“12–18 มิถุนายน ลูกา 22; ยอห์น 18: ‘อย่าให้เป็นไปตามใจข้าพระองค์แต่ให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์เถิด,’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)
“12–18 มิถุนายน ลูกา 22; ยอห์น 18,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2023
12–18 มิถุนายน
ลูกา 22; ยอห์น 18
“อย่าให้เป็นไปตามใจข้าพระองค์แต่ให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์เถิด”
ใช้เวลาของท่านอ่าน ลูกา 22 และ ยอห์น 18 ในสัปดาห์นี้ ไตร่ตรองและสวดอ้อนวอนเกี่ยวกับสิ่งที่ท่านอ่าน การทำเช่นนี้จะทำให้พระวิญญาณมีโอกาสเป็นพยานต่อใจท่านว่าพระคัมภีร์เป็นความจริง
บันทึกความประทับใจของท่าน
มีพยานเพียงสามคนเท่านั้นที่เห็นความทุกขเวทนาของพระเยซูคริสต์ในสวนเกทเสมนี—และพวกเขานอนหลับเป็นส่วนใหญ่ ในสวนนั้นและต่อมาบนกางเขน พระเยซูทรงรับเอาบาป ความเจ็บปวด และความทุกขเวทนาของทุกคนที่เคยมีชีวิตอยู่มาไว้กับพระองค์ ถึงแม้เวลานั้นแทบไม่มีใครรับรู้สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นก็ตาม เหตุการณ์สำคัญที่สุดของนิรันดรมักจะเกิดขึ้นโดยไม่ได้รับความสนใจมากนักจากชาวโลก แต่พระผู้เป็นเจ้าพระบิดาทรงทราบ พระองค์ทรงได้ยินคำวิงวอนของพระบุตรที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ว่า “ข้าแต่พระบิดา ถ้าพระองค์พอพระทัย ขอให้ถ้วยนี้เลื่อนพ้นไปจากข้าพระองค์ แต่อย่างไรก็ดีอย่าให้เป็นไปตามใจข้าพระองค์ แต่ให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์ มีทูตองค์หนึ่งจากฟ้าสวรรค์มาปรากฏต่อพระองค์ และช่วยชูกำลังพระองค์” (ลูกา 22:42–43) แม้เราจะไม่ได้อยู่เห็นพระราชกิจนี้ของความไม่เห็นแก่พระองค์และความยอมต่อพระประสงค์ แต่เรา เป็น พยานถึงการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ได้ ทุกครั้งที่เรากลับใจและได้รับการอภัยบาป ทุกครั้งที่เรารู้สึกถึงเดชานุภาพการทำให้เข้มแข็งของพระผู้ช่วยให้รอด เราสามารถเป็นพยานถึงความเป็นจริงของสิ่งที่เกิดขึ้นในสวนเกทเสมนีได้
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
ลูกา 22:31–34, 54–62; ยอห์น 18:17–27
การเปลี่ยนใจเลื่อมใสเป็นกระบวนการต่อเนื่อง
ลองนึกถึงประสบการณ์ที่เปโตรมีกับพระผู้ช่วยให้รอด—ปาฏิหาริย์ที่เขาเห็นด้วยตาและหลักคำสอนที่เขาเรียนรู้ เหตุใดเวลานั้นพระผู้ช่วยให้รอดจึงตรัสกับเปโตรว่า “เมื่อ ท่านหันกลับแล้ว จงชูกำลังพี่น้องทั้งหลายของท่าน”? (ลูกา 22:32; เน้นตัวเอน) ขณะไตร่ตรองเรื่องนี้ อาจช่วยได้หากพิจารณาสิ่งที่เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์สอนเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างการมีประจักษ์พยานกับการเปลี่ยนใจเลื่อมใสอย่างแท้จริง (ดู “เปลี่ยนใจเลื่อมใสมาสู่พระเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2012, 106–109)
ขณะที่ท่านอ่านประสบการณ์ของเปโตรใน ลูกา 22:31–34, 54–62 (ดู ยอห์น 18:17–27 ด้วย) ให้นึกถึงการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของท่านเอง ท่านเคยรู้สึกมุ่งมั่นมากเหมือนเปโตรที่ท่าน “พร้อมแล้วที่จะไปกับ [พระผู้ช่วยให้รอด] ถึงจะต้องติดคุกหรือตายก็ดี” หรือไม่? (ลูกา 22:33) เหตุใดบางครั้งความรู้สึกเหล่านั้นจึงจางหายไป? มีโอกาสทุกวันที่จะปฏิเสธหรือเป็นพยานถึงพระผู้ช่วยให้รอด ท่านจะทำอย่างไรเพื่อเป็นพยานถึงพระองค์ทุกวัน? ท่านเรียนรู้บทเรียนอะไรอีกบ้างจากประสบการณ์ของเปโตร?
