เลียโฮนา
การค้นพบ “เหตุแห่งความยินดี”
กันยายน 2024


ดิจิทัลเท่านั้น

การค้นพบ “เหตุแห่งความยินดี”

เมื่อใจของดิฉันรู้สึกหนักอึ้ง ถ้อยคําของศาสดาพยากรณ์เตือนใจดิฉันให้ชื่นชมยินดี

หญิงคนหนึ่งยืนอยู่ในทุ่งและหันหน้าเข้าหาดวงอาทิตย์

เมื่อเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ดิฉันกําลังรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาในสาธารณรัฐโดมินิกัน ในฐานะผู้สอนศาสนา การย้ายสามครั้งแรกไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ดิฉันรู้สึกสํานึกคุณต่อทุกสิ่งที่ได้เรียนรู้และตื่นเต้นที่จะเติบโตต่อไปในฐานะสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์

ดังนั้นเมื่อถูกส่งกลับบ้านเป็นเวลาสามเดือน ดิฉันจึงสับสนและใจสลาย ดิฉันรู้สึกชีวิตไม่แน่นอนและซึมเซา ในที่สุดดิฉันได้รับมอบหมายใหม่ให้ไปไอโอวาซิตี้ รัฐไอโอวา สหรัฐอเมริกา แม้ว่าดิฉันจะรักไอโอวาและผู้คนที่นั่นในทันที แต่ดิฉันรู้สึกเหมือนกําลังเริ่มต้นใหม่ การปรับตัวเป็นเรื่องยาก และดิฉันต่อสู้กับความรู้สึกไม่ดีพอ วิตกกังวล และเหงา

ดิฉันสวดอ้อนวอนทุกวันขอให้คลายทุกข์บางอย่าง ความรู้สึกของดิฉันหนักอึ้ง แต่ก็พยายามแบกรับความรู้สึกเหล่านั้นด้วยตนเอง

ระหว่างศึกษาส่วนตัว ดิฉันอ่านคําพูดของประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ (1910–2008) ที่ช่วยให้ใจดิฉันเบาลง ท่านแบ่งปันว่า:

“พระเจ้าตรัสว่า: ‘ดังนั้น, จงรื่นเริงใจและชื่นชมยินดี, และแนบสนิทกับพันธสัญญาซึ่งเจ้าทำไว้.’ (หลักคําสอนและพันธสัญญา 25:13.)

“ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระองค์กำลังตรัสกับเราทุกคนว่า จงมีความสุข พระกิตติคุณเป็นเรื่องของความปีติยินดี สิ่งนี้ทำให้เรามีเหตุแห่งความยินดี”

ดิฉันเริ่มมองคําว่า ชื่นชมยินดี ในพระคัมภีร์ในมุมมองใหม่ นั่นเป็นพระดํารัสเชิญจากพระเจ้าให้มีความสุข พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรงทราบดีกว่าใครเกี่ยวกับความท้าทาย ความเจ็บปวด และความยากลําบากที่เราเผชิญ—แต่พระองค์ยังทรงเชิญให้เรา มีความสุข

ดิฉันมุ่งมั่นที่จะยอมรับพระดํารัสเชิญนั้น ถึงแม้สภาวการณ์ของดิฉันไม่เปลี่ยนและความรู้สึกเศร้าไม่ได้หายไปอย่างมหัศจรรย์ แต่ดิฉันรู้สึกถึงความสํานึกคุณและปีติที่ลึกซึ้งขึ้นและชัดเจนสําหรับพรและสัญญาแห่งพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์

ตัวอย่างจากพระคัมภีร์แสดงให้เราเห็นว่าวิสุทธิชนในอดีตพบปีติแม้ในสภาวการณ์ที่ยากที่สุดอย่างไร ในฮีลามัน เราเห็นสมาชิกของศาสนจักรที่หันไปหาพระกิตติคุณเพื่อพบปีติแม้ขณะถูกผู้อื่นข่มเหง:

