เซมินารี
แอลมา 15: เดชานุภาพการเยียวยาของพระเยซูคริสต์


“แอลมา 15: เดชานุภาพการเยียวยาของพระเยซูคริสต์” พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู (2024)

“แอลมา 15” พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู

แอลมา 15

เดชานุภาพการเยียวยาของพระเยซูคริสต์

ซีเอสรอมได้รับการเยียวยา

การยื่นมือช่วยเหลือผู้มีความทุกข์เป็นจุดศูนย์รวมของการปฏิบัติศาสนกิจในความเป็นมรรตัยของพระเยซูคริสต์ แอลมาและอมิวเล็คมีจุดโฟกัสเดียวกันหลังจากได้รับการปลดปล่อยอย่างน่าอัศจรรย์จากเรือนจำโดยพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า บทเรียนนี้จะช่วยให้ท่านเข้าถึงเดชานุภาพการเยียวยาที่มีให้ผ่านพระเยซูคริสต์

เชื้อเชิญให้เรียนรู้อย่างขยันหมั่นเพียร ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าการเรียนรู้พระกิตติคุณไม่ได้มุ่งหมายให้เป็นประสบการณ์แบบคล้อยตาม แต่ต้องการให้ใช้เหตุผลถ้วนถี่ ศึกษา สวดอ้อนวอน และปฏิบัติ ท่านจะช่วยนักเรียนได้โดยสร้างประสบการณ์ที่จะกระตุ้นให้พวกเขามีส่วนร่วมในการสนทนา แบ่งปันประสบการณ์ และถามคำถาม

การเตรียมของนักเรียน: เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านแนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวใต้ แอลมา 15:1–12 ในโครงร่างการศึกษา “24–30 มิถุนายน แอลมา 13–16: ‘เข้าไปในสถานพักผ่อนของพระเจ้า’” ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พระคัมภีร์มอรมอน 2024

กิจกรรมการเรียนรู้ที่ทำได้

ความเจ็บป่วยทางกายและทางวิญญาณ

ต่อไปนี้ตั้งใจจะช่วยเตรียมนักเรียนให้รับรู้อาการหรือผลของบาป ท่านอาจเลือกสภาพความเจ็บป่วยที่นักเรียนคุ้นเคยมากกว่าที่ระบุไว้หากต้องการ

สำรวจสภาพความเจ็บป่วยต่อไปนี้ พิจารณาอาการและการรักษาที่ใช้เยียวยาแก้ไข

โรคหัวใจ

มะเร็ง

กระดูกหัก

  • จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคนรักษาตามอาการของสภาพเหล่านี้โดยไม่พยายามเข้าใจปัญหาที่ซ่อนอยู่?

เมื่อแนะนำย่อหน้าต่อไปนี้และคำถามที่อาจเกิดขึ้น อย่าพยายามหรืออนุญาตให้นักเรียนเปิดเผยบาปส่วนตัว

บาป—หรือความเจ็บป่วยทางวิญญาณ—เหมือนความเจ็บป่วยทางกายคือมีอาการด้วย พิจารณาสิ่งที่อาจจะเป็นอาการบางอย่างของบาป และใช้เวลาสักครู่นึกถึงสภาพทางวิญญาณของท่าน คำถามต่อไปนี้จะช่วยให้ท่านนึกออก

  • จากบทความเรื่อง “บาป” ใน Gospel Topics (topics.ChurchofJesusChrist.org) ผลของบาปมีอะไรบ้าง?

  • บาปจะส่งผลต่อความรู้สึกเกี่ยวกับตนเองและมีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ของเรากับผู้อื่นได้อย่างไร?

ขณะศึกษา ให้ฟังพระวิญญาณบริสุทธิ์สอนท่านว่าจะเข้าถึงเดชานุภาพการเยียวยาของพระเยซูคริสต์ได้ดีขึ้นอย่างไรเพื่อปรับปรุงสวัสดิภาพทางวิญญาณของตน

สภาพของซีเอสรอม

หลังจากได้รับการปลดปล่อยอย่างน่าอัศจรรย์จากเรือนจำในแอมันไนฮาห์โดยพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า แอลมากับอมิวเล็คเดินทางไปไซดม (ดู แอลมา 15:1–2) ขณะอยู่ในไซดม พวกเขาปฏิบัติศาสนกิจต่อคนที่ถูกขับไล่ออกจากแอมันไนฮาห์เพราะเชื่อข่าวสารของพวกเขาเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ คนหนึ่งที่พวกเขาปฏิบัติศาสนกิจคือซีเอสรอม

ไอคอนเอกสารแจก ท่านอาจจะแจกเอกสารต่อไปนี้ให้นักเรียน พวกเขาจะทำงานด้วยกันเป็นกลุ่มเล็กโดยใช้ แอลมา 15:4–12 ระบุอาการของซีเอสรอม และสั่งยารักษาเขา

ความเจ็บป่วยทางวิญญาณ

doctor note

อ่านข้อพระคัมภีร์ที่ระบุไว้ใต้ “อาการ” แล้วเขียนคำหรือวลีอธิบายสภาพของซีเอสรอมไว้ใต้อาการ

  • ท่านจะอธิบายสภาพของซีเอสรอม รวมถึงสวัสดิภาพทางวิญญาณของเขาว่าอย่างไร?

