“24–30 เมษายน ยอห์น 7–10: ‘เราเป็นผู้เลี้ยงที่ดี,’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)
“24–30 เมษายน ยอห์น 7–10,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2023
24–30 เมษายน
ยอห์น 7–10
“เราเป็นผู้เลี้ยงที่ดี”
ขณะที่ท่านอ่าน ยอห์น 7–10 ท่านอาจได้รับความประทับใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์เกี่ยวกับหลักธรรมคำสอนในบทเหล่านี้ การบันทึกความประทับใจของท่านจะช่วยให้ท่านวางแผนทำตามนั้น
บันทึกความประทับใจของท่าน
ถึงแม้พระเยซูคริสต์เสด็จมาเพื่อทำให้ “สันติสุขจงมีท่ามกลางมนุษย์ทั้งหลาย” (ลูกา 2:14) แต่ “ฝูงชนขัดแย้งกันในเรื่องพระองค์” (ยอห์น 7:43) คนที่เห็นเหตุการณ์เดียวกันนี้ได้ข้อสรุปต่างกันว่าพระเยซูทรงเป็นใคร บางคนสรุปว่า “เขาเป็นคนดี” ขณะที่คนอื่นบอกว่า “เขาทำให้ฝูงชนหลงผิดไป” (ยอห์น 7:12) เมื่อพระองค์ทรงรักษาคนตาบอดในวันสะบาโต บางคนยืนกรานว่า “ชายคนนี้ไม่ได้มาจากพระเจ้าเพราะเขาไม่ได้รักษาวันสะบาโต” แต่คนอื่นพูดว่า “คนบาปจะทำหมายสำคัญอย่างนั้นได้อย่างไร?” (ยอห์น 9:16) แต่แม้จะมีความสับสนวุ่นวายไปหมด คนที่ค้นหาความจริงก็ยังรับรู้ถึงพลังอำนาจในพระวจนะของพระองค์เพราะ “ไม่เคยมีใครพูดเหมือนอย่างคนนั้นเลย” (ยอห์น 7:46) เมื่อชาวยิวขอให้พระเยซู “บอกให้ชัดเจน” ว่าพระองค์ทรงเป็นพระคริสต์หรือไม่ พระองค์ทรงเปิดเผยหลักธรรมหนึ่งซึ่งสามารถช่วยเราแยกแยะความจริงจากความผิดพลาดได้ “แกะของเราย่อมฟังเสียงของเรา” พระองค์ตรัส “เรารู้จักแกะเหล่านั้นและแกะนั้นก็ตามเรา” (ยอห์น 10:24, 27)
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
เมื่อฉันดำเนินชีวิตตามความจริงที่พระเยซูคริสต์ทรงสอน ฉันจะรู้ว่านั่นเป็นความจริง
ชาวยิวอัศจรรย์ใจที่พระเยซูทรงรู้มากมายทั้งที่พระองค์ไม่เคยเรียนเลย (ดู ข้อ 15)—อย่างน้อยก็ไม่ใช่ในวิธีที่พวกเขาคุ้นเคย ในพระดำรัสตอบของพระองค์ พระองค์ทรงสอนวิธีรู้ความจริงอีกวิธีหนึ่งซึ่งทุกคนเรียนรู้ได้โดยไม่คำนึงถึงการศึกษาหรือภูมิหลัง ตามที่กล่าวไว้ใน ยอห์น 7:14–17 ท่านจะทราบได้อย่างไรว่าหลักคำสอนที่พระเยซูทรงสอนเป็นความจริง? กระบวนการนี้ช่วยให้ท่านพัฒนาประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระกิตติคุณอย่างไร
พระเมตตาของพระผู้ช่วยให้รอดมีให้ทุกคน
เมื่อพูดถึงปฏิสัมพันธ์ของพระผู้ช่วยให้รอดกับหญิงที่ถูกจับฐานล่วงประเวณี เอ็ลเดอร์เดล จี. เรนลันด์กล่าวว่า “แน่นอนว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงกล่าวโทษการล่วงประเวณี แต่พระองค์ไม่ทรงเอาโทษหญิงนั้นเช่นกัน พระองค์ทรงกระตุ้นให้เธอเปลี่ยนชีวิต ทรงผลักดันให้เธอเปลี่ยนเพราะความสงสารและพระเมตตาของพระองค์ งานแปลพระคัมภีร์ไบเบิลของโจเซฟ สมิธยืนยันการเป็นสานุศิษย์ของเธอเนื่องจากเหตุนั้นว่า ‘และหญิงนั้นสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้านับจากโมงนั้นและปักใจเชื่อในพระนามของพระองค์’ (“พระเมษบาลผู้ประเสริฐของเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2017, 30)
ท่านเคยรู้สึกเหมือนหญิงคนนั้นที่ได้รับพระเมตตาแทนการกล่าวโทษจากพระผู้ช่วยให้รอดเมื่อใด? ท่านเคยเป็นเหมือนพวกธรรมาจารย์และพวกฟาริสีที่กล่าวหาหรือตัดสินผู้อื่นทั้งที่ตัวท่านก็ใช่ว่าจะไม่มีบาปเมื่อใด? (ดู ยอห์น 8:7) ท่านเรียนรู้อะไรได้อีกบ้างจากวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงปฏิสัมพันธ์กับพวกธรรมาจารย์และพวกฟาริสีกับหญิงที่ถูกจับฐานล่วงประเวณี? ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการให้อภัยของพระผู้ช่วยให้รอดขณะท่านอ่านข้อเหล่านี้?
หากเรามีศรัทธา พระเจ้าจะทรงสำแดงพระองค์เองในความทุกข์ยากของเรา
ยอห์น 9:1–3 สอนอะไรท่านเกี่ยวกับความท้าทายและความทุกข์ของชีวิต? ขณะที่ท่านอ่าน ยอห์น 9 ให้ไตร่ตรองว่า “พระราชกิจของพระเจ้า [ได้] ปรากฏชัด” ในชีวิตของชายที่เกิดมาตาบอดอย่างไร สิ่งเหล่านี้ได้ปรากฏชัดในชีวิตท่าน—รวมทั้งความทุกข์ยากของท่านอย่างไร?
พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระเมษบาลผู้ประเสริฐ
แม้ว่าท่านจะไม่คุ้นเคยกับแกะและการเลี้ยงแกะ แต่การอ่าน ยอห์น 10 ซึ่งพระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่า “เราเป็นผู้เลี้ยงที่ดี” สามารถสอนความจริงที่สำคัญเกี่ยวกับพระองค์แก่ท่านได้ หากต้องการค้นหาความจริงเหล่านี้ ให้มองหาวลีที่อธิบายว่าผู้เลี้ยงที่ดีเป็นอย่างไร จากนั้นพิจารณาว่าวลีเหล่านั้นประยุกต์ใช้กับพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร ด้านล่างเป็นตัวอย่างบางส่วน
-
ข้อ 3: “ท่านเรียกชื่อแกะของท่านและนำออกไป”
-
ข้อ 11: พระองค์ทรง “สละชีวิตของตนเพื่อฝูงแกะ”
-
ข้อ 16: “แล้วจะรวมเป็นฝูงเดียวและมีผู้เลี้ยงเพียงผู้เดียว”
ต่อไปนี้เป็นคำถามเพิ่มเติมที่จะช่วยให้ท่านไตร่ตรองบทนี้: พระเยซูเปรียบเสมือนประตูอย่างไร? (ดู ข้อ 7–9) พระองค์ประทาน “ชีวิต … อย่างครบบริบูรณ์” แก่ท่านอย่างไร? (ข้อ 10) ท่านรู้สึกว่าพระองค์ทรงรู้จักท่านเป็นการส่วนตัวเมื่อใด? (ดู ข้อ 14) ท่านจดจำสุรเสียงของพระเมษบาลผู้ประเสริฐได้อย่างไร? (ดู ข้อ 27)
ดู เพลงสดุดี 23; เอเสเคียล 34; แอลมา 5:37–39; 3 นีไฟ 15:21–16:5; เกอร์ริท ดับเบิลยู. กอง, “พระเมษบาลผู้ประเสริฐ พระเมษโปดกของพระผู้เป็นเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ค. 2019, 97–101 ด้วย
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและยามค่ำที่บ้าน
-
ยอห์น 7:24เพื่อช่วยให้ครอบครัวของท่านเข้าใจคำสอนของพระเยซูใน ยอห์น 7:24 ท่านอาจแสดงให้พวกเขาเห็นบางอย่างที่ภายนอกดูเหมือนกันแต่ภายในแตกต่างกัน หรือสมาชิกครอบครัวอาจแบ่งปันประสบการณ์ที่สอนพวกเขาไม่ให้ตัดสินจากรูปลักษณ์ภายนอกก็ได้ ท่านอาจเขียนคุณสมบัติของสมาชิกครอบครัวแต่ละคนที่ตามองไม่เห็นด้วย (ดู 1 ซามูเอล 16:7 ด้วย)
-
ยอห์น 8:31–36การเป็น “ทาสของบาป” หมายความว่าอย่างไร? (ดู โมโรไน 7:11 ด้วย) พระเยซูทรงสอนความจริงอะไรบ้างที่จะทำให้เราเป็นอิสระ?
-
ยอห์น 9ท่านจะช่วยให้ครอบครัวท่านจินตนาการเรื่องราวที่พระเยซูทรงรักษาคนตาบอดใน ยอห์น 9 ได้อย่างไร? เชื้อเชิญให้พวกเขาสังเกตบทเรียนที่เรียนรู้จากเรื่องนี้ เช่น การเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์หมายความว่าอย่างไร
7:48 -
ยอห์น 10:1–18, 27–29เพื่อให้สมาชิกครอบครัวมีส่วนในการเรียนรู้จากอุปมาเรื่องคนเลี้ยงแกะที่ดี ขอให้แต่ละคนวาดภาพสิ่งต่อไปนี้หนึ่งอย่าง: ขโมย ประตู คนเลี้ยงแกะ คนรับจ้าง (คนรับจ้างเลี้ยงแกะ) สุนัขป่า และแกะ เชื้อเชิญให้พวกเขาอ่าน ยอห์น 10:1–18, 27–29 แล้วสนทนากับครอบครัวว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาวาด
ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย
เพลงสวดที่แนะนำ: “พระองค์ผู้ทรงเลี้ยงข้า” เพลงสวด บทเพลงที่ 50