“โมไซยาห์ 14–16: ได้รับการไถ่โดยพระเจ้าพระเยซูคริสต์,” พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู (2024)
“โมไซยาห์ 14–16,” พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู
แม้กษัตริย์โนอาห์พร้อมที่จะฆ่าอบินาได แต่ท่านรู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงให้ท่านส่งข่าวสารตามที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จ โนอาห์และเหล่าปุโรหิตจำเป็นต้องได้ยินข่าวสารที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกศาสดาพยากรณ์ทุกคนให้สอนว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ไถ่ของเรา บทเรียนนี้จะช่วยให้ท่านตระหนักถึงความสำคัญของการรู้ว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นผู้เดียวเท่านั้นที่จะไถ่เราจากบาปและความตาย
พูดถึง ชื่นชมยินดี และสั่งสอนเรื่องพระคริสต์ มองหาความจริงเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และเชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระองค์ วิธีนี้จะช่วยให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นพยานถึงพระผู้ช่วยให้รอด “ไปสู่ใจ” ของนักเรียน (2 นีไฟ 33:1 ) พยานนี้จะช่วยให้พวกเขาตระหนักว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็น “แหล่งเพื่อการปลดบาปของพวกเขา” และทำให้การเปลี่ยนใจเลื่อมใสต่อพระองค์ลึกซึ้งยิ่งขึ้น (2 นีไฟ 25:26 )
การเตรียมของนักเรียน: เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าบทบาทและพระสมัญญานามใดของพระเยซูคริสต์มีความหมายต่อพวกเขามากที่สุด พร้อมแสดงเหตุผล
กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้
บทบาทและพระสมัญญานามของพระเยซูคริสต์
แต่ละบทบาทและพระสมัญญานามของพระเยซูคริสต์จะมีความหมายพิเศษกับเราในบางช่วงของชีวิต ตัวอย่างเช่น เราอาจเชื่อมโยงได้ดีว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็น “พระเจ้าพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพ” (โมไซยาห์ 11:23 ) เมื่อเราต้องการความช่วยเหลือที่พระองค์เท่านั้นสามารถให้ได้
ใช้เวลาสักครู่เพื่อเขียนพระสมัญญานามของพระเยซูคริสต์เป็นข้อๆ จากพระคัมภีร์ที่สอนเราเกี่ยวกับพระองค์
เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน โมไซยาห์ 13:33 และ 16:15 เพื่อระบุพระสมัญญานามเพิ่มเติมของพระเยซูคริสต์และสิ่งต่างๆ ที่มีเพียงพระองค์เท่านั้นที่ทำได้
พระเยซูคริสต์ พระผู้ไถ่ของเรา
ข่าวสารของอบินาไดถึงกษัตริย์โนอาห์และเหล่าปุโรหิตที่มุ่งเน้นพระเยซูคริสต์ ท่านสอนความจริงว่า เราจะรอดได้ผ่านการไถ่ของพระเยซูคริสต์เท่านั้น (ดู โมไซยาห์ 13:33 ; 16:15 ) ขณะที่ท่านศึกษาคำพูดของอบินาได ให้มองหาสิ่งที่ท่านเรียนรู้ได้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์จากบทบาทของพระองค์ในฐานะพระผู้ไถ่ของเรา
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า:
15:21
ตราบเท่าที่เราทำตามพระคริสต์ เราจะพยายามมีส่วนร่วมและส่งเสริมงานแห่งการไถ่ของพระองค์
พระสมัญญานามของพระเยซูคริสต์ที่สำคัญที่สุดพระนามหนึ่งคือพระผู้ไถ่ … คำว่า ไถ่ หมายถึงจ่ายเงินเพื่อปลดพันธะรับผิดชอบหรือหนี้สิน ไถ่ อาจหมายถึงการช่วยชีวิตหรือปลดปล่อยให้เป็นอิสระโดยวิธีจ่ายค่าไถ่ หากผู้ใดกระทำผิดแล้วแก้ไขหรือปรับปรุงตนเอง เรียกได้ว่าเขาไถ่โทษตนเองแล้ว ความหมายแต่ละอย่างเหล่านี้บ่งบอกถึงส่วนต่างๆ ของการไถ่อันสำคัญยิ่งที่พระเยซูคริสต์ทรงกระทำสำเร็จโดยผ่านการชดใช้ของพระองค์ ซึ่งรวมถึง “การปลดปล่อยจากบาปและบทลงโทษของบาป โดยวิธีพลีบูชาเพื่อคนบาป” (ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน, “การไถ่ ,” เลียโฮนา , พ.ค. 2013, 109)
ท่านอาจให้นักเรียนทำดังนี้เพื่อศึกษาเป็นรายบุคคล เป็นกลุ่มเล็กๆ หรือเป็นชั้นเรียน พิจารณาความต้องการของนักเรียนขณะที่ท่านตัดสินใจว่าจะให้พวกเขาศึกษาคำถามทั้งสามข้อ หรือแค่หนึ่งหรือสองข้อเท่านั้น หากนักเรียนกำลังศึกษาด้วยตนเองหรือเป็นกลุ่ม อาจเป็นประโยชน์ที่จะให้ดูคำถามและเนื้อหาสำหรับนักเรียนเพื่อให้พวกเขาดำเนินตามจังหวะของตนเอง ท่านอาจเล่นเพลงสวดประกอบเบาๆ ก็ได้ หากท่านขอให้นักเรียนแบ่งปันกับชั้นเรียน การบอกล่วงหน้าอาจช่วยลดความวิตกกังวลและช่วยให้นักเรียนพยายามอย่างเต็มที่
นักเรียนอาจมีคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์ที่อ่าน ลองพูดคุยสั้นๆ กับนักเรียนแต่ละคน เพื่อช่วยให้พวกเขาเข้าใจพระคัมภีร์ขณะศึกษา
นึกถึงใครบางคนในชีวิตที่ท่านรู้สึกว่าจะได้รับประโยชน์จากการเข้าใจว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ไถ่ของพวกเขา
ศึกษาคำถามต่อไปนี้ด้วยเจตนาที่จะช่วยสอนคนที่ท่านนึกถึง เลือกอย่างน้อยสองข้อเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมจากข่าวสารของอบินาไดเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ และเพื่อช่วยท่านเตรียมเขียนข้อความถึงบุคคลที่ท่านนึกถึง
คำถามที่ใช้ในการศึกษา 1: พระเยซูคริสต์ทรงทำอะไรเพื่อไถ่ฉัน?
อบินาไดกล่าวถึงอิสยาห์ว่าท่านเป็นแบบอย่างหนึ่งของศาสดาพยากรณ์หลายคนที่เป็นพยานถึงพระคริสต์ ท่านอ่านคำสอนของอิสยาห์ที่แสดงให้เห็นว่าพระผู้เป็นเจ้าจะเสด็จมายังแผ่นดินโลกที่ “ถูกข่มเหงและทนทุกข์ทรมาน” ด้วยพระองค์เอง (โมไซยาห์ 13:35 ) เพื่อไถ่เราจากการตกและการหลงทาง
อ่าน โมไซยาห์ 14 โดยมองหาคำและวลีที่ช่วยให้ท่านเข้าใจราคาที่พระเยซูคริสต์เต็มพระทัยจ่ายเพื่อปลดปล่อยท่านจากบาปและความตาย
ท่านอาจต้องการแบ่งปันคำอธิบายต่อไปนี้กับนักเรียน:
“การตีสอนเพื่อสันติของเราอยู่กับพระองค์” (ข้อ 5 ): มีผลที่ตามมาสำหรับบาปทุกอย่างที่เราทำ รวมทั้งความรู้สึกผิด ความเจ็บปวด ความทุกข์ยาก และการแยกออกจากพระผู้เป็นเจ้า พระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์กับผลที่ตามมาจากบาปของเราเพื่อที่เราจะได้รับการให้อภัยและสันติสุข
“ด้วยริ้วรอยของพระองค์ เราได้รับการรักษาให้หาย” (ข้อ 5 ): ด้วยการทนทุกข์ของพระเยซูคริสต์ พระองค์จะทรงเยียวยาเราจากบาดแผลแห่งบาปและผลที่ตามมาจากการตกของอาดัมและเอวา รวมทั้งความตายทางวิญญาณและทางเนื้อหนัง
“พระเจ้าพอพระทัยให้พระองค์ฟกช้ำ” (ข้อ 10 ): พระบิดาบนสวรรค์พอพระทัยที่พระเยซูคริสต์เต็มพระทัยถวายพระองค์เองเป็นเครื่องพลีบูชาสำหรับบาปของผู้อื่น (ดู 3 นีไฟ 11:7, 11 ; ยอห์น 3:16 )
คำถามที่ใช้ในการศึกษา 2: ฉันจะได้รับพรผ่านการไถ่ของพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร?
ท่านนึกภาพออกไหมว่าชีวิตจะเป็นอย่างไรถ้าพระเยซูคริสต์ไม่ทรงทำหน้าที่ของพระองค์ในฐานะพระผู้ไถ่ของเราให้เกิดสัมฤทธิผล? ใช้เวลาสักครู่เพื่อนึกถึงว่าชีวิตท่านจะเป็นอย่างไรถ้าไม่มีพระเยซูคริสต์
อ่าน โมไซยาห์ 15:19 ; 16:4–7 โดยมองหาคำอธิบายของอบินาไดเกี่ยวกับชีวิตที่ปราศจากการไถ่ของพระคริสต์
อ่าน โมไซยาห์ 15:20–25 ; 16:8–10 เพื่อดูว่าเราจะได้รับพรอะไรบ้างเพราะพระผู้ไถ่ของเรา
ท่านอาจฉายวีดิทัศน์ “Why we need a Savior [เหตุใดเราจึงต้องการพระผู้ช่วยให้รอด] ” (2:15) ในหมวด “กิจกรรมเสริมการเรียนรู้” ของบทเรียนเพื่อช่วยให้นักเรียนจินตนาการถึงพรที่มีผ่านพระเยซูคริสต์เท่านั้น
คำถามที่ใช้ในการศึกษา 3: เหตุใดบางครั้งพระคัมภีร์จึงเรียกพระเยซูคริสต์ว่าพระบิดา?
อบินาไดสอนเกี่ยวกับบทบาทของพระเยซูคริสต์ในฐานะพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าและในฐานะพระบิดา บิดาคือคนที่ให้ชีวิต พระเยซูคริสต์ทรงเปรียบเสมือนบิดาเพราะพระองค์ประทานแก่เราทั้งความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์ ซึ่งมิได้หมายความว่าพระองค์และพระบิดาบนสวรรค์ทรงเป็นองค์เดียวกัน อ่าน โมไซยาห์ 15:1–9 โดยมองหาว่าเหตุใดจึงอาจกล่าวว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระบิดานิรันดร์ของเรา
อาจเป็นประโยชน์ที่จะอ่านข้อเหล่านี้ด้วยกันเป็นชั้นเรียน หยุดหลังจากอ่านบางข้อเสร็จเพื่อบ่งชี้คำหรือวลีที่จะเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนในการสังเกตและเปิดโอกาสให้นักเรียนตั้งคำถาม
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่า
ตามที่อบินาไดสอน พระคริสต์ทรง “ปฏิสนธิโดยเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า” (โมไซยาห์ 15:3 ) และด้วยเหตุนี้จึงทรงมีเดชานุภาพของพระบิดาอยู่ในพระองค์ นอกจากความสัมพันธ์สายตรงกับพระผู้เป็นเจ้าแล้ว พระคริสต์ทรงเป็นพระบิดาด้วยซึ่งในนั้นพระองค์ทรงเป็นพระผู้สร้างสวรรค์และแผ่นดินโลก (ดู โมไซยาห์ 15:4 ) ทรงเป็นพระบิดาแห่งการเกิดใหม่ทางวิญญาณและความรอดของเรา และทรงซื่อสัตย์ในการปฏิบัติตาม—ด้วยเหตุนี้จึงทรงอ้างเดชานุภาพแห่ง—พระประสงค์ของพระบิดาเหนือพระประสงค์ของพระองค์เอง (Jeffrey R. Holland, Christ and the New Covenant: The Messianic Message of the Book of Mormon [1997], 183–184)
ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนนำเสนอสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้กับชั้นเรียนหรือเป็นกลุ่มเล็กๆ หรืออาจกระตุ้นให้นักเรียนแบ่งปันข้อความกับที่บ้านหรือบุคคลที่พวกเขานึกถึง
ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง สอนว่า
17:18
If we could truly understand the Atonement of the Lord Jesus Christ, we would realize how precious is one son or daughter of God.
แม้พระชนม์ชีพของพระองค์จะบริสุทธิ์และไร้บาป แต่พระองค์ทรงรับโทษสูงสุดสำหรับบาปของท่าน ของข้าพเจ้า และทุกคนที่เคยมีชีวิต ความปวดร้าวทางใจ ทางอารมณ์ และทางวิญญาณของพระองค์ใหญ่หลวงจนทำให้โลหิตไหลออกจากทุกขุมขน (ดู ลูกา 22:44 ; หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:18 ) ทว่าพระเยซูเต็มพระทัยทนทุกข์เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสรับการชำระล้างให้สะอาดโดยผ่านศรัทธาของเราในพระองค์ … หากปราศจากการชดใช้ของพระเจ้า พรเหล่านี้ย่อมไม่มีผลต่อเรา เราจะไม่มีค่าควรและไม่พร้อมกลับไปอยู่ในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า (เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด, “การชดใช้และค่าของจิตวิญญาณเดียว ,” เลียโฮนา , พ.ค. 2004, 104)
ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ แห่งฝ่ายประธานสูงสุดสอนว่า:
2:3
ประธานโอ๊คส์สอนองค์ประกอบหลักในแผนของพระบิดาบนสวรรค์ รวมถึงหลักประกันสี่อย่างที่แผนนั้นช่วยเราผ่านความเป็นมรรตัย
ในแผนชีวิตมรรตัยนั้น เราจะเปื้อนบาปเมื่อเราเผชิญกับการตรงกันข้ามที่จำเป็นต่อการเติบโตทางวิญญาณ เราจะต้องตายทางร่างกายเช่นกัน แผนของพระบิดาบนสวรรค์จึงเตรียมพระผู้ช่วยให้รอดไว้ให้เพื่อเรียกเราคืนจากความตายและบาป การฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์จะไถ่เราทุกคนจากความตาย และการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้จะจ่ายราคาที่จำเป็นเพื่อให้เราทุกคนสะอาดจากบาปตามเงื่อนไขที่กำหนดเพื่อส่งเสริมการเติบโตของเรา การชดใช้นี้ของพระเยซูคริสต์เป็นศูนย์กลางในแผนของพระบิดา (ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “แผนอันสำคัญยิ่ง ,” เลียโฮนา , พ.ค. 2020, 93)
ในปี 1916 ฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนความจริงสี่ประการเกี่ยวกับพระบิดาและพระบุตร หนึ่งในนั้นมุ่งเน้นที่พระเยซูคริสต์ตรัสแทนพระบิดา “by divine investiture of authority ” (ดู Ensign , Apr. 2002, 17) ซึ่งหมายความว่าพระเยซูคริสต์ทรงได้รับสิทธิอำนาจเป็นตัวแทนของพระบิดาในการทำงานของพระผู้เป็นเจ้า
เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี (1915–1985) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า:
[พระเยซูคริสต์] ทรงเป็นพระบิดาโดยสิทธิอำนาจจากสวรรค์ ซึ่งหมายความว่าพระบิดา - เอโลฮิมทรงมอบพระนามของพระองค์ไว้บนพระบุตร ประทานเดชานุภาพและสิทธิอำนาจของพระองค์ และทรงมอบหมายให้พระองค์ตรัสเป็นคนแรกราวกับว่าพระองค์ทรงเป็นพระบิดาตั้งแต่แรก (Bruce R. McConkie, The Promised Messiah: The First Coming of Christ [1978], 63)
หากท่านยังไม่ได้ใช้วีดิทัศน์ “เหตุใดเราจึงต้องมีพระผู้ช่วยให้รอด ” (2:15) เมื่อเร็วๆ นี้ ท่านอาจฉายวีดิทัศน์นี้เพื่อช่วยให้นักเรียนนึกภาพว่าชีวิตจะเป็นอย่างไรหากปราศจากพระเยซูคริสต์
2:15
What would life be like without a Savior? There would be no joy, no forgiveness, no hope for the future. This Christmas, learn more about the hope, peace and happiness our Savior Jesus Christ can bring into our lives at christmas.mormon.org.
ท่านอาจช่วยให้นักเรียนเข้าใจความหมายของการเป็นพงศ์พันธุ์ของพระคริสต์ อิสยาห์สอนว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะทรง “เห็นพงศ์พันธุ์ของท่าน” (ดู อิสยาห์ 53:10 ; โมไซยาห์ 15:10 ) “พงศ์พันธุ์ของท่าน” หมายถึงผู้ที่กลายเป็นบุตรธิดาของพระคริสต์ เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน โมไซยาห์ 15:10–13 โดยมองหาว่าผู้ที่กลายเป็นพงศ์พันธุ์ของพระคริสต์ทำอะไรบ้าง และอาจให้นักเรียนมองหาว่าพงศ์พันธุ์ของพระคริสต์ได้รับพรอย่างไร หรือท่านอาจชี้ให้เห็นว่าหลังจากพระเยซูคริสต์สิ้นพระชนม์ พระองค์เสด็จไปยังโลกวิญญาณหลังมรรตัยได้อย่างไร ที่นั่นพระองค์ทรงเห็นพงศ์พันธุ์ของพระองค์ “หมู่วิญญาณของคนเที่ยงธรรมนับไม่ถ้วน ผู้ที่ซื่อสัตย์ในประจักษ์พยานถึงพระเยซูขณะพวกเขาดำเนินชีวิตในความเป็นมรรตัย” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 138:12 ) คนเหล่านี้รวมกันอยู่ในเมืองบรมสุขเกษม ซึ่งเป็นที่ที่วิญญาณของคนชอบธรรมไปเมื่อสิ้นชีวิต
หากต้องการเน้นว่าพระเยซูคริสต์ทรงไถ่เรา ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนนับและทำเครื่องหมายจำนวนครั้งที่พวกเขาเห็นคำว่า ไถ่ การไถ่ และ ทรงไถ่ ใน โมไซยาห์ 15–16 ช่วยให้พวกเขาเห็นสิ่งที่พระเยซูคริสต์ทรงทำด้วยความเต็มพระทัยเพื่อเป็นพระผู้ไถ่ของเรา