พันธสัญญาใหม่ 2023
2–8 มกราคม มัทธิว 1; ลูกา 1: “ข้าพเจ้าพร้อมที่จะเป็นไปตามคำของท่าน”


“2–8 มกราคม มัทธิว 1; ลูกา 1: ‘ข้าพเจ้าพร้อมที่จะเป็นไปตามคำของท่าน,’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)

“2–8 มกราคม มัทธิว 1; ลูกา 1,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2023

ภาพ
มารีย์กับเอลีซาเบธ

2–8 มกราคม

มัทธิว 1; ลูกา 1

“ข้าพเจ้าพร้อมที่จะเป็นไปตามคำของท่าน”

ขณะที่ท่านอ่านและไตร่ตรอง มัทธิว 1 และ ลูกา 1 จงบันทึกความประทับใจทางวิญญาณที่ท่านได้รับ ท่านพบความจริงเกี่ยวกับหลักคำสอนอะไรบ้าง? ข่าวสารอะไรจะมีคุณค่าต่อท่านและครอบครัวมากที่สุด? แนวคิดการศึกษาในโครงร่างนี้อาจช่วยให้ท่านค้นพบข้อคิดเพิ่มเติม

บันทึกความประทับใจของท่าน

จากมุมมองของมนุษย์ นั่นเป็นเรื่องสุดวิสัย หญิงพรหมจารีไม่สามารถตั้งครรภ์ได้—และหญิงเป็นหมันที่ผ่านช่วงที่ตั้งครรภ์ได้ก็เหมือนกัน แต่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีแผนสำหรับการประสูติของพระบุตรและการประสูติของยอห์นผู้ถวายบัพติศมา ด้วยเหตุนี้ทั้งมารีย์และเอลีซาเบธจึงกลายเป็นมารดาแม้จะมีอุปสรรคหรือปัญหาทางโลกสารพัด การจดจำประสบการณ์อันน่าอัศจรรย์ของพวกเธอจะช่วยเราได้เมื่อเราประสบสิ่งที่ดูเหมือนจะสุดวิสัย เราจะเอาชนะความอ่อนแอของเราได้หรือไม่? เราจะสัมผัสใจของสมาชิกครอบครัวที่ไม่สนใจพระกิตติคุณได้ไหม? กาเบรียลอาจจะพูดกับเราก็ได้เมื่อท่านเตือนมารีย์ว่า “เพราะว่าไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่พระเจ้าทรงทำไม่ได้” (ลูกา 1:37) และการตอบรับของมารีย์จะเป็นการตอบรับของเราได้เช่นกันเมื่อพระผู้เป็นเจ้าทรงเปิดเผยพระประสงค์ของพระองค์ “ข้าพเจ้าพร้อมที่จะเป็นไปตามคำของท่าน” (ลูกา 1:38)

ภาพ
ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

มัทธิวและลูกาเป็นใคร?

มัทธิวเป็นคนเก็บภาษีชาวยิวผู้ที่พระเยซูทรงเรียกเป็นอัครสาวกคนหนึ่งของพระองค์ (ดู มัทธิว 10:3; ดู คู่มือพระคัมภีร์, “คนเก็บภาษี” ด้วย) มัทธิวเขียนกิตติคุณของเขาให้เพื่อนชาวยิวเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้เขาจึงเลือกเน้นคำพยากรณ์ในพันธสัญญาเดิมเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ที่เกิดสัมฤทธิผลผ่านพระชนม์ชีพและการปฏิบัติศาสนกิจของพระเยซู

ลูกาเป็นแพทย์ชาวต่างชาติ (ไม่ใช่ชาวยิว) ผู้เดินทางไปกับอัครสาวกเปาโล เขาเขียนกิตติคุณของเขาหลังการสิ้นพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอดให้ผู้อ่านที่ไม่ใช่ชาวยิวเป็นหลัก เขาเป็นพยานว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของทั้งคนต่างชาติและชาวยิว เขาบันทึกเรื่องราวของเหตุการณ์ต่างๆ ในพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอดที่เขาเห็นด้วยตาตนเอง และเขารวมเรื่องเกี่ยวกับสตรีไว้ในนั้นมากกว่าในกิตติคุณเล่มอื่น

