2023
อัตลักษณ์อันสูงส่งมีผลต่อการเป็นส่วนหนึ่งและการเปลี่ยนเป็นสิ่งหนึ่งอย่างไร
มีนาคม 2023


“อัตลักษณ์อันสูงส่งมีผลต่อการเป็นส่วนหนึ่งและการเปลี่ยนเป็นสิ่งหนึ่งอย่างไร,” เลียโฮนา, มีนาคม 2023.

อัตลักษณ์อันสูงส่งมีผลต่อการเป็นส่วนหนึ่งและการเปลี่ยนเป็นสิ่งหนึ่งอย่างไร

ขณะจัดลำดับความสำคัญของความสัมพันธ์กับพระผู้เป็นเจ้าและความเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ไว้เป็นลำดับแรก เราจะพบปีติในอัตลักษณ์อันสูงส่งของเรา ได้รับความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งที่ยั่งยืน และไปถึงศักยภาพแห่งสวรรค์ของเราในที่สุด

ภาพ
กลุ่มคนต่างๆ

สมาคมจิตวิทยาอเมริกานิยาม การเป็นส่วนหนึ่ง ว่าเป็น “ความรู้สึกได้รับการยอมรับและเห็นชอบโดยกลุ่ม”1

น่าเสียดาย ไม่ใช่ว่าเราทุกคนจะรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งและบางครั้งต้องพยายามปรับเปลี่ยนตัวตนของเราเพื่อให้ได้รับการยอมรับ “เราทุกคนต้องการเข้ากับผู้อื่นได้” โจแอนนา แคนนอน นักจิตวิทยาชาวอังกฤษอธิบาย “เพื่อให้บรรลุสิ่งนั้น เรามักนำเสนอตนเองในรูปแบบที่แตกต่างจากตัวตนของเราไปบ้าง โดยขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมและกลุ่มคนที่เราอยู่ด้วย เราอาจมีตัวเราเองมากมายหลาย ‘ฉบับ’ —สำหรับที่ทำงาน หรือที่บ้านหรือแม้ฉบับออนไลน์”2

เป็นสิ่งสำคัญที่จะสังเกตเห็นว่ามีความแตกต่างระหว่างการเข้ากันได้กับการเป็นส่วนหนึ่ง เบรเน บราวน์ นักวิจัยและนักเขียนชาวอเมริกันตั้งข้อสังเกตว่า: “การเข้ากันได้และการเป็นส่วนหนึ่งไม่ใช่สิ่งเดียวกัน อันที่จริง การเข้ากันได้เป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่สุดของการเป็นส่วนหนึ่ง การเข้ากันได้เป็นเรื่องของการประเมินสถานการณ์และเปลี่ยนเป็นคนที่คุณจำต้องเป็นเพื่อได้รับการยอมรับ ตรงกันข้าม การเป็นส่วนหนึ่งไม่ได้ต้องการให้เรา เปลี่ยน ตัวตนของเรา แต่ต้องการให้เรา เป็น อย่างที่เราเป็น”3

การรู้จักอัตลักษณ์อันสูงส่งของเราคือสิ่งสำคัญต่อการเป็นส่วนหนึ่งอย่างมีความหมาย ไม่เช่นนั้น เราจะใช้เวลาและความพยายามของเราไปกับการปรับตัวเพื่อค้นหาการยอมรับในสถานที่ซึ่งไม่ให้เกียรติหรือไม่สอดคล้องกับธรรมชาตินิรันดร์ของเรา นอกจากนี้ สถานที่ซึ่งเราเลือกที่จะเป็นส่วนหนึ่งสามารถนำเราไปสู่การเปลี่ยนแปลงค่านิยมและพฤติกรรมขณะเราปรับตัวให้สอดคล้องกับปกติวิสัยและมาตรฐานของกลุ่ม เมื่อเวลาผ่านไป สถานที่ซึ่งเราเลือกที่จะเป็นส่วนหนึ่งจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงตัวตนของเรา

ในระยะสั้น การน้อมรับอัตลักษณ์อันสูงส่งของเรามีอิทธิพลต่อสถานที่ซึ่งเราปรารถนาจะเป็นส่วนหนึ่ง และสถานที่ซึ่งเราเลือกจะเป็นส่วนหนึ่งจะนำเราไปสู่การเปลี่ยนแปลงตัวตนของเราในที่สุด

