ดิจิทัลเท่านั้น
มีเวลาไม่พอในแต่ละวันหรือ นี่เป็นวิธีใช้เวลาของท่านให้เกิดประโยชน์สูงสุด
มีเวลาไม่พอในแต่ละวันหรือ นี่เป็นวิธีใช้เวลาของท่านให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เมื่อเราวางแผนชีวิตและใช้เวลาของเราอย่างฉลาด พระเจ้าจะทรงอวยพรและเพิ่มความสามารถให้เรารับใช้ในอาณาจักรของพระองค์ได้ดีขึ้น การประยุกต์ใช้หลักธรรมต่อไปนี้* จะช่วยให้เรามีชีวิตที่เป็นประโยชน์และเตรียมเราให้พร้อมรับความสูงส่ง
แบ่งเป้าหมายออกเป็นส่วนๆ เพื่อให้สามารถจัดการได้ง่ายขึ้น
เมื่อเราตั้งเป้าหมายใหญ่แล้วเราสามารถแบ่งออกเป็นเป้าหมายย่อยสามรูปแบบ จากนั้นเราจะกำหนดได้ว่าเราต้องทำงานอะไรในแต่ละวันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของเรา
-
เป้าหมายระยะยาว เป็นเป้าหมายใหญ่และเป้าหมายหลัก อย่างเช่น เราอาจตั้งเป้าหมายว่า “มีงานอาชีพที่ฉันสามารถเลี้ยงดูตนเองและคนที่ฉันรับผิดชอบ”
-
เป้าหมายระยะกลาง เป็นเป้าหมายที่เจาะจงมากขึ้นซึ่งนำท่านให้บรรลุเป้าหมายระยะยาว เช่น “ได้ปริญญามหาวิทยาลัย”
-
เป้าหมายระยะสั้น ท่านสามารถบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ในเวลาค่อนข้างสั้น การบรรลุเป้าหมายเหล่านี้จะทำให้ท่านใกล้บรรลุเป้าหมายระยะกลางและระยะยาวมากขึ้น ตัวอย่างของเป้าหมายระยะสั้นได้แก่ “อย่าขาดเรียนเทอมนี้”
-
ภารกิจประจำวัน สิ่งที่เราทำทุกวันควรนำเราให้บรรลุเป้าหมายของเรา ภารกิจประจำวันอาจได้แก่ “ทำการบ้านที่มีกำหนดส่งพรุ่งนี้ให้เสร็จ”
ตั้งเป้าหมายหลายๆ ด้าน
ท่านสามารถใช้ตัวอย่างข้างต้นตั้งเป้าหมายในชีวิตทุกด้านของท่าน เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์ (1932–2017) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองแนะนำให้เราเน้นสี่ด้านต่อไปนี้
-
การพัฒนาทางวิญญาณ
-
การพัฒนาทางร่างกาย
-
การพัฒนาทางการศึกษา บุคลิกภาพ และงานอาชีพ
-
การพัฒนาทางสังคมและความเป็นพลเมือง1
ขณะที่เราตั้งเป้าหมายในด้านเหล่านี้ เราควรจดจำคำแนะนำจากประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด รักษาการประธานโควรัมอัครสาวกสิบสอง “ตั้งเป้าหมายที่สมดุล—ไม่มากไปหรือน้อยไป และไม่สูงไปหรือต่ำไป จดเป้าหมายที่บรรลุได้และทำให้บรรลุเป้าหมายเหล่านั้นตามความสำคัญ สวดอ้อนวอนขอการนำทางจากสวรรค์ในการตั้งเป้าหมายของท่าน”2
เราจะเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้น
เมื่อเราตั้งเป้าหมายที่ชอบธรรมและบริหารเวลาให้ดีเพื่อบรรลุเป้าหมาย เราจะเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์มากขึ้น เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์ (1926–2004) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอบพระทัย [พระคริสต์] สำหรับการบริหารเวลาอย่างอัศจรรย์ของพระองค์ เพราะไม่ทรงใช้ชั่วขณะใดอย่างไร้ประโยชน์ รวมถึงชั่วขณะของการตรึกตรอง แม้แต่วินาทีของพระองค์ก็แสดงให้เห็นความเป็นผู้พิทักษ์ของพระองค์”3