2023
สภาเยรูซาเล็ม
กรกฎาคม 2023


พันธสัญญาใหม่ในบริบท

สภาเยรูซาเล็ม

เรียนรู้ว่าสภาที่ กิจการ 15 พูดถึงสอนอะไรเราในปัจจุบัน

ภาพ
เปโตรพูดกับวิสุทธิชนในเยรูซาเล็ม

กิจการ 15 พูดถึงหนึ่งในสภาชาวคริสต์ยุคแรกสุดหรือสภาเยรูซาเล็ม และสอนหลักธรรมที่ยังนำมาใช้กับศาสนจักรในปัจจุบันได้

สภานี้ประชุมกันเพื่อสนทนาประเด็นที่คนต่างชาติ (ไม่ใช่ชาวยิว) ควรทําเมื่อเปลี่ยนใจเลื่อมใสสู่ศาสนาคริสต์ แม้ผู้เชื่อกลุ่มแรกคือชาวยิวที่ยอมรับพระเยซูเป็นพระเมสสิยาห์ แต่คนต่างชาติมีภูมิหลังศาสนาและเผ่าพันธุ์ต่างกัน ด้วยเหตุนี้การรวมพวกเขาเข้ามาในศาสนาคริสต์ที่เกิดขึ้นใหม่จึงกลายเป็นประเด็น

โดยปกติชาวยิวกับคนต่างชาติไม่ปฏิสัมพันธ์กันใกล้ชิดเพราะมีความเชื่อ วัฒนธรรม และภาษาต่างกัน และเพราะกฎการรับประทานอาหาร (โคเชอร์) ที่ชาวยิวถือปฏิบัติด้วย ชาวคริสต์ยุคแรกสงสัยว่าควรทำตามจารีตประเพณีชาวยิวต่อไปหรือไม่ เนื่องจากพระเยซูและอัครสาวกยุคแรกทุกคนโตมากับการทำสิ่งเหล่านี้

นานาทัศนะในหมู่สมาชิกศาสนจักรยุคแรก

สมาชิกศาสนจักรยุคแรกมีความเห็นต่างกันในประเด็นนี้ บางคนสอนว่าผู้ชายที่ต้องการรับความรอดและยอมรับพระเยซูต้องเข้าสุหนัตตามจารีตภายใต้กฎของโมเสส (ดู กิจการ 15:1)1

เปาโลและบารนาบัสเป็นตัวแทนของอีกความเห็นหนึ่ง พวกเขาสอนคนต่างชาติมาตลอดและรู้สึกว่าพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ทรงช่วยให้คนเหล่านั้นเปลี่ยนใจเลื่อมใส เปาโลและบารนาบัสเห็นว่านี่เป็นพยานว่างานที่พวกเขาทําอยู่เป็นความจริง (ดู กิจการ 15:2–4) พวกเขาไม่ได้เรียกร้องว่าต้องเข้าสุหนัตหรือถือปฏิบัติกฎการรับประทานอาหารของชาวยิวจึงจะรับบัพติศมาได้

ความเห็นแย้งเหล่านี้ทำให้ต้องจัดสภาในหมู่ผู้นําศาสนจักรในเยรูซาเล็มเพื่อหาข้อยุติในเรื่องดังกล่าว

คํากล่าวของเปโตร

เปโตรหัวหน้าอัครสาวกพูดที่สภา เปโตรเตือนพวกเขาให้นึกถึงประสบการณ์ซึ่งเขาเรียนรู้ว่าคนต่างชาติควรได้ยินพระกิตติคุณ และว่าพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ทรงเป็นพยานถึงความจริงต่อพวกเขาเช่นที่ทรงเป็นพยานต่อชาวยิวที่ยอมรับพระเยซูเป็นพระเมสสิยาห์ด้วย (ดู กิจการ 15:7–8; ดู กิจการ 10 ด้วย)

เปโตรกล่าวว่าพระผู้เป็นเจ้า “ไม่ทรงถือเราถือเขา แต่ทรงชำระใจพวกเขาให้บริสุทธิ์โดยความเชื่อ” (กิจการ 15:9) ประสบการณ์ของคนต่างชาติกับพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงยอมรับการเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระคริสต์ของพวกเขา และพวกเขาประสบสิ่งนี้โดยไม่ได้ปฏิบัติตามข้อกําหนดของกฎของโมเสส

เปโตรสรุปด้วยความหวังว่า “เราเองจะรอดโดยพระคุณของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าเช่นเดียวกับพวกเขา” (กิจการ 15:11)

การประนีประนอมของยากอบ

ยากอบน้องชายของพระเยซูและผู้นําคนสำคัญในยุคแรกของศาสนจักรในเยรูซาเล็มพูดกับสภาด้วย เขายอมรับประสบการณ์ของเปโตรซึ่งทําให้เขารู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงสร้างผู้คนแห่งพันธสัญญาจากคนต่างชาติ (ดู กิจการ 15:13–17; ดู อาโมส 9:11 ด้วย)

