2019
ในยามท้อใจ จงนึกถึงหญิงม่ายชาวนาอิน
เมษายน 2019


ในยามท้อใจ จงนึกถึง หญิงม่ายชาวนาอิน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรารู้สึกถูกลืมหรือถูกมองข้าม เราพึงจดจำว่าพระเยซูเสด็จมาช่วยเหลือหญิงม่ายทันเวลาพอดี และพระองค์จะเสด็จมาช่วยเหลือเราเช่นกัน

ภาพ
the widow of Nain

บางครั้งในความลุ่มๆ ดอนๆ ของชีวิต เราจะรู้สึกเหมือนพระผู้เป็นเจ้าทรงนิ่งเฉยในชีวิตประจำวันของเรา แบบแผนของเราค่อนข้างจืดชืดและน่าเบื่อ มีการเปลี่ยนแปลงไม่มาก และบางครั้งยากจะชี้ได้ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงแทรกแซงตรงจุดใดในสภาวการณ์ของเรา เมื่อใดที่ผมรู้สึกไร้ความหมายในชีวิตผม ผมมักจะนึกถึงหญิงคนหนึ่งในพันธสัญญาใหม่ผู้อาจจะรู้สึกแบบนี้ ในพระคัมภีร์ไม่ได้ระบุชื่อเธอแต่รู้เพียงชื่อหมู่บ้านและสถานภาพสมรสของเธอ

หญิงคนนั้นเป็นหญิงม่ายชาวนาอิน และมีเพียงลูกาผู้ประกาศข่าวประเสริฐเท่านั้นที่บันทึกเรื่องราวอันน่าอัศจรรย์ของเธอ สำหรับผม เธอแสดงให้เห็นแก่นแท้ของการปฏิบัติศาสนกิจส่วนพระองค์ของพระผู้ช่วยให้รอด และวิธีที่พระองค์ทรงช่วยเหลือคนท้อใจ คนธรรมดาสามัญในสังคมของพระองค์ เรื่องนี้ยุติประเด็นที่ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงรู้จักเราและทรงห่วงใยเราหรือไม่

เรื่องย่อของปาฏิหาริย์จากลูกาบทที่ 7 บรรยายให้เห็นภาพว่าพระเยซูทรงหยุดขบวนศพไว้และทำให้ชายหนุ่มที่ตายแล้วคืนชีพอย่างน่าอัศจรรย์ แต่มีให้เข้าใจอีกมากเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ เช่นเดียวกับปาฏิหาริย์ทั้งหมด แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งปาฏิหาริย์ครั้งนี้ บริบทมีความสำคัญยิ่งต่อความเข้าใจเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะเคยสอนที่ศูนย์เยรูซาเล็มมหาวิทยาลัยบริคัม ยังก์ ผมจึงอยากแบ่งปันข้อคิดส่วนตัวบางประการเกี่ยวกับปาฏิหาริย์นี้

นาอินเป็นหมู่บ้านเกษตรกรรมเล็กๆ สมัยพระเยซู อยู่ติดกับภูเขาโมเรห์ ซึ่งเป็นเขตฝั่งตะวันออกของหุบเขายิสเรเอล ตัวเมืองไม่ค่อยมีคนรู้จัก มีถนนไปเมืองนั้นเส้นเดียว ในช่วงสมัยพระเยซู ชุมชนแห่งนี้เล็กและค่อนข้างยากจน และยังเหมือนเดิมนับแต่นั้น ประวัติของเมืองสมัยนั้นระบุว่าเมืองนี้มีบ้านเรือน 34 หลังและพลเมืองเพียง 189 คน1 ปัจจุบันมีผู้อยู่อาศัยราว 1,500 คน

ลูกาเริ่มเรื่องราวของท่านโดยกล่าวว่าวันก่อนพระเยซูทรงอยู่ในคาเปอรนาอุมและทรงรักษาทาสของนายร้อย (ดู ลูกา 7:1–10) จากนั้นเราทราบว่า “[วันถัดมา]” (ข้อ 11; เน้นตัวเอน) พระผู้ช่วยให้รอดเสด็จเข้าไปในเมืองชื่อนาอิน มีสานุศิษย์กลุ่มใหญ่ติดตามพระองค์ไปด้วย ลำดับนี้สำคัญมาก คาเปอรนาอุมตั้งอยู่บนชายฝั่งทิศเหนือของทะเลกาลิลี ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 600 ฟุต (183 เมตร) นาอินอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองคาเปอรนาอุมราว 30 ไมล์ (48 กิโลเมตร) เหนือระดับน้ำทะเล 700 ฟุต (213 เมตร) ด้วยเหตุนี้จึงต้องเดินขึ้นเนินชันไปนาอิน เพื่อจะเดินจากคาเปอรนาอุมไปนาอิน ต้องใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งหรือสองวัน เมื่อเร็วๆ นี้นักศึกษาหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งของศูนย์เยรูซาเล็มบีวายยูเดิน 10 ชั่วโมงไปตามเส้นทางนี้บนถนนลาดยาง นี่หมายความว่าพระเยซูน่าจะตื่นแต่เช้าตรู่หรืออาจจะเดินช่วงกลางคืนเพื่อหยุดขบวนศพใน “[วันถัดมา]”2