  • ท่านจำอะไรได้บ้างเกี่ยวกับซีเอสรอมซึ่งเป็นเหตุให้เขารู้สึกแบบนี้?

ท่านอาจจะเชิญนักเรียนคนหนึ่งเล่าบางอย่างเกี่ยวกับอดีตของซีเอสรอม ข้อต่อไปนี้อาจช่วยได้: แอลมา 10:31; 11:21–22; 12:1, 7–8 ท่านอาจจะแบ่งปัน คำกล่าวของประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน ในหมวด “ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง”

ความเจ็บป่วยทางกายไม่เกี่ยวข้องกับบาปเสมอไป (ดู ยอห์น 9:2–3) สังเกตความรู้สึกผิดของซีเอสรอมใน แอลมา 14:6 แม้การประสบความรู้สึกผิดไม่สนุก แต่มีจุดประสงค์ เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายจุดประสงค์ของความรู้สึกเหล่านี้ ดูวีดิทัศน์เรื่อง “We Believe in Being Chaste” ตั้งแต่ช่วงเวลา 13:15 ถึง 13:49 ที่ ChurchofJesusChrist.org หรืออ่านข้อความด้านล่าง

15:48

เราทุกคนเคยประสบความเจ็บปวดที่เกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บหรือบาดแผลทางร่างกาย เมื่อเราเจ็บปวด ปกติแล้วเราจะหาวิธีบรรเทาและรู้สึกขอบคุณที่มียาและการรักษาช่วยบรรเทาความทรมานของเรา บาปคือบาดแผลทางวิญญาณที่ทำให้เกิดความรู้สึกผิดหรือตามที่แอลมาอธิบายให้โคริแอนทอนบุตรชายฟังคือเกิด “ความสำนึกผิดจากมโนธรรม” (แอลมา 42:18) ความรู้สึกผิดเกิดกับวิญญาณเรา ความเจ็บปวดเกิดกับร่างกายเรา—เป็นสัญญาณเตือนให้ระวังอันตรายและเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายเพิ่ม (ดู เดวิด เอ. เบดนาร์, “เราเชื่อในการเป็นคนบริสุทธิ์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 44)

  • ตามคำกล่าวของเอ็ลเดอร์เบดนาร์ จุดประสงค์หนึ่งของความรู้สึกผิดคืออะไร?

  • สิ่งนี้จะเปลี่ยนทัศนะหรือมุมมองต่อความรู้สึกผิดหลังจากทำผิดพลาดได้อย่างไร?

  • ท่านคิดว่าอาการของซีเอสรอมเหมือน “สัญญาณเตือนให้ระวังอันตรายและเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายเพิ่ม” ในด้านใด?

การเยียวยาผ่านเดชานุภาพของพระเยซูคริสต์

ตั้งใจอ่านเรื่องการเยียวยาซีเอสรอมใน แอลมา 15:4–12 ท่านอาจต้องการดูวีดิทัศน์เรื่อง “Zeezrom Is Healed and Baptized” (2:42) ที่ ChurchofJesusChrist.org ขณะที่ท่านอ่าน ให้ใส่ใจรายละเอียดที่ช่วยเยียวยาซีเอสรอม ท่านอาจจะเขียนบันทึกรายละเอียดเหล่านี้ไว้ใต้ “ใบสั่งยา” จากบันทึกของแพทย์

2:42
  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมหรือความจริงอะไรบ้างจากการเยียวยาซีเอสรอม?

หลักธรรมหนึ่งที่เราเรียนรู้จากข้อเหล่านี้คือ เมื่อเราใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ เราจะได้รับการเยียวยา

  • ท่านเห็นหลักฐานอะไรในข้อเหล่านี้ยืนยันว่าซีเอสรอมใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ ทั้งก่อนและหลังจากที่เขาได้รับการเยียวยา?

  • เราจะใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ในลักษณะเดียวกันได้อย่างไร?

