2010–2019
ถ้าลูกจะรับผิดชอบ
เมษายน 2015


10:37

ถ้าลูกจะรับผิดชอบ

ขอให้เรามุ่งหน้าโดยการเรียนรู้หน้าที่ของเรา ตัดสินใจอย่างถูกต้อง ทำตามการตัดสินใจนั้น และยอมรับพระประสงค์ของพระบิดา

ข้าพเจ้าอายุเพียง 12 ขวบ เมื่อผู้สอนศาสนาเข้ามาสอนพระกิตติคุณเป็นครั้งแรกที่บ้านเกิดของข้าพเจ้าทางตอนเหนือของประเทศชิลี วันอาทิตย์วันหนึ่ง หลังจากข้าพเจ้าเข้าร่วมการประชุมในสาขาเล็กๆ เป็นเวลา 6 เดือน ขณะผู้สอนศาสนาคนหนึ่งกำลังส่งผ่านศีลระลึก เขายื่นถาดขนมปังให้ข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามองเขาและพูดเบาๆว่า “ผมรับไม่ได้”

“ทำไมล่ะ” เขาตอบ

ข้าพเจ้าบอกเขาว่า “เพราะผมไม่ใช่สมาชิกศาสนจักรครับ”1

ผู้สอนศาสนาคนนั้นแทบไม่เชื่อสิ่งที่ได้ยิน เขาตกใจ ข้าพเจ้าคาดว่าเขาคงนึกในใจ “แต่เด็กหนุ่มคนนี้เข้าร่วมทุกการประชุม เป็นไปได้อย่างไรที่เขาไม่ได้เป็นสมาชิกศาสนจักร”

ในวันต่อมา ผู้สอนศาสนามาบ้านข้าพเจ้า พวกเขาทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อสอนครอบครัวข้าพเจ้า แต่เนื่องจากครอบครัวข้าพเจ้าไม่สนใจ จึงเป็นเพราะการไปโบสถ์ทุกสัปดาห์เป็นเวลากว่าหกเดือนของข้าพเจ้าเท่านั้นที่ทำให้ผู้สอนศาสนารู้สึกมั่นใจพอที่จะสอนต่อไป ในที่สุด ช่วงเวลาสำคัญที่ข้าพเจ้าเฝ้ารอก็มาถึงเมื่อพวกเขาเชื้อเชิญให้ข้าพเจ้าเป็นสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ ผู้สอนศาสนาอธิบายกับข้าพเจ้าว่า เนื่องจากข้าพเจ้ายังเป็นผู้เยาว์ ข้าพเจ้าต้องได้รับอนุญาตจากผู้ปกครอง ข้าพเจ้ากับผู้สอนศาสนาเข้าไปหาคุณพ่อ พลางคิดว่าคำตอบที่เปี่ยมด้วยความรักจะเป็นอย่างนี้ “ลูกพ่อ เมื่อลูกโตเป็นผู้ใหญ่ ลูกจะสามารถตัดสินใจเองได้”

ขณะผู้สอนศาสนาพูดกับคุณพ่อ ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนอย่างมีศรัทธา เพื่อให้ใจท่านได้รับการสัมผัส เพื่อท่านจะอนุญาตในสิ่งที่ข้าพเจ้าต้องการ คุณพ่อตอบผู้สอนศาสนาดังนี้ “เอ็ลเดอร์ ในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา ผมเห็นฮอร์เก ลูกชายผมตื่นแต่เช้าตรู่ทุกวันอาทิตย์ แต่งกายเรียบร้อยที่สุด และเดินไปโบสถ์ ผมเห็นแต่อิทธิพลดีจากศาสนจักรในตัวเขา” หลังจากนั้น คุณพ่อพูดกับข้าพเจ้า ซึ่งยังความประหลาดใจแก่ข้าพเจ้าว่า “ลูกพ่อ ถ้าลูกจะรับผิดชอบต่อการตัดสินใจครั้งนี้ พ่อจะอนุญาตให้ลูกรับบัพติศมา” ข้าพเจ้าสวมกอดคุณพ่อ หอมแก้มท่าน และขอบคุณที่ท่านอนุญาต วันรุ่งขึ้น ข้าพเจ้ารับบัพติศมา สัปดาห์ที่แล้วเป็นการครบรอบ 47 ปี ของช่วงเวลาสำคัญในชีวิตข้าพเจ้า

เรามีความรับผิดชอบอะไรบ้างในฐานะสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ ประธานโจเซฟ พิลดิงก์ สมิธ อธิบายไว้ดังนี้ “เรามีความรับผิดชอบสำคัญยิ่งสองประการ … หนึ่ง การแสวงหาความรอดของตนเอง และสอง หน้าที่ของเราต่อเพื่อนมนุษย์”2

