“เห็นปาฏิหาริย์ของพระผู้ช่วยให้รอดในชีวิตเรา,” เลียโฮนา, ก.ค. 2023.
ปาฏิหาริย์ของพระเยซู
เห็น ปาฏิหาริย์ของพระผู้ช่วยให้รอด ในชีวิตเรา
บทเรียนสี่เรื่องจากการที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงรักษาคนตาบอด
มีหลายครั้งในชีวิตที่เราหวังและสวดอ้อนวอนขอให้เกิดปาฏิหาริย์ อาจจะเพื่อคนที่เรารักหรือเพื่อตัวเราเอง ความหวังของเราคือพระองค์จะทรงรับรู้ถึงคำสวดวิงวอนของเรา สถานการณ์เลวร้ายคลี่คลาย จิตวิญญาณที่ขมขื่นสงบลง และพระเจ้าแห่งปาฏิหาริย์จะประทานการแก้ปัญหาตามที่เราปรารถนา เมื่อผลไม่เป็นไปตามคาดหวังหรือเป็นไปตามจังหวะเวลาที่เราสวดอ้อนวอน เรามักจะสงสัยว่าเพราะเหตุใด
โมโรไนสอนว่า “และข้าพเจ้าจะแนะนำท่าน, พี่น้องที่รักของข้าพเจ้า, ให้ท่านจำไว้ว่าพระองค์ทรงเป็นเหมือนกันทั้งวันวาน, วันนี้, และตลอดกาล, และว่าของประทานทั้งหมดนี้ซึ่งข้าพเจ้าพูดมา, ซึ่งเป็นทางวิญญาณ, จะไม่มีวันหมดไป, แม้ตราบเท่าที่โลกจะยังคงอยู่, เว้นแต่จะเป็นไปตามความไม่เชื่อของลูกหลานมนุษย์.” (โมโรไน 10:19)
ของประทานและปาฏิหาริย์เหล่านั้นที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์ยังเกิดขึ้นในสมัยของเราหรือไม่? เราจะคู่ควรรับพรเหล่านั้นอย่างไร? พระผู้ช่วยให้รอดทรงทราบสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตเราและเต็มพระทัยช่วยเราให้พ้นจากความท้าทายหรือไม่?
ข้าพเจ้าต้องการใช้ปาฏิหาริย์ของพระผู้ช่วยให้รอดในเรื่องการทำให้คนตาบอดมองเห็นได้มาเป็นฐานในการตอบคำถามเหล่านี้ (ดูตัวอย่างใน มัทธิว 9:27–31; 12:22–23; มาระโก 8:22–26; 10:46–52; ยอห์น 9:1–11)
เราเรียนรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับพระพันธกิจของพระผู้ช่วยให้รอดจากปาฏิหาริย์ของพระองค์?