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์อธิบายว่าเราจะใช้ศรัทธาได้อย่างไร ดูวีดิทัศน์เรื่อง “We Believe in Being Chaste” ตั้งแต่ช่วงเวลา 13:49 ถึง 14:17 ที่ ChurchofJesusChrist.org หรืออ่านข้อความด้านล่าง

15:48

พระผู้ช่วยให้รอดมักได้รับเรียกว่าเป็นแพทย์ผู้ยิ่งใหญ่ และพระนามนี้มีความสำคัญทั้งเชิงสัญลักษณ์และตามตัวอักษร … ยาบรรเทาที่มาจากการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดสามารถเยียวยาบาดแผลทางวิญญาณและกำจัดความรู้สึกผิด แต่สามารถใช้ยานี้ได้ผ่านหลักธรรมแห่งศรัทธาในพระเจ้าพระเยซูคริสต์ การกลับใจและการเชื่อฟังอยู่เสมอเท่านั้น ผลของการกลับใจอย่างจริงใจคือสันติสุขแห่งมโนธรรม การปลอบโยน การเยียวยาและการเริ่มใหม่ทางวิญญาณ (ดู เดวิด เอ. เบดนาร์, “เราเชื่อในการเป็นคนบริสุทธิ์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 44)

นักเรียนจะต้องได้คำตอบชัดเจนสำหรับคำถามแรกเพื่อเตรียมทำกิจกรรมสุดท้ายของบทเรียน ขณะสนทนาคำถามนี้กับชั้นเรียน ท่านอาจต้องการเขียนแนวคิดของนักเรียนไว้บนกระดาน ช่วยให้พวกเขามีแนวคิดหลากหลาย

ท่านจะใช้คำถามอีกสองข้อเป็นคำถามติดตามผลสำหรับการสนทนาส่วนนี้

  • มีวิธีใดบ้างที่เราสามารถเข้าถึงเดชานุภาพการเยียวยาของพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์?

  • ท่านคิดว่าเหตุใด “แพทย์ผู้ยิ่งใหญ่” จึงเป็นพระนามที่เหมาะสมสำหรับพระผู้ช่วยให้รอด? ท่านคิดว่าเหตุใดพระองค์ทรงสามารถเยียวยาเราได้?

    หากนักเรียนจะได้ประโยชน์จากพระคัมภีร์บางข้อที่ยืนยันว่าพระคริสต์มีเดชานุภาพในการเยียวยา ท่านอาจจะแบ่งปันพระคัมภีร์บางข้อต่อไปนี้: สดุดี 30:2; 147:3; อิสยาห์ 53:5

  • ท่าน (หรือคนรู้จัก) เคยประสบการเยียวยาของพระผู้ช่วยให้รอดเมื่อใด?

แม้เราทุกคนอาจไม่ทนทุกข์เหมือนซีเอสรอม แต่เราทุกคนมีปัญหาและประสบความทุกข์ที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยให้เราผ่านพ้นได้ นึกถึงผลกระทบบางอย่างของบาปหรือความผิดพลาดที่วัยรุ่นอาจประสบและพวกเขาอาจต้องการเดชานุภาพการเยียวยาของพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร

ท่านอาจจะเขียนแนวคิดของนักเรียนไว้บนกระดาน และจะให้พวกเขาทำงานเป็นคู่หรือเป็นกลุ่มเล็กเพื่อระดมความคิดแล้วแบ่งปันความคิดกันในชั้นเรียน

เขียนบันทึกของแพทย์อีกคนเพื่อช่วยคนบางคน อ่าน 3 นีไฟ 9:13–14 และใช้สิ่งที่ท่านได้เรียนรู้วันนี้เขียนใบสั่งยา ท่านอาจจะอ้างอิง แอลมา 15 แบ่งปันว่าพระเยซูคริสต์จะทรงช่วยเหลือได้อย่างไรและการใช้ศรัทธาในพระองค์จะเป็นอย่างไร เติมข้อความต่อไปนี้ให้ครบถ้วน:

  • หากมีคนรู้สึก [อาการของบาป] … พวกเขาพึงระลึกว่าต้อง [ใบสั่งยาหรือการรักษา] …

ย้ำเตือนนักเรียนว่าเราทุกคนต้องมีพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์และการเยียวยาที่พระองค์ประทานแก่เราได้ เป็นพยานว่าการใช้ศรัทธาและการเชื่อในพระเยซูคริสต์จะช่วยเราได้เสมอ ท่านอาจจะเชิญนักเรียนแบ่งปันสิ่งที่ได้เรียนรู้หรือสิ่งที่พวกเขาประทับใจที่สุดจากการศึกษาวันนี้