พันธสัญญาใหม่ในบริบท
ชีวิตหมู่บ้านกาลิลีในสมัยพระเยซูคริสต์
การรู้เกี่ยวกับชีวิตหมู่บ้านในศตวรรษที่หนึ่งที่พระเยซูอาศัยอยู่สามารถช่วยให้เราเข้าใจคำสอนของพระองค์ได้ดีขึ้นและดึงเราให้เข้าใกล้พระองค์มากขึ้น
กิตติคุณในพันธสัญญาใหม่บันทึกว่าพระเยซูทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ในพระชนม์ชีพและการปฏิบัติศาสนกิจอยู่ในหมู่บ้านชาวยิวใกล้ทะเลกาลิลี ทะเลสาบน้ำจืดทางตอนเหนือของแคว้นยูเดีย มีเขาเตี้ยๆ และที่ทำการเกษตรล้อมรอบ1
ภูมิภาคนี้ไม่เพียงให้สภาวะแวดล้อมทางวัตถุ วัฒนธรรม และศาสนาในช่วงวัยเด็กของพระเยซูเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ซึ่งพระองค์ทรงเรียกสานุศิษย์ยุคแรก ทรงแสดงปาฏิหาริย์มากมาย และทรงเริ่มประกาศ “ข่าวดี” เรื่องอาณาจักรด้วย2
การรู้เกี่ยวกับชีวิตหมู่บ้านในศตวรรษที่หนึ่งในภูมิภาคนี้สามารถช่วยให้เราเข้าใจคำสอนของพระองค์ได้ดีขึ้นและทำให้เรื่องราวพระกิตติคุณน่าสนใจมากขึ้นจนดึงเราเข้าใกล้พระองค์มากขึ้น
ประชากร
พระคัมภีร์ แหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และการขุดค้นทางโบราณคดีใกล้ทะเลกาลิลีระบุว่า แม้พื้นที่นี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของบางเผ่าทางเหนือของอิสราเอล3 แต่หมู่บ้านกาลิลีในสมัยพระเยซู—เช่น นาซาเร็ธ คานา นาอิน คาเปอรนาอุม โคราซิน และอื่นๆ—ตั้งถิ่นฐานในช่วงสองศตวรรษแรกก่อนคริสต์ศักราชเมื่อครอบครัวชาวยิวอพยพขึ้นเหนืออันเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรแฮซมาเนียนที่กำลังขยายเขต
ในช่วงสมัยพันธสัญญาใหม่ ประชากรของหมู่บ้านเหล่านี้มีตั้งแต่ไม่กี่ร้อยถึงไม่กี่พันคน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ประมง และค้าขาย ซึ่งพระเยซูมักกล่าวถึงในอุปมาและคำเทศนาของพระองค์4
บ้านเรือน
ชีวิตประจำวันในหมู่บ้านกาลิลีค่อนข้างเรียบง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับเมืองใหญ่ในภูมิภาค (เช่น เยรูซาเล็ม) ที่มีผังเมืองแบบโรมัน เทคโนโลยีการก่อสร้าง และสิ่งอำนวยความสะดวก
ตัวอย่างเช่น หมู่บ้านกาลิลีโดยทั่วไปไม่มีการวางผังรวม ถนนลาดยางหรือลานกว้าง สถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ หรือระบบน้ำประปา แต่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยบ้านกลุ่มเล็กๆ ที่มีห้องนั่งเล่นแบบเรียบง่ายกระจุกตัวอยู่รอบๆ ลานบ้านที่ใช้ร่วมกัน (ทำให้มีพื้นที่ส่วนตัวเพียงเล็กน้อย) บ้านเรือนเหล่านี้สร้างจากธรรมชาติกองซ้อนกันแล้วโบกปูนและหลังคามุงจากฉาบปูนอีกชั้น5 บ้านเป็นที่พักอาศัยของเครือญาติที่ช่วยกันทำการเกษตร การประมง งานฝีมือ หรือการเตรียมอาหาร6
