“6–12 มีนาคม มัทธิว 9–10; มาระโก 5; ลูกา 9: ‘สิบสองคนนี้ พระเยซูทรงใช้ให้ออกไป,’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)
“6–12 มีนาคม มัทธิว 9–10; มาระโก 5; ลูกา 9,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2023
6–12 มีนาคม
มัทธิว 9–10; มาระโก 5; ลูกา 9
“สิบสองคนนี้ พระเยซูทรงใช้ให้ออกไป”
แนวคิดการศึกษาในโครงร่างนี้มีไว้เพื่อช่วยให้ท่านพบวิธีที่พระคัมภีร์ประยุกต์ใช้กับท่านเป็นการส่วนตัว อย่างไรก็ตาม ท่านไม่ควรแทนที่การเปิดเผยส่วนตัวที่ท่านอาจได้รับเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์ที่ต้องศึกษาหรือวิธีศึกษา
บันทึกความประทับใจของท่าน
ข่าวเรื่องปาฏิหาริย์การรักษาของพระเยซูแพร่สะพัดอย่างรวดเร็ว ฝูงชนติดตามพระองค์โดยหวังให้ทรงปลดเปลื้องความเจ็บป่วยของพวกเขา แต่เมื่อพระผู้ช่วยให้รอดทอดพระเนตรฝูงชน พระองค์ทรงเห็นมากกว่าอาการป่วยทางกาย ด้วยพระทัยเมตตา พระองค์ทรงเห็น “ฝูงแกะไม่มีผู้เลี้ยง” (มัทธิว 9:36) “ข้าวที่ต้องเกี่ยวนั้นมีมากนักหนา” พระองค์ตรัส “แต่คนงานยังน้อยอยู่” (มัทธิว 9:37) ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงเรียกอัครสาวกสิบสอง “ประทานสิทธิอำนาจให้พวกเขา” และทรงใช้พวกเขาไปสอนและปฏิบัติศาสนกิจต่อ “แกะหลงของวงศ์วานอิสราเอล” (มัทธิว 10:1, 6) ปัจจุบันต้องการคนงานรับใช้บุตรธิดาของพระบิดาบนสวรรค์มากขึ้น ยังมีอัครสาวกสิบสอง แต่มีสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์มากกว่าแต่ก่อน—คนที่สามารถประกาศต่อชาวโลกได้ว่า “แผ่นดินสวรรค์มาใกล้แล้ว” (มัทธิว 10:7)
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
มัทธิว 9:18–26; มาระโก 5:22–43
“อย่าวิตกเลย จงเชื่อเท่านั้น”
เมื่อไยรัสทูลขอให้พระเยซูทรงรักษาบุตรสาวของเขาซึ่ง “ป่วยหนัก” เป็นครั้งแรก ไยรัสพูดอย่างรีบเร่งแต่มีความหวังว่า “ขอพระองค์เสด็จไปวางพระหัตถ์บนเธอ … และมีชีวิตอยู่” (มาระโก 5:23) แต่เมื่อพวกเขากำลังไป ผู้ส่งสารคนหนึ่งบอกไยรัสว่าสายเกินไปแล้ว “ลูกสาวของท่านตายแล้ว ยังจะรบกวนอาจารย์อีกทำไม” (ข้อ 35) ในทำนองเดียวกัน อาจดูเหมือนสายเกินไปสำหรับผู้หญิงตามที่อธิบายไว้ใน มาระโก 5:25–34 ซึ่งป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บมาเป็นเวลา 12 ปี
ขณะที่ท่านอ่านเรื่องราวเหล่านี้ ท่านอาจนึกถึงสิ่งที่จำเป็นต้องรักษาในชีวิตหรือครอบครัวของท่าน—รวมถึงสิ่งที่อาจดูเหมือน “ป่วยหนัก” หรือสายเกินไปที่จะรักษา ท่านประทับใจอะไรเกี่ยวกับการแสดงศรัทธาในเรื่องราวเหล่านี้? สังเกตสิ่งที่พระเยซูตรัสกับผู้หญิงคนนั้นและกับไยรัสด้วย ท่านรู้สึกว่าพระองค์กำลังตรัสกับท่านว่าอย่างไร?