อัตลักษณ์อันสูงส่ง

เราทุกคนอาศัยอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าในชีวิตก่อนมรรตัย (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:29; 138:55–56) ทรงสร้างเราขึ้นตามรูปลักษณ์ของพระองค์ (ดู ปฐมกาล 1:27) ทรงเตรียมแผนที่จะทำให้เราเป็นเหมือนพระองค์ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:19–20, 23–24) แผนแห่งความสุขของพระองค์เกี่ยวกับการที่เรามาสู่แผ่นดินโลกเพื่อรับร่างกาย ได้ความรู้ และในที่สุดกลับไปยังบ้านบนสวรรค์ของเราเพื่ออาศัยอยู่กับพระองค์ในปีตินิรันดร์ (ดู 2 นีไฟ 2; 9; อับราฮัม 3:26) พระผู้เป็นเจ้าทรงเปิดเผยว่า “นี่คืองานของเราและรัศมีภาพของเรา—คือการทำให้เกิดความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์ของมนุษย์” (โมเสส 1:39) อัศจรรย์ยิ่ง เรา คืองานและรัศมีภาพของพระองค์! นี่คือการพูดถึงสิ่งที่เกี่ยวกับความสำคัญและคุณค่ามหาศาลที่เรามีต่อพระองค์

เมื่อคิดว่าในโลกนี้มีผู้คนหลายพันล้านคน อาจยากสำหรับบางคนที่จะยอมรับว่าพระผู้เป็นเจ้าจะเอาพระทัยใส่เราเป็นรายบุคคลได้ ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าพระองค์ทรงรู้จักเราแต่ละคนและทรงรู้ด้วยว่าเรากำลังทำอะไร อยู่ที่ไหน และแม้ “ความนึกคิดและเจตนา … ของใจ [เรา]” (แอลมา 18:32) เราไม่เพียงถูก “นับไว้สำหรับ” พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น (โมเสส 1:35) แต่ทรงรักเราอย่างสมบูรณ์แบบด้วย (ดู 1 นีไฟ 11:17)

เพราะความรักสมบูรณ์แบบที่ทรงมีต่อเรา พระบิดาบนสวรรค์ทรงมีพระประสงค์ที่จะแบ่งปันทุกสิ่งที่ทรงมีแก่เรา (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:38) นอกจากที่กล่าวมาทั้งหมด เราคือบุตรธิดาของพระองค์ ทรงมีพระประสงค์ให้เราเป็นเหมือนพระองค์ ทำสิ่งที่ทรงทำ และประสบปีติที่ทรงมี เมื่อเราเปิดใจและความคิดของเราแก่ความจริงข้อนี้ “พระ‍วิญ‌ญาณ​นั้น​เป็น​พยาน​ร่วม​กับจิต‍วิญ‌ญาณ​ของ​เรา​ว่า เรา​เป็น​ลูก​ของ​พระ‍เจ้า: และถ้าเราเป็นลูกแล้ว เราก็เป็นทายาท” (โรม 8:16–17)

ความแตกต่างในมรรตัย

ในชีวิตก่อนเกิด เราเดินกับพระผู้เป็นเจ้า ได้ยินสุรเสียง และรู้สึกถึงความรักของพระองค์ จากนั้นเราผ่านม่านแห่งการลืมเลือนเข้ามาในความเป็นมรรตัย เราไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับชีวิตก่อนหน้านั้นอีกต่อไป สภาพของสิ่งแวดล้อมในความเป็นมรรตัยนี้ทำให้ยากที่จะรู้สึกถึงธรรมชาติอันสูงส่งของเราและความเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นความสุขของเราในบ้านบนสวรรค์

ตัวอย่างเช่น การมุ่งเน้นไปที่ความแตกต่างทางพันธุกรรมและสภาพแวดล้อมของเราอาจเป็นอุปสรรคต่อการเชื่อมโยงเรากับพระผู้เป็นเจ้า ปฏิปักษ์พยายามใช้ประโยชน์จากความแตกต่างเหล่านี้เพื่อเบนความสนใจของเราออกจากการมีพระบิดาพระมารดาบนสวรรค์ร่วมกัน เรารับการตีตราจากคนอื่นๆ และบางครั้งเราถึงกับตีตราเหล่านั้นให้ตัวเราเอง โดยธรรมชาติแล้วไม่มีสิ่งใดผิดที่จะระบุตัวตนผู้อื่นจากบุคลิกลักษณะทางโลก อันที่จริง พวกเราหลายคนพบปีติและการค้ำจุนจากคนที่มีลักษณะและประสบการณ์คล้ายกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อเราลืมอัตลักษณ์อันเป็นแก่นแท้ของเราในฐานะบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า อาจทำให้เราเริ่มกลัว ไม่ไว้วางใจ หรือรู้สึกเหนือกว่าคนที่แตกต่างจากเรา เจตคติเหล่านี้มักนำไปสู่การแบ่งพรรคแบ่งพวก การเลือกปฏิบัติ และแม้ถึงกับทำลายล้างกัน (ดู โมเสส 7:32–33, 36)

