อุปมาเรื่องผู้หว่านพืช
ขึ้นอยู่กับเราแต่ละคนที่จะจัดลำดับความสำคัญและทำสิ่งที่จะทำให้ดินของเราดีและเกิดผลมากมาย
การมอบหมายหัวข้อการประชุมใหญ่—ไม่ได้ทำโดยอำนาจของมนุษย์แต่โดยการดลใจของพระวิญญาณ หลายหัวข้อจะกล่าวถึงความเป็นห่วงแบบมรรตัยที่เรามีร่วมกัน แต่ดังที่พระเยซูไม่ได้ทรงสอนวิธีเอาชนะความท้าทายในความเป็นมรรตัยหรือการกดขี่ทางการเมืองในสมัยของพระองค์ โดยปกติพระองค์ทรงดลใจผู้รับใช้ของพระองค์ให้พูดเกี่ยวกับสิ่งที่เราต้องทำเพื่อปรับปรุงชีวิตส่วนตัวของเราเพื่อเตรียมเรากลับไปบ้านบนสวรรค์ ใน สุดสัปดาห์อีสเตอร์นี้ข้าพเจ้ารู้สึกถึงการดลใจที่จะพูดเกี่ยวกับคำสอนที่มีค่าและเป็นอมตะในอุปมาหนึ่งของพระเยซู
อุปมาเรื่องผู้หว่านพืชเป็นหนึ่งในอุปมาไม่กี่เรื่องที่มีกล่าวไว้เป็นใจความสำคัญของพระกิตติคุณสัมพันธ์ทั้งสามเล่ม และเป็นหนึ่งในกลุ่มอุปมาเล็กๆ ที่พระเยซูทรงอธิบายแก่สานุศิษย์ของพระองค์ เมล็ดที่ปลูกนั้นเป็น “คำบอกเล่าเรื่องแผ่นดินของพระเจ้า” (มัทธิว 13:19) “พระวจนะ” (มาระโก 4:14) หรือ “พระวจนะของพระเจ้า” (ลูกา 8:11)—คำสอนของพระอาจารย์และผู้รับใช้ของพระองค์
พื้นดินต่างชนิดที่เมล็ดตกแสดงให้เห็นวิธีต่างๆ ที่คนรับและทำตามคำสอนเหล่านี้ ดังนั้นเมล็ดที่ “ตกตามหนทาง” (มาระโก 4:4) นั้นหยั่งรากไม่ถึงดินแห่งมรรตัยที่เมล็ดนั้นอาจเติบโตได้ เมล็ดเหล่านั้นเป็นดังคำสอนซึ่งตกสู่ใจที่แข็งกระด้างหรือใจที่ไม่พร้อม ข้าพเจ้าจะไม่พูดอะไรอีกเกี่ยวกับเมล็ดเหล่านี้ ข่าวสารของข้าพเจ้าเกี่ยวข้องกับคนเหล่านั้นในบรรดาพวกเราที่ให้คำมั่นสัญญาที่จะเป็นผู้ติดตามของพระคริสต์ เราทำอะไรกับคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดบ้างขณะที่เราดำเนินชีวิตของเรา
อุปมาเรื่องผู้หว่านพืชเตือนเราถึงสภาพและเจตคติที่กีดขวางใครก็ตามที่ได้รับเมล็ดแห่งข่าวสารพระกิตติคุณจากการออกผลดี
I. พื้นหิน, ไม่มีราก
เมล็ดบางเมล็ด “ตกที่ซึ่งมีพื้นหินมีเนื้อดินแต่น้อย จึงงอกขึ้นโดยเร็ว เพราะดินไม่ลึก แต่เมื่อแดดจัด แดดก็แผดเผา เพราะรากไม่มี จึงเหี่ยวไป” (มาระโก 4:5–6)
พระเยซูทรงอธิบายว่านี่บรรยายถึงคนเหล่านั้น “ที่ได้ยินพระวจนะ แล้วก็รับทันทีด้วยความยินดี” แต่เนื่องจากพวกเขา “แต่ไม่ได้หยั่งรากลงในตัว … เมื่อเกิดการยากลำบากหรือการข่มเหงเพราะพระวจนะนั้น พวกเขาก็เลิกเสียทันที” (มาระโก 4:16–17)