“กระนั้นก็ตามพวกเขาอดอาหารและสวดอ้อนวอนบ่อยครั้ง, และเข้มแข็งยิ่งขึ้นและยิ่งขึ้นในความนอบน้อมของตน, และมั่นคงยิ่งขึ้นและยิ่งขึ้นในศรัทธาแห่งพระคริสต์, จนถึงการทำให้จิตวิญญาณพวกเขาเปี่ยมด้วยปีติและการปลอบประโลม, แท้จริงแล้ว, แม้ถึงการชำระและทำให้ใจพวกเขาบริสุทธิ์, ซึ่งการชำระให้บริสุทธิ์นี้เกิดขึ้นได้เพราะการยอมถวายใจพวกเขาต่อพระผู้เป็นเจ้า” (ฮีลามัน 3:35)

เมื่อเราพึ่งพาพระผู้ช่วยให้รอดในการทดลองของเรา จิตวิญญาณของเราจะเปี่ยมไปด้วยปีติและการปลอบโยน ในการทําเช่นนั้น เราเรียนรู้ที่จะทําให้ใจเราสอดคล้องกับพระเจ้าได้ดีขึ้น

เมื่อฝึกการชื่นชมยินดีต่อไป ดิฉันพบว่ารู้สึกถึงความเข้มแข็งมากขึ้นเมื่อเผชิญความยากลําบาก ดิฉันเพิ่งเผชิญกับความผิดหวังที่ทําให้เกิดอาการความเศร้าลงกระเพาะ แต่เมื่อใคร่ครวญว่าตนเองรู้สึกอย่างไร ดิฉันเห็นได้ว่าตนเองเติบโตขึ้นมากตั้งแต่เป็นผู้สอนศาสนา

ดิฉันไม่ได้รู้สึกว่าความเศร้าของตนบั่นทอนจิตใจ เพราะดิฉันได้ตระหนักว่าความสุขที่แท้จริงคือการดําเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่มีวันประสบความยากลําบากหรือเราจะเผชิญความท้าทายทุกอย่างด้วยพระคุณอันสมบูรณ์

เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า:

“เราแสวงหาความสุข เราปรารถนาสันติสุข เราหวังจะได้รับความรัก พระเจ้าทรงเทพรแสนวิเศษมาให้เราอย่างล้นเหลือ แต่ที่แอบปะปนมากับปีติและความสุข สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือ: จะมีช่วงเวลา ชั่วโมง วัน บางครั้งเป็นปีเมื่อจิตวิญญาณของท่านจะบาดเจ็บ

“พระคัมภีร์สอนว่าเราจะลิ้มรสความขมและความหวาน และจะมี ‘การตรงกันข้ามในสิ่งทั้งปวง’ [2 นีไฟ 2:11].”

ความเศร้าและปีติอยู่ร่วมกันได้ ความโศกเศร้าและความสำนึกคุณ ความเจ็บปวดและการมองโลกในแง่ดี อันที่จริง ประสบการณ์ของดิฉันกับแง่ลบในชีวิตขยายความสามารถให้ดิฉันรู้สึกและช่วยให้ดิฉันพัฒนาความสามารถที่จะชื่นชมสิ่งดีๆ ได้มากขึ้น ความจริงอันงดงามของพระกิตติคุณรองรับความเจ็บปวดของดิฉัน ความจริงเหล่านั้นยังทำให้เจ็บแต่เมื่อห่อหุ้มด้วยความรักอันลึกซึ้งที่มีต่อพระผู้ช่วยให้รอด ความซาบซึ้งต่อปาฏิหาริย์อันดีงามที่เติมเต็มชีวิตดิฉัน การวางใจว่าทุกอย่างจะทำงานร่วมกันเพื่อความดีของดิฉัน และความรู้สึกปีติอันลึกซึ้ง

อ้างอิง

  1. Gordon B. Hinckley, “If Thou Art Faithful,” Ensign, Nov. 1984, 91–92.

  2. นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น, “บาดแผล,” เลียโฮนา, พ.ย. 2018, 84.