ดู ลูกา 8:41–56; รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ดึงพลังของพระเยซูคริสต์เข้ามาในชีวิตเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2017, 39–42; คำสอนของประธานศาสนจักร: กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ (2016), 393–404
พระเจ้าประทานอำนาจให้ผู้รับใช้ของพระองค์ทำงานของพระองค์
คำแนะนำที่พระเยซูประทานใน มัทธิว 10 แก่อัครสาวกสามารถประยุกต์ใช้กับเราได้เช่นกัน เพราะเราทุกคนมีส่วนในงานของพระเจ้า พระคริสต์ประทานอำนาจอะไรแก่เหล่าอัครสาวกเพื่อช่วยให้พวกเขามีสัมฤทธิผลในพันธกิจ? ท่านจะเข้าถึงเดชานุภาพของพระเจ้าในงานที่ท่านได้รับเรียกให้ทำได้อย่างไร? (ดู 2 โครินธ์ 6:1–10; หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:34–46)
ขณะท่านอ่านงานมอบหมายที่พระคริสต์ประทานแก่เหล่าอัครสาวก ท่านอาจจะได้รับความประทับใจเกี่ยวกับงานที่พระเจ้าทรงต้องการให้ท่านทำ แผนภูมิต่อไปนี้จะช่วยท่านจัดระเบียบความคิดของท่าน
ความประทับใจที่ฉันได้รับ | |
พระผู้ช่วยให้รอดประทานอำนาจแก่เหล่าสาวกของพระองค์ |
พระผู้เป็นเจ้าจะประทานอำนาจที่ฉันจำเป็นต้องใช้ทำงานของฉัน |
ดู มาระโก 6:7–13; หลักแห่งความเชื่อ 1:6; คู่มือพระคัมภีร์, “อัครสาวก”, ChurchofJesusChrist.org ด้วย
เมื่อฉันรับใช้พระเจ้า พระองค์จะทรงดลใจให้ฉันรู้ว่าจะพูดอะไร
พระเจ้าทรงมองเห็นล่วงหน้าว่าเหล่าสานุศิษย์ของพระองค์จะถูกข่มเหงและถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับศรัทธาของพวกเขา—คล้ายกับที่สานุศิษย์ในปัจจุบันประสบ แต่พระองค์ทรงสัญญากับเหล่าสานุศิษย์ว่าพวกเขาจะรู้โดยพระวิญญาณว่าจะพูดอะไร ท่านเคยมีประสบการณ์เมื่อคำสัญญาอันศักดิ์สิทธิ์นี้เกิดสัมฤทธิผลในชีวิตท่านหรือไม่ บางทีท่านอาจมีประสบการณ์ดังกล่าวเมื่อท่านแสดงประจักษ์พยาน ให้พร หรือสนทนากับคนบางคน? ท่านอาจจะแบ่งปันประสบการณ์กับคนที่ท่านรักและบันทึกไว้ในสมุดบันทึก ท่านรู้สึกได้รับการดลใจให้ทำอะไรเพื่อให้ท่านมีประสบการณ์เช่นนั้นบ่อยขึ้น?
ดู ลูกา 12:11–12; หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:85 ด้วย
พระเยซูทรงหมายถึงอะไรเมื่อพระองค์ตรัสว่า “เราไม่ได้นำสันติภาพมาให้ แต่เรานำดาบมา”?
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันสอนว่า “ข้าพเจ้ามั่นใจว่าบิดามารดาและพี่น้องของท่านเคยปฏิเสธและตัดสัมพันธ์กับท่านเมื่อท่านยอมรับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์และเข้าสู่พันธสัญญาของพระองค์ ด้วยเหตุใดก็ตาม การที่ท่านรักพระคริสต์มากกว่าเรียกร้องให้ท่านเสียสละความสัมพันธ์อันมีค่า และท่านหลั่งน้ำตามากมาย ทว่าด้วยความรักของท่านที่ไม่ลดน้อยถอยลง ท่านจึงแน่วแน่ภายใต้กางเขนนี้ โดยแสดงให้เห็นว่าท่านไม่ละอายเพราะพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า” (“เอาชีวิตของท่านรอด,” เลียโฮนา, มี.ค. 2016, 28)
การยินดีสูญเสียความสัมพันธ์อันน่าหวงแหนเพื่อติดตามพระผู้ช่วยให้รอดมาพร้อมสัญญาว่า “ผู้ที่จะเอาชีวิตของตนรอด จะกลับเสียชีวิต แต่ผู้ที่เสียชีวิตของตนเพราะเห็นแก่เราก็จะได้ชีวิตรอด” (มัทธิว 10:39)
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและยามค่ำที่บ้าน
-
มาระโก 5:22–43ขณะที่ครอบครัวของท่านอ่านเรื่องนี้ด้วยกัน ท่านอาจหยุดถามสมาชิกในครอบครัวว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรหากพวกเขาเป็นไยรัส ผู้หญิง หรือคนอื่นๆ ในเรื่องนี้ ท่านอาจแสดงรูปภาพของเรื่องได้ด้วย เช่น ภาพในโครงร่างนี้ ภาพเหล่านี้แสดงถึงศรัทธาของผู้คนในเรื่องราวอย่างไร? ท่านอาจพิจารณาความท้าทายบางอย่างที่ครอบครัวของท่านเผชิญอยู่ เราจะประยุกต์ใช้พระวจนะของพระองค์ว่า “อย่าวิตกเลย จงเชื่อเท่านั้น” ได้อย่างไร? (มาระโก 5:36)
3:271:39 -
มัทธิว 10:39; ลูกา 9:23–26การที่เรา “เสียชีวิต” และ “ได้ชีวิตรอด” หมายความว่าอย่างไร? (มัทธิว 10:39) บางทีสมาชิกครอบครัวอาจแบ่งปันประสบการณ์ที่แสดงตัวอย่างคำสอนของพระเยซูในข้อเหล่านี้
-
มัทธิว 10:40ท่านและครอบครัวทำอย่างไรเมื่อได้รับและทำตามคำแนะนำของอัครสาวกยุคปัจจุบัน การเชื่อฟังคำแนะนำของพวกท่านกำลังนำเราให้ใกล้ชิดพระเยซูคริสต์มากขึ้นอย่างไร?
-
ลูกา 9:61–62หันหลังกลับหลังจากมือเราจับคันไถแล้วหมายความว่าอย่างไร? เหตุใดเจตคติเช่นนี้จึงทำให้เราไม่คู่ควรกับอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า?
ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย
เพลงสวดที่แนะนำ: “เมื่อศรัทธาคงมั่น” เพลงสวด บทเพลงที่ 53