ของประทานแห่ง การให้อภัย
พระผู้ช่วยให้รอดทรงยืนกางพระพาหุเพื่อจะประทานอภัยแก่ทุกคนที่กลับใจจากบาปของตนอย่างแท้จริงและมาหาพระองค์
ความสุขและปีติที่ยั่งยืนมาโดยศรัทธาในพระบิดาบนสวรรค์และในพระบุตรของพระองค์ พระเยซูคริสต์ ทุกสิ่งที่ดีและสวยงาม ทุกสิ่งที่บริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์ ล้วนมาจากพระองค์ นั่นรวมถึงการให้อภัย ซึ่งเติมพลังจิตวิญญาณเราและยืนยันจุดยืนของเรากับพระองค์
ในโลกก่อนเกิด เรายินดีกับโอกาสที่จะมาบนแผ่นดินโลก รับร่างกายมรรตัย และกลายเป็นเหมือนพระบิดาบนสวรรค์ของเรามากขึ้น (ดู โยบ 38:4–7) อย่างไรก็ตาม เรารู้ว่าเราจะประสบกับความผิดหวัง ความป่วยไข้ ความเจ็บปวด ความอยุติธรรม การล่อลวง และบาป
ความท้าทายเหล่านี้ได้รับการคาดการณ์ไว้แล้วในแผนแห่งการไถ่ของพระบิดา และพระองค์ทรงเรียกพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดของพระองค์ให้เป็นพระผู้ไถ่และพระผู้ช่วยให้รอดของเรา พระเยซูคริสต์จะเสด็จมาบนแผ่นดินโลกอย่างไม่เหมือนผู้ใด และโดยความชอบธรรมของพระองค์ พระองค์จะทรงทำลายสายรัดแห่งความตาย เมื่อเราเลือกทำตามพระองค์และกลับใจจากบาปของเรา พระองค์ทรงกำจัดความผิดพลาดและบาปของเราที่อยู่ในหนังสือแห่งชีวิตโดยทางการชดใช้อันไร้ขอบเขตของพระองค์
การสวดอ้อนวอนและศรัทธา
การกลับใจของเรา ตามด้วยการให้อภัยจากพระผู้ช่วยให้รอดของโลก เป็นรากฐานของคำสวดอ้อนวอนและความพยายามของเราที่จะกลับไปบ้านบนสวรรค์ สำหรับเราแต่ละคนที่มีศรัทธาในพระเยซูคริสต์ คำสวดอ้อนวอนทุกวันของเรา ความพยายามของเราที่จะทำตามพระผู้ช่วยให้รอด การรับส่วนศีลระลึกของเราเป็นประจำขณะที่เราเต็มใจรับพระนามของพระองค์มาไว้กับเรารวมกับความปรารถนาของเราที่จะละทิ้งสิ่งน่าดึงดูดใจของโลกและเข้าใกล้พระผู้ช่วยให้รอดของเรามากขึ้นทีละก้าว
ดังที่เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์ (1926–2004) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายไว้: “ถ้าเราเลือก … เส้นทางแห่งการเป็นสานุศิษย์ เราจะ … เคลื่อนที่จากสิ่งที่ตอนแรกอาจเป็นเพียงแค่การรับรู้ถึงพระเยซูไปยังการสรรเสริญพระเยซู แล้วต่อไปยังการสักการะพระเยซู และในที่สุดสู่การเลียนแบบพระเยซู ในกระบวนการของการพยายามเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น … เราต้องอยู่ในสภาพแห่งการกลับใจ”1
การกลับใจกลายเป็นความนึกคิดที่ต่อเนื่อง ความพยายามที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันกล่าวว่า
“ไม่มีสิ่งใดเป็นอิสระ มีเกียรติ หรือสำคัญต่อความก้าวหน้าของเรามากไปกว่าการมุ่งเน้นที่การกลับใจทุกวันอย่างสม่ำเสมอ
“… จงประสบพลังความเข้มแข็งของการกลับใจทุกวัน—โดยการทำดีและเป็นคนดีขึ้นทีละน้อยในแต่ละวัน”2
ในการสวดอ้อนวอนเราทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้น ถามว่า “ฉันเห็นพระหัตถ์ของพระองค์ในชีวิตฉันที่ไหน? การกระทำของฉันเผยความซื่อสัตย์และความไม่เห็นแก่ตัวอย่างไร? ฉันจะทำอะไรได้มากกว่านี้? ฉันต้องควบคุมความคิดและอารมณ์ใด? ฉันจะทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดให้ดีขึ้นอย่างไร? ฉันจะใจดีมากขึ้น รักมากขึ้น ให้อภัยมากขึ้น และมีเมตตาต่อผู้อื่นมากขึ้นอย่างไร? ในวิธีใดที่ฉันจะเป็นได้น้อยกว่าที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้ฉันเป็น?”
