พันธสัญญาใหม่ 2023
26 กุมภาพันธ์ คำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดช่วยฉันทำการตัดสินที่ชอบธรรมอย่างไร? มัทธิว 6–7


“26 กุมภาพันธ์ คำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดช่วยฉันทำการตัดสินที่ชอบธรรมอย่างไร? มัทธิว 6–7” จงตามเรามา—สำหรับโควรัมฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนและชั้นเรียนเยาวชนหญิง: หัวข้อหลักคำสอนปี 2023 (2022)

“26 กุมภาพันธ์ คำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดช่วยฉันทำการตัดสินที่ชอบธรรมอย่างไร?” จงตามเรามา—สำหรับโควรัมฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนและชั้นเรียนเยาวชนหญิง: หัวข้อหลักคำสอนปี 2023

ภาพ
พระเยซูกับหญิงที่ถูกจับฐานล่วงประเวณี

26 กุมภาพันธ์

คำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดช่วยฉันทำการตัดสินที่ชอบธรรมอย่างไร?

มัทธิว 6–7

ภาพ
ไอคอนหารือกัน

หารือกัน

นำโดยสมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายประธานโควรัมหรือฝ่ายประธานชั้นเรียน ประมาณ 10–20 นาที

เมื่อเริ่มการประชุมให้ท่อง สาระสำคัญเยาวชนหญิงสาระสำคัญโควรัมฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน พร้อมกัน จากนั้นนำการสนทนาเกี่ยวกับงานแห่งความรอดและความสูงส่งโดยใช้คำถามด้านล่างหนึ่งข้อหรือมากกว่านั้นหรือคำถามของท่านเอง (ดู คู่มือทั่วไป, 10.2, 11.2) วางแผนวิธีปฏิบัติตามที่ท่านสนทนา

  • ดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ ฝ่ายอธิการได้พูดถึงหัวข้อใดบ้างในการประชุมสภาเยาวชนวอร์ดของเรา? ชั้นเรียนและโควรัมของเราจะทำอะไรได้บ้างบนพื้นฐานของการสนทนาเหล่านั้น?

  • ดูแลคนขัดสน เราจะยื่นมือช่วยเหลือผู้คนในวิธีเหมือนพระคริสต์ได้อย่างไรเมื่อเราเห็นความขัดสนและไม่รู้จะพูดอะไรดี?

  • เชื้อเชิญให้ทุกคนรับพระกิตติคุณ เราพบอะไรในพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ที่ทำให้เราเกิดปีติ? เราจะแบ่งปันปีตินั้นให้กับคนอื่นๆ ได้อย่างไร?

  • ทำให้ครอบครัวเป็นหนึ่งเดียวกันชั่วนิรันดร์ เรากำลังทำอะไรเพื่อหาชื่อบรรพชนของเราผู้ต้องการศาสนพิธีพระวิหาร? เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยคนอื่นๆ หาชื่อบรรพชนของพวกเขา?

ตอนจบบทเรียนให้ทำดังต่อไปนี้เมื่อเห็นเหมาะสม:

  • เป็นพยานถึงหลักธรรมที่สอน

  • เตือนความจำสมาชิกโควรัมหรือสมาชิกชั้นเรียนเกี่ยวกับแผนและคำเชื้อเชิญที่ทำไว้ระหว่างการประชุม

