“3–9 พฤศจิกายน: ‘เสียงแห่งความยินดีสำหรับคนเป็นและคนตาย’: หลักคําสอนและพันธสัญญา 125–128” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: หลักคำสอนและพันธสัญญา 2025 (2025)
“หลักคําสอนและพันธสัญญา 125–128” จงตามเรามา—สําหรับบ้านและศาสนจักร: 2025
3–9 พฤศจิกายน: “เสียงแห่งความยินดีสำหรับคนเป็นและคนตาย”
หลักคำสอนและพันธสัญญา 125–128
ในเดือนสิงหาคม ปี 1840 เจน นีย์แมนผู้กำลังโศกเศร้าฟังศาสดาพยากรณ์โจเซฟพูดในพิธีศพของเซย์มัวร์ บรันสันเพื่อนของท่าน ไซรัสบุตรชายวัยรุ่นของเจนเพิ่งสิ้นชีวิตเช่นกัน ความจริงที่ว่าไซรัสไม่ได้รับบัพติศมาทำให้เจนเศร้ายิ่งกว่าเดิม และเธอเป็นห่วงว่าจิตวิญญาณนิรันดร์ของเขาจะเป็นอย่างไร โจเซฟสงสัยเรื่องเดียวกันเกี่ยวกับอัลวินพี่ชายที่รักของท่านผู้สิ้นชีวิตก่อนรับบัพติศมาเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ท่านศาสดาพยากรณ์จึงตัดสินใจบอกทุกคนในพิธีศพว่าพระเจ้าทรงเปิดเผยอะไรต่อท่านเกี่ยวกับคนที่สิ้นชีวิตโดยไม่ได้รับศาสนพิธีของพระกิตติคุณ—และเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยพวกเขา
หลักคำสอนเรื่องบัพติศมาแทนคนตายทำให้วิสุทธิชนตื่นเต้นมาก พวกเขานึกถึงสมาชิกครอบครัวผู้ล่วงลับขึ้นมาทันที ตอนนี้มีความหวังสำหรับพวกเขาแล้ว! โจเซฟมีปีติเหมือนกับพวกเขา และในจดหมายที่สอนหลักคำสอนนี้ ท่านใช้ภาษาพูดที่แสดงความกระตือรือร้นและเปี่ยมด้วยปีติเพื่อบอกสิ่งที่พระเจ้าทรงสอนท่านเกี่ยวกับความรอดของคนตาย ท่านพูดว่า “ให้ภูเขาร้องตะโกนด้วยปีติ, และเจ้าหุบเขาทั้งปวงจงป่าวร้องให้ดัง; และเจ้าท้องทะเลและผืนแผ่นดินแห้งทั้งปวงจงบอกถึงการอันน่าพิศวงแห่งกษัตริย์นิรันดร์ของเจ้า! (หลักคำสอนและพันธสัญญา 128:23)
ดู Saints, 1:415–427; “Letters on Baptism for the Dead” ใน Revelations in Context, 272–276
แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์
พระเจ้าทรงต้องการให้ฉันดูแลครอบครัวของฉัน
หลังจากกลับจากงานเผยแผ่ในอังกฤษ—หนึ่งในคณะเผยแผ่หลายแห่งที่ท่านรับใช้—บริคัม ยังก์ได้รับการเรียกที่สําคัญอีกอย่างหนึ่งจากพระเจ้า เขาถูกขอให้ “เอาใจใส่ครอบครัวของ [เขา] เป็นพิเศษ” (ข้อ 3) ผู้ที่ทนทุกข์เมื่อเขาไม่อยู่ ขณะที่ท่านศึกษาภาคนี้ ให้พิจารณาว่าเหตุใดบางครั้งพระเจ้าทรงเรียกร้องการเสียสละในการรับใช้ของเรา ท่านทำอะไรได้บ้างเพื่อดูแลครอบครัวของท่าน?
ดู “Take Special Care of Your Family,” ใน Revelations in Context, 242–249 ด้วย
ฉันสามารถพึ่งพาพระเจ้าในช่วงเวลาที่ยากลำบาก
การใส่ความและการขู่จะจับกุมบีบคั้นให้โจเซฟ สมิธต้องซ่อนตัวอีกครั้งในเดือนสิงหาคม ปี 1842 แต่ถ้อยคำที่ท่านเขียนถึงวิสุทธิชนในช่วงนี้ (ปัจจุบันคือ หลักคำสอนและพันธสัญญา 127) เต็มไปด้วยการมองในแง่ดีและปีติ ข้อ 2–4 สอนอะไรท่านเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า? เกี่ยวกับการเผชิญการถูกเยาะเย้ยหรือการต่อต้าน? วลีใดจากข้อเหล่านี้อาจช่วยท่านได้เมื่อท่านรู้สึกถูกข่มเหง? ท่านอาจจะบันทึกว่าพระเจ้าทรงสนับสนุนท่านใน “น้ำลึก” ของชีวิตท่านอย่างไร
หลักคำสอนและพันธสัญญา 127:5–8; 128:1–8
“อะไรก็ตามที่ท่านบันทึกไว้บนแผ่นดินโลกจะถูกบันทึกไว้ในสวรรค์”
ขณะที่ท่านอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 127:5–8; 128:1–8 ให้มองหาเหตุผลที่ประทานคำแนะนำเฉพาะเจาะจงเช่นนั้นแก่โจเซฟ สมิธเกี่ยวกับการบันทึกบัพติศมาแทนคนตาย เรื่องนี้สอนอะไรท่านเกี่ยวกับพระเจ้าและงานของพระองค์? ท่านรู้สึกว่าคําแนะนํานี้ประยุกต์ใช้กับบันทึกครอบครัวของท่านเองได้อย่างไร เช่น สมุดบันทึกส่วนตัว?
หลักคำสอนและพันธสัญญา 128:5–25
ความรอดของบรรพชนจำเป็นต่อความรอดของฉัน
เห็นชัดจากสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเปิดเผยผ่านโจเซฟ สมิธว่าเหตุใดบรรพชนของเราที่ไม่ได้รับบัพติศมาในชีวิตนี้จึงต้องการเรา นั่นคือ เรารับบัพติศมาแทนพวกเขาเพื่อพวกเขาจะเลือกยอมรับหรือปฏิเสธศาสนพิธีนี้ได้ แต่ท่านศาสดาพยากรณ์สอนด้วยว่าความรอดของบรรพชนเรา “จําเป็นและสําคัญต่อความรอด ของเรา” ขณะที่ท่านอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 15–18 ให้นึกว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
ข้อ 5 สอนว่าศาสนพิธีบัพติศมาแทนคนตายถูก “เตรียมไว้ก่อนการวางรากฐานของโลก” ความจริงนี้สอนอะไรท่านเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าและแผนงานของพระองค์? ข่าวสารของเอ็ลเดอร์เดล จี. เรนลันด์เรื่อง “ประวัติครอบครัวและงานพระวิหาร: การผนึกและการเยียวยา” เพิ่มอะไรให้ความเข้าใจของท่าน? (เลียโฮนา, พ.ค. 2018, 46–49)
โจเซฟ สมิธใช้วลีเช่น “อำนาจการผนึก” “ห่วงเชื่อม” และ “การเชื่อมเข้าด้วยกันอย่างสมบูรณ์” เมื่อสอนเกี่ยวกับศาสนพิธีฐานะปุโรหิตและบัพติศมาแทนคนตาย จงมองหาวลีเหล่านี้และวลีคล้ายๆ กันขณะที่ท่านอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 128:5–25 ท่านนึกถึงสิ่งของที่ท่านจะใช้อธิบายวลีเหล่านี้ออกหรือไม่ เช่น โซ่หรือเชือก? เหตุใดวลีเหล่านี้จึงเป็นวลีที่ดีเพื่อบรรยายหลักคําสอนนี้?
การพิจารณาคําถามต่อไปนี้อาจช่วยท่านศึกษาข้อเหล่านี้ได้เช่นกัน:
-
ในความคิดเห็นของท่าน เหตุใดบัพติศมาแทนคนตายจึงถือเป็น “เรื่องอันล้ำเลิศที่สุดนี้ในบรรดาเรื่องทั้งหมดที่เป็นของพระกิตติคุณอันเป็นนิจ”? (ข้อ 17) ประสบการณ์อะไรช่วยทำให้ท่านรู้สึกเช่นนี้?
-
โลกจะถูกสาปแช่งอย่างไรหากไม่มี “ห่วงบางชนิด … เชื่อมระหว่างบรรพบุรุษกับลูกหลาน”? (ข้อ 18)
-
ท่านประทับใจอะไรเกี่ยวกับคำพูดของโจเซฟ สมิธใน ข้อ 19–25? ข้อเหล่านี้มีผลอย่างไรต่อความรู้สึกของท่านเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์? เกี่ยวกับการรับใช้ในพระวิหารสําหรับบรรพชนของท่าน? (ดู “Come, Rejoice” Hymns, no. 9 ด้วย)
หลังจากศึกษาข้อเหล่านี้แล้ว ท่านอาจรู้สึกได้รับการดลใจให้ทําบางสิ่งเพื่อบรรพชนของท่าน แนวคิดใน FamilySearch.org อาจช่วยได้
วีดิทัศน์ “Inspirational Videos” ในชุด “Temple and Family History” ของคลังค้นคว้าพระกิตติคุณสามารถให้ความช่วยเหลือที่ทำได้จริง เรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจ และข่าวสารจากผู้นําเกี่ยวกับประวัติครอบครัว
ดู เควิน อาร์. ดันแคน, “เสียงแห่งความยินดี!,” เลียโฮนา, พ.ค. 2023, 95–97 ด้วย
“การจัดเตรียมของพระผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์”
ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์กล่าวว่า:
“การชดใช้ของพระเยซูเพื่อทุกคนเป็นการเสียสละอันสูงส่งแทนคนอื่น พระองค์ทรงวางแบบฉบับซึ่งทำให้พระองค์กลายเป็นตัวแทนของมวลมนุษย์ แบบฉบับที่มนุษย์คนหนึ่งกระทำแทนอีกคนหนึ่งนั้นจะดำเนินต่อไปในพิธีการแห่งพระนิเวศของพระเจ้า ที่นี่เรารับใช้แทนผู้ที่ล่วงลับไปโดยปราศจากความรู้ในพระกิตติคุณ พวกเขาเลือกได้ว่าจะยอมรับหรือปฏิเสธพิธีการที่ทำให้ พวกเขาอยู่ในฐานะเท่าเทียมกับคนบนแผ่นดินโลก คนตายได้รับโอกาสเช่นเดียวกับคนเป็น อีกครั้งที่การจัดเตรียมของพระผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์ผ่านการเปิดเผยต่อศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ช่างน่าชื่นชมและวิเศษเหลือเกิน” (“เรื่องสำคัญซึ่งพระเจ้าทรงเปิดเผย,” เลียโฮนา, พ.ค. 2005, 102)
แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก
ฉันสามารถช่วยดูแลครอบครัวของฉัน
-
เพื่อช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะรับใช้สมาชิกครอบครัว ท่านอาจแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับบริคัม ยังก์ใน “บทที่ 50: วิสุทธิชนในนอวู” (ใน เรื่องราวในหลักคําสอนและพันธสัญญา, 184 หรือวีดิทัศน์เกี่ยวกับเรื่องนี้ในคลังค้นคว้าพระกิตติคุณ) หรือสรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 126 ด้วยคำพูดของท่านเอง ท่านอาจเน้นวลี “เอาใจใส่ครอบครัวของเจ้าเป็นพิเศษ” (ข้อ 3) และพูดคุยกับเด็กว่าการดูแลครอบครัวเราเป็นพิเศษหมายความว่าอย่างไร
-
อาจเป็นเรื่องสนุกหากท่านกับเด็กดูภาพครอบครัว (หรือวาดรูป) ขณะที่ท่านพูดคุยกันเกี่ยวกับวิธีที่เราจะช่วย “ดูแล” สมาชิกครอบครัวได้ ท่านอาจร้องเพลงเช่น “บ้านเป็นสวรรค์บนโลกได้” (เพลงสวด บทเพลงที่ 146)
หลักคำสอนและพันธสัญญา 128:5, 12
บุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้าจำเป็นต้องมีโอกาสรับบัพติศมา
-
เชื้อเชิญให้เด็กค้นหาจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 128:1 ว่าเรื่องใดอยู่ในความคิดของโจเซฟ สมิธ พวกเขาอาจค้นคว้า ข้อ 17 ด้วยเพื่อดูว่าเรื่องใดที่โจเซฟเห็นว่า “ล้ำเลิศที่สุด” ให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่พบและพูดคุยกันว่าเหตุใดเรื่องนี้จึงน่าตื่นเต้น
-
นอกจากช่วยเด็กเตรียม (และดำเนินชีวิต) พันธสัญญาบัพติศมาของตนเองแล้ว ท่านยังสามารถช่วยให้พวกเขารู้วิธีช่วยคนที่ไม่ทำพันธสัญญาเหล่านี้ในช่วงชีวิตของพวกเขาด้วย ท่านอาจเล่าให้เด็กฟังเกี่ยวกับคนที่ท่านรู้จักที่สิ้นชีวิตโดยไม่ได้รับบัพติศมา จากนั้นท่านอาจอ่าน หลักคําสอนและพันธสัญญา 128:5 ด้วยกันและดูภาพอ่างบัพติศมาในพระวิหาร (เหมือนอ่างที่อยู่ท้ายโครงร่างนี้) บอกเด็กว่าท่านรู้สึกอย่างไรกับการรับบัพติศมาในพระวิหารแทนคนที่สิ้นชีวิตไปแล้วเพื่อให้ทุกคนมีโอกาสทําพันธสัญญากับพระบิดาบนสวรรค์
พระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้ฉันเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติครอบครัวของฉัน
-
อาจเป็นเรื่องสนุกหากท่านและเด็กทําห่วงโซ่กระดาษที่มีชื่อบิดามารดา ปู่ย่าตายาย ทวด และคนอื่นๆ (ดู หน้ากิจกรรม ของสัปดาห์นี้) จากนั้นท่านอาจแบ่งปันสิ่งที่ท่านรู้เกี่ยวกับบรรพชนเหล่านี้ให้กัน อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 128:18 ด้วยกันเพื่อหาดูว่าอะไรเป็น “ห่วงเชื่อม” ที่ทำให้ประวัติตรอบครัวของเรา “สมบูรณ์และครบถ้วน” ท่านอาจดูวีดิทัศน์เรื่อง “Courage: I Think I Get It from Him” (คลังค้นคว้าพระกิตติคุณ) ด้วย
-
กิจกรรมเพิ่มเติมที่จะช่วยให้เด็กมีส่วนร่วมในประวัติครอบครัวมีอยู่ใน “พระวิหารและแผนแห่งความสุข” ในภาคผนวก ข หรือที่ FamilySearch.org