“17–23 พฤษภาคม หลักคำสอนและพันธสัญญา 51–57: ‘ผู้พิทักษ์ที่ซื่อสัตย์, เที่ยงธรรม, และมีปัญญา’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: หลักคำสอนและพันธสัญญา 2021 (2020)
“17–23 พฤษภาคม หลักคำสอนและพันธสัญญา 51–57” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2021
17–23 พฤษภาคม
หลักคำสอนและพันธสัญญา 51–57
“ผู้พิทักษ์ที่ซื่อสัตย์, เที่ยงธรรม, และมีปัญญา”
การศึกษาพระคัมภีร์ช่วยให้ท่านรู้จักสุรเสียงของพระเจ้าเพราะพระคัมภีร์ที่พระองค์ประทานผ่านพระวิญญาณของพระองค์ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:34–36)
บันทึกความประทับใจของท่าน
สำหรับสมาชิกศาสนจักรในทศวรรษ 1830 การรวมวิสุทธิชนและการสร้างนครไซอันเป็นงานทางวิญญาณเช่นเดียวกับงานทางโลกที่มีเรื่องสำคัญหลายเรื่องต้องทำเช่น บางคนต้องซื้อและจัดสรรที่ดินให้วิสุทธิชนตั้งรกราก บางคนต้องพิมพ์หนังสือและสิ่งพิมพ์อื่นๆ และบางคนต้องเปิดร้านจำหน่ายสินค้าให้คนในไซอัน ในการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 51–57 พระเจ้าทรงกำหนดและทรงสอนผู้คนให้จัดการงานเหล่านี้ และทรงระบุให้อินดิเพนเดนซ์ มิสซูรีเป็น “สถานที่ซึ่งเป็นศูนย์กลาง” ของไซอัน (หลักคำสอนและพันธสัญญา 57:3)
แต่ถึงแม้ทักษะในเรื่องต่างๆ เช่น การซื้อที่ดิน การพิมพ์ และการเปิดร้านค้าจะมีค่าต่องานสร้างไซอันทางโลก แต่การเปิดเผยเหล่านี้สอนเช่นกันว่าพระเจ้าทรงปรารถนาให้วิสุทธิชนของพระองค์มีค่าควรทางวิญญาณเพื่อจะได้ชื่อว่าเป็นคนไซอัน พระองค์ทรงขอให้เราแต่ละคนเป็น “ผู้พิทักษ์ที่ซื่อสัตย์, เที่ยงธรรม, และมีปัญญา” มีใจชอกช้ำ “ตั้งมั่น” ในหน้าที่รับผิดชอบที่กำหนดให้เรา (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 51:19; 52:15; 54:2) ถ้าเราทำเช่นนั้นได้—โดยไม่คำนึงถึงทักษะทางโลกของเรา—พระเจ้าจะทรงสามารถใช้เราสร้างไซอันและพระองค์จะทรง “เร่งสร้างเมืองเมื่อถึงเวลา” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 52:43)
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
พระเจ้าทรงต้องการให้ฉันเป็นผู้พิทักษ์ที่ซื่อสัตย์ เที่ยงธรรม และมีปัญญา
ถ้าท่านเป็นสมาชิกของศาสนจักรในปี 1831 ท่านอาจจะได้รับการเชื้อเชิญให้ดำเนินชีวิตตามกฎแห่งการอุทิศถวายโดยเซ็นโอนทรัพย์สินของท่านให้ศาสนจักรผ่านอธิการ จากนั้นในกรณีส่วนใหญ่อธิการจะคืนสิ่งที่ท่านบริจาคให้ท่าน บางครั้งอาจคืนพร้อมส่วนเกิน แต่นั่นไม่ใช่ทรัพย์สินของท่านอีกต่อไป—เป็นสิ่งที่อยู่ในความพิทักษ์ของท่าน