ภาพ
ไอคอนสอนหลักคำสอน

สอนหลักคำสอน

นำโดยผู้นำที่เป็นผู้ใหญ่หรือเยาวชน ประมาณ 25–35 นาที

เตรียมตัวท่านทางวิญญาณ

เราแต่ละคนมีแนวโน้มจะตัดสินผู้อื่น—เนื่องด้วยธรรมชาติวิสัยที่ตกแล้วของเรา—บางครั้งจึงตัดสินอย่างไม่ยุติธรรมหรือโดยเชื่อว่าตนชอบธรรมกว่า แต่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนว่า “อย่าตัดสินอย่างไม่ชอบธรรม, เพื่อเจ้าจะไม่ถูกตัดสิน; แต่จงตัดสินด้วยการตัดสินที่ชอบธรรม” (งานแปลของโจเซฟ สมิธ, มัทธิว 7:1 [ใน มัทธิว 7:1, เชิงอรรถ a]) ไตร่ตรองว่าการทำตามคำแนะนำนี้จะเป็นพรแก่ท่านและคนที่ท่านสอนได้อย่างไร พระผู้ช่วยให้รอดทรงแสดงแบบอย่างให้เห็นว่า “การตัดสินที่ชอบธรรม” หมายความว่าอย่างไร ตัวอย่างเช่น ลองพิจารณาว่าพระองค์ทรงปฏิบัติต่อหญิงที่ทำการล่วงประเวณีอย่างไร พระองค์ไม่ทรงประณามเธอ แต่ไม่ทรงยอมรับบาปของเธอเช่นกัน พระองค์ทรงเชื้อเชิญให้เธอ “ไปเถิด และจากนี้ไปอย่าทำบาปอีก” (ยอห์น 8:11) ท่านได้เรียนรู้อะไรจากพระผู้ช่วยให้รอดเกี่ยวกับการตัดสินอย่างชอบธรรม?

ขณะไตร่ตรองว่าท่านจะช่วยให้เยาวชนเข้าใจการตัดสินที่ชอบธรรมอย่างไร ท่านอาจจะศึกษา มัทธิว 7:1–2 และข่าวสารของเอ็ลเดอร์ลินน์ จี. รอบบินส์เรื่อง “ผู้พิพากษาที่ชอบธรรม” (เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 96–98)

เรียนรู้ด้วยกัน

ท่านอาจจะเริ่มการสนทนาเกี่ยวกับการตัดสินอย่างชอบธรรมโดยขอให้สมาชิกชั้นเรียนหรือสมาชิกโควรัมนึกถึงเวลาที่พวกเขารู้สึกว่าถูกคนอื่นตัดสินผิดๆ พวกเขารู้สึกอย่างไร? เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการตัดสินจากคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดใน มัทธิว 7:1–5? (ดู งานที่เลือกสรรจากงานแปลพระคัมภีร์ไบเบิลของโจเซฟ สมิธ) วลี “การตัดสินที่ชอบธรรม” น่าจะหมายถึงอะไร? ท่านอาจจะสนทนาข้อเหล่านี้โดยเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนหรือสมาชิกโควรัมเรียบเรียงแต่ละข้อใหม่ด้วยคำพูดของพวกเขาเอง กิจกรรมดังต่อไปนี้จะช่วยให้คนที่ท่านสอนตัดสินได้อย่างชอบธรรมเช่นกัน

  • คำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดใน มัทธิว 6–7 สามารถช่วยเรา “ตัดสินด้วยการตัดสินที่ชอบธรรม” เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนหรือสมาชิกโควรัมค้นพบคำสอนเหล่านี้ ท่านอาจจะแจกข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้ให้พวกเขาคนละหนึ่งช่วง: มัทธิว 6:14–15; 7:3–5; 7:12; 7:15–20 พระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอดในข้อเหล่านี้บอกอะไรเราเกี่ยวกับความหมายของการตัดสินอย่างชอบธรรม? เราสามารถเรียนรู้อะไรจากแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดใน ยอห์น 8:1–11 และ มัทธิว 9:10–13? เราสังเกตเห็นความแตกต่างอะไรบ้างระหว่างวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงตัดสินเราและวิธีที่เรามักตัดสินกัน?

  • เพราะเราทุกคนมีสิทธิ์เสรี เราจึงต้องตัดสินอยู่เสมอว่าเราจะทำและจะไม่ทำอะไร แต่ในฐานะผู้ติดตามพระผู้ช่วยให้รอด เราพยายามไม่ตัดสินหรือวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่น เพื่อช่วยให้เยาวชนเข้าใจความแตกต่างดังกล่าว ให้แบ่งปันคำกล่าวของประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ใน “แหล่งข้อมูลสนับสนุน” กับพวกเขา ให้ชั้นเรียนหรือโควรัมช่วยกันนึกถึงตัวอย่างการตัดสินสถานการณ์—เช่น กิจกรรม เหตุการณ์ หรือการสนทนา—แทนที่จะตัดสินคนที่เกี่ยวข้อง เหตุใดการตัดสินสถานการณ์จึงดีกว่าการตัดสินคน? เยาวชนอาจมีคำถามอื่นเกี่ยวกับการตัดสินอย่างชอบธรรม (ดูตัวอย่างใน “แหล่งข้อมูลสนับสนุน”) สนทนาคำถามของพวกเขาด้วยกันโดยใช้ข้อมูลใต้ “แหล่งข้อมูลสนับสนุน” เพื่อหาคำตอบ เชื้อเชิญให้เยาวชนแบ่งปันว่าพวกเขารู้สึกได้รับการดลใจให้ทำอะไรเพราะสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้