เพื่อให้เข้าใจผลของปาฏิหาริย์ที่มีต่อเราและต่อชีวิตเรา มาเริ่มด้วยการนิยามว่าปาฏิหาริย์คืออะไร ปาฏิหาริย์ “มีไว้เพื่อเป็นหลักฐานต่อชาวยิวว่าพระเยซูคือพระคริสต์ … หลายอย่างเกิดขึ้นในลักษณะที่เป็นสัญลักษณ์ คำสอน … ความจริงจากสวรรค์ … ปาฏิหาริย์เป็นการตอบสนองต่อศรัทธาและการให้กำลังใจที่ดีที่สุด ปาฏิหาริย์ไม่เคยเกิดขึ้นโดยปราศจากการสวดอ้อนวอน รู้สึกต้องการ และศรัทธา”1
เอ็ลเดอร์โรนัลด์ เอ. ราสแบนด์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวอย่างเรียบง่ายและไพเราะว่า:
“ปาฏิหาริย์คือพระราชกิจ ปรากฏการณ์และการแสดงเดชานุภาพอันไม่จำกัดของพระผู้เป็นเจ้า และการยืนยันว่าพระองค์ทรงเป็น ‘เหมือนกันทั้งวันวาน, วันนี้, และตลอดกาล’ [โมโรไน 10:19] …
“… ปาฏิหาริย์เป็นส่วนขยายในแผนนิรันดร์ของพระผู้เป็นเจ้า เป็นสายชูชีพจากสวรรค์ถึงแผ่นดินโลก”2
ดังนั้นวิธีที่เป็นประโยชน์ในการศึกษาปาฏิหาริย์ของพระผู้ช่วยให้รอดและเรียนรู้จากปาฏิหาริย์เหล่านั้นคือจำไว้ว่าปาฏิหาริย์แต่ละอย่างมุ่งไปที่สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าเหตุการณ์นั้น และมองหาความจริงบางประการที่เกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าและงานของพระองค์
ข้าพเจ้าขอพูดถึงความจริงบางประการที่เราเรียนรู้ได้จากปาฏิหาริย์ของพระผู้ช่วยให้รอดในการฟื้นฟูการมองเห็นให้กับคนตาบอด ปาฏิหาริย์สามารถแบ่งออกเป็นสี่บทเรียนดังนี้
1. การฟื้นฟูการมองเห็นเป็นสัญญาณถึงพระเมสสิยาห์
ศาสดาพยากรณ์สมัยโบราณผู้เป็นพยานถึงการเสด็จมาของพระเมสสิยาห์พูดถึงปาฏิหาริย์ที่พระองค์จะทรงทำ รวมถึงการทำให้คนตาบอดมองเห็นได้
ทูตสวรรค์บอกกษัตริย์เบ็นจามินว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะ “เสด็จออกไปในหมู่มนุษย์, ทรงทำปาฏิหาริย์ยิ่งใหญ่, เช่นรักษาคนป่วย, ทำให้คนตายลุกขึ้น, ทำให้คนง่อยเดิน, คนตาบอดได้รับสายตาของเขา” (โมไซยาห์ 3:5; ดู อิสยาห์ 35:4–5 ด้วย)3
ด้วยเหตุนี้ปาฏิหาริย์เรื่องการทำให้คนตาบอดมองเห็นได้อีกครั้งจึงยืนยันคำพยากรณ์เหล่านั้นเกี่ยวกับการเสด็จมาของพระผู้ช่วยให้รอดและการปฏิบัติศาสนกิจต่อบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า
2. พระเยซูคริสต์ทรงเป็นความสว่างของโลก
ความจริงข้อนี้ระบุไว้อย่างชัดเจนเมื่อพระเยซูทรงพบชายคนหนึ่งตาบอดตั้งแต่กำเนิด (ดู ยอห์น 9:1–11) เมื่อเหล่าสาวกถามว่าชายผู้นี้ตาบอดแต่กำเนิดเพราะบาปหรือไม่ พระเยซูตรัสว่าไม่ “[แต่] เพื่อให้พระราชกิจของพระเจ้าปรากฏในตัวเขา” (ข้อ 3) จากนั้นก่อนที่ชายผู้นี้จะมองเห็นได้อีกครั้ง พระผู้ช่วยให้รอดทรงประกาศว่า “ตราบใดที่เรายังอยู่ในโลก เราก็เป็นความสว่างของโลก” (ข้อ 5)
เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี (1915–1985) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่า “ก่อนทรงทำให้ตาที่มืดบอดเห็นได้ พระเยซูทรงเตือนผู้ฟังให้นึกถึงพระดำรัสก่อนหน้านี้ที่ว่า ‘เราเป็นความสว่างของโลก’ เช่นเดียวกับที่สอนว่า ‘เมื่อใดก็ตามที่ระลึกว่าเราทำให้ดวงตามองเห็นได้ ขอให้ระลึกด้วยว่าเรามาเพื่อให้ความสว่างแก่ดวงตาทางวิญญาณ’”4