ปัจจุบันระเบียบปฏิบัติต่างจากเดิม แต่หลักธรรมแห่งการอุทิศถวายและการเป็นผู้พิทักษ์ยังคงสำคัญต่องานของพระเจ้า ลองพิจารณาถ้อยคำเหล่านี้จากเอ็ลเดอร์เควนทิน แอล. คุก: “เราอยู่ในยุคที่น่ากลัวเมื่อหลายคนเชื่อว่าเราไม่ต้องรับผิดชอบต่อพระผู้เป็นเจ้าและเราไม่มีหน้าที่รับผิดชอบส่วนตัวหรือไม่มีสิ่งที่เราต้องพิทักษ์ให้ตนเองหรือผู้อื่น คนมากมายในโลกมุ่งสนองความพอใจให้ตน … [และ] ไม่เชื่อว่าตนเป็นผู้ดูแลพี่น้อง แต่ในศาสนจักรเราเชื่อว่าความเป็นผู้พิทักษ์เหล่านี้เป็นภาระหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์” (ดู “สิ่งที่อยู่ในความพิทักษ์—ภาระหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์”เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 111)
ขณะที่ท่านอ่าน ภาค 51 ให้คิดว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงมอบหมายให้ท่านดูแลอะไร คำว่า “ผู้พิทักษ์” (ข้อ 19) และ “อุทิศถวาย” (ข้อ 5) หมายถึงอะไร และบอกอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงคาดหวังจากท่าน? ท่านพบหลักธรรมอะไรบ้างใน ภาค 51 และในคำพูดของเอ็ลเดอร์คุกที่สอนท่านให้รู้ว่าผู้พิทักษ์หมายถึงอะไร? (ดู ข้อ 9, 15–20 เป็นพิเศษ)
ดู มัทธิว 25:14–30; “The Law of Consecration” วีดิทัศน์ ChurchofJesusChrist.org
หลักคำสอนและพันธสัญญา 52:14–19
พระผู้เป็นเจ้าประทานแบบฉบับสำหรับหลีกเลี่ยงการหลอกลวง
เนื่องจากหลายคนอ้างว่าตนได้รับการแสดงให้ประจักษ์ทางวิญญาณ วิสุทธิชนยุคแรกจึงกังวลว่าจะถูกหลอก พวกเขาจะบอกได้อย่างไรว่าใครคือคนที่ “[พระผู้เป็นเจ้า] รับ”? (ข้อ 15) ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 52:14–19 พระเจ้าประทานแบบฉบับที่เป็นประโยชน์ ท่านจะนำแบบฉบับนี้มาใช้ตรวจสอบข่าวสารเท็จในโลกได้อย่างไร? ท่านอาจจะใช้แบบฉบับนี้ประเมินตนเองเช่นกัน อาทิ ใช้วลีต่างๆ จากข้อเหล่านี้เขียนคำถามเช่น “เมื่อฉันพูด วิญญาณฉันสำนึกผิดหรือไม่?”
ฉันสามารถหันมาหาพระเจ้าเมื่อฉันเจ็บปวดเพราะการเลือกของผู้อื่น
ส่วนหนึ่งของการไปรวมกันที่โอไฮโอคือวิสุทธิชนกลุ่มหนึ่งที่นูเวล ไนท์พามาจากโคลสวิลล์ นิวยอร์กต้องการที่อยู่ ลีมัน คอพลีย์มีฟาร์มผืนใหญ่ใกล้เคิร์ทแลนด์ และเขาทำพันธสัญญาว่าจะยอมให้วิสุทธิชนตั้งรกรากบนที่ดินของเขา แต่ไม่นานหลังจากพวกเขาเริ่มตั้งรกรากที่นั่น คอพลีย์หวั่นไหวในศรัทธา เลิกล้มพันธสัญญา และขับไล่วิสุทธิชนออกจากที่ของเขา (ดู Saints, 1:125–128)
ดังที่บันทึกไว้ใน ภาค 54 พระเจ้าทรงบอกนูเวล ไนท์ว่าวิสุทธิชนควรทำอย่างไรกับสถานการณ์ของพวกเขา ท่านพบอะไรในการเปิดเผยนี้ที่สามารถช่วยท่านได้เมื่อการผิดคำมั่นสัญญาของอีกฝ่ายหรือการเลือกไม่ดีของผู้อื่นมีผลต่อท่าน?
หลักคำสอนและพันธสัญญา 56:14–20
คนทั้งปวงที่มีใจบริสุทธิ์ย่อมเป็นสุข
ในข้อเหล่านี้พระเจ้าตรัสทั้งกับคนร่ำรวยและคนยากจน ท่านอาจจะสนใจเปรียบเทียบพระดำรัสแนะนำของพระองค์กับคนสองกลุ่มนี้ อะไรในข้อเหล่านี้รู้สึกเกี่ยวข้องกับท่านเป็นส่วนตัว? การมุ่งเน้นแต่ความร่ำรวย “กัดกร่อน” จิตวิญญาณท่านอย่างไร? (ข้อ 16) “ใจบริสุทธิ์” (ข้อ 18) เกี่ยวกับสิ่งของทางโลกมีความหมายต่อท่านอย่างไร?
ดู เจคอบ 2:17–21 ด้วย
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว
-
หลักคำสอนและพันธสัญญา 51:9ท่านจะเล่นเกมๆ หนึ่งที่ครอบครัวชอบแล้วพูดคุยกันว่าเกมจะต่างจากนี้อย่างไรถ้ามีคนโกง เหตุใดการ “ปฏิบัติต่อกันด้วยความซื่อสัตย์” จึงสำคัญ? ความซื่อสัตย์ช่วยให้เรา “เป็นหนึ่งเดียวกัน” อย่างไร?
-
หลักคำสอนและพันธสัญญา 52:14–19ขณะสนทนาแบบฉบับที่บรรยายไว้ในข้อเหล่านี้ ครอบครัวท่านอาจจะอยากดูแบบฉบับอื่นที่ท่านใช้—เช่นแบบเย็บเสื้อผ้าหรือแบบทำงานฝีมือ ท่านจะช่วยกันทำบางสิ่งจากแบบขณะพูดถึงแบบฉบับที่พระเจ้าประทานเพื่อหลีกเลี่ยงการหลอกลวง
-
หลักคำสอนและพันธสัญญา 53:1ท่านอาจจะเล่าประสบการณ์ให้ครอบครัวฟังตอนที่ท่านทูลถามพระเจ้า “เกี่ยวกับการเรียก” ของท่านเหมือนที่ซิดนีย์ กิลเบิร์ตทำ
-
หลักคำสอนและพันธสัญญา 54:2; 57:6–7“ตั้งมั่น” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 54:2) ในสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงขอให้เราทำหมายความว่าอย่างไร? ท่านอาจเชื้อเชิญให้สมาชิกครอบครัวยืนขึ้นและบอกบางสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงขอให้พวกเขาทำ
-
หลักคำสอนและพันธสัญญา 55พระเจ้าทรงใช้ความสามารถของวิลเลียม เฟลพ์สในการเป็นผู้เขียนและผู้พิมพ์อย่างไร (ท่านอาจต้องการบอกว่าวิลเลียม เฟลพ์เขียนเนื้อร้องเพลงสวดหลายเพลง เช่น “พระวิญญาณพระเจ้า” “จงมาร่าเริงยินดี” และ “พระผู่ไถ่แห่งอิสราเอล”) สมาชิกครอบครัวอาจจะพูดถึงพรสวรรค์และความสามารถที่พวกเขาเห็นในกันและกัน พรสวรรค์ของเราจะเอื้อต่องานของพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไร?
ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย
เพลงที่แนะนำ: “ลำธารเล็กๆ พูดว่า ‘จงให้’” หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 116