ขณะที่ท่านอ่านพันธสัญญาใหม่ต่อไป ให้มองหาหลักฐานการเปลี่ยนใจเลื่อมใสอันต่อเนื่องของเปโตร สังเกตวิธีที่เขายอมรับพระบัญชาของพระเจ้าในการ “ชูกำลังพี่น้องทั้งหลายของท่าน” (ลูกา 22:32; ดู กิจการของอัครทูต 3–4)
ดู มาระโก 14:27–31 ด้วย
พระผู้ช่วยให้รอดทรงทนทุกข์เพื่อฉันในเกทเสมนี
ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันเชื้อเชิญให้เรา “ใช้เวลาเรียนรู้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระองค์” (“ดึงพลังของพระเยซูคริสต์เข้ามาในชีวิตเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2017, 40)
พิจารณาว่าท่านจะทำอะไรเพื่อยอมรับคำเชื้อเชิญของประธานเนลสัน ท่านอาจจะเริ่มโดยไตร่ตรองความทุกขเวทนาของพระผู้ช่วยให้รอดในเกทเสมนีดังบรรยายไว้ในข้อเหล่านี้ร่วมกับการสวดอ้อนวอน จากนั้นเขียนความประทับใจและคำถามที่เข้ามาในความคิดท่าน
เพื่อศึกษาเรื่องพระผู้ช่วยให้รอดและการชดใช้ของพระองค์ให้ลึกซึ้งขึ้น ลองค้นคว้าพระคัมภีร์ข้ออื่นเพื่อตอบคำถามดังต่อไปนี้
-
เหตุใดการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดจึงจำเป็น? (ดู 2 นีไฟ 2:5–10, 17–26; 9:5–26; แอลมา 34:8–16; 42:9–26)
-
พระผู้ช่วยให้รอดทรงประสบอะไรขณะที่ทรงทนทุกข์? ดู อิสยาห์ 53:3–5; โมไซยาห์ 3:7; แอลมา 7:11–13; หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:16–19
-
ความทุกขเวทนาของพระคริสต์มีผลต่อชีวิตฉันอย่างไร? (ดู ยอห์น 10:10–11; ฮีบรู 4:14–16; 1 ยอห์น 1:7; แอลมา 34:31; โมโรไน 10:32–33; ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “จงเสริมสร้างความเข้มแข็งด้วยการชดใช้ของพระเยซูคริสต์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2015, 61–64)
-
คำถามอื่นที่ฉันมี:
ขณะท่านเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเกทเสมนี อาจจะน่าสนใจที่ได้รู้ว่าเกทเสมนีเป็นสวนมะกอกและมีเครื่องคั้นมะกอกอยู่ด้วย เครื่องนี้ใช้บดมะกอกและสกัดน้ำมันมาใช้ติดไฟ ทำอาหาร และเป็นยารักษาโรค (ดู ลูกา 10:34) กระบวนการสกัดน้ำมันมะกอกเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำเพื่อเราในเกทเสมนีอย่างไร? ดูแนวคิดบางอย่างในข่าวสารของเอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันเรื่อง “ติดสนิทอยู่กับความรักของเรา” (เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 50–51)
ดู มัทธิว 26:36–46; มาระโก 14:32–42 ด้วย
“ราชอำนาจของ [พระผู้ช่วยให้รอด] ไม่ได้เป็นของโลกนี้”
ในฐานะผู้นำทางการเมือง ปีลาตเจ้าเมืองคุ้นเคยกับพลังและราชอำนาจต่างๆ ของโลกนี้ แต่พระเยซูตรัสถึงราชอำนาจที่แตกต่างกันมาก เมื่อนึกถึงสิ่งที่ท่านอ่านเกี่ยวกับพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอด ท่านเห็นหลักฐานอะไรว่า “ราชอำนาจ [ของพระองค์] ไม่ได้เป็นของโลกนี้”? (ยอห์น 18:36) เหตุใดการรู้เรื่องนี้จึงสำคัญ? มีอะไรโดดเด่นสำหรับท่านอีกบ้างเกี่ยวกับพระดำรัสของพระเยซูที่มีต่อปีลาต?
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและยามค่ำที่บ้าน
-
ลูกา 22:31–32เปโตรอาจรู้สึกอย่างไรเมื่อรู้ว่าพระเยซูทรงสวดอ้อนวอนให้เขาและศรัทธาของเขา? เราจะสวดอ้อนวอนเผื่อใครได้บ้าง “เพื่อความเชื่อ [ของพวกเขา] จะไม่ได้ขาด”? (ข้อ 32)
-
ลูกา 22:39–46การเรียนรู้เกี่ยวกับความทุกขเวทนาของพระผู้ช่วยให้รอดในเกทเสมนีสามารถเป็นประสบการณ์ศักดิ์สิทธิ์สำหรับครอบครัวท่านได้ พิจารณาสิ่งที่ท่านทำได้เพื่อสร้างวิญญาณแห่งความคารวะและเคารพบูชาขณะศึกษา ลูกา 22:39–46 ท่านอาจจะเล่นหรือร้องเพลงสวดที่ครอบครัวท่านชื่นชอบหรือเพลงสำหรับเด็กเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด หรือดูงานศิลปะที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ท่านอ่านข้อเหล่านี้ สมาชิกครอบครัวอาจแบ่งปันข้อความที่มีความหมายต่อพวกเขาเป็นพิเศษ—อาจเป็นข้อที่ช่วยให้พวกเขารู้สึกถึงความรักของพระผู้ช่วยให้รอด (ดู มัทธิว 26:36–46; มาระโก 14:32–42 ด้วย) ท่านอาจเชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันประจักษ์พยานในพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์
2:3 -
ลูกา 22:42สมาชิกครอบครัวสามารถแบ่งปันประสบการณ์เมื่อพวกเขาเรียนรู้ที่จะพูดว่า “อย่าให้เป็นไปตามใจข้าพระองค์ แต่ให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์เถิด”
-
ลูกา 22:50–51; ยอห์น 18:10–11เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระเยซูจากข้อเหล่านี้?
-
ยอห์น 18:37–38เราจะตอบคำถามของปีลาตได้อย่างไรว่า “สัจจะคืออะไร?” (ข้อ 38) ดู ยอห์น 8:32; หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:45; 93:23–28; และ “บอกมา สัจจะคืออะไร” เพลงสวด บทเพลงที่ 139 สำหรับแนวคิดบางอย่าง
ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย
เพลงที่แนะนำ: “ฉันเฝ้าพิศวง” เพลงสวด บทเพลงที่ 89