“25 มิถุนายน การชดใช้ของพระเยซูคริสต์มีความหมายต่อฉันอย่างไร? มัทธิว 27; มาระโก 15; ลูกา 23; ยอห์น 19” จงตามเรามา—สำหรับโควรัมฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนและชั้นเรียนเยาวชนหญิง: หัวข้อหลักคำสอนปี 2023 (2022)
“25 มิถุนายน การชดใช้ของพระเยซูคริสต์มีความหมายต่อฉันอย่างไร?” จงตามเรามา—สำหรับโควรัมฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนและชั้นเรียนเยาวชนหญิง: หัวข้อหลักคำสอนปี 2023
25 มิถุนายน
การชดใช้ของพระเยซูคริสต์มีความหมายต่อฉันอย่างไร?
หารือกัน
นำโดยสมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายประธานโควรัมหรือฝ่ายประธานชั้นเรียน ประมาณ 10–20 นาที
เมื่อเริ่มการประชุม ให้ท่อง สาระสำคัญเยาวชนหญิง หรือ สาระสำคัญโควรัมฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน พร้อมกัน จากนั้นนำการสนทนาเกี่ยวกับงานแห่งความรอดและความสูงส่งโดยใช้คำถามด้านล่างหนึ่งข้อหรือมากกว่านั้นหรือคำถามของท่านเอง (ดู คู่มือทั่วไป, 10.2, 11.2) วางแผนวิธีปฏิบัติตามที่ท่านสนทนา
-
ดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ เราเข้าใกล้พระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นอย่างไร? เรากำลังพยายามเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้นอย่างไร?
-
ดูแลคนขัดสน ช่วงนี้เรานึกถึงใครบ้าง? เราจะช่วยเหลือคนเหล่านี้ได้อย่างไร?
-
เชื้อเชิญให้ทุกคนรับพระกิตติคุณ เราจะตอบคำถามของเพื่อนๆ เกี่ยวกับศาสนจักรในลักษณะที่เสริมสร้างศรัทธาของพวกเขาในพระผู้ช่วยให้รอดได้อย่างไร?
-
ทำให้ครอบครัวเป็นหนึ่งเดียวกันชั่วนิรันดร์ มีวิธีใดบ้างที่เราจะเชื่อมสัมพันธ์กับเครือญาติ เช่น ปู่ย่าตายายและลูกพี่ลูกน้องได้ดีขึ้น?
ตอนจบบทเรียนให้ทำดังต่อไปนี้เมื่อเห็นเหมาะสม:
-
เป็นพยานถึงหลักธรรมที่สอน
-
เตือนความจำสมาชิกโควรัมหรือสมาชิกชั้นเรียนเกี่ยวกับแผนและคำเชื้อเชิญที่ทำไว้ระหว่างการประชุม
สอนหลักคำสอน
นำโดยผู้นำที่เป็นผู้ใหญ่หรือเยาวชน ประมาณ 25–35 นาที
เตรียมตัวท่านทางวิญญาณ
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์ตั้งข้อสังเกตว่าวิสุทธิชนยุคสุดท้ายบางคน “ดูเหมือนว่ามีศรัทธาในพระผู้ช่วยให้รอด แต่พวกเขาไม่เชื่อว่าจะได้พรที่พระองค์ทรงสัญญาไว้” (“ถ้าพวกท่านรู้จักเราแล้ว,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 104) กล่าวอีกนัยหนึ่ง แม้เราเชื่อว่าพระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์และสิ้นพระชนม์เพราะบาปของโลก แต่เราอาจจะสงสัยว่าพระองค์ทรงทนทุกข์และสิ้นพระชนม์เพราะบาปของเราเป็นพิเศษหรือไม่ ท่านเคยรู้สึกอย่างนั้นไหม? คนในชั้นเรียนหรือโควรัมของท่านจะได้รับประโยชน์อย่างไรจากการเข้าใจว่าการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดนำมาใช้กับพวกเขาเป็นส่วนตัว? ท่านจะช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างไร?
ไตร่ตรองคำถามเหล่านี้ขณะที่ท่านอ่านเกี่ยวกับการตรึงกางเขนพระผู้ช่วยให้รอดสัปดาห์นี้ ขณะเตรียมสอนเกี่ยวกับลักษณะใกล้ตัวของการชดใช้ของพระคริสต์ ท่านอาจจะศึกษาข่าวสารของประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์เรื่อง “พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำอะไรเพื่อเราบ้าง?” (เลียโฮนา, พ.ค. 2021, 75–77)
เรียนรู้ด้วยกัน
เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนหรือสมาชิกโควรัมแบ่งปันบางอย่างที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับการตรึงกางเขนพระผู้ช่วยให้รอดสัปดาห์ที่ผ่านมาในพันธสัญญาใหม่และความรู้สึกของพวกเขาเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด เพื่อช่วยกระตุ้นเตือนพวกเขา ท่านอาจจะถามคำถามดังนี้ “เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์จากสิ่งที่พระองค์ตรัสและทำระหว่างช่วงเวลาสุดท้ายของพระองค์?” ตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะสำรวจกรณีที่พระผู้ช่วยให้รอดยังคงมองคนรอบข้างด้วยความสงสารขณะทนทุกข์เพื่อทุกคน (ดูตัวอย่างใน ลูกา 23:34, 39–43; ยอห์น 19:25–27) นี่อาจนำไปสู่การสนทนาว่าการชดใช้ของพระเยซูคริสต์นั้นเป็นสากลและเป็นส่วนตัวอย่างไร กิจกรรมดังต่อไปนี้จะช่วยท่านเสริมการสนทนาเรื่องการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด
-
ในย่อหน้าแรกของข่าวสารเรื่อง “พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำอะไรเพื่อเราบ้าง?” ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์พูดถึงการสนทนากับสตรีคนหนึ่งที่ไม่ได้เชื่อมั่นว่าพระเยซูคริสต์ทรงทำสิ่งต่างๆ เพื่อเธอ สมาชิกชั้นเรียนหรือสมาชิกโควรัมอาจจะอ่านย่อหน้านั้นโดยสมมติให้ตัวเองเป็นประธานโอ๊คส์ เราจะพูดอะไรกับสตรีคนนี้? ท่านอาจจะแจกข่าวสารของประธานโอ๊คส์ให้สมาชิกชั้นเรียนหรือสมาชิกโควรัมคนละหนึ่งหัวข้อที่มีตัวเลขกำกับ จากนั้นให้พวกเขาแบ่งปันคำตอบของคำถามที่ว่า “พระเยซูคริสต์ทรงทำอะไรเพื่อฉันบ้าง?” โดยใช้สิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ ตามด้วยประสบการณ์ของพวกเขาเอง
-
เพื่อดลใจให้สนทนาว่าการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดมีผลต่อเราเป็นส่วนตัวอย่างไร ท่านอาจจะเขียนวลีทำนองนี้บนกระดาน เพราะพระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์และสิ้นพระชนม์เพื่อทุกคน … สมาชิกชั้นเรียนหรือสมาชิกโควรัมอาจจะเสนอวิธีเติมประโยคให้สมบูรณ์ จากนั้นท่านอาจจะเปลี่ยนวลีให้อ่านว่า เพราะพระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์และสิ้นพระชนม์เพื่อฉัน … และให้นักเรียนเสนอเพิ่มเติม ขณะสมาชิกชั้นเรียนหรือสมาชิกโควรัมสนทนาข้อความเหล่านี้ ให้พวกเขาอ่านข้อพระคัมภีร์ใน “แหล่งข้อมูลสนับสนุน” ข้อพระคัมภีร์เหล่านี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับอิทธิพลของการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดในชีวิตเราแต่ละคน?
-
อีกวิธีหนึ่งในการศึกษาข้อพระคัมภีร์ใน “แหล่งข้อมูลสนับสนุน” คือเชื้อเชิญให้เยาวชนแทนคำในข้อเหล่านั้นเพื่อให้ข้อเหล่านั้นพูดกับพวกเขาโดยตรง การทำเช่นนี้มีผลต่อความรู้สึกของเราเกี่ยวกับความจริงในข้อเหล่านั้นอย่างไร? เราจะแสดงความสำนึกคุณต่อการพลีพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อเราได้อย่างไร?
-
เพลงศักดิ์สิทธิ์สามารถเป็นพยานได้อย่างทรงพลังถึงพระเยซูคริสต์ ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนหรือสมาชิกโควรัมเตรียมมาแบ่งปันเพลงสวดที่ช่วยให้พวกเขารู้สึกถึงพลังการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ในชีวิตพวกเขาเอง (พวกเขาอาจจะดูที่เพลงสวดศีลระลึกหรือ “พระเยซูคริสต์—พระผู้ช่วยให้รอด” ในดัชนีหัวข้อของ เพลงสวด) ขอให้สมาชิกชั้นเรียนหรือสมาชิกโควรัมระบุวลีในเพลงสวดที่ช่วยให้พวกเขารู้สึกถึงความรักของพระผู้ช่วยให้รอดต่อพวกเขาเป็นส่วนตัว ท่านอาจจะพูดคุยกันว่าการพลีพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอดมีผลต่อชีวิตประจำวันของเราอย่างไร ตัวอย่างเช่น มีผลต่อการเลือกที่เราทำอย่างไร?
กระทำด้วยศรัทธา
กระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนหรือสมาชิกโควรัมไตร่ตรองและบันทึกสิ่งที่พวกเขาจะทำเพื่อกระทำตามการกระตุ้นเตือนที่ได้รับวันนี้ พวกเขาอาจแบ่งปันแนวคิดของตน ถ้าต้องการ เชื้อเชิญให้พวกเขาตรึกตรองว่าการกระทำตามการกระตุ้นเตือนเหล่านั้นจะกระชับความสัมพันธ์ของพวกเขากับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์อย่างไร
แหล่งข้อมูลสนับสนุน
-
1 โครินธ์ 15:20–22; 2 โครินธ์ 12:7–9; แอลมา 7:11–12; 3 นีไฟ 11:10–11
-
แทด อาร์. คอลลิสเตอร์, “การชดใช้ของพระเยซูคริสต์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2019, 85–87