ดู คู่มือพระคัมภีร์, “พระกิตติคุณสี่เล่ม,” “ มัทธิว”,” “ ลูกา

มัทธิว 1:18–25; ลูกา 1:26–35

พระเยซูคริสต์ประสูติจากมารดาที่เป็นมรรตัยและพระบิดาผู้เป็นอมตะ

ใน มัทธิว 1:18–25 และ ลูกา 1:26–35 ให้สังเกตว่ามัทธิวและลูกาบรรยายการประสูติของพระเยซูอย่างไร คำอธิบายเหล่านี้เสริมสร้างศรัทธาของท่านในพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร? เหตุใดท่านจึงจำเป็นต้องรู้ว่าพระเยซูทรงเป็นทั้งพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าและเป็นบุตรของมารีย์?

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันอธิบายว่าการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ “เรียกร้องการเสียสละของสัตภาวะอมตะที่ไม่อยู่ใต้เงื่อนไขของความตาย แต่พระองค์ต้องสิ้นพระชนม์และรับพระวรกายอีกครั้ง พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นพระองค์เดียวที่สามารถทำสิ่งนี้ให้บรรลุผลสำเร็จได้ พระองค์ทรงสืบทอดเดชานุภาพที่จะสิ้นพระชนม์จากพระมารดา พระองค์ทรงรับเดชานุภาพเหนือความตายจากพระบิดาของพระองค์” (“Constancy amid Change,” Ensign, Nov. 1993, 34)

ลูกา 1:5–25, 57–80

พรของพระผู้เป็นเจ้ามาในเวลาของพระองค์เอง

ถ้าท่านพบว่าตนเองต้องรอพร หรือดูเหมือนว่าพระผู้เป็นเจ้าไม่ได้ยินคำสวดอ้อนวอนของท่าน เรื่องราวของเอลีซาเบธกับเศคาริยาห์สามารถเป็นเครื่องเตือนใจได้ว่าพระองค์ไม่เคยลืมท่าน ดังที่เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์สัญญาว่า “ด้วยเหตุนี้ขณะที่เราลงมือทำและรอคำตอบการสวดอ้อนวอนบางอย่างด้วยกัน ข้าพเจ้าให้สัญญาในฐานะอัครสาวกว่าพระองค์ทรงได้ยินและทรงตอบ แม้อาจจะไม่ตอบในเวลาหรือวิธีที่เราต้องการ แต่ทรงตอบ เสมอ ในเวลาและในวิธีที่บิดามารดาผู้รอบรู้และมีเมตตานิรันดร์ควรตอบ” (“รอคอยพระเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2020, 115–116) เศคาริยาห์กับเอลีซาเบธยังคงซื่อสัตย์อย่างไร? (ดู ลูกา 1:5–25, 57–80) ท่านพบตัวท่านกำลังรอพรหรือไม่? ท่านรู้สึกว่าพระเจ้าทรงคาดหวังอะไรจากท่านขณะท่านรอ?

ภาพ
เอลีซาเบธกับเศคาริยาห์และทารกชื่อยอห์น

หลังจากรอคอยอย่างซื่อสัตย์ เอลีซาเบธกับเศคาริยาห์ก็ได้รับพรให้มีบุตรชายคนหนึ่ง

มัทธิว 1:18–25; ลูกา 1:26–38

คนซื่อสัตย์เต็มใจยอมรับพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า

เช่นเดียวกับมารีย์ บางครั้งเราพบว่าแผนของพระผู้เป็นเจ้าสำหรับชีวิตเราแตกต่างจากแผนที่เราวางไว้มาก ท่านเรียนรู้อะไรจากมารีย์เกี่ยวกับการยอมรับพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า? ในตารางต่อไปนี้ ให้เขียนคำกล่าวจากทูตสวรรค์และมารีย์ (ดู ลูกา 1:26–38) ตามด้วยข่าวสารที่ท่านพบในคำกล่าวของพวกเขา:

คำพูดที่ทูตสวรรค์กล่าวแก่มารีย์

ข่าวสารสำหรับฉัน

คำพูดที่ทูตสวรรค์กล่าวแก่มารีย์

“องค์พระผู้เป็นเจ้าสถิตอยู่กับเธอ” (ข้อ 28)

ข่าวสารสำหรับฉัน

พระเจ้าทรงทราบสถานการณ์และการต่อสู้ดิ้นรนของฉัน

ปฏิกิริยาของมารีย์

ข่าวสารสำหรับฉัน

ปฏิกิริยาของมารีย์

“เหตุการณ์นั้นจะเป็นไปได้อย่างไร?” (ข้อ 34)

ข่าวสารสำหรับฉัน

การถามคำถามเพื่อให้เข้าใจถึงพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นเป็นเรื่องที่ไม่ได้เสียหายอะไร

ขณะอ่านแบบอย่างที่ชอบธรรมของโยเซฟใน มัทธิว 1:18–25 ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการยอมรับพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า? ท่านเรียนรู้ข้อคิดเพิ่มเติมอะไรบ้างจากประสบการณ์ของเศคาริยาห์กับเอลีซาเบธ? (ดู ลูกา 1)

ดู ลูกา 22:42; คู่มือพระคัมภีร์, “กาเบรียล” ด้วย

ลูกา 1:46–55

มารีย์เป็นพยานถึงพระพันธกิจของพระเยซูคริสต์

ถ้อยคำของมารีย์ใน ลูกา 1:46–55 บอกให้รู้พระพันธกิจด้านต่างๆ ของพระผู้ช่วยให้รอดล่วงหน้า ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์จากคำกล่าวของมารีย์? ท่านอาจจะเปรียบเทียบข้อเหล่านี้กับคำพูดของฮันนาห์ใน 1 ซามูเอล 2:1–10 และกับผู้เป็นสุขของพระเยซูใน มัทธิว 5:3–12 พระวิญญาณทรงสอนอะไรท่านขณะท่านไตร่ตรองข้อเหล่านี้?

ภาพ
ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและยามค่ำที่บ้าน

มัทธิว 1:1–17ขณะที่ครอบครัวของท่านอ่านการสืบลำดับเชื้อสายของพระเยซู ท่านอาจสนทนาประวัติครอบครัวของท่านเองและแบ่งปันเรื่องราวบางอย่างเกี่ยวกับบรรพชนของท่าน การรู้ประวัติครอบครัวของท่านเป็นพรแก่ครอบครัวท่านอย่างไร?

มัทธิว 1:20; ลูกา 1:11–13, 30เหตุใดบุคคลในข้อเหล่านี้จึงกลัว? อะไรเป็นเหตุให้เรารู้สึกกลัว? พระผู้เป็นเจ้าทรงเชื้อเชิญให้เรา “อย่ากลัวเลย” อย่างไร?

ลูกา 1:37เพื่อช่วยครอบครัวท่านสร้างศรัทธาว่า “ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่พระเจ้าทรงทำไม่ได้” ท่านอาจค้นคว้า ลูกา 1 ด้วยกันและหาสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงทำซึ่งอาจจะเห็นเป็นเรื่องสุดวิสัย เราจะแบ่งปันเรื่องใดอีกบ้าง—จากพระคัมภีร์หรือชีวิตเราเอง—ซึ่งในเรื่องนั้นพระผู้เป็นเจ้าทรงทำสิ่งที่ดูเหมือนสุดวิสัย? การค้นคว้าใน หนังสือภาพพระกิตติคุณ อาจให้แนวคิดบางประการ

ลูกา 1:46–55“การใหญ่” ที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำเพื่อเราคืออะไร? จิตวิญญาณของเรา “ยกย่ององค์พระผู้เป็นเจ้า” หมายความว่าอย่างไร?

ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

เพลงที่แนะนำ: “พระองค์ทรงส่งพระบุตรหนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 34–35

ปรับปรุงการสอนของเรา

ประยุกต์ใช้พระคัมภีร์กับชีวิตท่าน หลังจากอ่านข้อความพระคัมภีร์แล้ว จงเชื้อเชิญให้สมาชิกครอบครัวประยุกต์ใช้กับชีวิตพวกเขา (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 21) ตัวอย่างเช่น สมาชิกในครอบครัวจะประยุกต์ใช้สิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จาก มัทธิว 1 และ ลูกา 1 เกี่ยวกับการตอบรับการเรียกของพระเจ้าได้อย่างไร?

ภาพ
กาเบรียลปรากฏต่อมารีย์

ในบรรดาสตรีเธอได้รับพรมาก โดย วอลเตอร์ เรน

พิมพ์