เมื่อบ้านขยายตามการเติบโต ก็ย่อมมีถนนตรอกซอกซอยที่เป็นดินตามมา ทำให้สภาพความเป็นมีแต่ฝุ่นในฤดูร้อนและโคลนเฉอะแฉะในฤดูหนาวที่มีฝนตก
ชีวิตในบ้าน
เนื่องจากช่วงเวลานี้ภาษีสูงและครอบครัวส่วนใหญ่พอประคองชีวิตให้อยู่รอดเท่านั้น บ้านในหมู่บ้านกาลิลีจึงไม่มีการตกแต่งภายใน เครื่องเรือนมีจำกัด และไม่มีสิ่งของฟุ่มเฟือย
สมาชิกในครอบครัวมักเตรียมอาหารโดยใช้โม่หินและเตาอบ นั่งและนอนบนเสื่อกกที่ปูดินในบ้าน กินอาหารจากหม้อหุงต้มและจานที่ใช้ร่วมกันโดยจุ่มขนมปังลงในซุปหรือสตูเหลว
นอกจากนี้ มื้ออาหารทั่วไปจะประกอบด้วยเหล้าองุ่นทำเอง น้ำมันมะกอก พืชตระกูลถั่ว (ถั่วเลนทิล ถั่วมีฝัก และถั่วชิกพี) ผลไม้ (องุ่น มะกอก มะเดื่อ และอินทผลัม) ผัก (หัวหอม ต้นหอม และกะหล่ำปลี) ปลา และผลิตภัณฑ์จากนมแพะ(เนยแข็ง เนย และนม)
เมื่อไม่มีน้ำประปาหรือห้องอาบน้ำในชุมชนเหล่านี้ สุขอนามัยของชาวบ้านกาลิลีจึงต่ำกว่ามาตรฐานสมัยใหม่มาก
ขนบธรรมเนียม
นอกจากสภาพแวดล้อมทางกายของภูมิภาคแล้ว หมู่บ้านต่างๆ ในแคว้นกาลิลีสมัยศตวรรษที่หนึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัวชาวยิวที่เคร่งศาสนาด้วย
พวกเขาพูดภาษาอราเมอิก (อาจผสมกับคำและวลีภาษาฮีบรูเป็นครั้งคราว) ฉลองวันศักดิ์สิทธิ์ เช่น วันสะบาโต (ซึ่งต้อนรับเข้าสู่วันนั้นด้วยการจุดตะเกียงน้ำมันดวงเล็กๆ) รักษากฎโคเชอร์มาตรฐานอาหารยิวตามที่กำหนดในพระคัมภีร์โทราห์7 สวดอ้อนวอนตามแบบชาวยิว เช่น เชมา8 รักษาความบริสุทธิ์ทางพิธีกรรมในระดับต่างๆ9 รวมตัวกันในธรรมศาลาที่ไม่หรูหรา10 ตลอดจนส่งต่อเรื่องราวและคำสอนในพระคัมภีร์ด้วยวาจา
เสื้อผ้าอาภรณ์
ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่สามารถซื้อเสื้อคลุมยาวหรือเสื้อผ้าหลายชั้นมาสวมได้ จึงสวมเสื้อผ้าทั่วไปของโรมันปาเลสไตน์แทน คือเสื้อคลุมรัดเอวยาวแค่เข่าไม่มีแขน คาดเข็มขัด สวมรองเท้าแตะหนัง และมีผ้าคลุมไหล่เพื่อเพิ่มความอบอุ่นเป็นพิเศษในช่วงฤดูหนาว
นอกจากนี้ ผู้ชายชาวยิวจะติดพู่ศักดิ์สิทธิ์ที่มุมเสื้อคลุมด้วย (ในช่วงนี้ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าใช้ผ้าโพกหัวหรือผ้าคลุมศีรษะเหมือนนักบวช) และผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจะต้องรวบผมไว้ในตาข่ายเล็กๆ11
แง่มุมเหล่านี้และแง่มุมอื่นของชีวิตประจำวันของชาวยิวในแคว้นกาลิลีสมัยศตวรรษที่หนึ่งทำให้เรามองโลกพระเยซูมีพระชนม์อยู่และการนึกถึงแง่มุมเหล่านี้ขณะอ่านเรื่องราวพระกิตติคุณจะช่วยให้เราเข้าใจการปฏิบัติศาสนกิจในมรรตัย ข่าวสาร และการเรียกสานุศิษย์ของพระองค์ได้กระจ่างขึ้นมาก