สิ่งเหล่านี้จึงเป็นความรับผิดชอบหลักที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงมอบหมายให้เรา คือการแสวงหาความรอดของตนเองและผู้อื่น ด้วยความเข้าใจในข้อความนี้ที่ว่า ความรอด หมายถึงการบรรลุถึงระดับของรัศมีภาพชั้นสูงสุดที่พระบิดาประทานแก่บุตรธิดาที่เชื่อฟังของพระองค์3 ความรับผิดชอบเหล่านี้ที่ทรงฝากฝังไว้กับเรา และเรายอมรับอย่างเต็มใจ ต้องกำหนดการจัดลำดับความสำคัญของเรา ความปรารถนาของเรา การตัดสินใจของเรา และความประพฤติในแต่ละวันของเรา

สำหรับบางคนเข้าใจว่าเพราะการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ ความสูงส่งจึงอยู่ในวิสัยที่จะได้มาและการไม่ได้รับความสูงส่งนำไปสู่ความอัปมงคล ดังนั้นสิ่งตรงข้ามกับความรอดคือความอัปมงคล เช่นเดียวกับความสำเร็จซึ่งตรงข้ามกับความล้มเหลว ประธานโธมัส เอส. มอนสันสอนเราว่า “มนุษย์ไม่สามารถดำรงอยู่กับความธรรมดาสามัญได้นาน เมื่อเขามองเห็นความดีเลิศที่พวกเขาสามารถเอื้อมถึงได้”4 หากเรารู้แล้วว่าความสูงส่งเป็นไปได้ แล้วเราจะพึงพอใจกับสิ่งที่ด้อยกว่าความสูงส่งได้อย่างไร

ข้าพเจ้าขอแบ่งปันหลักธรรมสำคัญสี่ประการซึ่งจะช่วยให้เราเติมเต็มความปรารถนาที่เราจะรับผิดชอบต่อพระบิดาในสวรรค์และช่วยเราตอบสนองความคาดหวังของพระองค์ที่ประสงค์ให้เราเป็นดังพระองค์

1. เรียนรู้หน้าที่ของเรา

หากเราทำตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า และมีความรับผิดชอบต่อพระองค์ เราต้องเริ่มต้นโดยการเรียนรู้ ทำความเข้าใจ ยอมรับ และดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ที่พระองค์ทรงมีต่อเรา พระเจ้าตรัสว่า “บัดนี้​ให้​ทุก​คน​พึง​เรียน​รู้หน้าที่ของ​ตน, และ​กระทำ​ใน​ตำแหน่ง​ซึ่ง​ตน​ได้​รับ​การ​กำหนด​ไว้, ด้วย​ความ​ขยัน​หมั่นเพียรจนสุดความสามารถ”5 การมีความปรารถนาที่จะทำสิ่งถูกต้องยังไม่เพียงพอ หากเรายังไม่มั่นใจว่าเราเข้าใจสิ่งที่พระบิดาทรงคาดหวังจากเราและทรงต้องการให้เราทำ

ในเรื่องราวของอลิซในแดนมหัศจรรย์ อลิซไม่รู้ว่าเธอควรไปทางไหน เธอจึงถามแมวเชสเชอร์ “เธอช่วยบอกฉันทีว่าฉันควรเดินไปทางไหน”

แมวตอบว่า “มันขึ้นอยู่กับว่าเธออยากไปที่ไหน”

อลิซ กล่าวว่า “ฉันไม่สนใจสักเท่าไรว่าฉันจะไปไหน”

“ถ้าอย่างนั้น เธอจะไปทางไหนก็ไม่สำคัญ” แมวตัวนั้นกล่าว6

อย่างไรก็ตาม เรารู้ว่าทางที่นำไปสู่ “ต้นไม้, ซึ่งมีผลอันพึงปรารถนาที่จะทำให้คนเป็นสุข”7—“ทางที่นำไปสู่ชีวิต”—นั้นแคบ ต้องใช้ความพยายามในการเดินตลอดเส้นทาง และ “ผู้ที่หาพบก็มีน้อย”8

นีไฟสอนเราว่า “พระวจนะของพระคริสต์จะบอกท่านทุกสิ่งที่ท่านควรทำ”9 จากนั้นท่านเสริมว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์…จะทรงแสดงแก่ท่านถึงสิ่งทั้งปวงที่ท่านควรทำ”10 ดังนั้น แหล่งที่จะช่วยเราเรียนรู้หน้าที่ของเรา คือพระวจนะของพระคริสต์ที่เราได้รับโดยผ่านศาสดาพยากรณ์ทั้งในสมัยโบราณและปัจจุบันตลอดจนการเปิดเผยส่วนตัวที่เราได้รับโดยผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์

