“การศึกษาพระคัมภีร์: ยึดมั่นในพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า” พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู (2024)
“การศึกษาพระคัมภีร์” ในพระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู
เนื้อหาอารัมภบท
การศึกษาพระคัมภีร์
ยึดมั่นในพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า
พระคัมภีร์มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการเพิ่มศรัทธาและความรักของพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ให้ลึกซึ้งขึ้นได้ การศึกษาที่ต่อเนื่องและมีความหมายจะอัญเชิญศรัทธาและเสริมสร้างชีวิตประจำวันของเรา จุดประสงค์ของบทเรียนนี้คือ เพิ่มความปรารถนาและความสามารถในการศึกษาพระคัมภีร์ประจำวันและได้รับพรที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญาไว้ซึ่งมาพร้อมกับการศึกษาพระคัมภีร์
กิจกรรมการเรียนรู้ที่เป็นไปได้
การศึกษาพระคัมภีร์ประจำวัน
ถ้าต้องการแข็งแรงขึ้นโดยการวิดพื้น นักเรียนจะต้องทำอย่างไร? แล้วต้องใช้เวลานานเพียงใดจึงจะเห็นความแข็งแรงที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด? อะไรคือความท้าทายที่คนคนหนึ่งต้องเอาชนะให้ได้?
-
เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการศึกษาพระคัมภีร์อย่างไร?
อ่านข้อความต่อไปนี้ของประธาน โธมัส เอส. มอนสัน (1927–2018) และจูลี บี. เบค ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานเยาวชนหญิงสามัญพร้อมทบทวนสิ่งที่พวกท่านสอนเกี่ยวกับการศึกษาพระคัมภีร์:
การใช้เวลาไปกับการศึกษาพระคัมภีร์ในแต่ละวันจะทำให้รากฐานแห่งศรัทธาและประจักษ์พยานแห่งความจริงของเราเข้มแข็งขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย (โธมัส เอส. มอนสัน, “ฐานมั่นคงหนักหนา” เลียโฮนา, พ.ย. 2006, 86)
ถึงแม้ดิฉันไม่เคยคิดว่าตนเองเป็นผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ … แต่ก็ซาบซึ่งใจที่เริ่มอุปนิสัยอ่าน[พระคัมภีร์]ตลอดชีวิต เป็นไปไม่ได้ที่จะเรียนรู้บทเรียนในพระคัมภีร์จากการอ่านเพียงรอบเดียวหรือศึกษาเพียงข้อที่เลือกใช้ในชั้นเรียนเท่านั้น (จูลี บี. เบค, “จิตวิญญาณของข้าพเจ้าเบิกบานในพระคัมภีร์” เลียโฮนา, พ.ค. 2004, 133)
-
ท่านพบอะไรบ้าง?
พิจารณาว่าท่านรู้สึกอย่างไรกับการศึกษาพระคัมภีร์
พรจากการศึกษาพระคัมภีร์
อ่านข้อต่อไปนี้ เพื่อหาพรที่มาจากการศึกษาพระคัมภีร์
อาจชวนให้นักเรียนเขียนพรต่างๆ ที่ได้จากการศึกษาพระคัมภีร์ลงบนกระดาน ขณะที่เขียน เชื้อเชิญให้นักเรียนทำเครื่องหมายถูกถัดจากพรที่ได้รับ
-
ท่านสามารถระบุความจริงใดที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาพระคัมภีร์จากข้อเหล่านี้?
นักเรียนอาจบอกความจริง เช่น หากเราสดับฟังและยึดมั่นในพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า พระองค์จะทรงอวยพรให้เราอดทนต่อการล่อลวงจากความชั่วร้าย (ดู 1 นีไฟ 15:24); พระเยซูคริสต์จะทรงช่วยให้เรารู้ว่าควรทำอย่างไรกับชีวิตเมื่อเราดื่มด่ำพระวจนะของพระองค์ (ดู 2 นีไฟ 32:3); และการศึกษาพระคัมภีร์จะช่วยให้ฉันรู้และชื่นชมยินดีในพระเยซูคริสต์ (ดูแอลมา 37:9)
-
ความจริงหรือพรเหล่านี้พรใดบ้างที่ท่านเคยประสบพบเจอ?
ไปที่ “บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง” เพื่อดูพรอื่นๆ ที่มาจากการศึกษาพระคัมภีร์
ฉันจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจากการศึกษาพระคัมภีร์อย่างไร?
นักเรียนอาจพูดคุยเกี่ยวกับคำถามต่อไปนี้ โดยแบ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ หรือเป็นคู่ ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันข้อคิดของตน ท่านอาจขอให้นักเรียนบอกเล่ารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำตอบ เช่น วิธี เวลา หรือเหตุผลที่นำไปปฏิบัติ
-
สิ่งใดจะช่วยให้คนคนหนึ่งได้ประโยชน์มากขึ้นจากการศึกษาพระคัมภีร์?
