2019
บทเรียนสามบทเกี่ยวกับความรัก ปีติ และสันติ
เมษายน 2019


บทเรียนสามบทเกี่ยวกับความรัก ปีติ และสันติ

จากคำปราศรัยการให้ข้อคิดทางวิญญาณเรื่อง “ความสุข ความหลอกลวง และสิ่งเล็กน้อย” ที่มหาวิทยาลัยบริคัม ยังก์ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2017

การทำตามสามขั้นตอนนี้จะส่งผลใหญ่หลวงในชีวิตท่านและช่วยให้ท่านรู้สึกถึงผลของพระวิญญาณ

ภาพ
bowl of fruit

เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักศึกษา ข้าพเจ้าคิดเกี่ยวกับอนาคตบ่อยครั้ง พอมาถึงอนาคต—หมายถึงชีวิตหลังเรียนจบมหาวิทยาลัย—ข้าพเจ้าเรียนรู้บทเรียนสำคัญยิ่งสามบทที่ส่งผลใหญ่หลวงในชีวิตข้าพเจ้า ข้าพเจ้าต้องการแบ่งปันบทเรียนเหล่านี้กับท่านด้วยความหวังว่าท่านจะไม่ใช้เวลาเรียนรู้บทเรียนดังกล่าวนานเท่าข้าพเจ้า บทเรียนเหล่านี้จะช่วยให้ท่านพบปีติในชีวิตมากขึ้น—และได้รับความสูงส่งกับพระบิดาบนสวรรค์ในที่สุด

1. แสวงหาความสุข สันติ และพระวิญญาณบริสุทธิ์

ข้าพเจ้าพบเมลินดาภรรยาระหว่างเป็นนักศึกษาปีที่สอง ราวหกเดือนหลังกลับจากงานเผยแผ่ ข้าพเจ้าทราบทันทีว่าข้าพเจ้าต้องการแต่งงานกับเมลินดา แต่เมลินดาไม่มีประสบการณ์เหมือนข้าพเจ้า ผ่านมาห้าปีกว่าเธอจะได้รับคำตอบว่าจะ “ตกลง”แต่งงานกับข้าพเจ้าหรือไม่

ช่วงห้าปีนั้น ข้าพเจ้ามีการทดลองยากกว่านั้นอย่างหนึ่งของชีวิต ข้าพเจ้าทราบว่าข้าพเจ้าควรจะแต่งงานกับใคร และพระวิญญาณทรงกระตุ้นข้าพเจ้าเรื่องนี้ แต่ดูเหมือนไม่สามารถบรรลุเป้าหมายนั้น

หลังจากข้าพเจ้าเรียนจบไม่นาน เมลินดาตัดสินใจไปเป็นผู้สอนศาสนา—ข้าพเจ้าเชื่อว่าส่วนหนึ่งก็เพื่อไปให้พ้นจากข้าพเจ้า มีหลายครั้งระหว่างเธอเป็นผู้สอนศาสนาที่ข้าพเจ้ารู้สึกหดหู่เพราะข้าพเจ้าให้ความสนใจกับสิ่งที่ข้าพเจ้าไม่มี แต่ข้าพเจ้าศึกษาพระคัมภีร์และสวดอ้อนวอนทุกวัน รับใช้ในศาสนจักร และขวนขวายทำสิ่งที่นำพระวิญญาณบริสุทธิ์เข้ามาในชีวิตข้าพเจ้า

เช้าตรู่ของวันอาทิตย์ที่หนาวมากวันหนึ่งในเมืองมินนีแอโพลิส รัฐมินนิโซตา สหรัฐอเมริกาขณะข้าพเจ้าขับรถไปการประชุมหนึ่งของศาสนจักร ข้าพเจ้าคิดว่า “ฉันควรจะมีทุกข์ทรมานอย่างมากตอนนี้ เพราะดูเหมือนไม่มีอะไรได้ดั่งใจ แต่กลับไม่รู้สึกทุกข์ทรมาน ฉันรู้สึกมีความสุขอย่างไม่น่าเชื่อ!”

ข้าพเจ้าจะมีความสุขได้อย่างไรถ้าข้าพเจ้ากำลังประสบการทดลองที่ยากสำหรับข้าพเจ้า

คำตอบอยู่ใน กาลาเทีย 5:22–23: “ส่วนผลของพระวิญญาณนั้นคือ ความรัก ความยินดี สันติสุข ความอดทน ความกรุณา ความดี ความซื่อสัตย์ ความสุภาพอ่อนโยน การรู้จักบังคับตน”

เพราะข้าพเจ้ากำลังทำสิ่งที่นำพระวิญญาณเข้ามาในชีวิต ข้าพเจ้าจึงรู้สึกถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้ารู้สึกถึงปีติและสันติ ข้าพเจ้าอาจจะอดทนนานแต่ยังมีความสุข

การมีความรัก ปีติ และสันติในชีวิตเรา ในครอบครัวเรา และชีวิตแต่งงานของเราไม่ได้เกิดจากการมีบ้านหลังใหญ่ รถยนต์หรูหรา เสื้อผ้าทันสมัย ความสำเร็จด้านอาชีพ หรือสิ่งที่โลกบอกว่าก่อให้เกิดความสุข อันที่จริง เพราะความรู้สึกรัก ปีติ และสันติมาจากพระวิญญาณ ความรู้สึกเหล่านี้จึงไม่เกี่ยวข้องแต่อย่างใดกับสภาวการณ์ทางโลกของเรา

โปรดเข้าใจว่าข้าพเจ้าไม่ได้พูดว่าเราจะมีความสุขตลอดเวลาหรือสภาวการณ์ทางโลกของเราไม่มีผลต่อความสุขของเรา ความจริงคือถ้าเราไม่ลิ้มรสความขม เราจะไม่รู้จักความหวาน (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 29:39; ดู โมเสส 6:55)

เราต้องดิ้นรนบ้าง นอกจากนี้ สภาวะทางกายและทางอารมณ์บางอย่างสามารถทำให้เราเกิดความทุกข์ใหญ่หลวง และทำให้เรารู้สึกถึงพระวิญญาณยากมาก แต่ถ้าเราขวนขวายให้มีพระวิญญาณในชีวิตเราและวางใจพระผู้เป็นเจ้า โดยปกติแล้วเราจะมีความสุข

ข้าพเจ้าเป็นพยานจากประสบการณ์ส่วนตัวว่านี่เป็นความจริง นับตั้งแต่ประสบการณ์ของข้าพเจ้าขณะเมลินดาเป็นผู้สอนศาสนา ข้าพเจ้าสังเกตเห็นว่าถ้าข้าพเจ้าทำสิ่งที่นำพระวิญญาณเข้ามาในชีวิตข้าพเจ้า รวมถึงการเลือกเชื่อฟังและยอมรับว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามที่พระผู้เป็นเจ้าต้องประสงค์ ข้าพเจ้ามักจะมีความสุข (ดู เจคอบ 3:2)1

2. อย่าหลงเชื่อสิ่งจอมปลอม

ภาพ
bowl of fake fruit

ซาตานเสนอทางเลือกจอมปลอมให้ทุกอย่างที่พระผู้เป็นเจ้าทรงทำเพื่อพยายามทำให้เราสับสนและหลอกเรา แม้ซาตานจะพยายามทำให้เราเชื่อแบบอื่น แต่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนเราว่า “ต้นไม้มีโรคจะออกผลดีไม่ได้” (3 นีไฟ 14:18) เพราะซาตานเป็นต้นไม้มีโรค เขาจึงไม่สามารถทำให้เรารู้สึกถึง “ความรัก ความยินดี สันติสุข ความอดทน ความกรุณา ความดี ความซื่อสัตย์ ความสุภาพอ่อนโยน [และ] การรู้จักบังคับตน” (กาลาเทีย 5:22–23) ซาตานต้องการทำให้เราเศร้าหมอง (ดู 2 นีไฟ 2:27)

ด้วยเหตุนี้ซาตานทำอะไร เขาพยายามหลอกเรา

เพื่อนคนหนึ่งของข้าพเจ้าถูกหลอก เธอเป็นคนหนึ่งที่ทรงเลือกไว้ เพื่อนคนนี้รับใช้งานเผยแผ่และเป็นผู้สอนศาสนาที่โดดเด่น เมื่อเธอกลับจากงานเผยแผ่ เธอตั้งใจทำสิ่งเล็กน้อยทุกอย่างที่เคยนำพระวิญญาณเข้ามาในชีวิตและทำให้เธอเข้มแข็งเมื่อครั้งเป็นผู้สอนศาสนา เธอทำอยู่พักหนึ่ง

แต่เธอเห็นเพื่อนๆ หลายคนที่เป็นอดีตผู้สอนศาสนามาโบสถ์ทุกวันอาทิตย์แต่ใช้ชีวิตนอกโบสถ์เหมือนชาวโลก พวกเขาดูเหมือนมีความสุข พวกเขาทำเรื่อง “สนุกๆ” และวิถีชีวิตของพวกเขาดูเหมือนไม่เรียกร้องให้ทำงานมากเท่าเธอ

เธอเลิกทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เคยทำให้เธอเข้มแข็งทางวิญญาณสมัยเป็นผู้สอนศาสนาทีละนิด เธอยังมีประจักษ์พยาน แต่เธอบอกข้าพเจ้าว่าเธอได้ข้อสรุปว่า “ถ้าฉันแค่เข้าร่วมการประชุมของศาสนจักร ฉันโอเค—ฉันปลอดภัย” แต่เธอพูดว่า “ส่วนทางวิญญาณ ฉันไม่แข็งขัน”2 ขณะที่เธอใช้ชีวิตแบบชาวโลก การเลือกไม่ดีอย่างหนึ่งนำไปสู่อีกอย่างหนึ่ง และไม่นานเธอก็ตั้งครรภ์

การเลือกอย่างไม่ชอบธรรมมีผลต่อเธอ เธอไม่มีความสุข และเธอรู้ โชคดีที่เพื่อนคนนี้รู้ตัวว่าเธอถูกหลอก และเธอกลับใจ

เรื่องราวของเธอเน้นว่าแม้คนดีที่สุดของเราก็ถูกหลอกได้ นอกจากนี้เรื่องราวของเธอยังชี้ให้เห็นด้วยว่าเราต้องระวังการหลอกลวงเสมอ เราระวังได้โดยทำสิ่งเล็กน้อยที่นำพระวิญญาณเข้ามาในชีวิตเรา

ข้าพเจ้ามีความสุขที่จะรายงานว่าปัจจุบันนี้เพื่อนข้าพเจ้ามีความสุข เธอพยายามรักษาพระบัญญัติ เธอแข็งขันทางกายและทางวิญญาณในพระกิตติคุณ

การหลอกลวงของซาตานเกิดขึ้นหลายวิธี ข้าพเจ้าจะพูดเพียงไม่กี่วิธี

ซาตานพยายามทำให้เราเชื่อว่าเรื่องทางโลกสำคัญกว่าเรื่องทางวิญญาณ เราบอกได้ว่าเราลำดับความสำคัญถูกต้องหรือไม่โดยสังเกตว่าเราพูดบ่อยเพียงใดว่า “ตอนนี้ฉันยุ่งหรือเหนื่อยเกินกว่าจะ ” เติมคำในช่องว่าง: เข้าพระวิหาร ปฏิบัติ ศึกษาและไตร่ตรองพระคัมภีร์ ทำการเรียกให้เกิดสัมฤทธิผล หรือแม้กระทั่งกล่าวคำสวดอ้อนวอน

เหตุผลหนึ่งที่เรารู้สึกยุ่งมากคือซาตานขยันทำให้เราเขว เขาใช้สมาร์ทโฟนในมือเรา วิทยุในรถของเรา โทรทัศน์ในบ้านของเรา และอีกมากมายก่ายกองทำให้เราเขวเกือบตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้เราจึงรู้สึกยุ่งกว่าที่เป็นจริง

ผลอีกอย่างหนึ่งของการทำให้เราเขวคือเราจะไตร่ตรองน้อยลง ซาตานพยายามทำให้เราเขวเพราะเขารู้ว่าการไตร่ตรอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระคัมภีร์ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนใจเลื่อมใสและการเปิดเผยมากขึ้น

การหลอกหลวงอีกอย่างหนึ่งของซาตานมาจากแนวคิดที่ว่าการกระทำภายนอกของเราสำคัญกว่าแรงจูงใจภายในของเรา เมื่อเราขาดแรงจูงใจอย่างถูกต้องในการทำเรื่องทางวิญญาณ เราจะไม่ประสบปีติของพระกิตติคุณ ด้วยเหตุนี้ การรักษาพระบัญญัติจึงเริ่มรู้สึกเหมือนเป็นภาระ และซาตานรู้ว่าถ้าเขาสามารถทำให้เรารู้สึกแบบนั้นได้ เราจะหยุดทำสิ่งที่เรารู้ว่าควรทำ

ซาตานหลอกเราให้เชื่อเช่นกันว่าปีติและความสุขมาจากการมีชีวิตง่ายๆ หรือมีความสนุกสนานตลอดเวลา ไม่ใช่เลย ความจริงคือไม่มีปีติหรือความสุขหากไม่ต้องเอาชนะบางอย่าง (ดู 2 นีไฟ 2:11, 23)

การหลอกหลวงสุดท้ายของซาตานที่ข้าพเจ้าจะกล่าวถึงคือเขาพยายามทำให้เราเชื่อว่าความชั่วร้ายกับความพอใจชั่วคราวเป็นความสุขจริงๆ ซาตานรู้ว่า อย่างน้อยก็ในขณะหนึ่ง ความรู้สึกหรืออารมณ์บางอย่างอาจ (1) ทำให้เราคิดว่าเรากำลังรู้สึกถึงผลของพระวิญญาณ (2) ปกปิดความอยากได้ผลเหล่านั้นของเรา หรือ (3) รู้สึกเหมือนเป็นสิ่งทดแทนที่ยอมรับได้

ตัวอย่างเช่น ซาตานสามารถล่อลวงให้เราแสวงหาตัณหาแทนความรัก เขาสามารถล่อใจเราด้วยความตื่นเต้นแทนปีติอันยั่งยืน เขาล่อลวงให้เราเขวแทนที่จะให้สันติแก่เรา เขาจะให้เราคิดว่าตัวเราเป็นฝ่ายถูก มุ่งหวัง และทำทุกอย่างที่โลกรู้สึกว่าเหมาะสมที่สุดแทนที่จะไม่เห็นแก่ตัว เชื่อฟังสม่ำเสมอ และจดจ่อทางวิญญาณตามสมควร การล่อลวงของเขาสามารถทำให้เราสับสน ซึ่งอาจนำเราให้คิดว่าการละเมิดพระบัญญัติจะทำให้เกิดความสุข

3. ทำสิ่งเล็กน้อย

โดยปกติสิ่งเล็กๆ น้อยๆ จะนำพระวิญญาณเข้ามาในชีวิตเรา กันเราไม่ให้ถูกหลอก และสุดท้ายจะช่วยให้เรามีพลังรักษาพระบัญญัติและได้รับชีวิตนิรันดร์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนหลักธรรมนี้กับเหล่าเอ็ลเดอร์ของศาสนจักรในเมืองเคิร์ทแลนด์ รัฐโอไฮโอ “ดังนั้น, อย่าเบื่อหน่ายในการทำดี, เพราะเจ้ากำลังวางรากฐานของงานอันสำคัญยิ่ง จากสิ่งเล็กน้อยบังเกิดเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:33)

เหตุใดสิ่งเล็กน้อยจึงสำคัญมาก ในข้อถัดไป พระผู้ช่วยให้รอดทรงอธิบายว่า “พระเจ้าทรงเรียกร้องใจและความคิดที่เต็มใจ” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:34) เหตุใดพระผู้ช่วยให้รอดทรงเชื่อมโยงการทำสิ่งเล็กน้อยกับใจและความคิดที่เต็มใจ เพราะในการทำสิ่งเล็กน้อยอย่างสม่ำเสมอ เรายอมถวายใจและความคิดเราแด่พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งทำให้เราบริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์ (ดู ฮีลามัน 3:35)

การทำให้บริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์นี้เปลี่ยนธรรมชาติวิสัยของเราทีละน้อยจนเราเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น ส่งผลให้เรารับการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ง่ายขึ้นด้วย ซึ่งทำให้เราถูกหลอกน้อยลง

สมัยเรียนมัธยมปลายปีสุดท้าย คุณพ่อสอนเซมินารีให้ข้าพเจ้าในบ้านของเรา เพราะหัวข้อปีนั้นคือพระคัมภีร์มอรมอน คุณพ่อจึงตัดสินใจว่าเราจะอ่านด้วยกันทีละข้อและสนทนาสิ่งที่เราเรียนรู้ ขณะที่เราอ่าน คุณพ่อจะถามคำถามให้ข้าพเจ้าขบคิดสิ่งที่เรากำลังอ่าน และท่านจะอธิบายส่วนที่ข้าพเจ้าไม่เข้าใจ ข้าพเจ้ายังจำได้เมื่อเรียนเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและรู้สึกได้ว่าพระองค์เสด็จเยือนชาวนีไฟจริงๆ และข้าพเจ้าจะได้รับการอภัยบาปจริงๆ เพราะการชดใช้ของพระองค์

ช่วงเวลาเหล่านั้นที่ข้าพเจ้ากับคุณพ่ออ่านด้วยกันเป็นการเริ่มวางรากฐานให้ข้าพเจ้าในพระคัมภีร์ ข้าพเจ้ารู้สึกบางอย่างขณะที่เราอ่าน และอาจจะสำคัญกว่านั้นคือ ความปรารถนา แรงจูงใจ และการกระทำของข้าพเจ้าเปลี่ยน ข้าพเจ้าต้องการเป็นคนดีขึ้น ข้าพเจ้าเริ่มมองเห็นจุดที่ข้าพเจ้ากำลังถูกหลอก ข้าพเจ้ากลับใจบ่อยขึ้น เมื่อเรียนมหาวิทยาลัยปลายปีแรก ข้าพเจ้าอ่านพระคัมภีร์ทุกวัน

ราวช่วงนี้ ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน (1899–1994) ขอให้สมาชิกศาสนจักรอ่านพระคัมภีร์มอรมอนทุกวันและประยุกต์ใช้สิ่งที่พวกเขาเรียนรู้3 ด้วยเหตุนี้ นอกจากเล่มอื่นที่อ่านอยู่ ข้าพเจ้าจึงอ่านพระคัมภีร์มอรมอนเล็กน้อย

ภาพ
fruit and scriptures

เมื่อเป็นผู้สอนศาสนาข้าพเจ้าเรียนรู้วิธีศึกษาและดื่มด่ำพระคัมภีร์จริงๆ ข้าพเจ้าไม่เพียงรู้สึกถึงพระวิญญาณขณะอ่านเท่านั้น แต่เริ่มรู้สึกถึงปีติด้วยขณะค้นคว้าพระคัมภีร์เพื่อหาคำตอบให้ปัญหาของตนเองและของผู้สนใจ

หลังจบงานเผยแผ่ ข้าพเจ้ายังคงดื่มด่ำพระคัมภีร์ทุกวัน เพราะการปฏิบัตินี้อัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์เข้ามาในชีวิตข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงได้รับการนำทางที่ช่วยให้ข้าพเจ้าใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงเรียนเก่งขึ้น และทำงานได้ดีขึ้น ข้าพเจ้าตัดสินใจได้ดีขึ้น ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนบ่อยขึ้นและขยันทำการเรียกของข้าพเจ้ามากขึ้น การดื่มด่ำพระคัมภีร์ทุกวันไม่ได้แก้ปัญหาทั้งหมดของข้าพเจ้า แต่ชีวิตข้าพเจ้าง่ายขึ้น

ในเดือนสิงหาคม ปี 2005 ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ (1910–2008) ท้าทายให้อ่านหรืออ่านพระคัมภีร์มอรมอนอีกรอบก่อนสิ้นปี4 เพราะข้าพเจ้าอ่านพระคัมภีร์มอรมอนทุกวัน ข้าพเจ้าจึงอ่านถึงอีเธอร์หรือโมโรไนแล้ว ด้วยเหตุนี้พออ่านจบในอีกหนึ่งหรือสองสัปดาห์ให้หลัง ข้าพเจ้าจึงสรุปว่าข้าพเจ้าได้ทำตามคำท้าของประธานฮิงค์ลีย์สำเร็จแล้ว

แต่จากนั้นผู้สอนประจำบ้านที่ซื่อสัตย์คนหนึ่งมาเยี่ยมครอบครัวเรา เขาถามว่าข้าพเจ้าทำตามคำเชื้อเชิญของประธานฮิงค์ลีย์ถึงไหนแล้ว

ข้าพเจ้าบอกเขาว่าข้าพเจ้าโชคดีที่ได้เริ่มอ่านพระคัมภีร์มอรมอนก่อนคำท้าของประธานฮิงค์ลีย์ ต่อจากนั้นข้าพเจ้าประกาศแบบเข้าข้างตัวเองพอสมควรว่าข้าพเจ้าอ่านจบแล้ว

โชคดีที่ผู้สอนประจำบ้านมองต่าง ขณะที่เขาแก้ไขอย่างสุภาพ พระวิญญาณทรงกระซิบบอกข้าพเจ้าว่าผู้สอนประจำบ้านพูดถูก

ตอนนี้ข้าพเจ้าต้องอ่านวันละสองบทจึงจะอ่านจบอีกรอบก่อนสิ้นปี ขณะที่ข้าพเจ้าอ่านพระคัมภีร์มอรมอนเพิ่มขึ้น ข้าพเจ้าสังเกตว่ามีพลังเข้ามาในชีวิตข้าพเจ้ามากขึ้น ข้าพเจ้ามีปีติมากขึ้น ข้าพเจ้ามองเห็นสิ่งต่างๆ ชัดเจนขึ้น ข้าพเจ้ากลับใจบ่อยขึ้น ข้าพเจ้าต้องการปฏิบัติศาสนกิจและช่วยเหลือผู้อื่น ข้าพเจ้าหวั่นไหวน้อยลงต่อการหลอกหลวงและการล่อลวงของซาตาน ข้าพเจ้ารักพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น

เดือนพฤศจิกายนปีนั้นข้าพเจ้าได้รับเรียกเป็นอธิการของวอร์ด การทำตามคำท้าของประธานฮิงค์ลีย์เตรียมข้าพเจ้าสำหรับการเรียกนั้น นับแต่นั้น ข้าพเจ้าสังเกตเห็นว่ายิ่งข้าพเจ้ามีงานยุ่งในที่ทำงานหรือที่โบสถ์มากขึ้นเท่าใด ข้าพเจ้ายิ่งต้องศึกษาพระคัมภีร์มากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะพระคัมภีร์มอรมอน

ท่านจะได้รับพรและพลังเดียวกันในชีวิตท่านถ้าท่านจะดื่มด่ำพระคัมภีร์ทุกวัน ข้าพเจ้าสัญญาว่าถ้าท่านจะดื่มด่ำพระคัมภีร์ทุกวัน โดยเฉพาะพระคัมภีร์มอรมอน ท่านจะอัญเชิญพระวิญญาณเข้ามาในชีวิตท่านและท่านจะสวดอ้อนวอนอย่างเป็นธรรมชาติทุกวัน กลับใจบ่อยขึ้น เข้าร่วมการประชุมและรับส่วนศีลระลึกทุกสัปดาห์ง่ายขึ้น

ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าเมื่อท่านทำสิ่งเล็กน้อยและวางใจพระเจ้า ท่านจะพบความรัก ปีติ สันติ และความสุขไม่ว่าสภาวการณ์ของท่านเป็นเช่นไร ข้าพเจ้าเป็นพยานเช่นกันว่าทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้เพราะการพลีพระชนม์ชีพของพระเยซูคริสต์ สิ่งดีทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะพระองค์ (ดู โมโรไน 7:22, 24)

อ้างอิง

  1. เมื่อเรามั่นคงในศรัทธาต่อพระคริสต์ เราจะได้ดื่มด่ำความรักของพระผู้เป็นเจ้าไม่ว่าสภาวการณ์ของเราเป็นเช่นไร

  2. บันทึกและต้นฉบับการสัมภาษณ์ในครอบครองของผู้เขียน

  3. ดู เอสรา แทฟท์ เบ็นสัน, “A Sacred Responsibility,” Ensign, May 1986, 77–78; ดู “The Book of Mormon—Keystone of Our Religion,” Ensign, Nov. 1986, 4–7 ด้วย.

  4. ดู กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “ข่าวสารจากฝ่ายประธานสูงสุด: ประจักษ์พยานอันแน่วแน่และมีพลัง,” เลียโฮนา, ส.ค. 2005, 2–6.

พิมพ์