“9–15 มกราคม มัทธิว 2; ลูกา 2: เรามานมัสการพระองค์,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)
“9–15 มกราคม มัทธิว 2; ลูกา 2,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2023
9–15 มกราคม
มัทธิว 2; ลูกา 2
เรามานมัสการพระองค์
ขณะที่ท่านอ่าน มัทธิว 2 และ ลูกา 2 ให้เอาใจใส่ข้อคิดทางวิญญาณที่ท่านได้รับ แนวคิดการศึกษาในโครงร่างนี้จะช่วยให้ท่านค้นพบหลักธรรมสำคัญและเกี่ยวข้องในบทเหล่านี้
บันทึกความประทับใจของท่าน
นับจากวันประสูติ เห็นชัดว่าพระเยซูไม่ใช่เด็กธรรมดา ไม่เพียงดาวดวงใหม่ในท้องฟ้าหรือคำประกาศอันน่ายินดีของทูตสวรรค์เท่านั้นที่ทำให้วัยทารกของพระเยซูน่าทึ่ง แต่เป็นความจริงเช่นกันที่คนซื่อสัตย์หลายคน—จากประเทศ อาชีพ และภูมิหลังต่างกัน—ต่างรู้สึกสนใจพระองค์ทันที พวกเขามาก่อนพระองค์จะมีพระดำรัสเชื้อเชิญให้ “กลับมาติดตามเรา” ด้วยซ้ำ (ลูกา 18:22) แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนมาหาพระองค์ มีคนมากมายที่ไม่สนใจพระองค์ และผู้ปกครองที่มีใจริษยาถึงกับหมายมั่นจะเอาชีวิตพระองค์ แต่ผู้แสวงหาความชอบธรรมที่อ่อนน้อมถ่อมตน บริสุทธิ์ และอุทิศตนจะเห็นพระองค์ตามที่พระองค์ทรงเป็น—พระเมสสิยาห์ที่สัญญาไว้ของพวกเขา การอุทิศตนของพวกเขาสร้างแรงบันดาลใจให้เราอุทิศตนของเราเอง เพราะ “ข่าวดี [อัน] เป็นความยินดีอย่างยิ่ง” ที่มาถึงคนเลี้ยงแกะมีไว้ให้ “คนทั้งหลาย” และ “พระผู้ช่วยให้รอดของพวกท่านคือพระคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า” ประสูติวันนั้นเพื่อเราทุกคน (ดู ลูกา 2:10–11)
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
พระเยซูคริสต์ประสูติในสภาพต่ำต้อย
ถึงแม้พระเยซูคริสต์ทรงมีรัศมีภาพร่วมกับพระผู้เป็นเจ้าพระบิดา “ก่อนที่โลกนี้มีมา” (ยอห์น 17:5) แต่พระองค์เต็มพระทัยประสูติในสภาพต่ำต้อยและทรงพระชนม์บนแผ่นดินโลกในหมู่พวกเรา ขณะที่ท่านอ่าน ลูกา 2:1–7 ให้ไตร่ตรองว่าเรื่องราวการประสูติของพระองค์เรื่องนี้สอนอะไรท่านเกี่ยวกับพระองค์ พยายามระบุรายละเอียดหรือข้อคิดในเรื่องนี้ที่ท่านไม่เคยสังเกตมาก่อน การสังเกตสิ่งเหล่านี้ส่งผลอย่างไรต่อความรู้สึกที่ท่านมีต่อพระองค์?
มีพยานหลายคนยืนยันการประสูติของพระคริสต์
การประสูติและพระกุมารของพระคริสต์ถูกทำเครื่องหมายโดยพยานและผู้นมัสการจากหลายสาขาอาชีพ ขณะท่านสำรวจเรื่องราวของพวกเขา ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับวิธีนมัสการและการเป็นพยานของพระคริสต์?
พยานของพระคริสต์ |
ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการนมัสการและการเป็นพยานของพระคริสต์? |
---|---|
พยานของพระคริสต์ คนเลี้ยงแกะ (ลูกา 2:8–20) | |
พยานของพระคริสต์ สิเมโอน (ลูกา 2:25–35) | |
พยานของพระคริสต์ อันนา (ลูกา 2:36–38) | |
พยานของพระคริสต์ นักปราชญ์ (มัทธิว 2:1–12) |
ดู 1 นีไฟ 11:13–23; 3 นีไฟ 1:5–21 ด้วย
บิดามารดาสามารถรับการเปิดเผยเพื่อคุ้มครองครอบครัวของตน
โยเซฟจะทำสิ่งที่ขอให้ท่านทำไม่ได้—นั่นคือ คุ้มครองพระเยซูในวัยเด็ก—หากปราศจากความช่วยเหลือของสวรรค์ เช่นเดียวกับนักปราชญ์ เขาได้รับการเปิดเผยที่เตือนให้เขารู้ว่ามีอันตราย ขณะท่านอ่านประสบการณ์ของโยเซฟใน มัทธิว 2:13–23 ให้นึกถึงอันตรายทางกายและทางวิญญาณที่เราพบเจอในปัจจุบัน ไตร่ตรองประสบการณ์เมื่อท่านรู้สึกถึงการนำทางจากพระผู้เป็นเจ้าในการคุ้มครองท่านและคนที่ท่านรัก ท่านอาจจะแบ่งปันประสบการณ์เหล่านี้กับผู้อื่น ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อรับการนำทางเช่นนั้นในอนาคต?
พระเยซูตั้งพระทัยทำตามพระประสงค์ของพระบิดาตั้งแต่วัยเยาว์
ขณะทรงเป็นเยาวชน พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนพระกิตติคุณอย่างมีพลังจนกระทั่งผู้สอนในพระวิหารประหลาดใจกับ “สติปัญญาและคำตอบ” ของพระองค์ (ลูกา 2:47) ท่านเรียนรู้อะไรจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดขณะทรงเป็นเยาวชน เยาวชนที่ท่านรู้จักกำลังพยายาม “ทำงานของพระบิดา [ของพวกเขา]” อย่างไร? (ลูกา 2:49) เยาวชนและเด็กเคยช่วยให้ท่านเข้าใจพระกิตติคุณลึกซึ้งขึ้นอย่างไร? ท่านเรียนรู้อะไรอีกบ้างจากแบบอย่างในวัยเด็กของพระเยซูใน ลูกา 2:40–52 และใน งานแปลของโจเซฟ สมิธ, มัทธิว 3:24–26 (ท้ายคู่มือพระคัมภีร์)?
งานแปลของโจเซฟ สมิธคืออะไร
เพราะความจริง “ที่แจ้งชัดและมีค่า” สูญหายไปจากพระคัมภีร์ไบเบิลมาหลายศตวรรษ (1 นีไฟ 13:28; ดู โมเสส 1:41 ด้วย) พระเจ้าจึงทรงบัญชาโจเซฟ สมิธให้แก้ไขพระคัมภีร์ไบเบิลด้วยการดลใจ ซึ่งเรียกกันว่างานแปลของโจเซฟ สมิธ การแก้ไขมากมายที่ท่านศาสดาพยากรณ์ทำไว้รวมอยู่ในภาคผนวกของพระคัมภีร์ฉบับวิสุทธิชนยุคสุดท้าย การแปล มัทธิว 24 ของโจเซฟ สมิธที่รู้กันในชื่อว่า โจเซฟ สมิธ—มัทธิว อยู่ในพระคัมภีร์ไข่มุกอันล้ำค่า สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมโปรดดู “งานแปลของโจเซฟ สมิธ (ปจส.)” ในคู่มือพระคัมภีร์
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและยามค่ำที่บ้าน
-
ลูกา 2เชื้อเชิญให้สมาชิกครอบครัวเลือกคนหนึ่งที่ ลูกา 2 พูดถึง อ่านสองสามข้อเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ของบุคคลนั้นกับพระผู้ช่วยให้รอด และแบ่งปันบางสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ซึ่งเพิ่มพูนศรัทธาของพวกเขาในพระเยซูคริสต์ ร้องเพลง “แมรีย์กล่อมพระกุมาร” หรือ “เพลงประสูติกาล” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 28–29, 32–33) ด้วยกัน เราเรียนรู้อะไรจากเพลงเหล่านี้เกี่ยวกับการประสูติของพระผู้ช่วยให้รอด?
พิจารณาว่างานศิลปะจะยกระดับการสนทนาเรื่องการประสูติของพระคริสต์ได้อย่างไร (ดูตัวอย่างใน หนังสือภาพพระกิตติคุณ หรือ history.ChurchofJesusChrist.org/exhibit/birth-of-Christ)
-
มัทธิว 2:1–12เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการแสวงหาและค้นหาพระผู้ช่วยให้รอดจากแบบอย่างของนักปราชญ์?
-
ลูกา 2:41–49“งานของพระบิดา” คืออะไร? (ลูกา 2:49; ดู โมเสส1:39 ด้วย) เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับกิจธุระนั้นจากเรื่องราวใน ลูกา 2:41–49 ท่านอาจจะจดวิธีการบางอย่างที่ครอบครัวท่านสามารถมีส่วนในงานของพระบิดาและใส่ไว้ในขวดโหล ในช่วงสัปดาห์ที่จะมาถึง ขณะครอบครัวท่านกำลังมองหาวิธีที่จะช่วยทำงานของพระบิดาบนสวรรค์ พวกเขาจะเลือกแนวคิดจากขวดโหลได้ วางแผนเวลาที่ท่านจะแบ่งปันประสบการณ์ของท่าน
-
ลูกา 2:52เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจาก ลูกา 2:52 เกี่ยวกับวิธีที่พระเยซูทรงพัฒนาในพระชนม์ชีพของพระองค์ เราตั้งเป้าหมายส่วนตัวหรือเป้าหมายครอบครัวอะไรได้บ้างเพื่อเพิ่ม “ด้านสติปัญญาและด้านร่างกาย เป็นที่ชอบต่อพระพักตร์พระเจ้าและต่อหน้าคนทั้งหลาย”?
ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย