“26 เมษายน–2 พฤษภาคม หลักคำสอนและพันธสัญญา 45: ‘สัญญา … จะเกิดสัมฤทธิผล’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: หลักคำสอนและพันธสัญญา 2021 (2020)
“26 เมษายน–2 พฤษภาคม หลักคำสอนและพันธสัญญา 45” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2021
26 เมษายน–2 พฤษภาคม
หลักคำสอนและพันธสัญญา 45
“สัญญา … จะเกิดสัมฤทธิผล”
ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่า “เขียนความคิดที่เข้ามาในจิตใจท่าน บันทึกความรู้สึกและทำตามที่ท่านได้รับการกระตุ้นเตือนให้ทำ” (“การเปิดเผยสำหรับศาสนจักร การเปิดเผยสำหรับชีวิตเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2018, 95)
บันทึกความประทับใจของท่าน
เราอยู่ในยุคที่น่ากลัวและนั่นทำให้เรากังวลใจ แม้แต่เหล่าสานุศิษย์ของพระเยซูก็ยัง “กังวลใจ” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:34) เมื่อได้ยินคำพยากรณ์ของพระองค์เกี่ยวกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในสมัยของเรา วิสุทธิชนยุคแรกในเคิร์ทแลนด์ โอไฮโอกังวลใจกับยุคสมัยน่ากลัวที่พวกเขามีชีวิตอยู่เช่นกัน นอกจากเรื่องอื่นๆ แล้วก็ยังมี “รายงานเท็จ … และเรื่องโง่เขลา” มากมายกำลังบ่อนทำลายข่าวสารพระกิตติคุณ (หัวบทของหลักคำสอนและพันธสัญญาภาค 45) แต่พระดำรัสตอบของพระเจ้าเวลานั้นและเวลานี้คือ “อย่ากังวลใจเลย” (ข้อ 35) ใช่ มีความชั่วร้าย แต่มีหลักฐานยืนยันเช่นกันว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงกำลังเร่งงานของพระองค์ ใช่ มีภยันตรายทำนายไว้ว่าจะเกิดขึ้นก่อนการเสด็จมาครั้งที่สอง และเราควรระวัง แต่นี่ไม่เพียงเป็นสัญญาณเตือนให้ระวังอันตรายเท่านั้น แต่เป็นเครื่องหมายเช่นกันว่าสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าจะเกิดสัมฤทธิผล นี่อาจเป็นเหตุให้การได้รับ หลักคำสอนและพันธสัญญา 45—การเปิดเผยที่พูดถึงเครื่องหมายมากมายเหล่านี้อย่างละเอียด—“ยังความปรีดีแก่วิสุทธิชน” (หัวบทของภาค)
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้วิงวอนพระบิดาแทนเรา
ท่านเคยรู้สึกไม่ดีพอหรือไม่มีค่าควรต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้าหรือไม่? ท่านอาจพบความมั่นใจอีกครั้งใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:1–5 คำอย่างเช่น “ผู้วิงวอน” และ “วิงวอน” บอกอะไรท่าน? พระผู้ช่วยให้รอดทรงวิงวอนแทนท่านหรือทรงวิงวอนแก้ต่างให้ท่านอย่างไร? การรู้ว่าพระคริสต์ทรงเป็นพระผู้วิงวอนแทนท่านมีความหมายต่อท่านอย่างไร?
คำพูดต่อไปนี้จากประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธจะช่วยให้ท่านไตร่ตรองข้อเหล่านี้ “พระเยซู [ทรงเป็น] ผู้วิงวอนแทนเรา โดยทรงแก้ต่างให้เราในฐานะพระผู้เป็นสื่อกลางของเราผ่านการปฏิบัติศาสนกิจและการทำงานของพระองค์เพื่อให้เราคืนดี เพื่อให้เราเห็นพ้องกับพระผู้เป็นเจ้า” (ใน Conference Report, Oct. 1953, 58)
ดู 2 นีไฟ 2:8–9; โมไซยาห์ 15:7–9; โมโรไน 7:27–28; หลักคำสอนและพันธสัญญา 29:5; 62:1 ด้วย
พระกิตติคุณเป็นมาตรฐานให้ประชาชาติ
สมัยก่อนมาตรฐานคือผืนผ้าหรือธงที่นำไปในสนามรบ มีไว้ระดมพลและทำให้ทหารเป็นหนึ่งเดียวกัน ช่วยให้พวกเขารู้ว่าจะรวมพลที่ใดและทำอะไร มาตรฐานคือแบบอย่างหรือกฎเกณฑ์ที่ใช้วัดสิ่งอื่นด้วย ขณะที่ท่านอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:9–10 ให้ไตร่ตรองว่าพันธสัญญาพระกิตติคุณเป็นมาตรฐานสำหรับท่านอย่างไร ชีวิตท่านจะต่างจากนี้อย่างไรถ้าท่านไม่มีพันธสัญญาเหล่านี้?
หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:11–75
สัญญาของพระเจ้าจะเกิดสัมฤทธิผล
สงคราม ความชั่วช้าสามานย์ และความหายนะจะเกิดขึ้นก่อนการเสด็จมาครั้งที่สอง แต่ “อย่ากังวลใจเลย” พระเจ้าตรัส “เพราะ, เมื่อสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้จะบังเกิดขึ้น, เจ้าจะรู้ว่าสัญญาซึ่งทำไว้กับเจ้าจะเกิดสัมฤทธิผล” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:35)
ขณะศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:11–75 ท่านจะไม่เน้นเฉพาะเหตุการณ์น่ากังวลใจที่พยากรณ์ไว้เท่านั้นแต่จะเน้นเรื่องพรที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้ด้วย (ตัวอย่างเช่น สัญญาใน ข้อ 54–59 เกี่ยวกับการปกครองมิลเลเนียมของพระผู้ช่วยให้รอด) ท่านจะทำสิ่งนี้โดยเขียนออกมาเป็นข้อๆ หรือทำเครื่องหมายข้อต่างๆ ท่านพบอะไรที่ช่วยให้ท่าน “อย่ากังวลใจ” กับวันเวลาสุดท้าย?
หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:31–32, 56–57
“เจ้าจงยืนอยู่ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์,” และไม่หวั่นไหว
เหตุผลหนึ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดและศาสดาพยากรณ์ของพระองค์สอนเราเกี่ยวกับเครื่องหมายการเสด็จมาครั้งที่สองคือเพื่อช่วยให้เราเตรียมพร้อม ท่านเรียนรู้อะไรใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:31–32, 56–57 เกี่ยวกับการเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเจ้า? การทบทวนอุปมาเรื่องหญิงพรหมจารีสิบคนใน มัทธิว 25:1–13 อาจจะเป็นประโยชน์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงเปรียบเทียบน้ำมันในอุปมาเรื่องนี้กับความจริงและพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:57) ท่านได้ข้อคิดอะไรบ้างเมื่อท่านอ่านอุปมาแบบนี้?
หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:1–15, 66–71
ไซอันเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับวิสุทธิชนของพระผู้เป็นเจ้า
วิสุทธิชนในสมัยของโจเซฟ สมิธขวนขวายจะสร้างไซอันซึ่งคือเยรูซาเล็มใหม่ตามที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์มอรมอน (ดู อีเธอร์ 13:2–9) และในพระคัมภีร์ไบเบิลฉบับแก้ไขด้วยการดลใจของโจเซฟ สมิธ (ดู โมเสส 7:62–64) ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับไซอัน—ทั้งเมืองสมัยโบราณในสมัยของเอโนคกับเมืองยุคสุดท้าย—จาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:11–15, 66–71?
ปัจจุบันพระบัญชาให้สถาปนาไซอันหมายถึงการสถาปนาอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าไม่ว่าเราอยู่ที่ใด—ที่ใดก็ตามที่บุตรของพระผู้เป็นเจ้ารวมเข้ามาสู่ความปลอดภัยแห่ง “พันธสัญญาอันเป็นนิจ” ของพระองค์ (ข้อ 9) ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยสร้างไซอันตรงที่ท่านอยู่?
ดู คู่มือพระคัมภีร์ “ไซอัน” scriptures.ChurchofJesusChrist.org ด้วย
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว
-
หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:3–5ผู้วิงวอนทำอะไรเพื่อเรา? ท่านจะดูวีดิทัศน์เรื่อง “The Mediator” (ChurchofJesusChrist.org) และพูดคุยกันว่าเหตุใดจึงเรียกพระผู้ช่วยให้รอดว่าพระผู้วิงวอนแทนเรา
-
หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:9–10ถ้าครอบครัวท่านมี “มาตรฐาน” หรือธง ธงนั้นจะมีลักษณะอย่างไรเพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของท่านต่อพระกิตติคุณ? อาจจะสนุกถ้าทำธงครอบครัวด้วยกันและสนทนาว่าท่านจะช่วยให้ผู้อื่นทำตามมาตรฐานพระกิตติคุณได้อย่างไร
-
หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:32อะไรคือ “สถานที่ศักดิ์สิทธิ์” ของท่าน? “ไม่หวั่นไหว” หมายความว่าอย่างไร? เราจะทำให้บ้านของเราเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ได้อย่างไร?
-
หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:39–44ท่านจะช่วยให้สมาชิกครอบครัวเข้าใจความหมายของการเฝ้ารอการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอดได้อย่างไร? ท่านอาจจะนึกถึงเหตุการณ์หนึ่งที่ท่านกำลังรอคอยและบอกวิธีที่ท่าน “เฝ้ารอ” เหตุการณ์นั้น หรือท่านจะอบขนมด้วยกันและเฝ้ารอสัญญาณที่แสดงว่ากินได้แล้ว เรากำลังทำอะไรเพื่อเฝ้ารอการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอด?
-
หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:55การอ่าน 1 นีไฟ 22:26 และ วิวรณ์ 20:1–3 จะช่วยให้ครอบครัวท่านเข้าใจว่าซาตาน “จะถูกพันธนาการ” อย่างไรในช่วงมิลเลเนียม เราจะพันธนาการซาตานในชีวิตเราได้อย่างไร?
ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย
เพลงที่แนะนำ: “คราพระเสด็จมา” หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 46–47; ดู “แนวคิดเพื่อปรับปรุงการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวท่าน” ด้วย