2. ตัดสินใจ

ไม่ว่าเราเคยเรียนรู้มาก่อนหรือไม่เกี่ยวกับการฟื้นฟูพระกิตติคุณ พระบัญญัติบางข้อ หน้าที่อันเกี่ยวข้องกับงานรับใช้ในการเรียก หรือพันธสัญญาที่เราทำในพระวิหาร เราต้องตัดสินใจเองว่าเราจะทำตามความรู้ใหม่นั้นหรือไม่ บุคคลแต่ละคนเลือกด้วยตนเองอย่างอิสระในการเข้าสู่พันธสัญญาอันศักดิ์สิทธิ์ อาทิ บัพติศมา หรือศาสนพิธีพระวิหาร เพราะการกล่าวคำปฏิญาณ เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตตามศาสนาของผู้คนสมัยโบราณ กฏในยุคโบราณกล่าวว่า “ห้ามสาบานออกนามของเราเป็นความเท็จ”11 อย่างไรก็ตาม ในความเรืองโรจน์แห่งเวลา พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนวิธีที่สูงกว่าของการรักษาคำมั่นสัญญาของเรา เมื่อพระองค์ตรัสว่า จริง ก็จงว่าจริง ไม่ ก็ว่าไม่12 คำพูดของบุคคลหนึ่งควรเพียงพอที่จะแสดงถึงความจริงใจและคำมั่นสัญญาของตนเอง—รวมทั้งคำมั่นสัญญาต่อคนอีกคนหนึ่ง ที่มากกว่านั้นคือเมื่ออีกคนหนึ่งคือพระบิดาในสวรรค์ของเรา การให้เกียรติคำมั่นสัญญาเป็นการแสดงให้ประจักษ์ถึงความจริงใจและความซื่อสัตย์ในคำพูดของเรา

3. ทำตามสิ่งที่ได้เรียนรู้

หลังจากเรียนรู้หน้าที่ของเราและตัดสินใจเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และความเข้าใจนั้น เราต้องทำตามสิ่งที่ได้เรียนรู้

ตัวอย่างอันทรงพลังตัวอย่างหนึ่งของความตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำตามคำมั่นสัญญาของพระองค์กับพระบิดามาจากประสบการณ์ของพระผู้ช่วยให้รอด เมื่อผู้คนหามคนง่อยมาให้พระองค์ทรงรักษา “พระเยซูทอดพระเนตรเห็นความเชื่อของพวกเขา พระองค์จึงตรัสกับคนง่อยว่า ‘ลูกเอ๋ย บาปของเจ้าได้รับการอภัยแล้ว’”13 เรารู้ว่าการชดใช้ของพระเยซูคริสต์จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรับการอภัยบาปของเรา แต่ในระหว่างที่ทรงกำลังรักษาคนง่อยผู้นั้น เหตุการณ์อันยิ่งใหญ่ยังไม่เกิดขึ้น การทนทุกข์ของพระผู้ช่วยให้รอดที่สวนเกทเสมนีและบนไม้กางเขนยังไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม พระเยซูไม่เพียงประทานพรคนง่อยให้สามารถลุกขึ้นยืนและเดินได้เท่านั้น แต่พระองค์ยังประทานอภัยบาปของเขาด้วย อันเป็นการให้สัญญาณที่ชัดเจนว่าพระองค์จะไม่ล้มเหลว พระองค์จะทรงรักษาคำมั่นสัญญาที่ทรงทำไว้กับพระบิดาของพระองค์ ในสวนเกทเสมนีและบนกางเขน พระองค์จะทรงทำสิ่งที่พระองค์ทรงสัญญาไว้ว่าจะทำ

ทางที่เราเลือกเดินนั้นเป็นทางแคบ ซึ่งระหว่างทางมีความท้าทายที่เรียกร้องศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์ ความพยายามสุดความสามารถของเราเพื่อจะอยู่บนเส้นทางนี้และมุ่งหน้าต่อไป เราต้องกลับใจ เชื่อฟัง และอดทน แม้ว่าเราไม่เข้าใจสภาพการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นรอบข้างเรา แต่เราต้องให้อภัยผู้อื่นและดำเนินชีวิตตามสิ่งที่เราเรียนรู้และด้วยการเลือกที่เราทำ