เมื่อเราจดจำมรดกอันสูงส่งของเรา ความหลากหลายของเราก่อให้เกิดความงดงามและความอุดมสมบูรณ์แก่ชีวิต เรามองตนเองเป็นพี่น้องกัน แม้เราจะแตกต่างกัน เราจะเปลี่ยนมาเคารพและเรียนรู้จากกัน เรามุ่งมั่นที่จะจัดหาสถานที่ซึ่งช่วยให้คนอื่นๆ รู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบุคลิกภาพและประสบการณ์ของพวกเขาแตกต่างจากเรา เรารู้สึกสำนึกคุณต่อพระผู้เป็นเจ้าสำหรับความหลากหลายแห่งการสร้างของพระองค์4

ขณะที่พันธุกรรมและสภาพแวดล้อมส่งผลต่อประสบการณ์ในความเป็นมรรตัยของเราแต่ทั้งสองสิ่งกำหนดตัวตนเราไม่ได้ เราคือบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าพร้อมด้วยศักยภาพที่จะเป็นเหมือนพระองค์

การเป็นส่วนหนึ่งผ่านพระเยซูคริสต์

โดยทรงทราบว่าเราจะเผชิญกับเรื่องท้าทายที่มีนัยสำคัญในความเป็นมรรตัย พระผู้เป็นเจ้าทรงเตรียมและทรงส่งพระบุตรของพระองค์ พระเยซูคริสต์มา ช่วยให้เราเอาชนะอุปสรรคเหล่านี้ พระคริสต์ทรงเสนอที่จะช่วยให้เราสร้างความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับพระผู้เป็นเจ้าอีกครั้งเหมือนที่เคยมีในชีวิตก่อนมรรตัย ดังที่พระคริสต์ทรงอธิบายว่า “เราเป็นทางนั้น เป็นความจริง และเป็นชีวิต: ไม่มีใครมาถึงพระบิดาได้นอกจากจะมาทางเรา” (ยอห์น 14:6; ดู ยอห์น 3:16–17 ด้วย)

พระคริสต์เต็มพระทัยช่วยเรา ตลอดเวลา เราเป็นส่วนหนึ่งของพระองค์ (ดู 1 โครินธ์ 6:20) และทรงปรารถนาให้เรามาหาพระองค์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงสัญญาไว้ด้วยพระวจนะของพระองค์เองว่า “จงมาหาเราด้วยความตั้งใจเด็ดเดี่ยว, และเราจะรับเจ้า” (3 นีไฟ 12:24)

แล้วเราจะมาหาพระคริสต์ด้วยความตั้งใจเด็ดเดี่ยวอย่างไร?

ข้อแรก เรายอมรับว่าพระองค์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดและพระผู้ไถ่ของเรา เรารับรู้ความยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้า สภาพที่หลงทางและตกของเรา และการขึ้นอยู่กับพระเยซูคริสต์อย่างสมบูรณ์ของเราเพื่อรับการช่วยให้รอด เราปรารถนาให้คนรู้จักเราในพระนามของพระองค์ (ดู โมไซยาห์ 5:7–8) และต้องการเป็นสานุศิษย์ของพระองค์ “ตลอดวันเวลาที่เหลืออยู่ของเรา” (โมไซยาห์ 5:5)

ข้อสอง เรามาหาพระคริสต์ด้วยความตั้งใจเด็ดเดี่ยวโดยการทำและรักษาพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์กับพระผู้เป็นเจ้า (ดู อิสยาห์ 55:3) เราทำพันธสัญญาผ่านศาสนพิธีแห่งความรอดและความสูงส่งของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ซึ่งประกอบโดยสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิต

ภาพ
เยาวชนชายส่งผ่านศีลระลึกให้สมาชิก

การทำและรักษาพันธสัญญาไม่เพียงผูกมัดเรากับพระผู้เป็นเจ้าและพระบุตรของพระองค์เท่านั้นแต่เชื่อมโยงพวกเราเข้าด้วยกันอีกด้วย สองสามปีก่อน ข้าพเจ้าไปเยือนคอสตาริกาพร้อมครอบครัวและเข้าประชุมศีลระลึกที่หน่วยของศาสนจักรในท้องที่นั้น เมื่อเราเข้าไป มีสมาชิกหลายคนมาต้อนรับเราอย่างอบอุ่น ระหว่างการประชุม เราร้องเพลงสวดศีลระลึกกับที่ประชุมเล็กๆ เราเฝ้าดูปุโรหิตเตรียมศีลระลึกแล้วฟังขณะพวกเขาท่องบทสวดศีลระลึก ขณะพวกเขาส่งผ่านขนมปังและน้ำมาถึงเรา ข้าพเจ้ารู้สึกท่วมท้นไปด้วยความรักของพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงมีต่อเพื่อนผู้รักษาพันธสัญญาเหล่านี้แต่ละคน ข้าพเจ้าไม่เคยพบพวกเขาก่อนการประชุมศีลระลึกนั้นแต่รู้สึกได้ถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันและความเป็นญาติพี่น้องกับพวกเขาเพราะเราทุกคนต่างทำและมุ่งมั่นที่จะรักษาสัญญาที่ทำไว้กับพระผู้เป็นเจ้าเช่นเดียวกัน

เมื่อเราทำและมุ่งมั่นรักษาพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ที่ทำกับพระผู้เป็นเจ้า เราเริ่มมีประสบการณ์กับความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งมากกว่าที่ได้รับจากการเข้าสังกัดกับกลุ่มทางโลกหรือกลุ่มใดๆ บนแผ่นดินโลก5 เรา “จึงไม่ใช่คนต่างด้าวต่างแดนอีกต่อไป แต่ว่าเป็นพลเมืองเดียวกันกับธรรมิกชน และเป็นครอบครัวของพระเจ้า” (เอเฟซัส 2:19)

ข้าพเจ้าทราบดีว่าพวกเราบางคนจะไม่มีโอกาสรับศาสนพิธีและทำพันธสัญญาทุกอย่างในชีวิตมรรตัยนี้เนื่องจากสภาวการณ์ในโลกมนุษย์6 ในกรณีเช่นนั้น พระผู้เป็นเจ้าทรงขอให้เราทำ “ทุกสิ่งจนสุดความสามารถ” (2 นีไฟ 25:23) ที่จะทำและรักษาพันธสัญญาที่มีไว้ให้เรา จากนั้นทรงสัญญาจะประทานโอกาสให้เรารับศาสนพิธีและพันธสัญญาที่ยังไม่ได้รับในชีวิตหน้า (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 138:54, 58) จะทรงทำให้เป็นไปได้สำหรับเราที่จะรับพรทุกประการที่ทรงมีไว้สำหรับบุตรธิดาของพระองค์ (ดู โมไซยาห์ 2:41)

ภาพ
ภาพพระเยซูกับเด็กๆ บางคน

การเป็นเหมือนพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์

พระผู้เป็นเจ้าทรงชื่นชมยินดีเมื่อเรารู้สึกถึงความรัก ความเป็นหนึ่งเดียวกัน และความเข้มแข็งซึ่งมาจากความรู้สึกส่วนลึกของการเป็นส่วนหนึ่งกับพระองค์ พระบุตร และผู้ที่ทำตามทั้งสองพระองค์ แต่พระองค์ทรงมีแผนใหญ่กว่านั้นมากให้ท่าน! แม้ทรงเชิญให้เรามาดังที่เราเป็น แต่พระประสงค์ที่แท้จริงของพระองค์คือให้เราเป็นดังที่พระองค์ทรงเป็น

การทำและการรักษาพันธสัญญาไม่เพียงช่วยให้เราเป็นส่วนหนึ่งของพระผู้เป็นเจ้าและพระคริสต์เท่านั้นแต่ยังทำให้เรามีพลังอำนาจที่จะเป็นเหมือนทั้งสองพระองค์ด้วย (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:19–22) ขณะเรารักษาพันธสัญญาไปพร้อมๆ กับการรับศาสนพิธีแห่งความรอดและความสูงส่งของพระกิตติคุณ เดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าสามารถหลั่งไหลเข้าสู่ชีวิตเราได้ เราอาจมองเส้นทางพันธสัญญาว่าเป็นโปรแกรมการฝึกงานจากสวรรค์อย่างหนึ่งก็ได้ เมื่อเราทำและรักษาพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้า เราฝึกการคิด การกระทำ และการให้ความรักดังที่พระองค์ทรงทำ ด้วยความช่วยเหลือและเดชานุภาพของพระองค์ เราสามารถเป็นเหมือนพระองค์ได้ทีละน้อย

พระผู้เป็นเจ้าทรงมีพระประสงค์ให้เราร่วมงานกับพระองค์และพระบุตรของพระองค์ในการทำให้ “เกิดความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์ของมนุษย์” (โมเสส 1:39) พระองค์ประทานเวลาบนแผ่นดินโลก ของประทานทางวิญญาณ และสิทธิ์เสรีแก่เราแต่ละคนเพื่อใช้สิ่งเหล่านี้ในการรับใช้ผู้อื่น เราคือบุตรธิดาของพระองค์ และพระองค์ทรงมีงานสำคัญให้เราทำ (ดู โมเสส 1:4, 6)

เพื่อมีประสิทธิผลในการทำงานของพระองค์ เราจำเป็นต้องใส่ใจคนรอบข้างและเรียนรู้ที่จะให้พระผู้เป็นเจ้ามาก่อนและมักให้เรื่องจำเป็นของผู้อื่นมาก่อนของเราเองด้วย การใส่ใจผู้อื่นเรียกร้องการเสียสละส่วนตัว (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 138:12–13) แต่ก็เพิ่มความหมายแก่ชีวิตเรามากขึ้นและนำปีติอย่างใหญ่หลวงมาด้วย (ดู แอลมา 36:24–26)

ขณะเรามีส่วนในงานของพระผู้เป็นเจ้า เราไม่เพียงเป็นส่วนหนึ่งในฐานะสมาชิกของกลุ่ม แต่เรากลายเป็นหุ้นส่วนที่แท้จริงกับพระผู้เป็นเจ้าและพระบุตรของพระองค์ พระเยซูคริสต์ด้วย ไม่มีความรู้สึกใดยิ่งใหญ่กว่าการรู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าวางพระทัยในตัวเรามากพอที่จะทำงานผ่านเราเพื่อนำชีวิตนิรันดร์ไปสู่ผู้อื่น

ภาพ
กลุ่มคนหลากหลายกำลังมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน

คำเชื้อเชิญสามข้อ

สุดท้ายนี้ ข้าพเจ้าขอให้คำเชื้อเชิญสามข้อที่จะช่วยให้เราได้รับปีติและความรู้สึกที่ยั่งยืนของอัตลักษณ์และการเป็นส่วนหนึ่งอีกทั้งยังช่วยให้เราสามารถไปถึงศักยภาพอันสูงส่งของเราได้ด้วย

1. ข้าพเจ้าขอเชื้อเชิญให้เราจัดลำดับความสำคัญของอัตลักษณ์อันสูงส่งของเราในฐานะบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า นี่หมายความว่าเราให้คุณค่าตนเองบนพื้นฐานของการมีพระบิดาพระมารดาบนสวรรค์ เราพยายามสร้างความสัมพันธ์ของเรากับพระผู้เป็นเจ้าผ่านการสวดอ้อนวอนและศึกษาพระคัมภีร์ รักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์และนมัสการในพระวิหาร รวมทั้งกิจกรรมอื่นใดที่นำพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์เข้ามาสู่ชีวิตเราและเสริมสร้างการเชื่อมโยงของเรากับพระองค์ เรายอมให้พระผู้เป็นเจ้าทรงมีชัยในชีวิตเรา7

2. ข้าพเจ้าขอเชื้อเชิญให้เรายอมรับพระเยซูคริสต์เป็นพระผู้ช่วยให้รอดของเราและวางการเป็นสานุศิษย์ของพระองค์ไว้เหนือข้อพิจารณาอื่นใดทั้งหมด นี่หมายความว่าเรารับพระนามของพระองค์ไว้กับเราและปรารถนาจะให้เป็นที่รู้กันว่าเราคือผู้ติดตามพระองค์ เราพยายามเข้าถึงการให้อภัยของพระองค์และความเข้มแข็งของพระองค์ทุกวัน เราทำพันธสัญญาและรักษาพันธสัญญาเหล่านั้น เรามุ่งมั่นที่จะเป็นเหมือนพระองค์

3. ข้าพเจ้าขอเชื้อเชิญให้ท่านมีส่วนในงานของพระผู้เป็นเจ้าโดยการช่วยเหลือผู้อื่นให้มาหาพระคริสต์และได้รับชีวิตนิรันดร์ นี่หมายความว่าเราจะช่วยให้ผู้อื่นเห็นอัตลักษณ์อันสูงส่งของตนและรู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่ง เราแบ่งปันอย่างเปิดเผยถึงปีติที่พบในพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์ (ดู แอลมา 36:23–25) เรามุ่งมั่นที่จะช่วยให้ผู้อื่นทำและรักษาพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์กับพระผู้เป็นเจ้า เราแสวงหาการนำทางของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อรู้ว่าใครที่เราจะเป็นพรแก่เขาได้และวิธีที่จะทำเช่นนั้น

ข้าพเจ้าสัญญาว่าขณะจัดลำดับความสำคัญของความสัมพันธ์กับพระผู้เป็นเจ้าและความเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ไว้เป็นลำดับแรก เราจะพบปีติในอัตลักษณ์อันสูงส่งของเรา ได้รับความรู้สึกอันยั่งยืนของการเป็นส่วนหนึ่ง และไปถึงศักยภาพแห่งสวรรค์ของเราในที่สุด

จากคำปราศรัยให้ข้อคิดทางวิญญาณเรื่อง “อัตลักษณ์อันสูงส่ง การเปลี่ยนเป็นสิ่งหนึ่ง และการเป็นส่วนหนึ่ง” ที่มหาวิทยาลัยบริคัมยังก์–ฮาวาย วันที่ 25 พ.ค. 2022

อ้างอิง

  1. APA Dictionary of Psychology, s.v. “belonging,” dictionary.apa.org.

  2. Joanna Cannon, “We All Want to Fit In,” Psychology Today (blog), July 13, 2016, psychologytoday.com.

  3. Brené Brown, Daring Greatly: How the Courage to Be Vulnerable Transforms the Way We Live, Love, Parent, and Lead (2015), 231–32.

  4. พระคัมภีร์มอรมอนพูดถึงเวลาที่ผู้คนมีความเป็นหนึ่งเดียวกันในพระผู้เป็นเจ้า แม้จะมีความแตกต่างกัน (ดู 4 นีไฟ 1:15–17) คนกลุ่มนี้ระลึกถึงมรดกแห่งสวรรค์ของตน วางความภักดีต่อพระองค์ไว้เหนือสิ่งอื่นใด และดำเนินชีวิตอยู่กับผู้อื่นในความเป็นหนึ่งเดียวกันและในความรัก แม้จะมีความแตกต่างทางพันธุกรรมและสภาพแวดล้อม

  5. นอกจากนี้ พระนิเวศศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้ายังสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมแห่งความเท่าเทียมและการเป็นส่วนหนึ่งของพันธสัญญาอีกด้วย ให้พิจารณาเรื่องต่อไปนี้เกี่ยวกับประสบการณ์ของเราในพระวิหาร: ทุกคนได้รับเชิญให้เตรียมตัวและมีคุณสมบัติคู่ควรกับใบรับรองพระวิหาร เราต่างสวมเสื้อผ้าสีขาวซึ่งแสดงให้เห็นความบริสุทธิ์และความเท่าเทียมกันโดยรวมต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า เราเรียกกันว่าบราเดอร์หรือซิสเตอร์และไม่ใช้คำนำหน้าชื่ออย่างเป็นทางการของโลก ทุกคนได้รับโอกาสในการเรียนรู้ที่ไม่ต่างกัน ทุกคนได้รับพันธสัญญาและศาสนพิธีเหมือนกันและสามารถรับพรนิรันดร์แบบเดียวกัน

  6. จากคน 117 พันล้านคนที่เคยอาศัยอยู่บนโลกนี้ (ดู โตชิโกะ คาเนดะ กับ คาร์ล ฮอบ “มีกี่คนเคยอาศัยอยู่บนแผ่นดินโลก?,” Population Reference Bureau, May 18, 2021, prb.org/articles/how-many-people-have-ever-lived-on-earth) เมื่อเทียบเคียงกันมีน้อยคนมากที่เคยเข้าถึงศาสนพิธีแห่งความรอดและความสูงส่ง ผลก็คือ บุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าจำนวนมหาศาลจำเป็นต้องได้รับศาสนพิธีเหล่านี้ในโลกวิญญาณ

  7. ดู รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ให้พระผู้เป็นเจ้าทรงมีชัย,” เลียโฮนา, พ.ย. 2020, 92–95.

พิมพ์