อ่านข้อความต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง และมองหาทักษะเพิ่มเติมที่อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการศึกษาพระคัมภีร์
เป็นสิ่งที่ดีหากจะอ่านพระคัมภีร์โดยกำหนดเวลาไว้เพื่อได้รู้ถึงข่าวสารจากพระคัมภีร์นั้นโดยรวม แต่สำหรับการเปลี่ยนใจเลื่อมใส ท่านควรสนใจกับเวลาที่ใช้ไปกับพระคัมภีร์นั้นมากกว่าปริมาณที่อ่านได้ในเวลาเดียวกัน บางครั้งข้าพเจ้ามองเห็นภาพว่าท่านกำลังอ่านพระคัมภีร์สองสามข้อ แล้วหยุดไตร่ตรอง อ่านข้อเดิมอีกครั้งอย่างครุ่นคิด และขณะที่ท่านคิดถึงความหมายอยู่นั้น สวดอ้อนวอนเพื่อความเข้าใจด้วย โดยถามข้อสงสัยที่มีอยู่ในใจ รอคอยความประทับใจทางวิญญาณให้เกิดขึ้นจริงๆ และบันทึกความประทับใจและความเข้าใจอันลึกซึ้งนั้นไว้เพื่อจะทบทวนและเรียนรู้ได้มากขึ้นภายหลัง โดยการศึกษาแบบนี้ท่านอาจอ่านพระคัมภีร์ได้ไม่กี่บทไม่กี่ข้อในเวลาครึ่งชั่วโมง แต่ท่านกำลังทำให้พระคำของพระผู้เป็นเจ้ามีที่อยู่ในใจ และขณะนั้นพระองค์กำลังตรัสกับท่าน (ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน,“เมื่อท่านได้หันกลับแล้ว” เลียโฮนา, พ.ค. 2004, 13)
-
ท่านเห็นอะไรในความคิดเหล่านี้ที่จะเป็นพรต่อประสบการณ์การศึกษาพระคัมภีร์ของท่าน?
นักเรียนอาจเขียนข้อคิดเพิ่มเติมลงบนกระดาน
นอกจากทักษะการศึกษาคัมภีร์ที่เกิดขึ้นตามมา ยังมีแนวคิดทักษะที่หลากหลายในส่วน “กิจกรรมการเรียนรู้เพิ่มเติม“ ด้านล่างซึ่งอาจนำไปใช้ได้
หรืออาจเชื้อเชิญให้นักเรียนทำกิจกรรมต่อไปนี้ด้วยตนเองอย่างเงียบๆ แล้วแบ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ หรือเป็นคู่ เพื่อแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้
ใช้เวลา 5 หรือ 10 นาที เพื่อลองทำตามคำแนะนำของเอ็ลเดอร์คริสทอฟเฟอร์สัน ใช้เวลาไตร่ตรอง อ่านซ้ำ สวดอ้อนวอน ถามคำถาม และเขียนความประทับใจ ต่อไปนี้เป็นข้อพระคัมภีร์ที่อาจนำไปใช้ได้ (เลือกได้จากข้อต่างๆ ในพระคัมภีร์มอรมอน)
โมไซยาห์ 3; แอลมา 32; 3 นีไฟ 11
หลังจากนักเรียนมีเวลาศึกษาแล้ว เชื้อเชิญให้นักเรียนเล่าประสบการณ์ของตนเอง คำถามต่อไปนี้อาจช่วยได้
-
ประสบการณ์ของท่านในการศึกษาพระคัมภีร์ลักษณะนี้เป็นอย่างไร?
-
การศึกษาในลักษณะนี้จะส่งผลต่อการศึกษาพระคัมภีร์ของท่านอย่างไร?
กำหนดเป้าหมายในการศึกษาพระคัมภีร์
หนึ่งในจุดประสงค์ของเซมินารีคือ ช่วยให้ท่านเข้าใกล้พระเยซูคริสต์มากขึ้นผ่านการศึกษาพระคัมภีร์ประจำวัน เซมินารีจึงมีข้อกำหนดหน่วยกิตให้อ่านหนังสือพระคัมภีร์ปีปัจจุบันอย่างน้อย 75 เปอร์เซ็นต์ของวันตามปฏิทินภาคการศึกษา
แสวงหาการดลใจผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อตั้งเป้าหมายการศึกษาส่วนบุคคล เริ่มจากการสวดอ้อนวอนเพื่อแสวงหาการดลใจจากพระบิดาบนสวรรค์ ลองนึกถึงคำถามต่อไปนี้เมื่อตั้งเป้าหมาย:
-
ฉันควรศึกษาพระคัมภีร์ประจำวันเมื่อใดและที่ไหน?
-
ฉันควรใช้เวลาศึกษาในแต่ละวันนานเท่าใด?
-
ฉันจะอัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้มาสถิตในการศึกษาพระคัมภีร์อย่างเต็มที่ได้อย่างไร?