“13–19 มีนาคม มัทธิว 11–12; ลูกา 11: ‘เราจะให้ท่านทั้งหลายได้หยุดพัก,’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)
“13–19 มีนาคม มัทธิว 11–12; ลูกา 11,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2023
13–19 มีนาคม
มัทธิว 11–12; ลูกา 11
“เราจะให้ท่านทั้งหลายได้หยุดพัก”
ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์สอนว่า “พระคัมภีร์ ซึ่งเป็นการเปิดเผยของอดีต จะเข้าใจไม่ได้หากปราศจากการเปิดใจรับการเปิดเผยในปัจจุบัน … การศึกษาพระคัมภีร์ทำให้ชายหญิงได้รับการเปิดเผย” (“Scripture Reading and Revelation,” Ensign, Jan. 1995, 7)
บันทึกความประทับใจของท่าน
พวกฟาริสีและพวกธรรมาจารย์ทำให้การนมัสการพระเยโฮวาห์เป็นภาระในหลายๆ ทาง พวกเขามักจะเน้นกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดเกี่ยวกับความจริงนิรันดร์ กฎเกณฑ์เกี่ยวกับวันสะบาโตซึ่งควรจะเป็นวันพักผ่อนนั้นเป็นภาระอันหนักอึ้ง
แล้วพระเยโฮวาห์เองก็เสด็จมาท่ามกลางประชาชนของพระองค์ พระองค์ทรงสอนพวกเขาว่าจุดประสงค์ที่แท้จริงของศาสนาไม่ใช่เพื่อสร้างภาระ แต่เพื่อบรรเทาภาระเหล่านั้น พระองค์ทรงสอนว่าพระผู้เป็นเจ้าประทานพระบัญญัติแก่เรา รวมทั้งพระบัญญัติที่ให้เกียรติวันสะบาโต ไม่ใช่เพื่อกดขี่ข่มเหงเราแต่ให้พรเรา ใช่ ทางไปสู่พระผู้เป็นเจ้านั้นคับแคบและแคบ แต่พระเจ้าเสด็จมาเพื่อประกาศว่าเราไม่จำเป็นต้องเดินในทางนั้นตามลำพัง พระองค์ทรงอ้อนวอนให้ “มาหาเรา” คำเชื้อเชิญของพระองค์สำหรับทุกคนที่รู้สึก “แบกภาระหนัก” ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม คือการยืนเคียงข้างพระองค์ ผูกมัดตัวเราไว้กับพระองค์ และปล่อยให้พระองค์แบ่งปันภาระของเรา คำสัญญาของพระองค์คือ “จิตใจของพวกท่านจะได้หยุดพัก” เมื่อเทียบกับทางเลือกอื่น—การพยายามจะเดินต่อไปคนเดียวหรือพึ่งพาวิธีแก้ปัญหาของมนุษย์— “แอกของพระองค์ก็พอเหมาะและภาระ [ของพระองค์] ก็เบา” (มัทธิว 11:28–30)
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
พระเยซูคริสต์จะทรงให้ฉันได้หยุดพักเมื่อฉันพึ่งพาพระองค์
เราทุกคนแบกภาระ—ภาระบางอย่างเกิดจากบาปและความผิดพลาดของเราเอง บ้างเกิดจากการเลือกของผู้อื่น และบางอย่างที่ไม่ใช่ความผิดของใครแต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตบนแผ่นดินโลก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม พระเยซูทรงวิงวอนให้เรามาหาพระองค์เพื่อพระองค์จะทรงสามารถช่วยแบกภาระและบรรเทาทุกข์ของเราได้ (ดู โมไซยาห์ 24) เอ็ลเดอร์เดวิดเอ. เบดนาร์สอนว่า “การทำและรักษาพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ใส่แอกเทียมเรากับพระเจ้าพระเยซูคริสต์” (“ทนแบกสัมภาระได้โดยง่าย,” เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 88) ขณะนึกถึงคำพูดดังกล่าวให้ไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้เพื่อจะเข้าใจพระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอดในข้อเหล่านี้ดีขึ้น: พันธสัญญาของฉันใส่แอกเทียมฉันกับพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร? ฉันต้องทำอะไรเพื่อมาหาพระคริสต์? แอกของพระผู้ช่วยให้รอดก็พอเหมาะและภาระของพระองค์ก็เบาในแง่ใด?
ขณะที่ท่านอ่านมีคำถามอะไรเข้ามาในความคิดท่านอีกบ้าง? บันทึกไว้และค้นหาคำตอบสัปดาห์นี้ในพระคัมภีร์และถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ ท่านอาจจะพบคำตอบของคำถามบางข้อในข่าวสารข้างต้นของเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์
ดู จอห์น เอ. แม็คคูน, “มาหาพระคริสต์—ดำเนินชีวิตเฉกเช่นวิสุทธิชนยุคสุดท้าย,” เลียโฮนา, พ.ค. 2020, 36–38; ลอว์เรนซ์ อี. คอร์บริดจ์, “ทางนั้น,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 43–45 ด้วย
“ทำการดีได้ในวันสะบาโต”
คำสอนของพวกฟาริสีแตกต่างจากของพระผู้ช่วยให้รอดในหลายๆ ด้าน แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการให้เกียรติวันสะบาโต ขณะที่ท่านอ่าน มัทธิว 12:1–13 ท่านอาจพิจารณาว่าเจตคติและการกระทำของท่านเกี่ยวกับวันสะบาโตสอดคล้องกับคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดดีเพียงใด เพื่อทำสิ่งนี้ ท่านอาจไตร่ตรองข้อความทำนองนี้
-
“เราประสงค์ความเมตตา ไม่ประสงค์เครื่องสัตวบูชา” (ข้อ 7; ดู โฮเชยา 6:6)
-
“บุตรมนุษย์เป็นเจ้านายเหนือวันสะบาโต” (ข้อ 8)
-
“อนุญาตให้ทำการดีได้ในวันสะบาโต” (ข้อ 12)
คำสอนเหล่านี้มีอิทธิพลต่อวิธีที่ท่านเข้าใกล้วันสะบาโตอย่างไร?
ดู มาระโก 2:23–3:5
มัทธิว 12:34–37; ลูกา 11:33–44
คำพูดและการกระทำของฉันสะท้อนสิ่งที่อยู่ในใจฉัน
การวิพากษ์วิจารณ์หลักประการหนึ่งของพระผู้ช่วยให้รอดเกี่ยวกับพวกฟาริสีคือพวกเขาพยายามทำตัวเป็นคนชอบธรรมแต่เจตนาไม่บริสุทธิ์ ขณะที่ท่านศึกษาคำเตือนของพระผู้ช่วยให้รอดต่อพวกฟาริสีใน มัทธิว 12:34–37 และ ลูกา 11:33–44 ให้ไตร่ตรองความเชื่อมโยงระหว่างใจเรากับการกระทำของเรา วลี “คลังแห่งความดีในตัวของเขา” มีความหมายต่อท่านอย่างไร? (มัทธิว 12:35) คำพูดของเราอาจทำให้เราพ้นผิดหรือถูกตัดสินลงโทษอย่างไร? (ดู มัทธิว 12:37) ดวงตาของท่านอาจ “ผิดปกติ” หมายความว่าอย่างไร? (ลูกา 11:34) ไตร่ตรองว่าท่านจะ “เต็มไปด้วยความสว่าง” (ลูกา 11:36) ผ่านพลังอำนาจของพระผู้ช่วยให้รอดได้อย่างไร
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและยามค่ำที่บ้าน
-
มัทธิว 11:28–30ท่านสามารถช่วยให้ครอบครัวเห็นภาพคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดในข้อเหล่านี้ได้โดยให้พวกเขาผลัดกันลากของหนัก ตอนแรกให้ลากด้วยตนเอง จากนั้นมีคนช่วยลาก เราแบกภาระอะไรบ้าง? เราเอาแอกของพระองค์แบกไว้หมายความว่าอย่างไร? ภาพท้ายโครงร่างนี้จะช่วยท่านอธิบายว่าแอกคืออะไร
-
มัทธิว 12:10–13ขณะที่ท่านอ่านเกี่ยวกับพระเยซูทรงรักษาชายคนหนึ่งในวันสะบาโต ครอบครัวของท่านสามารถพูดคุยเกี่ยวกับวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยให้เรา “หายเป็นปกติ” ได้ วันสะบาโตจะเป็นวันแห่งการเยียวยาเราได้อย่างไร?
โดยได้รับแรงบันดาลใจจากแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดในข้อเหล่านี้ ครอบครัวของท่านสามารถเขียนรายการวิธีที่ท่านสามารถ “ทำการดีในวันสะบาโต” ได้ (ข้อ 12) อย่าลืมเขียนโอกาสในการรับใช้ผู้อื่นลงไปด้วย การเก็บรายการของท่านเอาไว้และพูดถึงในวันอาทิตย์ต่อๆ ไปอาจเป็นประโยชน์
-
ลูกา 11:33–36ไตร่ตรองว่าท่านจะสอนครอบครัวได้อย่างไรว่าการ “เต็มไปด้วยความสว่าง” หมายความว่าอย่างไร (ข้อ 34, 36) บทเรียนที่ใช้อุปกรณ์จะช่วยได้หรือไม่? ท่านอาจสนทนาวิธีนำความสว่างของพระผู้ช่วยให้รอดมาสู่ชีวิตเรา บ้านของเรา และโลกได้เช่นกัน
2:19 -
ลูกา 11:37–44บางทีครอบครัวของท่านอาจสนทนาข้อเหล่านี้ขณะล้างจานด้วยกัน ท่านสามารถพูดคุยเกี่ยวกับสาเหตุที่ไม่ควรล้างแต่ของใช้ภายนอก เช่น ชามและถ้วย จากนั้นท่านสามารถเชื่อมโยงสิ่งนี้กับความต้องการที่จะเป็นคนชอบธรรมไม่เฉพาะในการกระทำภายนอกของเราเท่านั้นแต่ในความคิดและความรู้สึกภายในของเราด้วย
ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย
เพลงสวดที่แนะนำ: “บัญญัติพระผู้เป็นเจ้า” เพลงสวด บทเพลงที่ 52