อะไรที่เป็นสาเหตุให้ผู้สดับฟัง “ไม่ได้หยั่งรากลงในตัว” นี่เป็นสภาพของสมาชิกใหม่ที่เพียงแต่เปลี่ยนใจเลื่อมใสเพื่อผู้สอนศาสนาหรือเพื่อคุณลักษณะพิเศษอันน่าสนใจของศาสนจักรหรือเพื่อพรอันยิ่งใหญ่มากมายของการเป็นสมาชิกศาสนจักร โดยไม่ได้หยั่งรากลึกในพระคำ พวกเขาจะโดนแผดเผาและเหี่ยวเฉาไปเมื่อมีสิ่งตรงกันข้ามเกิดขึ้น แม้แต่คนที่เติบโตในศาสนจักร—สมาชิกยาวนาน—อาจหลุดไปสู่สภาพที่ไม่ได้หยั่งรากลงในตัวได้ ข้าพเจ้ารู้จักบางคนที่เป็นเช่นนี้—สมาชิกที่ไม่ได้เปลี่ยนใจเลื่อมใสสู่พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์อย่างมั่นคงและถาวร หากเราไม่หยั่งรากลงในคำสอนของพระกิตติคุณและปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ เราจะเริ่มมีใจแข็งกระด้าง ซึ่งเป็นพื้นหินสำหรับเมล็ดทางวิญญาณ
อาหารทางวิญญาณเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการอยู่รอดทางวิญญาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกที่ยิ่งออกห่างจากความเชื่อในพระผู้เป็นเจ้าและจากความถูกต้องและความผิดที่ชัดเจน ในยุคสมัยที่อินเทอร์เน็ตครองโลก ซึ่งขยายข่าวสารที่สามารถทำลายศรัทธา เราต้องเพิ่มการรับรู้ความจริงทางวิญญาณของเรามากขึ้นเพื่อเสริมสร้างศรัทธาของเราและให้รากหยั่งลึกในพระกิตติคุณ
คนหนุ่มสาวทั้งหลาย หากคำสอนนั้นดูเหมือนจะกว้างไป ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างที่เฉพาะเจาะจง หากกำลังมีการส่งผ่านส่วนศีลระลึกและท่านกำลังส่งข้อความหรือกระซิบกระซาบหรือเล่นวีดีโอเกมหรือทำอะไรอื่นที่ทำให้ตัวท่านปฏิเสธอาหารทางวิญญาณที่สำคัญ ท่านกำลังถอนรากทางวิญญาณของท่านและเริ่มขยับไปสู่พื้นหิน ท่านกำลังทำให้ตัวท่านเองเสี่ยงต่อการเหี่ยวเฉาเมื่อท่านพบกับความยากลำบาก การข่มขู่ และการถูกเย้ยหยัน และนั่นหมายรวมถึงกับผู้ใหญ่ด้วย
ตัวทำลายรากทางวิญญาณที่เป็นไปได้อีกอย่างหนึ่ง—เกิดจากเทคโนโลยีในปัจจุบันแต่ไม่ได้เป็นเช่นนั้นอย่างเดียว—คือการมองเห็นพระกิตติคุณหรือศาสนจักรผ่านรูกุญแจ การมองเห็นที่จำกัดนี้มักมุ่งไปที่หลักคำสอนหรือการปฏิบัติเจาะจงข้อเดียวหรือสังเกตความบกพร่องของผู้นำ และละเลยทัศนียภาพทั้งหมดของแผนพระกิตติคุณและผลส่วนตัวและส่วนรวม ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์บรรยายไว้อย่างชัดเจนถึงด้านหนึ่งในการมองผ่านรูกุญแจนี้ ท่านบอกผู้ฟังที่บีวายยูเกี่ยวกับนักวิจารณ์ทางการเมืองที่ “โกรธเคือง” ข่าวเหตุการณ์ปัจจุบันในตอนนั้น “พวกเขาเก่งในการพูดสิ่งที่โกรธแค้นและเย้ยหยัน …แน่นอน” ท่านสรุปว่า “นี่เป็นยุคที่การพูดตลกถากถางแบบนี้เป็นที่ยอมรับ”1 ในทางตรงกันข้าม เพื่อหยั่งรากลึกอย่างมั่นคงในพระกิตติคุณ เราต้องไม่สุดโต่ง ไม่วิพากษ์วิจารณ์คนอื่นอย่างหนัก และแสวงหาทัศนียภาพของงานอันสูงส่งของพระผู้เป็นเจ้าที่กว้างขึ้น
II. ต้นหนาม: ความกังวลของโลกนี้และความลุ่มหลงในทรัพย์สมบัติ
พระเยซูคริสต์สอนว่า “บ้างก็ตกกลางต้นหนาม ต้นหนามก็งอกขึ้นปกคลุมเสีย จึงไม่เกิดผล” (มาระโก 4:7) พระองค์ทรงอธิบายว่าคนเหล่านี้เป็น “คนที่ได้ยินพระวจนะ แล้วความกังวลของโลก และความลุ่มหลงในทรัพย์สมบัติ และความโลภในสิ่งต่างๆ ประดังเข้ามา และรัดพระวจนะนั้น จึงไม่เกิดผล” (มาระโก 4:18–19) นี่เป็นการเตือนอย่างแน่นอนที่เราทุกคนต้องรับฟัง
ข้าพเจ้าจะขอพูดถึงความลุ่มหลงในทรัพย์สมบัติก่อน เมื่อใดก็ตามที่เราอยู่ในการเดินทางทางวิญญาณ—ไม่ว่าสภาพของการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของเราจะเป็นอย่างไร —เราล้วนได้รับการล่อลวงจากสิ่งนี้ เมื่อเจตคติหรือลำดับความสำคัญถูกกำหนดไว้กับการได้มา การใช้ และการครอบครองทรัพย์สมบัติ เราเรียกสิ่งนั้นว่าวัตถุนิยม มีการพูดและเขียนไว้มากมายเกี่ยวกับวัตถุนิยมจนไม่จำเป็นต้องเอ่ยเพิ่มเติมในที่นี้2 ผู้ที่บูชาสิ่งที่เรียกว่าทรัพย์สินเงินทองกำลังทุกข์ทรมานจากความลุ่มหลงในทรัพย์สมบัติ การครอบครองทรัพย์สมบัติหรือรายได้มหาศาลไม่ได้เป็นเครื่องหมายว่าสวรรค์พึงพอใจ และการไม่มีสิ่งดังกล่าวไม่ใช่เครื่องพิสูจน์ว่าสวรรค์ไม่พึงพอใจ เมื่อพระเยซูทรงบอกผู้ติดตามที่ซื่อสัตย์ว่าเขาสามารถได้รับชีวิตนิรันดร์เป็นมรดกหากเขาเพียงให้ทุกสิ่งที่เขามีกับคนจน (ดู มาระโก 10:17–24) พระองค์ไม่ได้ชี้ว่า การครอบครอง ทรัพย์สมบัติเป็นสิ่งชั่วร้ายแต่ เจตคติ ของผู้ติดตามความร่ำรวยนั้นที่ชั่วร้าย อย่างที่เราทราบ พระเยซูสรรเสริญชาวสะมาเรียใจดี ผู้รับใช้เพื่อนมนุษย์โดยใช้เงินแบบเดียวกับที่ยูดาสใช้เพื่อทรยศพระผู้ช่วยให้รอดของเขา รากเหง้าของความชั่วทั้งหมดไม่ใช่เงินทองแต่เป็น การรักเงินทอง (ดู 1 ทิโมธี 6:10)
พระคัมภีร์มอรมอนบอกถึงช่วงเวลาเมื่อศาสนจักรของพระผู้เป็นเจ้า “เริ่มเสื่อมในความก้าวหน้า” (แอลมา 4:10) เพราะว่า “ผู้คนของศาสนจักรเริ่ม …หมกมุ่นกับความมั่งคั่งและกับสิ่งไร้ประโยชน์ของโลก” (แอลมา 4:8) ใครก็ตามที่มีวัตถุมากมายเสี่ยงต่อการ “ชะลอ” ทางวิญญาณโดยความร่ำรวยและสิ่งอื่นๆ ของโลก3 นี่เป็นบทนำที่เหมาะสมสำหรับคำสอนต่อไปของพระผู้ช่วยให้รอด
ต้นหนามที่แหลมที่สุดที่เบียดบังผลของพระวจนะพระกิตติคุณในชีวิตของเราคือพลังทางโลกที่พระเยซูคริสต์ทรงเรียกว่า “ความกังวล ทรัพย์สมบัติ และความสนุกสนานของชีวิตนี้” (ลูกา 8:14) สิ่งเหล่านี้มีมากเกินจะสาธยายได้ ขอยกตัวอย่างสักเล็กน้อยคงเพียงพอ
ครั้งหนึ่งพระเยซูทรงตำหนิหัวหน้าอัครสาวกของพระองค์ โดยตรัสกับเปโตรว่า “เจ้าเป็นเครื่องกีดขวางเราเพราะเจ้าไม่ได้คิดอย่างพระเจ้า แต่เจ้าคิดอย่างมนุษย์” (มัทธิว 16:23; ดู คพ. 3:6–7; 58:39 ด้วย) คิดอย่างมนุษย์หมายถึงการให้ความกังวลของโลกมาก่อนเรื่องของพระผู้เป็นเจ้าในการกระทำของเรา ลำดับความสำคัญของเรา และความคิดของเรา
เรายอมแพ้ต่อ “ความสนุกสนานของชีวิตนี้” (1) เมื่อเราเสพติดนิสัยในบางอย่าง ซึ่งทำลายของประทานแห่งสิทธิเสรีอันล้ำค่าของพระผู้เป็นเจ้า (2) เมื่อเราถูกล่อลวงโดยสิ่งที่ทำให้เขวเล็กน้อย ซึ่งดึงเราออกจากสิ่งที่สำคัญนิรันดร์ และ (3) เมื่อเราเชื่อว่าเรามีสิทธิ์ได้รับ ซึ่งทำลายการเติบโตส่วนตัวที่จำเป็นต่อการมีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับปลายทางนิรันดร์ของเรา
เราถูกครอบงำด้วย “ความกังวล … ของชีวิตนี้” เมื่อเรากลัวอนาคตจนทำอะไรไม่ได้ ซึ่งขัดขวางการมุ่งหน้าด้วยศรัทธาของเรา การวางใจในพระผู้เป็นเจ้าและคำสัญญาของพระองค์ ยี่สิบห้าปีก่อน ฮิวจ์ ดับเบิลยู. นิบลีย์ อาจารย์บีวายยูที่เคารพของข้าพเจ้าพูดถึงอันตรายจากการยอมแพ้ต่อความกังวลทางโลก ท่านถูกถามในการสัมภาษณ์ว่าสภาพทางโลกและหน้าที่ของเราในการเผยแผ่พระกิตติคุณทำให้อยากหาทางที่จะ “เปลี่ยนวิธีที่เราปฏิบัติในศาสนจักรให้เหมือนกับที่โลกทำ”4 หรือไม่
ท่านตอบว่า “นั่นเป็นเรื่องทั้งหมดของศาสนจักร ไม่ใช่หรือครับ คุณต้องเต็มใจที่จะทำให้คนไม่พอใจ คุณต้องเต็มใจเสี่ยง นั่นเป็นเวลาที่ศรัทธาจะเข้ามา…คำมั่นสัญญาของเราควรเป็นบททดสอบ ควรจะเป็นเรื่องยาก ควรจะไม่อยู่ในวิสัยที่ทำได้ตามนิยามของโลกนี้”5
เรื่องสำคัญทางพระกิตติคุณนี้ได้รับการยืนยันที่วิทยาเขตของบีวายยูเมื่อสองสามเดือนที่ผ่านมาโดย ชาร์ลส์ เจ. คาพุท ผู้นำคาทอลิกที่น่าเคารพหัวหน้าบาทหลวงในฟิลาเดลเฟีย เมื่อพูดเกี่ยวกับ “สิ่งที่ชุมชนแอลดีเอสและคาทอลิกมีเหมือนกัน” เช่น “เกี่ยวกับการแต่งงานและครอบครัว ธรรมชาติวิสัยทางเพศของเรา ความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตมนุษย์ และความเร่งด่วนของเสรีภาพทางศาสนา” ท่านกล่าวดังนี้
“ข้าพเจ้าอยากเน้นอีกครั้งถึงความสำคัญของการดำเนินชีวิตตามสิ่งที่เราอ้างว่าเราเชื่อจริงๆ นั่นต้องเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง—ไม่ใช่ในชีวิตส่วนตัวและครอบครัวของเราเท่านั้นแต่ในศาสนจักรของเรา ในการเลือกทางการเมืองของเรา การดำเนินธุรกิจของเรา การปฏิบัติของเราต่อคนยากจน หรือพูดอีกอย่างคือ ในทุกสิ่งที่เราทำ”
“นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมจึงสำคัญ” ท่านพูดต่อ “เรียนรู้จากประสบการณ์ของคาทอลิก เราชาวคอทอลิกเชื่อว่าอาชีพของเราควรทำให้สังคมเราเฟื่องฟูขึ้น แต่ก็มีเส้นแบ่งระหว่างการเป็นอิทธิพลที่ดี ใน สังคมกับการถูกกลืน โดย สังคม”6
คำเตือนของพระผู้ช่วยให้รอดที่ไม่ให้ความกังวลทางโลกนี้เค้นพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าออกจากชีวิตเราจะท้าทายเราให้กำหนดลำดับความสำคัญของเราอย่างแน่วแน่—ใจจดจ่อ—อยู่กับพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าและผู้นำของศาสนจักรของพระองค์
ตัวอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดอาจทำให้เรานึกถึงอุปมานี้ว่าเป็นอุปมาเรื่องดิน ความเหมาะสมของดินขึ้นอยู่กับหัวใจของเราแต่ละคนที่ได้รับเมล็ดพระกิตติคุณ ในความรู้สึกไวต่อคำสอนทางวิญญาณ หัวใจบางดวงอาจแข็งกระด้างและไม่พร้อม หัวใจบางดวงอาจเป็นหินจากการไม่ได้ใช้ และหัวใจบางดวงอาจหมกมุ่นอยู่กับสิ่งทางโลก
III. ตกที่ดินดีแล้วเกิดผล
อุปมาเรื่องผู้หว่านพืชจบด้วยคำอธิบายของพระผู้ช่วยให้รอดเกี่ยวกับเมล็ดที่ “ตกที่ดินดี แล้วเกิดผล” ในปริมาณที่ต่างกัน (มัทธิว 13:8) เราจะเตรียมตัวเราเพื่อเป็นดินดีดังกล่าวและเพื่อเกิดผลดีได้อย่างไร
พระเยซูทรงอธิบายว่า “ดินดีหมายถึงคนเหล่านั้นที่ได้ยินพระวจนะแล้วจดจำไว้ด้วยใจที่ซื่อสัตย์ดีงาม จึงเกิดผลโดยความทรหดอดทน” (ลูกา 8:15) เรามีเมล็ดของพระวจนะพระกิตติคุณ ขึ้นอยู่กับเราแต่ละคนที่จะจัดลำดับความสำคัญและทำสิ่งที่จะทำให้ดินของเราดีและเกิดผลมากมาย เราต้องพยายามหยั่งรากอย่างมั่นคงและเปลี่ยนใจเลื่อมใสสู่พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ (ดู โคโลสี 2:6–7) เราทำให้การเปลี่ยนใจเลื่อมใสนี้เกิดสัมฤทธิผลได้โดยการสวดอ้อนวอน โดยการอ่านพระคัมภีร์ โดยการรับใช้ และโดยการรับส่วนศีลระลึกเป็นประจำเพื่อจะมีพระวิญญาณของพระองค์อยู่กับเราตลอดเวลา เราต้องแสวงหาการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจด้วย (ดู แอลมา 5: 12–14) เพื่อให้ความรักของพระผู้เป็นเจ้าและความปรารถนาที่จะรับใช้พระองค์และลูกๆ ของพระองค์มาแทนที่ความปรารถนาอันชั่วร้ายและความกังวลอันเห็นแก่ตัว
ข้าพเจ้าเป็นพยานถึงความจริงของสิ่งเหล่านี้ และข้าพเจ้าเป็นพยานถึงพระผู้ช่วยให้รอดของเรา พระเยซูคริสต์ ซึ่งคำสอนของพระองค์ชี้ทางและการชดใช้ของพระองค์ทำให้ทุกอย่างเป็นไปได้ ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน