“19–25 มิถุนายน มัทธิว 27; มาระโก 15; ลูกา 23; ยอห์น 19: ‘สำเร็จแล้ว,’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)
“19–25 มิถุนายน มัทธิว 27; มาระโก 15; ลูกา 23; ยอห์น 19,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2023
19–25 มิถุนายน
มัทธิว 27; มาระโก 15; ลูกา 23; ยอห์น 19
“สำเร็จแล้ว”
มัทธิว 27; มาระโก 15; ลูกา 23; และ ยอห์น 19 ครอบคลุมคำบรรยายเกี่ยวกับช่วงเวลาสุดท้ายของพระชนม์ชีพมรรตัยของพระผู้ช่วยให้รอด พยายามรู้สึกถึงความรักที่พระองค์ทรงมีต่อท่านขณะท่านศึกษาการเสียสละและการสิ้นพระชนม์ของพระองค์
บันทึกความประทับใจของท่าน
ในทุกคำพูดและการกระทำ พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างของความรักอันบริสุทธิ์—สิ่งที่อัครสาวกเปาโลเรียกว่าจิตกุศล (ดู 1 โครินธ์ 13) ไม่มีเวลาใดที่ความรักนี้ประจักษ์ชัดเท่าช่วงเวลาสุดท้ายของพระชนม์ชีพมรรตัยของพระผู้ช่วยให้รอด ความเงียบอันน่าเกรงขามของพระองค์ขณะเผชิญการกล่าวหาเท็จแสดงให้เห็นว่าพระองค์ “ไม่ฉุนเฉียว” (1 โครินธ์ 13:5) การที่พระองค์ทรงยอมให้โบยตี เยาะเย้ย และตรึงกางเขน—ขณะยับยั้งเดชานุภาพในการยุติความทรมานของพระองค์—แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรง “อดทนนาน” และ “ทนได้ทุกอย่าง” (1 โครินธ์ 13:4, 7) ความสงสารพระมารดาของพระองค์และความเมตตาต่อผู้ตรึงกางเขนพระองค์—แม้ในระหว่างความทุกขเวทนาอันหาที่เปรียบมิได้ของพระองค์เอง—เผยให้เห็นว่าพระองค์ “ไม่เห็นแก่ตัว” (1 โครินธ์ 13:5) ในช่วงเวลาสุดท้ายของพระองค์บนแผ่นดินโลก พระเยซูทรงทำสิ่งที่พระองค์ทำมาตลอดการปฏิบัติศาสนกิจขณะทรงเป็นมรรตัย—คือสอนเราโดยทรงแสดงให้เราเห็น แท้จริงแล้ว จิตกุศล “คือความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์” (โมโรไน 7:47)
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
มัทธิว 27; มาระโก 15; ลูกา 23; ยอห์น 19
การที่พระเยซูคริสต์เต็มพระทัยทนทุกข์แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงรักพระบิดาและทรงรักเราทุกคน
ถึงแม้พระผู้ช่วยให้รอดทรงมีเดชานุภาพในการเรียก “ทูตสวรรค์” (มัทธิว 26:53) ลงมา แต่พระองค์ทรงอาสาเลือกอดทนต่อการทดลองที่ไม่ยุติธรรม การเยาะเย้ยที่โหดร้าย และความเจ็บปวดทางกายที่คาดไม่ถึง เหตุใดพระองค์ทรงทำเช่นนั้น? “เพราะความการุณย์รักของพระองค์” นีไฟเป็นพยาน “และความอดกลั้นของพระองค์ต่อลูกหลานมนุษย์” (1 นีไฟ 19:9)
ท่านอาจจะเริ่มศึกษาช่วงเวลาสุดท้ายของพระผู้ช่วยให้รอดโดยอ่าน 1 นีไฟ 19:9 ที่ใดใน มัทธิว 27; มาระโก 15; ลูกา 23; และ ยอห์น 19 ที่ท่านพบตัวอย่างของแต่ละสิ่งที่นีไฟกล่าวว่าพระเยซูจะทรงทนทุกข์?
-
“[พวกเขา] ตัดสินพระองค์ว่าเป็นสิ่งไร้ค่า”
-
“พวกเขาโบยพระองค์”
-
“พวกเขาทำร้ายพระองค์”
-
“พวกเขาถ่มน้ำลายรดพระองค์”
ข้อใดช่วยให้ท่านรู้สึกถึง “ความการุณย์รัก” ของพระผู้ช่วยให้รอดที่มีต่อท่าน? ท่านมีความคิดและความรู้สึกอะไรอีกบ้างขณะอ่านเรื่องราวเหล่านี้? ลองจดบันทึกหรือแบ่งปันกับคนอื่นๆ
มัทธิว 27:27–49, 54; มาระโก 15:16–32; ลูกา 23:11, 35–39; ยอห์น 19:1–5
การเยาะเย้ยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความจริงได้
แม้พระเยซูทรงอดทนต่อการเยาะเย้ยตลอดการปฏิบัติศาสนกิจของพระองค์ แต่การเยาะเย้ยนั้นรุนแรงขึ้นระหว่างการโบยและการตรึงกางเขนพระองค์ ทว่าการเยาะเย้ยนี้จะไม่เปลี่ยนความจริงที่ว่าพระเยซูทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า ขณะที่ท่านอ่านเกี่ยวกับความอัปยศอดสูที่พระเยซูทรงอดทน ลองนึกถึงการต่อต้านและการเยาะเย้ยที่งานของพระองค์ประสบในปัจจุบัน ท่านได้ข้อคิดอะไรบ้างเกี่ยวกับการที่พระองค์ทรงอดทนการต่อต้าน? ท่านประทับใจอะไรเกี่ยวกับคำพูดของนายร้อยใน มัทธิว 27:54?
พระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์เพียงลำพังฉันจึงไม่ต้องทน
ในช่วงเวลาที่เจ็บปวดที่สุดบนกางเขน พระเยซูผู้ทรงวางใจพระบิดาบนสวรรค์ตลอดเวลา รู้สึกถูกทอดทิ้งโดยฉับพลัน การอ่านเรื่องนี้อาจทำให้ท่านนึกถึงเวลาที่ท่านรู้สึกห่างไกลจากพระผู้เป็นเจ้า ท่านอาจไตร่ตรองว่าการพลีพระชนม์ชีพบนกางเขนของพระผู้ช่วยให้รอดทำให้ท่านเอาชนะระยะห่างนั้นได้อย่างไร ดังที่เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์เป็นพยานว่า “เพราะพระเยซูทรงดำเนินบนเส้นทางอันโดดเดี่ยวยาวไกลเพียงลำพัง เรา ไม่ต้องทำเช่นนั้น … เสียงดังจากยอดเขาคัลวารีคือความจริงที่ว่าเราจะไม่ถูกทอดทิ้งให้อยู่ตามลำพังหรือไร้ความช่วยเหลือถึงแม้บางครั้งเราจะรู้สึกเช่นนั้น” (ดู “ไม่มีใครอยู่กับพระองค์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2009, 108) พิจารณาว่าพระผู้ช่วยให้รอดสามารถช่วยท่านเอาชนะความเหงาได้อย่างไรเมื่อท่านอ่านข่าวสารที่เหลือของเอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์
พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นแบบอย่างของการให้อภัย
ท่านรู้สึกอย่างไรเมื่อท่านอ่านพระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอดใน ลูกา 23:34? เมื่ออ้างถึงพระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอด ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์สอนว่า “เราต้องให้อภัยและไม่อาฆาตพยาบาทคนที่ทำให้เราขุ่นเคือง พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นแบบอย่างจากกางเขน … เราไม่รู้ใจของคนที่ทำให้เราขุ่นเคือง” (“That We May Be One,” Ensign, May 1998, 68) ข้อนี้จะช่วยท่านได้อย่างไรถ้าท่านไม่ต้องการให้อภัยคนบางคน?
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและยามค่ำที่บ้าน
-
มัทธิว 27; มาระโก 15; ลูกา 23; ยอห์น 19 หลังจากที่ท่านอ่านเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่อธิบายไว้ในบทเหล่านี้แล้ว ท่านอาจให้เด็กๆ เล่าเรื่องซ้ำด้วยคำพูดของพวกเขาเอง สมาชิกครอบครัวสามารถแบ่งปันว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรต่อพระผู้ช่วยให้รอดเพราะสิ่งที่พระองค์ทรงทนทุกข์เพื่อเราได้
-
มัทธิว 27:11–26; มาระโก 15:1–15; ลูกา 23:12–25; ยอห์น 19:1–16เหตุใดปีลาตจึงปล่อยให้พระเยซูถูกตรึงกางเขนทั้งที่เขารู้ว่าพระเยซูไม่มีความผิด? เราเรียนรู้บทเรียนอะไรบ้างจากประสบการณ์ของปีลาตเกี่ยวกับการยืนหยัดในสิ่งที่เรารู้ว่าถูกต้อง? อาจจะเป็นประโยชน์ถ้าให้ครอบครัวท่านแสดงบทบาทสมมติของเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อให้พวกเขาได้ฝึกยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง
-
มัทธิว 27:46; ลูกา 23:34, 43, 46; ยอห์น 19:26–28, 30บางทีท่านอาจมอบหมายให้สมาชิกครอบครัวแต่ละคนอ่านพระดำรัสที่พระผู้ช่วยให้รอดตรัสไว้บนกางเขนตั้งแต่หนึ่งข้อขึ้นไปที่พบในข้อเหล่านี้ ขอให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้จากข่าวสารเหล่านี้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและพระพันธกิจของพระองค์
-
มาระโก 15:39การอ่านเรื่องราวการตรึงกางเขนเสริมสร้างประจักษ์พยานของท่านอย่างไรว่าพระเยซูทรงเป็น “พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า”
-
ยอห์น 19:25–27เราเรียนรู้อะไรจากข้อเหล่านี้ว่าเราสามารถรักและสนับสนุนสมาชิกครอบครัวได้อย่างไร
ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย
เพลงสวดที่แนะนำ: “บนกางเขนแห่งคัลวารี” เพลงสวด บทเพลงที่ 86