4. เต็มใจยอมรับพระประสงค์ของพระบิดา

ความเป็นสานุศิษย์เรียกร้องให้เราไม่เพียงเรียนรู้หน้าที่ของเรา เรียนรู้การตัดสินใจที่ถูกต้องและดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกันเท่านั้น แต่จำเป็นอย่างยิ่งด้วยที่เราจะพัฒนาให้มีความเต็มใจและความสามารถที่จะยอมรับพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า แม้สิ่งนั้นจะไม่ตรงกับความปรารถนาอันชอบธรรมของเรา หรือสิ่งที่เราชื่นชอบ

ข้าพเจ้าประทับใจและชื่นชมในเจตคติของคนโรคเรื้อนที่มาหาพระเยซูคริสต์ “มาเฝ้าพระองค์ และคุกเข่าลงทูลวิงวอนพระองค์ว่า ‘เพียงแต่พระองค์พอพระทัย ก็จะทรงบันดาลให้ข้าพระองค์หายสะอาดได้’”14 คนโรคเรื้อนไม่ได้ร้องขอสิ่งใด แม้ว่าความปรารถนาของเขาอาจจะชอบธรรม แต่เขาก็ยังเต็มใจยอมรับพระประสงค์ของพระเจ้า

หลายปีมาแล้วคู่สามีภรรยาที่ซื่อสัตย์และเป็นเพื่อนรักของข้าพเจ้าได้รับพรด้วยการมีลูกชายที่พวกเขาเฝ้ารอมานานและได้สวดอ้อนวอนทูลขอมาเป็นเวลานาน บ้านเต็มไปด้วยความสุขเมื่อเพื่อนของเราและลูกสาวของพวกเขาซึ่งเป็นเพียงลูกคนเดียวในเวลานั้นชื่นชมยินดีต้อนรับการกำเนิดของทารกน้อย อย่างไรก็ตาม วันหนึ่ง มีเหตุการณ์อันไม่คาดคิดเกิดขึ้น ตอนนั้น เด็กชายตัวน้อยอายุเพียงสามขวบมีอาการหมดสติเฉียบพลัน ทันทีที่ข้าพเจ้าทราบสถานการณ์ดังกล่าว ข้าพเจ้าโทรศัพท์ไปหาเพื่อนและให้กำลังใจเขาในช่วงเวลาอันยากลำบากนี้ แต่คำตอบของเขากลายเป็นบทเรียนให้ข้าพเจ้า เขากล่าวว่า “ถ้านี่คือพระประสงค์ของพระบิดาที่จะนำลูกชายเรากลับไปหาพระองค์ เราก็ยินดี” ไม่มีคำตัดพ้อต่อว่า ขัดขืน หรือแสดงความไม่พอใจแม้แต่น้อยในคำพูดของเพื่อนข้าพเจ้า ในทางตรงกันข้าม ทั้งหมดที่ข้าพเจ้ารู้สึกได้ในคำพูดของเขาคือความสำนึกคุณต่อพระผู้เป็นเจ้าที่พระองค์ทรงช่วยให้พวกเขามีความสุขกับลูกชายตัวน้อยในช่วงเวลาอันสั้นนี้ พร้อมทั้งความเต็มใจโดยไม่มีข้อแม้ที่จะยอมรับพระประสงค์ของพระบิดาสำหรับพวกเขา ไม่กี่วันหลังจากนั้น ทารกน้อยก็ได้รับการนำไปยังที่พำนักซีเลสเชียลของเขา

ขอให้เรามุ่งหน้าโดยการเรียนรู้หน้าที่ของเรา ตัดสินใจอย่างถูกต้อง ทำตามการตัดสินใจนั้น และยอมรับพระประสงค์ของพระบิดา

ข้าพเจ้าสำนึกคุณและมีความสุขอย่างยิ่งสำหรับการตัดสินใจของคุณพ่อข้าพเจ้าเมื่อ 47 ปีมาแล้ว ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ข้าพเจ้าเข้าใจเงื่อนไขที่ท่านให้ข้าพเจ้า—คือให้มีความรับผิดชอบต่อการตัดสินใจนั้น—ซึ่งหมายถึงรับผิดชอบต่อพระบิดาบนสวรรค์ของข้าพเจ้า แสวงหาความรอดของตนเองและเพื่อนมนุษย์ โดยเป็นให้มากกว่านี้ดังที่พระบิดาทรงคาดหวังและทรงต้องการให้ข้าพเจ้าเป็น ในวันที่พิเศษนี้ ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระบุตรของพระองค์ทรงพระชนม์อยู่ ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน