายและชัดเจนสองข้อนี้

  • หนึ่ง ค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะไม่เกินรายรับที่ประมาณการไว้

  • สอง งบค่าใช้จ่ายดำเนินการปีต่อปีจะไม่เพิ่มเร็วกว่าจำนวนเงินบริจาคส่วนสิบที่คาดการณ์ไว้

ภาพ
man picking peaches

สมาชิกที่อยู่ใกล้ฟาร์มของศาสนจักรมีโอกาสอาสาเก็บผักผลไม้ ผลผลิตจากฟาร์มศาสนจักรส่งเข้าโรงงานบรรจุอาหารกระป๋องและคลังของอธิการเพื่อช่วยสมาชิกที่ขัดสน

หลักธรรมข้อสาม: การดำรงชีพอย่างมัธยัสถ์

สมาชิกศาสนจักรรับรู้ข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเขามีชีวิตอยู่ในช่วงหายนะทั้งจากการกระทำของมนุษย์และวิบัติภัยทางธรรมชาติ คำพยากรณ์เกี่ยวกับวันเวลาสุดท้ายแจ่มแจ้งชัดเจน และมีความเฉลียวฉลาดมากในการเตรียมรับอนาคต—ไม่ว่าจะเป็นเพราะความอดอยาก วิบัติภัย ภาวะตกต่ำด้านการเงินที่อาจเกิดขึ้น หรือสภาวการณ์เลวร้ายอื่นๆ ที่ไม่อาจรู้ล่วงหน้าได้ บ่อยครั้งที่ผู้นำศาสนจักรแนะนำให้สมาชิกดำรงชีพอย่างมัธยัสถ์โดยสะสมอาหารในบ้าน รวมทั้งน้ำ อาหารพื้นฐาน ยา เครื่องนุ่มห่ม และโภค-ภัณฑ์อื่นๆ ที่อาจต้องใช้ในกรณีฉุกเฉิน สมาชิกได้รับคำแนะนำเช่นกันให้ “ออมเงินทีละน้อยเป็นประจำโดยเก็บออมส่วนหนึ่งจากรายได้”13

หลักธรรมเดียวกันนี้ของการเตรียมพร้อมทางโลกนำมาใช้ได้กับศาสนจักรโดยรวม ตัวอย่างเช่น ไซโลเก็บธัญพืชและโกดังต่างๆ เต็มไปด้วยสิ่งจำเป็นพื้นฐานยามฉุกเฉินที่ศาสนจักรสร้างไว้ทั่วอเมริกาเหนือ ศาสนจักรทำตามหลักปฏิบัติของการสำรองทรัพยากรส่วนหนึ่งไว้ทุกปีอย่างมีแบบแผนเพื่อเตรียมรับความจำเป็นในอนาคตที่อาจเกิดขึ้น

จากนั้นจะเพิ่มเงินที่สำรองไว้เข้าไปในเงินสำรองการลงทุนของศาสนจักร โดยใช้เงินเหล่านี้ลงทุนในหุ้นและพันธบัตร ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ในธุรกิจที่ต้องเสียภาษี (บางส่วนเกิดขึ้นในประวัติยูทาห์สมัยแรกของศาสนจักร) ทรัพย์สินเชิงพาณิชย์ อุตสาหกรรม ที่พักอาศัย และผลประโยชน์ทางการเกษตร เงินสำรองของศาสนจักรบริหารโดยกลุ่มลูกจ้างมือชีพและผู้ให้คำปรึกษานอกศาสนจักร ความเสี่ยงมีหลากหลายซึ่งสอดคล้องกับหลักการพิทักษ์ที่ฉลาดรอบคอบและหลักบริหารการลงทุนสมัยใหม่

ในอุปมาเรื่องเงินตะลันต์ เจ้านายขอดูบัญชีจากบ่าวได้ตำหนิบ่าวผู้ไม่นำเงินที่เขาฝากไว้ไปลงทุนแต่กลับฝังเงินนั้นไว้ เจ้านายถือว่าบ่าวคนนั้น “ชั่วและเกียจคร้าน”14 เพราะไม่นำเงินไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนตามสมควร ตามหลักธรรมทางวิญญาณนี้ ศาสนจักรไม่ได้ปล่อยเงินสำรองไว้เฉยๆ ในบัญชีธนาคารที่ไม่ออกผลแต่นำไปใช้กับส่วนที่ได้ผลตอบแทน

เงินลงทุนเหล่านี้สามารถนำออกมาใช้ได้ในยามลำบากเพื่อให้พันธกิจ โปรแกรม และการดำเนินงานของศาสนจักรต่อเนื่องไม่สะดุด และแก้ไขความจำเป็นเร่งด่วนด้านการเงิน ศาสนจักรต้องใช้เงินทุนจัดหาทุนทรัพย์เพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนพันธกิจของศาสนจักรในการเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเจ้า เงินเหล่านั้นจะช่วยค้ำจุนการเติบโตของศาสนจักรตามคำพยากรณ์ที่ว่าจะมีการสอนพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์และสถาปนาศาสนจักรในทุกประชาชาติของแผ่นดินโลก เราคาดว่าการเติบโตส่วนใหญ่นี้จะเกิดขึ้นในประเทศที่กำลังพัฒนาและมีประชากรหนาแน่น เงินที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจะนำไปใช้จัดเตรียมอาคารประชุมหลายพันหลัง พระวิหารเพิ่มเติม และแหล่งช่วยที่จำเป็นอื่นๆ เพื่อเป็นพรแก่ชีวิตสมาชิกไม่ว่าพวกเขาอยู่ที่ใด กล่าวโดยสรุป เงินทุนทั้งหมดนี้ไม่ได้มีไว้เพื่อเหตุผลอื่นใดนอกจากเพื่อสนับสนุนพันธกิจของศาสนจักรที่ทรงกำหนดไว้

หลักธรรมข้อสี่: ในวิธีของพระเจ้า

เปาโลเตือนวิสุทธิชนชาวโครินธ์ว่า “[ศรัทธา] ของพวกท่านจะไม่ขึ้นกับปัญญาของมนุษย์ แต่ขึ้นกับฤทธิ์เดชของพระเจ้า”15 ข้าพเจ้าเข้าใจความสำคัญของหลักธรรมนี้ดีขึ้นเมื่อข้าพเจ้าได้รับเรียกให้รับใช้ในฝ่ายอธิการควบคุมของศาสนจักร

ในฝ่ายอธิการเราหารือกันเพื่อศึกษาประเด็นต่างๆ โดยใช้ประโยชน์จากภูมิหลังส่วนตัว ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในหลายๆ ด้าน แต่สุดท้ายแล้วเราตัดสินใจด้วยการสวดอ้อนวอนและแสวงหาการเปิดเผยต่อเนื่องเกี่ยวกับพระประสงค์ของพระเจ้า ขณะพิจารณาเรื่องต่างๆ อย่างเช่นตัวชี้วัดเศรษฐกิจมหภาคและการวิเคราะห์ด้านการเงิน เป้าหมายสูงสุดของเราคือทำความรับผิดชอบของเราในวิธีที่จะทำให้แบบแผนของพระเจ้าและพันธกิจอันศักดิ์สิทธิ์ของศาสนจักรในการเชื้อเชิญคนทั้งปวงให้มาหาพระคริสต์สำเร็จลุล่วง เราสามารถดำเนินการให้เป้าหมายนี้บรรลุผลสำเร็จได้โดยผ่านการดลใจและพลังอำนาจฐานะปุโรหิตของพระองค์เท่านั้น การเรียกนี้เติมความอ่อนน้อมถ่อมตนให้ข้าพเจ้าในแต่ละวันและทุกวันเมื่อข้าพเจ้าทำสิ่งต่างๆ ในวิธีของพระเจ้า

ภาพ
family at family history center

สรุป

บางครั้งบางคนพูดถึงศาสนจักรในปัจจุบันว่าเป็นสถาบันที่เรืองอำนาจและรุ่งเรือง อาจเป็นความจริง แต่ความแข็งแกร่งของศาสนจักรไม่ได้วัดจากจำนวนหรือความสวยงามของสิ่งปลูกสร้างหรือทรัพย์สินเงินทองหรืออสังหาริมทรัพย์ที่ถือครองเท่านั้น ดังที่ประธานฮิงค์ลีย์กล่าวไว้ครั้งหนึ่งว่า “เมื่อพิจารณาทุกอย่างแล้ว ความมั่งคั่งแท้จริงเพียงหนึ่งเดียวของศาสนจักรคือศรัทธาของผู้คนในศาสนจักร”16 องค์ประกอบที่ช่วยให้เข้าใจศาสนจักร “คือไม่มองว่าศาสนจักรเป็นองค์กรที่แพร่หลายทั่วโลก แต่เป็นสมาชิกที่ซื่อสัตย์หลายล้านคนในที่ประชุมหลายพันแห่งทั่วโลกผู้กำลังติดตามพระคริสต์ ดูแลกันและเพื่อนบ้านของพวกเขา”17

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ศาสนจักรเกี่ยวกับคนเท่านั้น เกี่ยวกับสมาชิกแต่ละคนผู้ผูกพันกันตามความเชื่อและพันธ-สัญญาที่มีร่วมกัน พวกเขาเป็นกำลังและอนาคตของศาสนจักร ข้าพเจ้าสำนึกคุณอย่างสุดซึ้งต่อการเปิดเผยที่พระเจ้าประทานในช่วงสมัยแรกของการฟื้นฟูเกี่ยวกับกฎส่วนสิบ การพึ่งพาตนเองและไม่พึ่งพาใคร การดำรงชีพอย่างมัธยัสถ์ และการจัดหาให้วิสุทธิชนในวิธีของพระเจ้า ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าหลักธรรมเหล่านี้เป็นแหล่งของพรมากมายทางวิญญาณและทางโลกสำหรับสมาชิกศาสนจักร ครอบครัวของพวกเขา และศาสนจักรโดยรวม หลักธรรมเหล่านี้จะยังคงนำทางก้าวเดินของเราและสนับสนุนพันธกิจของศาสนจักรจนกว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะเสด็จกลับมา

อ้างอิง

  1. ดูตัวอย่างใน 2 นีไฟ 1:20.

  2. หลักคำสอนและพันธสัญญา 119:4.

  3. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “งานสอนศาสนา พระวิหาร และการเป็นผู้พิทักษ์,” เลียโฮนา, ม.ค. 1996, 66.

  4. หลักคำสอนและพันธสัญญา 120:1.

  5. เดวิด เอ. เบดานาร์, “หน้าต่างในฟ้าสวรรค์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2013, 20.

  6. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “สิทธิชนที่แท้จริง,” เลียโฮนา, ม.ค. 1998, 102.

  7. โมโรไน 10:32.

  8. คู่มือเล่ม 2: การบริหารงานศาสนจักร (2010), 2.2.

  9. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “ถึงบรรดาเด็กหนุ่มและบุรุษทั้งหลาย,” เลียโฮนา, ม.ค. 1999, 66.

  10. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “In the Lord’s Own Way,” Ensign, May 1986, 27.

  11. หลักคำสอนและพันธสัญญา 78:14.

  12. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “ถึงบรรดาเด็กหนุ่มและบุรุษทั้งหลาย,” 66.

  13. คู่มือเล่ม 2, 6.1.1.

  14. ดู มัทธิว 25:14–30.

  15. 1 โครินธ์ 2:5.

  16. กอร์ดอนบี. ฮิงค์ลีย์, “The State of the Church,” Ensign, พ.ค. 1991, 54.

  17. “The Church and Its Financial Independence,” July 12, 2012, mormonnewsroom.org.

พิมพ์