จากนั้นเขาเสนอทางออกที่เป็นกลาง เขาเสนอให้คนต่างชาติงดเว้นอย่างน้อยสี่อย่างเกี่ยวกับการรักษากฎของโมเสส (ดู กิจการ 15:20, 29):

  • อาหารที่นำไปบูชารูปเคารพ

  • การล่วงประเวณี (การผิดศีลธรรมทางเพศ)

  • เนื้อสัตว์ที่ถูกรัดคอตาย (เลือดสัตว์ยังไม่ไหลออก)

  • เลือด (เกี่ยวข้องกับการหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ที่ถูกรัดคอตาย)

ข้อห้ามเหล่านี้จะทําให้คนต่างชาติที่เปลี่ยนใจเลื่อมใสแตกต่างจากคนต่างชาติคนอื่นเนื่องจากการกระทําเหล่านี้บางครั้งเป็นส่วนหนึ่งของการนมัสการเทพเจ้าของคนต่างชาติ

ข่าวสารถึงวิสุทธิชน

สมาชิกสภาทั้งหมดเห็นด้วยกับข้อเสนอของยากอบ พวกเขาจึงส่งจดหมายและตัวแทนไปเมืองอันทิโอกและที่ประชุมชาวคริสต์อื่นๆ เพื่อแจ้งนโยบายนี้ (ดู กิจการ 15:23–29) ในจดหมายพวกเขายอมรับบทบาทของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในการเป็นพยานว่านโยบายนี้ดี

ตอนนี้ชาวคริสต์ทุกคนทั้งชาวยิวและคนต่างชาติสามารถรับประทานอาหารร่วมกันได้ นโยบายเน้นทางอ้อมด้วยว่าศรัทธาและพันธสัญญาในพระเยซูคริสต์เป็นเส้นทางสู่ความรอด ไม่ใช่กฎของโมเสส2

บทเรียนจากสภาเยรูซาเล็ม

หลักธรรมอย่างน้อยห้าข้อจากสภาเยรูซาเล็มนำมาใช้กับศาสนจักรในปัจจุบันได้:

  1. การแสดงความเห็นต่างในสภาจะช่วยสมาชิกเมื่อพวกเขาแสวงหาพระประสงค์ของพระเจ้าและจะนําไปสู่ข้อตกลงที่ทุกคนทําตามได้

  2. ข้อตกลงหรือการตัดสินใจขั้นสุดท้ายถือเป็นอํานาจของผู้นํา สมาชิกสภาและสมาชิกภาพศาสนจักรโดยรวมจะสนับสนุนและวางใจในการตัดสินใจที่เชื่อถือได้เหล่านี้

  3. ศาสนจักรจะรวมวัฒนธรรมต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน และสมาชิกจะเรียนรู้ได้ว่าวัฒนธรรมใดปฏิบัติตรงข้ามกับวัฒนธรรมพระกิตติคุณและจำเป็นต้องละทิ้ง

  4. พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์จะประทานพยานหนักแน่นว่าอะไรคือพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าและกําลังทําตามพระประสงค์นั้น

  5. การยอมรับพระเยซูคริสต์ผ่านบัพติศมาและพันธสัญญาอื่นๆ เป็นกุญแจสู่การเปลี่ยนใจเลื่อมใสและการเข้าร่วมศาสนจักร

การทําตามหลักธรรมเหล่านี้ในสภาศาสนจักรในปัจจุบันจะนําไปสู่การเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น เราสามารถแสดงความถ่อมตนได้เช่นกันโดยยอมรับและสนับสนุนการตัดสินใจของสภา

หมายเหตุ

  1. กิจการ 15:5 ใช้ชื่อ “ฟาริสีที่มีความเชื่อ” ในพระคริสต์เพื่อพูดถึง “ชาวคริสต์ที่เป็นชาวยิว” บางคนดึงดันในความปรารถนาจะรักษาธรรมเนียมปฏิบัติของชาวยิวไว้เป็นส่วนหนึ่งของพันธสัญญาชาวคริสต์ คนเหล่านี้ไม่ใช่พวกฟาริสีที่หนังสือกิตติคุณกล่าวถึงบ่อยๆ พวกเขาเป็นผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสศาสนาคริสต์ที่ปรารถนาจะรักษาความเป็นชาวยิวของตนและน่าจะนับถือนิกายฟาริสีก่อนเปลี่ยนใจเลื่อมใสและอาจจะยังมีความสัมพันธ์บางอย่างกับพวกฟาริสี

  2. ข้อคิดเห็นจากสภายังคงชี้นำศาสนจักรยุคแรก ตัวอย่างเช่น เปาโลสอนในเวลาต่อมาว่าการเข้าสุหนัตและการทําตามกฎของโมเสสไม่จําเป็นต่อการยอมรับพระเยซูคริสต์ ถึงแม้คนอื่นๆ ยังสอนสิ่งเหล่านี้ (ดู กิจการ 21:20–21) และเขาย้ำข้อเรียกร้องพื้นฐานสี่ข้อจากสภาเยรูซาเล็มกับคนต่างชาติที่เปลี่ยนใจเลื่อมใส (ดู กิจการ 21:25)

พิมพ์