2021
การปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้ที่ถูกจำคุก
กุมภาพันธ์ 2021


การปฏิบัติศาสนกิจต่อ ผู้ที่ถูกจำคุก

ค่าทางจิตวิญญาณของคนไม่ได้ลดลงจากอาชญากรรม

man in prison

ภาพถ่ายห้องขังโดย เพ็กกี มารี ฟลอเรส; ภาพถ่ายของคู่รักที่กำลังเดินอยู่ โดย แนนซี แอน เคิร์คแพทริค; ภาพถ่ายอื่นๆ จาก Getty Images

ปัจจุบันมีผู้คนกว่า 10 ล้านคนที่ถูกคุมขังอยู่ในคุกหรือเรือนจำทั่วโลก1 พระเยซูคริสต์ผู้ทรงรักแต่ละคนและเข้าพระทัยทุกความยากลำบาก ทรงขอให้เราปฏิบัติศาสนกิจต่อบุตรธิดาทุกคนของพระบิดาบนสวรรค์—รวมทั้งผู้ที่ถูกจำคุกด้วย “เวลานั้นบรรดาคนชอบธรรมจะกราบทูลว่า องค์พระผู้เป็นเจ้า ที่พวกข้าพระองค์เห็นพระองค์… ทรงถูกจำคุกและมาเฝ้าพระองค์นั้นตั้งแต่เมื่อไร?

“แล้วพระมหากษัตริย์จะตรัสตอบว่า เราบอกความจริงกับท่านทั้งหลายว่า ซึ่งพวกท่านได้ทำกับคนใดคนหนึ่งที่เล็กน้อยที่สุดในพี่น้องของเรานี้ ก็เหมือนทำกับเราด้วย” (มัทธิว 25:37–40)

เราจะทำสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงร้องขอและปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้ถูกจำคุกอย่างปลอดภัยได้อย่างไร? บทความนี้จะระบุหลักธรรมพื้นฐานเพื่อเป็นจุดเริ่มต้น พูดคุยกับผู้นำศาสนจักรในท้องที่ร่วมกับการสวดอ้อนวอนว่าสิ่งใดเหมาะสมและดีสำหรับพื้นที่ของท่าน

เพื่อนผู้เป็นบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า

แม้ว่าระบบความยุติธรรมจะแตกต่างกัน แต่ความท้าทายของการถูกจำคุกมีความคล้ายคลึงกันทุกประชาชาติและวัฒนธรรม ดัก ริเชนส์เป็นผู้จัดการลงพื้นที่ทำความรู้จักกับสมาชิกของศาสนจักรที่ถูกจำคุก นอกจากนี้เขายังประสานงานกับกลุ่มความเชื่อและชุมชนอื่นเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกจำคุก โดยไม่คำนึงถึงภูมิหลังหรือมุมมองทางศาสนาของบุคคลเหล่านั้น

“ค่านิยมเหมารวมโดยทั่วไปต่อผู้ที่ถูกจำคุกคือบุคคลเหล่านั้นล้วนไม่น่าไว้วางใจ หัวรุนแรง และอันตราย” บราเดอร์ริเชนส์กล่าว “แต่ผมพบว่าโดยส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น พวกเขาส่วนใหญ่รู้สึกสำนึกผิดต่อการกระทำของตน พวกเขาพยายามหลุดพ้นจากการเลือกที่ไม่ถูกต้องในอดีตและดำเนินชีวิตที่ดี”

ในบางประเทศ มีพลเมืองสูงสุดถึงครึ่งหนึ่งที่มีบุคคลใกล้ชิดภายในครอบครัวถูกจำคุก2 นอกเหนือจากการที่พี่น้อง บิดามารดา และลูกๆ ที่ถูกจำคุกเหล่านั้นจะนิยามด้วยความสัมพันธ์ทางโลกแล้ว บุคคลเหล่านั้นล้วนเป็นเพื่อนผู้เป็นบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า

การตัดสินทางมรรตัยและนิรันดร

แม้ชีวิตกำหนดให้เราต้องตัดสิน แต่มีเพียงพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์เท่านั้นที่ทรงตัดสินคนบางคนได้อย่างสมบูรณ์แบบตามสถานการณ์ การกระทำ และความปรารถนาของบุคคลเหล่านั้น (ดู 1 ซามูเอล 16:7) การตัดสินที่สมบูรณ์แบบจะต้องพิจารณาถึงสภาวการณ์ที่บุคคลดังกล่าวเกิดมาซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่จะถูกจำคุก เช่น ความบอบช้ำทางจิตใจจากครอบครัว ความยากจนที่สืบทอดรุ่นต่อรุ่น วัฒนธรรมการใช้ยาเสพติด ฯลฯ มีอีกหลายปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสามารถของบุคคลในการเลือกที่ดีอันได้แก่สุขภาพและความผาสุกของบุคคลเหล่านั้น3 ถึงแม้การบังคับใช้กฎหมายเพื่อรักษาความปลอดภัยของชุมชนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสังคม แต่เราก็สามารถใช้กฎหมายด้วยความกรุณาและมุมมองนิรันดร์ รวมทั้งตระหนักว่ายังมีอีกหลายสิ่งที่เราไม่เข้าใจ

ทันจา เชฟเฟอร์ สมาชิกศาสนจักรที่เคยทำงานในสำนักงานกฎหมายก่อนจะก่อตั้งกลุ่มสนับสนุนนักโทษกล่าวว่า “ลองคิดดูว่าท่านจะรู้สึกอย่างไรหากท่านจะต้องถูกตัดสินตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ตามสิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่ท่านเคยทำ” “การให้อภัยผู้ที่พระองค์จะทรงอภัยให้นั้นขึ้นอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า แต่พระองค์ทรงบัญชาให้เราอภัยให้ทุกคน” ( ดู มัทธิว 18:21–22)

หลักธรรมแห่งการตัดสินอย่างสมบูรณ์แบบของพระผู้เป็นเจ้าสามารถเป็นบ่อเกิดของการปลอบโยนสำหรับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมด้วย บางครั้งผู้ที่ทำร้ายผู้อื่นอาจไม่เผชิญการลงโทษบนแผ่นดินโลก ผู้เสียหายอาจทนทุกข์อย่างยาวนานหลังจากระยะเวลาการจำคุกของผู้กระทำความผิดสิ้นสุดลงแล้ว หลายคนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกจำคุกเป็นทั้งเหยื่อและผู้กระทำผิดในเวลาที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เตือนเราว่าชีวิตเป็นสายใยที่ซับซ้อนของความสัมพันธ์และการตัดสินใจที่มีผลต่อผู้อื่น เราจะพบการปลอบประโลมเมื่อเราวางใจว่าพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์เข้าพระทัยทุกอย่าง การตัดสินของพระองค์จะสมบูรณ์แบบ การเยียวยาที่พระองค์มอบให้ ทั้งสำหรับผู้บริสุทธิ์และผู้ที่กลับใจ จะเสร็จสมบูรณ์ (ดู วิวรณ์ 21:4)

แบบอย่างของผู้นำที่เปี่ยมด้วยความรัก

เอ็ลเดอร์เกอร์ริท ดับเบิลยู. กองแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง อธิบายถึงการประชุมที่ทุกคนรอบตัวท่านแต่งกายด้วยสีขาว มีเสียงร้องเพลงและสวดอ้อนวอน ความรักของพระผู้เป็นเจ้าล้นเหลือ4 การประชุมนี้อาจตรงกันข้ามกับสิ่งที่เราหลายคนจินตนาการไว้ เนื่องจากนี่ไม่ใช่การประชุมของพระวิหาร นี่คือการปฏิบัติศาสนกิจในเรือนจำที่มีชุดเสื้อกางเกงสีขาวเป็นเครื่องแบบมาตรฐาน

“คณะผู้นำศาสนจักรห่วงใยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอาชญากรรมและการถูกจำคุกทุกคน” บราเดอร์ริเชนส์เป็นพยานและอธิบายว่าผู้นำคนหนึ่งให้นิตยสารศาสนจักรของตนเองเล่มหนึ่งแก่ผู้ต้องขังที่เขาไปเยี่ยมในเรือนจำแต่ละเดือน “พวกเขามักไปเยี่ยมผู้ต้องขัง คอยสนับสนุนครอบครัวของบุคคลเหล่านั้น และดูแลเหยื่ออย่างอ่อนโยน”

การปฏิบัติศาสนกิจในทัณฑสถานเป็นความรับผิดชอบของประธานสเตคโดยทำงานร่วมกับผู้นำวอร์ดเพื่อตอบรับความต้องการของผู้ที่อยู่ในพื้นที่ของตน ผู้นำสเตคของท่านทำอะไรบ้างเพื่อปฏิบัติศาสนกิจและแบ่งปันข้อความหนุนใจแก่สมาชิกที่ถูกจำคุก? ในบางสถานที่ สมาชิกศาสนจักรอาจได้รับเรียกให้มาเยี่ยมและสอนผู้ที่ถูกจำคุก บราเดอร์ริเชนส์กล่าวว่า บ่อยครั้งสมาชิกที่ได้รับเรียกมาให้การสนับสนุนเหล่านั้นเกิดความประหม่าในช่วงแรก แต่ต่อมาสมาชิกก็พบว่าการเรียกนั้นมีความหมายมากจนพวกเขาไม่ต้องการปลดจากการเรียก

“นี่คือธรรมะที่บริสุทธิ์” เขากล่าว (ดู ยากอบ 1:27)

แม้ว่าเราไม่ควรรู้สึกกดดันที่จะต้องไปเยี่ยมผู้ต้องขังที่เราไม่รู้จัก แต่ก็ยังมีวิธีอื่นที่เราสามารถปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างปลอดภัย ต่อไปนี้เป็นแนวคิดบางอย่าง:

  • ให้ผู้ต้องขังอยู่ในการสวดอ้อนวอนของท่าน โดยเฉพาะผู้ที่ท่านรู้จักชื่อ การสวดอ้อนวอนมีพลัง!

  • สอบถามเรือนจำหรือคุกในท้องที่ว่าต้องการสิ่งของบริจาคหรือไม่ ในหลายสถานที่อนุญาตให้มีการอ่าน งานฝีมืออย่างการถักโครเชต์ งานศิลปะ และงานค้นคว้าประวัติครอบครัว

  • หากท่านรู้จักใครสักคนที่ถูกจำคุก ท่านอาจเขียนจดหมายให้กำลังใจ พิจารณาทางเลือกที่ปลอดภัยและชาญฉลาดในการสื่อสาร ทำตามพระวิญญาณและรักษาขอบเขตที่เหมาะสม

  • ปฏิบัติต่อสมาชิกในครอบครัวของผู้ต้องขังโดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกๆ ด้วยความรัก ความเคารพ และให้พวกเขามีส่วนร่วม จำไว้ว่าโดยทั่วไปสมาชิกในครอบครัวถือเป็นเหยื่อที่บริสุทธิ์ด้วย พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสามารถช่วยให้เรารู้วิธีที่ดีที่สุดในการปฏิบัติศาสนกิจต่อสมาชิกทุกคนในครอบครัว

letter in an envelope

พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงไร้ขีดจำกัด

การถูกจำคุกอาจเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากอย่างยิ่งในช่วงชีวิตของบุคคลคนหนึ่ง แต่พระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่ได้ถูกจำกัดไว้ด้วยกำแพง กรงขัง หรือโซ่ การสวดอ้อนวอน การศึกษาพระคัมภีร์ และความอ่อนน้อมถ่อมตนสามารถเชื้อเชิญพระสิริอันอ่อนโยนของพระองค์ได้อย่างรวดเร็วภายในเรือนจำเช่นเดียวกับภายนอกเรือนจำ ด้วยเหตุนี้ เรือนจำจึงสามารถกลายเป็นสถานที่แห่งปาฏิหาริย์

พอร์เชีย เลาเดอร์ สมาชิกศาสนจักรผู้เขียนโพสต์ในบล็อกขณะถูกจำคุกอธิบายว่าเป็นการเดินทางที่ยากลำบากของศรัทธาและการค้นพบตนเอง เธอเขียนจากเรือนจำว่า “ดิฉันเคยผ่านความยากลำบากอย่างยิ่งบางเรื่องมาแล้วในชีวิต แต่ดิฉันสามารถรู้สึกได้ว่าตนเองได้รับการเยียวยาผ่านความรักที่ไม่สามารถอธิบายได้” “ไม่ว่าท่านกำลังเผชิญความท้าทายใดอยู่ในตอนนี้ ไม่ว่าท่านจะอยู่แห่งหนใดในการเดินทางของตนเอง โปรดอย่ายอมแพ้!”

การ์ฟ แคนนอน ผู้ซึ่งเคยเป็นประธานสาขาในคุกอธิบายวิธีที่พระวิญญาณทรงกระตุ้นเตือนให้เขาพูดจาอย่างอ่อนโยนกับนักโทษชายที่มีจิตใจแข็งกระด้างและผ่านชีวิตที่ยากลำบาก ชายคนนั้นกล่าวว่า “สิ่งที่คุณเพิ่งพูดกับผมเป็นคำพูดที่อ่อนโยนที่สุดเท่าที่เคยมีใครพูดกับผมในชีวิต” “ผมจำไม่ได้เลยว่าเคยมีใครพูดกับผมด้วยความอ่อนโยนและความห่วงใย ขอบคุณครับ” พวกเขาสิ้นสุดการมาพบปะพูดคุยด้วยการสวดอ้อนวอนซึ่งเป็นครั้งแรกที่ชายคนนี้ได้ยินในรอบหลายปี

“ใช่แล้ว พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงอยู่ในทัณฑสถานอย่างแน่แท้” บราเดอร์แคนนอนเป็นพยาน “บุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าอยู่ที่นั่น และพระองค์ทรงต้องการพวกเขากลับมา”

พระผู้เป็นเจ้าทรงให้สัญญาอันทรงพลังกับ ทุกคน ที่เลือกติดตามพระองค์ ไม่ว่าเราจะเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับพระองค์เป็นครั้งแรกในโรงเรียนวันอาทิตย์หรือในเรือนจำ อย่างที่ เอเสเคียล 36:26 กล่าวว่า “ เราจะให้ใจใหม่แก่พวกเจ้า และเราจะบรรจุวิญญาณใหม่ไว้ภายในของเจ้าทั้งหลาย”

การกลับเข้าสู่สังคมมีความท้าทายอย่างยิ่งยวด

ค่าทางจิตวิญญาณของคนเราไม่ได้ลดลงเพราะอาชญากรรม (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:10) เมื่อมีใครสักคนต้องการเปลี่ยนแปลงตนเองให้ดีขึ้น เราจะยอมให้บุคคลนั้นเติบโตและได้รับการให้อภัยหรือไม่?

บราเดอร์ริเชนส์กล่าวว่า “พระคุณและความสงสารของพระผู้เป็นเจ้านั้นมากมายมหาศาล” “บางครั้งผู้ที่ถูกจำคุกรู้สึกว่าพระผู้เป็นเจ้าประทานอภัยแก่เขามาเป็นเวลานานแล้วก่อนที่รัฐบาล สังคม หรือแม้แต่สมาชิกบางคนในศาสนจักรจะให้อภัยเสียอีก”

การกลับเข้าสู่สังคมหลังจากถูกจำคุกเป็นเรื่องที่ยาก ผู้ที่เคยต้องโทษจำคุกมักประสบปัญหาในการหางานหรือหาที่อยู่อาศัย เราสามารถช่วยให้พวกเขามีความปลอดภัยในที่อยู่อาศัยที่ดีและทำงานอดิเรกที่เป็นประโยชน์ได้ บางทีสิ่งสำคัญที่สุดที่เราสามารถทำได้คือการเป็นเพื่อนที่ดีและเสริมสร้างความเข้มแข็ง เมื่อโจเซฟ สมิธพูดเกี่ยวกับการปฏิรูปเรือนจำขณะสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ท่านสอนว่า “ความเข้มงวดและความสันโดษจะไม่มีวันปฏิรูปความโน้มเอียงของมนุษย์ได้เท่ากับเหตุผลและมิตรภาพ”5

ความเมตตาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ยูดาส่งเสริมให้วิสุทธิชน “มีใจเมตตา” (ยูดา 1:22) ถ้อยคำของเขาสะท้อนถึงพระดำรัสวิงวอนของพระผู้ช่วยให้รอดที่ให้จดจำผู้ที่อยู่ในเรือนจำ เราจะตอบรับคำเชื้อเชิญนี้อย่างไร? ขอให้เราพยายามบำรุงเลี้ยงผู้ที่เคยต้องโทษจำคุกและครอบครัวของพวกเขาด้วยพระกรุณาธิคุณของพระผู้เป็นเจ้า ความเมตตาสงสารของเราสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ◼

อ้างอิง

  1. ดู “World Prison Population List: Eleventh Edition,” National Institute of Corrections, nicic.gov.

  2. ดู “Half of Americans Have Family Members Who Have Been Incarcerated,” Dec. 11, 2018, Equal Justice Initiative, eji.org/news.

  3. ดู “Traumatic Brain Injury in Criminal Justice,” University of Denver, du.edu/tbi.

  4. การให้ข้อคิดทางวิญญาณโดยแผนกฐานะปุโรหิตและครอบครัวเนื่องในเทศกาลคริสต์มาส เดือนธันวาคม 2019

  5. “Joseph Smith as a Statesman,” Improvement Era, May 1920, 649.

ภาพถ่ายห้องขังโดย เพ็กกี มารี ฟลอเรส; ภาพถ่ายของคู่รักที่กำลังเดินอยู่ โดย แนนซี แอน เคิร์คแพทริค; ภาพถ่ายอื่นๆ จาก Getty Images

ภาพถ่ายไหมพรมโดย ออราลี โจนส์