ภาพ
map of Galilee

ขณะพระคริสต์เสด็จเข้าใกล้เมืองหลังจากเดินทางอย่างตรากตรำ ชายหนุ่มคนหนึ่ง น่าจะอายุ 20 เศษ3 ถูกหามมาบนแผ่นรองศพ ลูกาบอกเราว่าชายหนุ่มคนนี้เป็นบุตรชายคนเดียวของหญิงม่าย และนักวิชาการบางคนตีความต้นฉบับภาษากรีกเพื่อบอกเป็นนัยว่าเธอไม่มีผู้สืบสกุลคนอื่นอีก4 ชาวบ้านกลุ่มใหญ่เดินมาเป็นเพื่อนเธอในยามเกิดเรื่องเศร้าที่สุดนี้กับครอบครัวเธอ

เห็นชัดว่าการสิ้นชีวิตของบุตรชายเป็นเรื่องเศร้าสำหรับทุกคน แต่ลองพิจารณาผลกระทบต่อหญิงม่ายคนนี้ หญิงม่ายจะมีสภาพทางสังคม ทางวิญญาณ และการเงินอย่างไรหากไม่มีทายาทในอิสราเอลสมัยโบราณ ในวัฒนธรรมพันธสัญญาเดิมเชื่อกันว่าเมื่อสามีเสียชีวิตก่อนวัยชรา นั่นเป็นสัญญาณบ่งบอกการตัดสินโทษบาปของพระผู้เป็นเจ้า ด้วยเหตุนี้ บางคนจึงเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงกำลังลงโทษหญิงม่ายที่ยังมีชีวิตอยู่คนนี้ ในหนังสือนางรูธ เมื่อนาโอมีเป็นม่ายขณะอายุยังน้อย เธอโอดครวญว่า “พระยาเวห์ทรงให้ฉันทุกข์ใจ และองค์ผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์ทรงให้ฉันต้องประสบเหตุร้ายเช่นนี้” (นางรูธ 1:21 ฉบับมาตรฐานสากล)5

ไม่เพียงมีความเจ็บปวดทางวิญญาณและทางอารมณ์เท่านั้น แต่หญิงม่ายชาวนาอินคนนี้กำลังประสบหายนะทางการเงินด้วย—อาจจะต้องประสบกับความอดอยาก6 เมื่อแต่งงานผู้หญิงถูกมอบให้ครอบครัวสามีดูแลด้านการเงิน ถ้าสามีเสียชีวิตบุตรชายหัวปีของเธอจะดูแลเธอต่อ ตอนนี้บุตรชายหัวปีและเป็นบุตรชายคนเดียวของหญิงม่ายคนนี้ตายแล้ว เธอจึงเข้าตาจนทางการเงิน ถ้าบุตรชายของเธออายุ 20 เศษ เธอน่าจะเป็นหญิงวัยกลางคน อาศัยอยู่ในเมืองเกษตรกรรมเล็กๆ ห่างไกลผู้คน และเวลานี้เธอพบว่าตนเองขัดสนทางวิญญาณ สังคม และการเงิน

ภาพ
widow of Nain with the Savior

ขณะที่ชาวบ้านกำลังแบกบุตรชายของหญิงคนนี้ไปฝัง พระเยซูทรงพบขบวนศพพอดีและ “สงสารนาง” (ลูกา 7:13) ลูกาอาจจะกล่าวน้อยกว่าที่เป็นจริงมาก แต่พระเยซูทรงรับรู้สถานการณ์ที่สิ้นหวังอย่างยิ่งยวดของหญิงม่ายคนนี้ ตอนกลางคืนเธออาจจะนอนเหยียดแขนขาอยู่บนพื้นสกปรก พลางขอให้พระบิดาบนสวรรค์ทรงทราบว่าทำไม เธออาจจะถึงกับตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมาว่าทำไมพระองค์ทรงต้องการให้เธออยู่บนโลกนี้ต่อไปอีก หรือเธออาจจะหวาดกลัวความโดดเดี่ยวที่จะต้องประสบ เราไม่ทราบ แต่เราทราบว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงเลือกออกจากคาเปอรนาอุมทันที ซึ่งทำให้พระองค์ต้องทรงพระดำเนินตลอดคืนเพื่อหยุดขบวนศพก่อนพวกเขาจะวางศพไว้ในหลุม

ใช่ เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นใบหน้าเลอะคราบน้ำตาของหญิงคนนี้ขณะเธอเดินอยู่หลังขบวน พระเยซูทรงสงสารเธอมาก—แต่ดูเหมือนว่าความสงสารของพระองค์เกิดจากความรู้สึกที่ทรงประสบมานานก่อนเสด็จมาหยุดขบวนศพ “ทันพอดี” พระองค์ทรงมาถึงที่นั่นพอดีในช่วงที่เธอต้องการ

จากนั้นพระองค์รับสั่งกับหญิงม่ายว่า “อย่าร้องไห้” (ข้อ 13) พระองค์มิได้ทรงกลัวความไม่สะอาดของพิธี ทรง “แตะต้องโลง” และขบวน “หยุดยืนอยู่” จากนั้นพระองค์ทรงบัญชา “ชายหนุ่มเอ๋ย เราสั่งท่านให้ลุกขึ้น

ภาพ
widow with son

“คนที่ตายนั้นก็ลุกขึ้นนั่ง แล้วเริ่มพูด พระองค์จึงทรงมอบชายหนุ่มให้แก่มารดาของเขา” (ข้อ 14–15) เป็นธรรมดาที่ชาวบ้านและผู้ติดตามพระเยซูจะตกใจกลัวขณะความโศกเศร้าของพวกเขาเปลี่ยนเป็นปีติที่บริสุทธิ์ พวกเขาทุกคน “สรรเสริญพระเจ้าว่า ผู้เผยพระวจนะยิ่งใหญ่มาเกิดท่ามกลางเราแล้ว” (ข้อ 16) แต่ปาฏิหาริย์ครั้งนี้เกี่ยวข้องกับการช่วยจิตวิญญาณที่สิ้นหวังด้วย พระเยซูทรงทราบว่ามีบางอย่างผิดปกติมากสำหรับหญิงคนนี้—มีคนถูกดูหมิ่นในวัฒนธรรมของพวกเขา สถานการณ์ของเธอเรียกร้องความสนใจของพระองค์ทันที ถึงแม้พระองค์ต้องเดินทางไกลมาที่นั่นให้ทันเวลาก็ตาม พระองค์ทรงทราบสถานการณ์สิ้นหวังของเธอ และเสด็จมาโดยเร็ว ประธานโธมัส เอส. มอนสัน (1927–2018) พูดความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้เมื่อท่านกล่าวว่า “วันหนึ่ง เมื่อเราย้อนกลับไปดูสิ่งที่น่าจะเป็นความบังเอิญของชีวิตเรา เราจะตระหนักว่านั่นไม่บังเอิญเลย”7

ตอนนี้เหตุการณ์จรรโลงใจดังกล่าวต้องเป็นยิ่งกว่าเรื่องราวในพระคัมภีร์ไบเบิลที่ทำให้เราเพลิดเพลินใจ อีกทั้งยืนยันแน่ชัดว่าพระเยซูทรงทราบเกี่ยวกับหญิงม่ายยากจนข้นแค้นที่ถูกลืมคนนี้ โดยเฉพาอย่างยิ่งเมื่อเราถูกลืมหรือถูกมองข้ามหรือไร้ความหมาย เราต้องจำไว้ว่า พระเยซูเสด็จมาหาหญิงม่ายในเวลาที่เธอขัดสนอย่างยิ่ง และพระองค์จะเสด็จมาหาเราเช่นกัน นอกจากนี้ บทเรียนที่สองที่เราจะได้จากแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดคือความสำคัญของการเอื้อมไปเป็นพรแก่ผู้อยู่รอบข้างท่าน หลายคนในแวดวงของท่านจะท้อใจเป็นครั้งคราว ถ้าท่านสามารถเล่าเรื่อง “ซิสเตอร์นาอิน” และการที่พระเจ้าทรงทราบความท้อแท้สิ้นหวังและวิกฤตใหญ่หลวงของเธอให้พวกเขาฟังได้ นั่นจะเปลี่ยนราตรีเป็นทิวา จงจดจำความเห็นอันลึกซึ้งของประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ (1895–1985) “พระผู้เป็นเจ้าทรงสังเกตเห็นเรา และทรงดูแลเรา แต่ปกติพระองค์จะทรงตอบรับความต้องการของเราผ่านผู้อื่น”8

ภาพ
widow hugging her son

ในบรรดาปาฏิหาริย์ทั้งหมดของพระเยซูระหว่างพระองค์ประทับบนแผ่นดินโลก น้อยนักที่จะอ่อนโยนและเห็นอกเห็นใจเท่าการปฏิบัติศาสนกิจต่อหญิงม่ายชาวนาอิน นั่นเตือนเราว่าเราสำคัญต่อพระองค์และพระองค์จะไม่ทรงลืมเรา เราจะลืมเรื่องนี้ไม่ได้

อ้างอิง

  1. ดู E. Mills, Census of Palestine 1931: Population of Villages, Towns, and Administrative Areas (1932), 75.

  2. ดู S. Kent Brown, The Testimony of Luke (2015), 364.

  3. ดู Brown, The Testimony of Luke, 365.

  4. ดู Brown, The Testimony of Luke, 365.

  5. ในอิสยาห์ 54:4 พระเจ้ารับสั่งกับหญิงม่ายอิสราเอลว่าเธอจะ “จำความอัปยศอดสูของ [การถูกทอดทิ้ง] ไม่ได้อีก” (งานแปลใหม่ฉบับภาษาอังกฤษ)

  6. ดู Brown, The Testimony of Luke, 365.

  7. โธมัส เอส. มอนสัน ใน โจเซฟ บี. เวิร์ธลิน “Lessons Learned in the Journey of Life,” Liahona, May 2001, 38.

  8. คำสอนของประธานศาสนาจักร: สเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ (2006), 90.

พิมพ์