  • ในข่าวสารการประชุมใหญ่สามัญเรื่อง “พัฒนาวิจารณญาณที่ดีและอย่าตัดสินผู้อื่น” (เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 103–105) เอ็ลเดอร์เกรกอรีย์ เอ. ชไวทเซอร์เล่าสองเรื่อง—เรื่องมารธาเพื่อนของพระเยซูกับเรื่องของชายคนหนึ่งที่เอ็ลเดอร์ชไวทเซอร์ช่วยเหลือ สองเรื่องนี้สอนอะไรเกี่ยวกับวิธีที่เราควรมองและปฏิบัติต่อผู้อื่น? หลักธรรมใดสามารถช่วยให้เราเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้นและตัดสินอย่างชอบธรรม? วีดีทัศน์ “Looking through Windows” และ “Judging Others? Stop It!” (ChurchofJesusChrist.org) อาจช่วยให้มุมมองเพิ่มเติม

ภาพ
คนหนุ่มสาวคุยกัน

ขณะฝึกเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้นเราจะตัดสินได้อย่างชอบธรรมมากขึ้น

กระทำด้วยศรัทธา

กระตุ้นให้สมาชิกโควรัมหรือสมาชิกชั้นเรียนไตร่ตรองและบันทึกสิ่งที่พวกเขาจะทำเพื่อกระทำตามการกระตุ้นเตือนที่ได้รับวันนี้ พวกเขาอาจแบ่งปันแนวคิดของตนถ้าต้องการ เชื้อเชิญให้พวกเขาตรึกตรองว่าการกระทำตามการกระตุ้นเตือนเหล่านั้นจะกระชับความสัมพันธ์ของพวกเขากับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์อย่างไร

แหล่งข้อมูลสนับสนุน

  • ตัวอย่างคำถามเกี่ยวกับการตัดสินผู้อื่น: “ฉันถูกสอนมาให้เลือกเพื่อนอย่างระมัดระวัง แต่ฉันจะทำได้อย่างไรโดยไม่ตัดสินคน?” “เมื่อฉันพยายามดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ ฉันถูกกล่าวหาว่าเป็นคนชอบตัดสิน ฉันจะซื่อตรงต่อสิ่งที่ฉันเชื่อและแสดงความรักต่อคนที่เห็นต่างได้อย่างไร?”

  • 1 ซามูเอล 16:7; โมโรไน 7:12–19; หลักคำสอนและพันธสัญญา11:12

  • ,” topics.ChurchofJesusChrist.org 

  • ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์สอนว่า “เราจะละเว้นการตัดสินคนเมื่อใดก็ตามที่เราทำได้และตัดสินเฉพาะสถานการณ์เท่านั้น เราจำเป็นต้องละเว้นเมื่อใดก็ตามที่เราพยายามปฏิบัติตามมาตรฐานต่างจากคนอื่นที่เราต้องสมาคมด้วย—ที่บ้าน ที่ทำงาน หรือในชุมชน เราสามารถตั้งมาตรฐานสูงให้กับตัวเราเองหรือบ้านเราและปฏิบัติตามนั้นโดยไม่ประณามคนที่ปฏิบัติตรงกันข้าม” (“‘Judge Not’ and Judging,” Ensign, Aug. 1999, 11)

การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด

ความพยายามของท่านควรสนับสนุนความพยายามของบิดามารดา แบ่งปันสิ่งที่ท่านกำลังสอนให้กับบิดามารดาของเยาวชน ปรึกษาพวกเขาเพื่อทราบความต้องการของเยาวชนในชั้นเรียนของท่านและวิธีที่จะช่วยตอบสนองความต้องการเหล่านั้นได้ดีที่สุด

พิมพ์