เราต้องจำไว้ว่าโดยทั่วไปแล้วในพระคัมภีร์ บาปถือว่าเป็นความมืดบอดทางศีลธรรมและการปลดปล่อยจากบาปเป็นการขจัดความมืดบอดนี้ พระองค์ผู้ทรงเป็น “ความสว่างของโลก” ทรงใช้เหตุการณ์นี้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของงานที่สูงส่งที่พระองค์เสด็จมาในโลกเพื่อทำให้สำเร็จ
3. ศรัทธามาก่อนปาฏิหาริย์
ขณะที่พระเยซูเสด็จไปตามถนนในเมืองคาเปอรนาอุม ชายตาบอดสองคนตามพระองค์ไปพลางร้องว่า “บุตรดาวิดเจ้าข้า ขอทรงพระเมตตาพวกข้าพระองค์เถิด” จากนั้นพระองค์ตรัสกับพวกเขาว่า “ท่านเชื่อหรือไม่ว่าเรามีฤทธิ์เดชทำการนี้ได้?” พวกเขาทูลตอบว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า ข้าพระองค์เชื่อ”
หลักฐานยืนยันความเชื่อของพวกเขาที่ว่าพระเจ้าทรงสามารถช่วยพวกเขาได้คือความพากเพียรในการติดตามพระองค์และการสารภาพอย่างรวดเร็วและตรงไปตรงมาเกี่ยวกับความเชื่อนั้นเมื่อถูกถาม พระผู้ช่วยให้รอดทรงสัมผัสนัยน์ตาพวกเขาแล้วตรัสว่า “ให้เป็นไปตามความเชื่อของพวกท่านเถิด” ผลเกิดขึ้นทันที: “นัยน์ตาของเขาทั้งสองก็กลับเห็นได้” (มัทธิว 9:27–31)
เอ็ลเดอร์แมคคองกีตั้งข้อสังเกตว่า: “บ่อยครั้งในการทำให้ตามืดบอดมองเห็นได้ ในเรื่องนี้ พระเยซูทรงรวมพระบัญชาที่ตรัสออกมากับการกระทำบางอย่าง ในโอกาสนี้และครั้งอื่นๆ ที่พระองค์ทรงสัมผัสดวงตาที่มองไม่เห็น”
เหตุใดพระผู้ช่วยให้รอดทรงทำเช่นนั้น? “ไม่มีการกระทำ … ที่พิเศษเหล่านี้จำเป็นต้องใช้เดชานุภาพแห่งการเยียวยา” เอ็ลเดอร์แมคคองกีอธิบาย แต่เรารู้ว่าศรัทธามาก่อนปาฏิหาริย์ ดังนั้น “จุดประสงค์ที่ชัดเจนของพระอาจารย์คือเพื่อเสริมสร้างศรัทธาของคนตาบอดหรือคนหูหนวก”5
4. บางครั้งปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้นทีละนิด
ในเมืองเบธไซดา ผู้คนพาชายตาบอดคนหนึ่งมาหาพระเยซู หลังจากพาชายคนนั้นออกจากเมือง พระเยซูทรง “บ้วนน้ำลายลงที่ตาของคนนั้นและวางพระหัตถ์บนตัวเขา” ณ จุดนี้การมองเห็นของชายผู้นี้กลับคืนมาเพียงบางส่วน ดังนั้นพระผู้ช่วยให้รอดจึงทรง “วางพระหัตถ์บนตาของเขาอีก” และทำให้กลับมามองเห็นได้อย่างสมบูรณ์ (ดู มาระโก 8:22–26)
เอ็ลเดอร์แมคคองกีชี้ให้เห็นความจริงที่เราเรียนรู้ได้จากเหตุการณ์นี้:
“นี่อาจดูเหมือนว่าตัวอย่างการสัมผัสทางกายกับพระเยซูที่ทำสำเร็จนั้นส่งผลในการเพิ่มความหวัง ความเชื่อมั่น และศรัทธาต่อคนตาบอด
“… มนุษย์ควรแสวงหาพระคุณแห่งการเยียวยาของพระเจ้าด้วยสุดกำลังและศรัทธาของพวกเขา แม้ว่านั่นจะเพียงพอสำหรับการรักษาเพียงบางส่วนเท่านั้น … จากนั้นพวกเขาอาจได้รับความมั่นใจและศรัทธาเพิ่มเติมเพื่อให้หายดีและหายเป็นปกติ มนุษย์มักจะได้รับการรักษาจากความเจ็บป่วยทางวิญญาณทีละขั้น ทีละตอนขณะที่พวกเขาทำให้ชีวิตของตนเองสอดคล้องกับแผนและจุดประสงค์ของพระเจ้า”6
โดยทำปาฏิหาริย์นี้ในสองขั้นตอนที่แตกต่างกัน พระเจ้าทรงช่วยชายตาบอดให้เตรียมรับพรอันสมบูรณ์ เราสามารถเห็นรูปแบบนี้ในการแสวงหาปาฏิหาริย์ของเราเองด้วยหรือไม่—บางสิ่งที่เราต้องทำหรือไม่ทำก่อนจะพร้อมรับการแทรกแซงที่มากขึ้น?
ศรัทธาว่าจะไม่หาย
แม้เราจะเห็นความสำคัญของศรัทธาในการทำปาฏิหาริย์ให้สำเร็จ แต่สิ่งสำคัญคือต้องสังเกตว่าบางครั้งแม้แต่วิสุทธิชนที่ซื่อสัตย์ที่สุดก็ไม่ได้รับคำตอบตามความปรารถนาและคำวิงวอนของพวกเขา
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนเราว่า:
“ความชอบธรรมและศรัทธาเป็นเครื่องมือในการเคลื่อนภูเขาอย่างแน่นอน—หากการเคลื่อนภูเขาทำให้บรรลุจุดประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าและสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระองค์ ความชอบธรรมและศรัทธาเป็นเครื่องมือในการรักษาคนป่วย คนหูหนวก และคนง่อยอย่างแน่นอน—หากการรักษานั้นทำให้บรรลุจุดประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าและสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระองค์ ฉะนั้น แม้เราจะมีศรัทธาแรงกล้า แต่ภูเขาหลายลูกจะไม่เคลื่อน ผู้ป่วยและผู้ทุพพลภาพทั้งหมดจะไม่หาย หากตัดการตรงกันข้ามทั้งหมดออก หากนำเอาโรคภัยไข้เจ็บทั้งหมดออกไป เมื่อนั้นจุดประสงค์เบื้องต้นในแผนของพระบิดาย่อมล้มเหลว
“บทเรียนมากมายที่เราต้องเรียนรู้ในความเป็นมรรตัยจะได้รับผ่านสิ่งที่เราประสบและบางครั้งทนทุกข์เท่านั้น พระผู้เป็นเจ้าทรงคาดหวังและวางพระทัยให้เราเผชิญความยากลำบากชั่วคราวด้วยความช่วยเหลือของพระองค์เพื่อเราจะได้เรียนรู้สิ่งที่เราต้องเรียนรู้และในที่สุดจะเป็นอย่างที่เราพึงเป็นในนิรันดร”7
ข้าพเจ้าต้องการเสริมประจักษ์พยานของข้าพเจ้าร่วมกับประจักษ์พยานของศาสดาพยากรณ์สมัยโบราณและปัจจุบัน ปาฏิหาริย์ยังคงเกิดขึ้นท่ามกลางพวกเรา พระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์ทรงเป็นแหล่งพลัง ความสว่าง และการบรรเทาทุกข์ทั้งหมด ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าโดยศรัทธาของเราในพระองค์ เราสามารถได้รับการรักษาให้หายได้ และในกรณีที่เราไม่หาย เราอาจยังพบสันติสุขผ่านเจ้าชายแห่งสันติ ความสว่างของโลก และผู้เยียวยาเหนือผู้เยียวยา