พันธสัญญาใหม่ 2023
20–26 มีนาคม มัทธิว 13; ลูกา 8; 13: “ใครมีหูจงฟังเถิด”


“20–26 มีนาคม มัทธิว 13; ลูกา 8; 13: ‘ใครมีหูจงฟังเถิด,’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)

“20–26 มีนาคม มัทธิว 13; ลูกา 8; 13,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2023

ภาพ
ข้าวสาลีพร้อมเก็บเกี่ยว

20–26 มีนาคม

มัทธิว 13; ลูกา 8; 13

“ใครมีหูจงฟังเถิด”

ขณะที่ท่านอ่าน มัทธิว 13 และ ลูกา 8; 13 ให้คิดว่าท่านจะเตรียมตัว “ฟัง” และชื่นชมคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดในอุปมาเหล่านี้อย่างไร ท่านจะทำอะไรเพื่อประยุกต์ใช้คำสอนเหล่านี้ในชีวิตท่าน?

บันทึกความประทับใจของท่าน

คำสอนที่น่าจดจำที่สุดบางประการของพระผู้ช่วยให้รอดอยู่ในรูปแบบของเรื่องเล่าพื้นๆ เรียกว่าอุปมา อุปมาเหล่านี้เป็นมากกว่าเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับสิ่งของหรือเหตุการณ์ธรรมดาทั่วไป แต่ประกอบด้วยความจริงอันลึกซึ้งเกี่ยวกับอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าสำหรับคนที่พร้อมทางวิญญาณ อุปมาเรื่องแรกๆ เรื่องหนึ่งที่บันทึกไว้ในพันธสัญญาใหม่—อุปมาเรื่องผู้หว่านพืช (ดู มัทธิว 13:3–23)—เชื้อเชิญให้เราสำรวจความพร้อมของเราในการรับพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า พระเยซูทรงประกาศว่าใครก็ตามที่รับไว้จะเพิ่มเติมให้คนนั้นมีเหลือเฟือ (ดู Joseph Smith Translation, Matthew 13:10) ดังนั้นเมื่อเราเตรียมศึกษาอุปมาของพระผู้ช่วยให้รอด—หรือคำสอนของพระองค์เรื่องใดก็ตาม—จุดที่เหมาะจะเริ่มคือสำรวจใจเราและดูว่าเรากำลังให้ “ดินดี” (มัทธิว 13:8) แก่พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าหรือไม่เพื่อให้พระวจนะนั้นเติบโต ผลิดอกออกผลอันจะเป็นพรมากมายแก่เราและครอบครัวเรา

ภาพ
ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

มัทธิว 13:3–23; ลูกา 8:4–15; 13:6–9

ใจฉันต้องพร้อมรับพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า

เหตุใดบางครั้งใจของเราจึงเปิดรับความจริงได้ง่ายขณะที่บางครั้งเราถูกล่อลวงให้ต่อต้าน? การอ่านอุปมาเรื่องผู้หว่านพืชจะให้โอกาสท่านได้คิดว่าท่านรับความจริงจากพระเจ้าได้ดีเพียงใด การจับคู่ ข้อ 3–8 ของมัทธิว 13 กับการแปลความที่ให้ไว้ใน ข้อ 18–23 อาจเป็นประโยชน์ ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเตรียม “ดินดี” ไว้ในตัวท่าน? “หนาม” ที่กีดกั้นไม่ให้ท่านฟังและทำตามพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าได้แก่อะไรบ้าง? ท่านจะเอาชนะ “หนาม” เหล่านี้ได้อย่างไร?

การศึกษาอุปมาเรื่องนี้ของท่านอาจส่งผลต่อวิธีที่ท่านอ่านอุปมาใน ลูกา 13:6–9 “ผล” ที่พระเจ้าทรงแสวงหาจากเราคืออะไร? เราจะบำรุงดินของเราอย่างไรเพื่อเราจะ “เกิดผล”?

ดู โมไซยาห์ 2:9; แอลมา 12:10–11; 32:28–43; ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “อุปมาเรื่องผู้หว่านพืช,” เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 32–35 ด้วย

มัทธิว 13:24–35, 44–52; ลูกา 13:18–21

อุปมาของพระเยซูช่วยให้ฉันเข้าใจการเติบโตและจุดหมายของศาสนจักรของพระองค์

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธสอนว่าอุปมาใน มัทธิว 13 พูดถึงการเติบโตและจุดหมายของศาสนจักรในยุคสุดท้าย ท่านอาจจะทบทวนถ้อยคำของท่านศาสดาพยากรณ์ คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ (2007), 317–329 ขณะที่ท่านพิจารณาว่าอุปมาต่อไปนี้สอนอะไรท่านเกี่ยวกับศาสนจักรของพระเจ้า:

  • ข้าวสาลีและข้าวละมาน (13:24–30, 36–43)

  • เมล็ดมัส‌ตาร์ด​ (13:31–32)

  • เชื้อ (13:33)

  • ขุมทรัพย์ที่ซ่อนไว้และไข่มุก​​มี​ค่า​มาก(13:44–46)

  • อวน (13:47–50)

  • เจ้าของบ้าน (13:52)

หลังจากไตร่ตรองอุปมาเหล่านี้ ท่านรู้สึกได้รับการดลใจให้ทำอะไรเพื่อมีส่วนเต็มที่มากขึ้นในงานของศาสนจักรยุคสุดท้ายของพระคริสต์?

ดู คู่มือพระคัมภีร์, “อาณาจักรแห่งพระผู้เป็นเจ้าหรืออาณาจักรแห่งสวรรค์,” “อุปมา,” scriptures.ChurchofJesusChrist.org ด้วย

ภาพ
ไข่มุก

พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เป็น “​ไข่มุก​​มี​ค่า​มาก” (มัทธิว 13:46)

มัทธิว 13:24–30, 36–43

คนชอบธรรมต้องเติบโตในหมู่คนชั่วร้ายจนสิ้นโลก

วิธีหนึ่งที่จะวิเคราะห์อุปมานี้คือวาดรูปและเขียนความหมายที่แปลไว้ใน มัทธิว 13:36–43 และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 86:1–7 กำกับไว้ด้วย ข้าวละมานคือ “วัชพืชมีพิษที่ดูคล้ายข้าวสาลีจนกว่าจะออกรวง” (คู่มือพระคัมภีร์, “ข้าวละมาน”) ความจริงอะไรในอุปมานี้ดลใจให้ท่านยังคงซื่อสัตย์แม้จะมีความชั่วร้ายในโลก?

ลูกา 8:1–3

“ผู้หญิงบางคน” ปรนนิบัติพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร?

“สานุศิษย์หญิงเดินทางไปกับพระเยซูและอัครสาวกสิบสองเพื่อเรียนรู้จาก [พระเยซู] ทางวิญญาณและรับใช้พระองค์ทางโลก … นอกจากจะรับการปฏิบัติศาสนกิจของพระเยซูแล้ว—ข่าวประเสริฐของพระกิตติคุณและพรแห่งเดชานุภาพการเยียวยาของพระองค์—หญิงเหล่านี้ปรนนิบัติพระองค์โดยมอบทรัพย์สินของพวกเธอและอุทิศตนต่อพระองค์” (Daughters in My Kingdom [2017], 4) สตรีที่ติดตามพระผู้ช่วยให้รอดแสดงประจักษ์พยานอันทรงพลังถึงพระองค์เช่นกัน (ดู ลินดา เค. เบอร์ตัน, “สตรีที่เด็ดเดี่ยว,” เลียโฮนา, พ.ค. 2017, 12–15)

ภาพ
ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและยามค่ำที่บ้าน

มัทธิว 13ขณะสมาชิกครอบครัวท่านอ่านอุปมาของพระผู้ช่วยให้รอด พวกเขาอาจจะคิดอุปมาของพวกเขาเองที่สอนความจริงเดียวกันเกี่ยวกับแผ่นดินสวรรค์ (ศาสนจักร) โดยใช้อุปกรณ์หรือสถานการณ์ที่พวกเขาคุ้นเคย

มัทธิว 13:3–23; ลูกา 8:4–15หลังจากอ่านอุปมาเรื่องผู้หว่านพืชด้วยกันแล้ว ครอบครัวของท่านอาจสนทนาคำถามดังนี้ อะไรจะทำให้ “ดิน” (ใจเรา) “แข็งกระด้าง” หรือ “รัด” พระวจนะ? เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าดินของเราดีและเกิดผล?

ถ้าท่านมีลูกเล็กในครอบครัว อาจเป็นเรื่องสนุกถ้าเชิญสมาชิกในครอบครัวให้แสดงท่าทางบอกวิธีต่างๆ ที่จะเตรียมใจเราให้พร้อมฟังพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าขณะสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวทายว่าพวกเขากำลังทำอะไร

มัทธิว 13:13–16ท่านจะช่วยให้สมาชิกครอบครัวเข้าใจความสำคัญของการเต็มใจรับพระวจนะของพระคริสต์ได้อย่างไร? เพื่ออธิบายเกี่ยวกับ “หู [ที่] ตึง” ท่านอาจจะปิดหูของสมาชิกในครอบครัวขณะอ่าน มัทธิว 13:13–16 อย่างเงียบๆ สมาชิกครอบครัวคนนั้นเข้าใจจากข้อเหล่านี้มากน้อยเพียงใด? มีวิธีใดบ้างที่เราจะเปิดตา เปิดหู และเปิดใจยอมรับพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า?

มัทธิว 13:44–46ชายสองคนในอุปมาเหล่านี้มีอะไรเหมือนกัน? มีสิ่งเพิ่มเติมที่เราควรทำเป็นรายบุคคลและเป็นครอบครัวเพื่อให้อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้ามาเป็นอันดับแรกในชีวิตเราหรือไม่?

ลูกา 13:11–17สมาชิกครอบครัวเคยมีประสบการณ์ที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าไม่สามารถ “ยืด [ตัว] ขึ้น” หรือไม่? เรารู้จักคนอื่นที่รู้สึกแบบนี้หรือไม่? เราจะช่วยได้อย่างไร? พระผู้ช่วยให้รอดทรง “ปลดปล่อย” เราจากความทุพพลภาพของเราอย่างไร?

ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

ปรับปรุงการสอนของเรา

ท่องจำพระคัมภีร์ เลือกพระคัมภีร์หนึ่งข้อที่มีความหมายต่อครอบครัวท่านเป็นพิเศษและเชิญชวนสมาชิกครอบครัวให้ท่องจำ เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์สอนว่า “พระคัมภีร์ที่ท่องได้กลายเป็นเพื่อนที่ยั่งยืนไม่เสื่อมคลายตามกาลเวลา” (“พลังแห่งพระคัมภีร์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 6)

ภาพ
ชายคนหนึ่งกำลังหว่านเมล็ดพืช

อุปมาเรื่องผู้หว่านพืช โดย จอร์จ โซเพอร์

พิมพ์