จากนั้นให้หยุดและฟัง การสวดอ้อนวอนส่วนตัวของเราเปิดหน้าต่างสู่การเปิดเผยส่วนตัวจากพระบิดาบนสวรรค์ของเรา
ด้วยศรัทธาในพระเยซูคริสต์ เรายอมรับความผิดพลาด ข้อบกพร่อง และการกระทำที่ไม่คำนึงถึงผู้อื่นของเราต่อพระบิดาบนสวรรค์อย่างเปิดเผย เราทูลขออภัยอย่างนอบน้อมถ่อมตน ฟังการกระตุ้นเตือนเงียบๆ ของพระวิญญาณ และสัญญากับพระบิดาบนสวรรค์ของเราว่าเราจะเอาใจใส่ต่อสิ่งเหล่านั้นที่เราปรับปรุงได้ เราสารภาพบาปและเราละทิ้งบาป (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:43) เราชดเชยสิ่งที่เราสามารถชดเชยได้ต่อผู้ที่เราทำร้ายหรือทำให้ขุ่นเคือง อาจเป็นการขอโทษคู่สมรสหรือลูก ข้อความถึงเพื่อนหรือผู้ร่วมงาน หรือความมุ่งมั่นที่จะทำตามการกระตุ้นเตือนทางวิญญาณที่เพิกเฉยไป
การรับส่วนศีลระลึกของเราและการเข้าพระวิหารบ่อยครั้งเมื่ออยู่ในวิสัยที่ทำได้ ขยายและค้ำจุนศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์และความปรารถนาของเราที่จะทำตามพระองค์
“มาหาเรา”
ใน 3 นีไฟ ช่างน่าอัศจรรย์ที่พระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์ผู้ฟื้นคืนพระชนม์ทรงเชื่อมโยงคำว่า “กลับใจ” กับคำว่า “มาหาเรา” บ่อยเพียงใด
“กลับใจ จากบาปของเจ้า, และ มาหาเรา ด้วยใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด” (3 นีไฟ 12:19; เน้นตัวเอน)
“กลับใจ จากบาปของเจ้า, และได้รับการเปลี่ยนใจเลื่อมใส …
“… หากเจ้า มาหาเรา เจ้าจะมีชีวิตนิรันดร์. ดูเถิด, แขนแห่งความเมตตาของเรายื่นมายังเจ้า, และผู้ใดก็ตามที่จะ มา, ผู้นั้นเราจะรับ; และคนที่ มาหาเรา จะเป็นสุข” (3 นีไฟ 9:13–14; เน้นตัวเอน)
“ผู้ใดที่กลับใจและ มาหาเรา ดังเด็กเล็กๆ, เราจะรับเขา … ฉะนั้นจง กลับใจ, และ มาหาเรา เถิดเจ้าทั้งหลายสุดแดนแผ่นดินโลก, และได้รับการช่วยให้รอด” (3 นีไฟ 9:22; เน้นตัวเอน)
พระเยซูยังตรัสถึงผู้ที่ไม่เข้าร่วมสถานนมัสการอีกต่อไป โดยการเลือกเองหรือโดยสภาวการณ์ พระองค์ตรัสว่า “แก่คนเช่นนั้นเจ้าจงปฏิบัติต่อไป; เพราะเจ้าหารู้ไม่ว่าเผื่อพวกเขาจะกลับมาและ และ มาหาเรา ด้วยความตั้งใจเด็ดเดี่ยว, และเราจะรักษาพวกเขา; และเจ้าจะเป็นวิถีทางแห่งการนำความรอดมาสู่พวกเขา” (3 นีไฟ 18:32; เน้นตัวเอน)
ประธานเนลสันประกาศว่า “พระเยซูคริสต์ … ผู้ทรงยืนกางพระพาหุ ทรงหวังและเต็มพระทัยเยียวยา ให้อภัย ชำระล้าง เสริมสร้างความเข้มแข็ง ทำให้บริสุทธิ์ และชำระเราให้บริสุทธิ์”3
แน่นอนว่าเราจะอยากทำสุดความสามารถของเรา ความรู้สึกผิด ความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลง และใจที่ชอกช้ำ วิญญาณที่สำนึกผิด และความเสียใจแบบพระผู้เป็นเจ้าของเราล้วนสำคัญทั้งหมด เราจะปรารถนาที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมของเราและชดเชยผู้ที่เราทำร้าย
การให้อภัยเป็นของประทาน
แต่เราต้องจำไว้ว่าของประทานแห่งการให้อภัยจากสวรรค์จะไม่มีวันได้มาเพราะความพยายาม จะได้รับจากการให้เท่านั้น ใช่แล้ว จะต้องเชื่อฟังพระบัญญัติและถือปฏิบัติศาสนพิธีจึงจะได้รับการให้อภัย แต่ความพยายามส่วนตัว ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่เพียงใด เทียบไม่ได้กับราคาของการไถ่ อันที่จริง ไม่ต้องเทียบเลย
การให้อภัยคือของประทาน และพระองค์เดียวที่จะประทานให้ได้คือพระผู้ไถ่และพระผู้ช่วยให้รอดของโลก พระเยซูคริสต์ (ดู โรม 5:1–12 และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง 15–18; ดู โรม 6:23; 2 โครินธ์ 9:15; เอเฟซัส 2:8 ด้วย) พระองค์ทรงมอบของประทานอันประมาณค่ามิได้แก่ทุกคนผู้หันมาหาพระองค์และรับไว้ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:33)
ดังที่ประธานเนลสันกล่าวว่า “การชดใช้ [ของพระผู้ช่วยให้รอดสามารถ] ไถ่จิตวิญญาณทุกดวงจากการปรับโทษอันเกิดขึ้นเพราะการล่วงละเมิดของตนเอง ตามเงื่อนไขที่พระองค์ทรงกำหนดขึ้น”4
ขอให้เราชื่นชมยินดีในการเดินทาง! พระบิดาบนสวรรค์ของเราประทานพระคำแห่งความจริงแก่เรา: “หากเจ้าจะกลับใจและไม่ทำใจของเจ้าแข็งกระด้าง, เมื่อนั้นเราจะเมตตาเจ้า, โดยทางพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดของเรา; … [และเจ้า] จะมีสิทธิ์ในความเมตตาโดยทางพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดของเรา, ไปสู่การปลดบาปของ [เจ้า]; และ [เจ้า] จะเข้ามาในสถานพักผ่อนของเรา” (แอลมา 12:33–34)
ในฐานะอัครสาวกคนหนึ่งของพระเจ้า ข้าพเจ้าสัญญากับท่านว่าพระคำเหล่านี้ของพระบิดาเป็นความจริง เมื่อท่านน้อมรับพระคำเหล่านั้นไว้ในชีวิตท่าน พระผู้ช่วยให้รอดจะทรงกำหนดจุดหมายนิรันดร์ที่เฝ้ารอท่านอยู่ตลอดกาล